สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตาแผนฟื้นฟูธรรมชาติ คราบน้ำมัน อ่าวพร้าว

จับตาแผนฟื้นฟูธรรมชาติ คราบน้ำมัน "อ่าวพร้าว"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ผ่านมากว่า 9 วัน หาดอ่าวพร้าวที่เคยดำสนิทเริ่มมีฟองคลื่นขาวๆ

แต่ก็ยังเห็นคราบน้ำมันบางๆ เกาะตามผิวน้ำและโขดหิน

ภารกิจนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องของการฟื้นฟูธรรมชาติและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนิเวศน์ทางทะเล ที่ต้องประเมินกันอย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นการใช้สารเคมีในการกำจัดคราบน้ำมัน ที่อาจจะมากเกินความจำเป็นหรือขัดหลักทางวิชาการ หรือไม่

เพราะว่าในเรื่องนี้ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า พีทีทีจีซี ได้ขออนุมัติเข้ามายังกรมฯ เพื่อใช้สารสลายคราบน้ำมัน 5,000 ลิตร แต่มีแถลงการณ์ ระบุว่ามีการใช้สารสลายคราบน้ำมันไปแล้ว 32,000 ลิตร ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าการยื่นขออนุญาต

นอกจากนี้ การใช้สารเคมีในปริมาณมาก แม้ว่าตัวสารเคมีที่เรียกชื่อทางการตลาด ว่า Slickgone NS TYPE 2/3 ผลิตโดยบริษัท DASIC ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของ NETCEN UK' และได้รับการรับรองจาก the Ministry of Agriculture Fisheries and Food ของอังกฤษ และมีนักวิชาการออกมาบอกว่าไม่เป็นอันตราย แต่ต้องใช้ในระดับน้ำที่ลึกเพียงพอ เพื่อไม่ให้การจับตัวกับน้ำมันและตกลงใต้ทะเลกระทบกับระบบนิเวศน์

โดย ดร.พหล โกสิยะจินดา ภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ช่วยให้น้ำมันสามารถแตกตัวในน้ำ และมีขนาดเล็กลงจนจมลงใต้ผิวน้ำเพื่อรอการย่อยสลายตามธรรมชาติ โดยเร็วที่สุดคือ 6 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้สารเคมีกับปริมาณคราบน้ำมัน

สารในกลุ่ม Slickgone อยู่ในรายชื่อสารขจัดคราบนํ้ามันที่กรมควบคุมมลพิษอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย และต้องได้รับการอนุมัติในการใช้งานแต่ละครั้ง ซึ่งต้องประเมินถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ใช่ต้องการจะให้เห็นผลเร็วเพียงอย่างเดียว

“ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมของสาร Slickgone คือ สารเคมี 1 ส่วน ต่อน้ำมัน 30 ส่วน ถ้าน้ำมันรั่ว 5 หมื่นลิตร และใช้สารเคมีไป 3.2 หมื่นลิตร อัตราส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 2 ซึ่งมีความเข้มข้นมากเกินไป และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง”

ดังนั้น การประเมินผลกระทบหลังจากนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบเข้มข้น และต้องจับตามองพอๆ กับการจับตาดูการเก็บกู้ และการตรวจสอบหาสาเหตุของน้ำมันรั่วที่แท้จริง

แม้ว่าล่าสุด ทส. ตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลกระทบ และฟื้นฟูผลกระทบสิ่งแวดล้อม นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบผลกระทบระบบนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง ว่า หลังจากสถานการณ์คราบน้ำมันบริเวณอ่าวพร้าวเริ่มคลี่คลาย และเจ้าหน้าที่สามารถดำน้ำลงไปสำรวจแนวปะการังได้แล้วบางส่วน พบว่า แนวปะการังบริเวณอ่าวพร้าว รวมทั้งสัตว์น้ำที่เกาะอยู่ตามโขดหิน เช่น กุ้ง หอย ปู ชัดเจนว่าได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเสียหายมากน้อยขนาดไหน เพราะว่าการประเมินผลกระทบในภาพรวม ต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้

สำหรับแหล่งทรัพยากรที่ถือว่าต้องจับตามอง คือ แหล่งหญ้าทะเล 3,850 ไร่ สถานภาพทั่วไปสมบูรณ์ปานกลางถึงสมบูรณ์ดี แพร่กระจายบริเวณเขาแหลมหญ้า 824 ไร่ และบริเวณอ่าวมะขามป้อม-ปากน้ำประแสร์ 3,026 ไร่ ทั้งหมด 7 ชนิด คือ หญ้าคาทะเล หญ้ากุยช่ายทะเล หญ้ากุยช่ายเข็ม หญ้าเงา หญ้าเงาใส หญ้าเงาใบเล็ก และหญ้าเงาแคระ และแนวปะการัง 3,141 ไร่ สถานภาพทั่วไปสมบูรณ์ปานกลาง กระจายตัวอยู่ตามแนวชายฝั่ง พื้นที่อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 1,369 ไร่ และ บริเวณเกาะมัน 1,240 ไร่

นับจากนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลเหล่านี้ ว่าจะเสียหายจากปัญหาน้ำมันรั่วมากน้อยแค่ไหน พร้อมหน่วยงานต้นทาง คือ พีทีทีจีซี จะรับผิดชอบในเรื่องนี้...อย่างไรบ้าง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : จับตา แผนฟื้นฟูธรรมชาติ คราบน้ำมัน อ่าวพร้าว

view