น้ำมันดิบรั่วไหล ใครต้องรับผิดชอบ?
โดย : ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้นกรณีอุบัติเหตุในการขนถ่ายน้ำมัน
ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้น้ำมันดิบประมาณ 50,000 ลิตรรั่วไหลออกสู่ทะเลบริเวณใกล้กับเกาะเสม็ด จ.ระยอง แม้ถึงวันนี้สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่คำถามที่ยังค้างอยู่ในใจหลายคนก็คือ ใครจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อม และจะรับผิดชอบอย่างไร ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้ทำการสำรวจบทกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายไทยมีบทบัญญัติที่เหมาะสมเพียงใดต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมรวมถึงการคุ้มครองประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
ในประเด็นดังกล่าว พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้วางหลักการไว้ในมาตรา 96 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะในกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยหรือกรณีพิเศษอื่นบางกรณีเท่านั้น หลักการดังกล่าวเรียกว่า “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability)” กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม เช่น กรณีแม้ใช้ความระมัดระวังแล้วแต่เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น หลักการนี้จึงเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากมลพิษ เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
นอกจากนี้ ตามมาตรา 96 ผู้ก่อความเสียหายยังมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในการที่ทางราชการต้องรับภาระในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทางราชการต้องจ่ายไปในกระบวนการกำจัดคราบน้ำมันทั้งที่ดำเนินการไปแล้วและที่จะต้องดำเนินการในอนาคต ส่วนราชการนั้น ๆ ก็ต้องเรียกร้องเอาจากบริษัท พีทีทีฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และหากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง รัฐก็ต้องเรียกเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำอีกส่วนหนึ่งด้วย (มาตรา 97) โดยค่าเสียหายในส่วนนี้อาจต้องนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยในการคำนวณ ซึ่งไม่จำเพาะแต่มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
หลักการข้างต้นมีที่มาจาก “หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP)” ซึ่งเกิดจากปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ค.ศ. 1992 ที่วางกรอบแนวคิดเรื่องการคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่ต้องสูญเสียไปจากการพัฒนา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว การพิจารณาเรื่องความรับผิดอันเกิดแก่สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังมีปัญหาบางประการที่ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร กล่าวคือ
ประการแรก หลักกฎหมายไทยโดยทั่วไปตั้งอยู่บนหลักการกำหนดค่าเสียหายตามที่เสียหายจริง (Compensatory Damages) กล่าวคือ ได้รับความเสียหายเท่าใดก็จะได้รับการเยียวยาเท่านั้น อย่างไรก็ดี ยังมีหลักการกำหนดค่าเสียหายอีกลักษณะหนึ่ง คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ (Punitive Damages) ซึ่งในระบบกฎหมายไทยได้มีการนำมาใช้บ้างแล้วในคดีบางลักษณะ อาทิ คดีผู้บริโภคและคดีเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability) แต่ในหลาย ๆ ประเทศได้นำระบบค่าเสียหายเพื่อการลงโทษมาใช้ในคดีสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อเป็นมาตรการลงโทษผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและป้องปรามการกระทำความผิดในอนาคต (Deterrent Effect) ซึ่งมักนำมาใช้กับการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายหรือการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยค่าเสียหายที่กำหนดให้นี้อาจสูงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่จะมากน้อยเพียงใดอาจมีการกำหนดไว้ในกฎหมายหรือให้เป็นดุลพินิจของศาลจะกำหนดตามความเหมาะสม มาตรการนี้ทำให้ผู้ที่มีสถานะทางการเงินดีจนกระทั่งไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้วยความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ให้ได้รับการลงโทษจ่ายค่าเสียหายในอัตราที่สูงกว่าปกติ อันจะช่วยยับยั้งมิให้มีการก่อให้เกิดความเสียหายเช่นนั้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในคดีสิ่งแวดล้อมของไทยยังไม่มีการนำระบบค่าเสียหายเพื่อการลงโทษมาใช้ ทำให้ในหลายกรณีผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแทบจะไม่ได้รับผลกระทบในทางการเงินเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น กรณีเหมืองแร่คลิตี้ ที่โรงแต่งแร่ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วลงไปในลำห้วยซึ่งชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคเป็นระยะเวลายาวนาน จนกระทั่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงแก่ชาวบ้านจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดีและให้ผู้เสียหายจำนวน 159 คนได้รับค่าเสียหายรวมกว่า 65 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับพฤติการณ์ของผู้ประกอบการแล้วก็ยังเห็นว่ายังไม่ได้สัดส่วนกัน หรือกรณีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายในการฟื้นฟูภาวะมลพิษในลำห้วยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ก็กำหนดค่าเสียหายให้เพียงค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการจริงเพียง 1.3 ล้านบาทเท่านั้น (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีหมายเลขแดงที่ 1048/2554)
ประการที่สอง ความยุ่งยากในการดำเนินคดี เนื่องจากคดีสิ่งแวดล้อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง มีประชาชนที่ได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป การให้แต่ละคนใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายผ่านกระบวนการศาลย่อมมีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้เสียหายจำนวนมากจึงเลือกที่จะไม่ดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายและปล่อยให้ผู้ก่อความเสียหายหลุดพ้นความรับผิดไป เพื่อต้องการแก้ไขปัญหานี้ ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการนำระบบการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หรือกระบวนการเยียวยาแบบกลุ่ม (Collective Redress) มาใช้ โดยให้มีผู้แทนการฟ้องและดำเนินคดี และเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับกระบวนการใช้สิทธิทางศาลหรือได้รับประโยชน์จากผลของคำพิพากษา ซึ่งทำให้ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางศาลได้อย่างสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งในประเทศไทยแม้มีการดำเนินการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาเป็นระยะกว่าสิบปี แต่ในปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่ากฎหมายดังกล่าวจะได้รับการประกาศใช้
ประการสุดท้าย คือ อำนาจฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติทั้งตามมาตรา 96 และมาตรา 97 ถูกตีความว่าเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะ ประชาชนไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้แทนรัฐ ดังตัวอย่างคำวินิจฉัยศาลปกครองสงขลาที่ 129/2554 กรณีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นลงไปในทะเลจนเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนมีคำขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องในส่วนนี้เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย เป็นต้น ดังนั้น ในกรณีนี้หลายฝ่ายจึงกังวลว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่ดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัท พีทีทีฯ ซึ่งกรณีเช่นนี้ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จะใช้หลัก “การฟ้องคดีโดยประชาชน (Citizen Suit)” เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติแทนรัฐได้ อีกทั้งสามารถฟ้องหน่วยงานบริหารการบังคับใช้กฎหมายที่ละเลยไม่ดำเนินการต่อผู้ก่อมลภาวะได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ภายใต้บริบทกฎหมายไทยก็อาจทำได้โดยการฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะ หน่วยงานของรัฐจึงต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความโปร่งใส โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของชาติและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองในคดีข้างต้นย่อมไม่เป็นการตัดสิทธิประชาชนผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากผู้ก่อมลภาวะในการได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย โดยผู้เสียหายสามารถอ้างหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดตามมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ได้
อุดช่องโหว่หายนะน้ำมันรั่วลงทะเล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : จันทร์จิรา พงษ์ราย jpongrai2004@yahoo.com
"ผมไม่อยากให้เหตุการณ์ น้ำมันรั่วลงทะเลระยองหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่ง แต่ควรต้องนำบทเรียน
จากวิกฤติครั้งนี้มาใช้ปรับปรุงจุดอ่อนของทุกภาคส่วน"
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนผ่านวงเสวนา"บทเรียน..กู้วิกฤติน้ำมันรั่วในทะเล"จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อ 3 วันก่อน
วิเชียร ย้ำว่า จากประสบการณ์การเข้าไปร่วมในการแก้ปัญหาคราบน้ำมันดิบจำนวน 50 ตันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ที่พัดเข้าอ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง เมื่อสัปดาห์ก่อนทำให้พบถึงจุดอ่อนจากการรับมือกับปัญหาค่อนข้างมาก
"ผมคิดว่าต้องเริ่มปรับปรุงจากแผนรับมืออุบัติเหตุฉุกเฉินน้ำมันรั่วในทะเล เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับการป้องกันน้อย แต่จะเน้นที่การซักซ้อมแผนขจัดมลพิษมาก"
เขาย้ำว่า แต่ก็สวนทางกับภาพที่ปรากฏออกสื่อ ซึ่งยังเกิดคำถามอยู่ เช่น บลูมล้อมน้ำมันเรามีเท่าไหร่กันแน่ มีแค่ 200 เมตรหรือ ดังนั้นต่อไปแผนจะต้องมาพูดให้ชัดว่าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือคงต้องมีพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด มีให้เพียงพอสำหรับเหตุการณ์ทั้งใกล้ชายฝั่ง กลางทะเล ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจจะเป็นการลงทุนที่สูงเหมือนกับซื้อประกันแต่ก็คงไม่อยากให้ตัวเองเจ็บป่วย
"การซ้อมรับมือต้องไม่ใช่แค่หน้าคลื่นลมสงบเท่านั้น นอกจากนี้หน่วยปฏิบัติ และคนเกี่ยวข้องในแผนต้องมาทบทวนกันทั้งหมดว่าบทบาทหน้าที่ตัวเองคืออะไร การประสานงานกันที่ต้องรวดเร็วและมีความพร้อมในเรื่องข้อมูลการประเมินสถานการณ์ นอกจากนี้ หน่วยราชการอาจต้องทบทวนการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นด้วย"
ในวงเสวนายังเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์นี้ยังย้ำให้เห็น "จุดอ่อน"ว่าสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจกับพิษภัยของสารเคมี แม้เชิงบวกจะเห็นถึงการทำหน้าที่จิตอาสาเพื่อกอบกู้คราบน้ำมันดิบจนขาดการป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารเคมีในน้ำมัน
เช่นเดียวกับกระแสตื่นกลัวการบริโภคอาหารทะเล จนกระทั่งนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีทส.ต้องเป็นทัพหน้าออกโรงกินปูโชว์สื่อ เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
กระนั้นก็ตาม วิเชียร ย้ำว่าเหตุการณ์นี้ยังต้องประเมินผลกระทบทั้งคุณ ภาพน้ำทะเล คุณภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางทะเลระยะยาวอีก 1 ปี และคงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสามารถใช้ประโยชน์ที่อ่าวพร้าวได้แล้ว
หายนะจากน้ำมันรั่วในทะเลตะวันออกครั้งนี้ จึงน่าจะมีประโยชน์สำหรับอนาคต ..หากจะหยิบบทเรียนมาใช้ ไม่ให้วิกฤติหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่ง...
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit