สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนเหตุน้ำมันรั่ว บีพี บทเรียนราคาแพง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้ง ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐ และโด่งดังไปทั่วโลก คงหนีไม่พ้นกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลน้ำลึก บนอ่าวเม็กซิโก ของ บริติชปิโตรเลียม (บีพี) บริษัท น้ำมันยักษ์ชื่อดัง ได้เกิดระเบิดขึ้นในปี 2010 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 11 คน และต้องใช้เวลานานเกือบ 3 เดือนในการแก้ไขปัญหา โดยจากการประเมินคาดว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีน้ำมันรั่วไหลออกมาสู่ทะเลมาก ถึง 4.9 ล้านบาร์เรล และน้ำมันกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างถึง 40 ไมล์จากจุดเกิดเหตุ

อุบัติเหตุครั้งเลวร้ายครั้งดังกล่าว ได้กลายเป็นที่จับตามองจากทั่วทุกมุมโลก เพราะถือเป็นคดีใหญ่ที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่สูงมาก ซึ่งทาง บีพี ได้เองก็ได้ออกมายอมรับความผิดที่เกิดขึ้นทั้งทางอาญา และทางแพ่ง โดยยอมจ่ายเงินค่าปรับแก่รัฐบาลกลางไปแล้วมากถึง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.35 แสนล้านบาท)  ขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับการจ่ายค่าชดเชยไปแล้ว 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.34 แสนล้านบาท)  นอจากนี้ ทางบีพี ก็ได้ทุ่มเงินอีกกว่า 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.68 แสนล้านบาท) เพื่อใช้ในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบอ่าวเม็กซิโกให้กลับสู่สภาวะเดิม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ก่อนหน้านี้ บีพี จะออกมายอมรับผิดจ่ายค่าปรับแก่รัฐบาลกลาง และประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ไปแล้ว  แต่การดำเนินคดีฟ้องร้อง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โดยเฉพาะในระดับรัฐบาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่ยังไม่จบ และยังคงมีการต่อสู้กันอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจาก บรรดารัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น รัฐหลุยส์เซียน่า รัฐอลาบามา รัฐมิสซิสซิปปี รัฐฟลอริดา และรัฐเท็กซัส  ต่างทยอยเรียงคิวกันเข้ายื่นเรื่องฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย จากบริษัท บีพี และบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของบีพี ด้วย เช่น บริษัทฮอลลิเบอร์ตัน ผู้ให้บริการปูนซีเมนต์ บริษัทน้ำมัน อนาร์ดาโก ปิโตรเลียมคอร์ป ผู้ถือหุ้น 25% ในแท่นขุดเจาะของบีพี  หลังจากที่เหตุน้ำมันรั่วไหลดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

"เหล่ารัฐบาลท้องถิ่นต่างยื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย ทั้งจากค่าเสียโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวที่หายไปในระหว่างเกิดเหตุแท่นขุด เจาะน้ำมันระเบิด  รวมถึงรายได้จากภาษีที่เก็บจากกลุ่มโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หาย ไปในช่วงเวลาดังกล่าว" รายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ระบุ 

นอกจากเหนือจาก เรื่องค่าเสียที่ยังคงมีการต่อสู้กันอยู่แล้ว  ในเรื่องผลกระทบที่มีต่อ ธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยาก็ยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายส่วนจะได้รับการเยียวยา และฟื้นฟูจนดีขึ้นมามากแล้วก็ตาม 

รายงานสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาผลกระทบทางธรรมชาติจากหายนะน้ำมันรั่วในครั้งนั้น ยังคงตกอยู่ในอาการหวาดผวาเคล้าความกังวลว่า ระบบนิเวศตามธรรมชาติบริเวณโดยรอบ อาจไม่สามารถกู้คืนให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้อีกต่อไป

“การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ฉันใด เหตุน้ำมันรั่วในทะเลสร้างปัญหาและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติฉันนั้น” ดอจ อิงก์เลย์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสสมาพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติสหรัฐ แสดงความกังวล

ผลกระทบที่มีมาจนถึงปัจจุบัน สามารถพิสูจน์ได้จากผลศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีสต์ แคโรไลนาในสหรัฐ ที่พบว่า ระบบนิเวศทางธรรมชาติตั้งแต่แพลงก์ตอนขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์น้ำขนาดใหญ่อย่าง โลมา กลายเป็นเหยื่อรับเคราะห์จากความผิดพลาดของมนุษย์ไปโดยปริยายไล่ตั้งแต่ แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำหลายประเภท ได้ดูดสิ่งแปลกปลอมอันตรายจากคราบน้ำมันตกค้างเข้าไป กลายเป็นแหล่งอาหารเป็นพิษของสัตว์น้ำชนิดอื่นไปโดยปริยาย

เช่นเดียวกับแนวปะการังใต้พื้นทะเล ที่แม้ว่าอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปหลายกิโลเมตร  ทว่าทั้งหมดกำลังตายลงอย่างช้าๆ หลังไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่จากคราบน้ำมันที่ยังคงปกคลุมอยู่  เนื่องจากยังมีการเจอคราบน้ำมันเป็นแถบๆ ในหลายจุดของฝั่งมิสซิสซิปปี และนอกฝั่งเมืองลุยเซียนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำขนาดใหญ่อย่าง โลมาทางตอนเหนือของอ่าวเม็กซิโก ที่มีอัตราการเสียชีวิตและการหลงกลุ่มเพิ่มขึ้นทุบสถิติสูงสุดเมื่อเทียบกับ ก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล โดยมีโลมาจำนวนไม่น้อย น้ำหนักลด ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง ไปจนถึงเกิดปัญหาที่ตับและปอด ขณะที่จำนวนมากตายเกยตื้นโดยมีคราบน้ำมันเต็มตัว

ไม่เพียงแต่ผลกระทบทางธรรมชาติเท่านั้น หนึ่งในเหยื่อที่ต้องแบกรับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่ามากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เรายังกังวลถึงผลกระทบในระยะยาว เพราะระยะเวลาเพียง 3 ปีไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้”จอห์น วิลเลียม เจ้าหน้าที่เครือข่ายอุตสาหกรรมกุ้งของสหรัฐระบุ 

วิลเลียม ให้เหตุผลว่าถึงแม้ว่าจากการสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์น้ำที่จับได้จากบริเวณโดย รอบจุดเกิดเหตุ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาท์ ฟลอริดา จะพบว่า ปลากะพงแดงที่มีร่องรอยของการเป็นโรคอันเกิดจากภูมิคุ้มกันล้มเหลวหลังจาก สัมผัสสารเคมีในน้ำมัน มีปริมาณลดลงและ แม้จะไม่พบสารเคมีตกค้างในตัวปลา  แต่สัตว์น้ำเหล่านั้นเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและอาจลึกถึง ระดับพันธุกรรมทีเดียว  เช่น มีขนาดเล็กลง ตลอดจนมีสีที่ผิดเพี้ยนและเกล็ดจะหลุดออกอย่างง่ายดายเมื่อจับขึ้นมา

“ในอีก 4-5 ปีข้างหน้านี้จะเป็นเช่นไร เมื่อขนาดปลาที่โตเต็มวัยมีขนาดเล็กลง เมื่อนั้นอุตสาหกรรมประมงคงจะถึงคราวอวสาน”บ๊อบ สเปธท ประธานสมาคมประมงนอกชายฝั่งตอนใต้ของสหรัฐกล่าว 

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมความเสียหายที่มีต่อภาคธุรกิจอื่นๆ อย่างร้านอาหาร ภาคการท่องเที่ยว ไปจนถึงสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว ที่ต้องได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ตราบใดที่ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า เหตุน้ำมันรั่วจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ตราบนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ธรรมชาติและมนุษย์ ก็คงต้องเป็น"ผู้รับกรรม"ต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : ย้อนเหตุน้ำมันรั่ว บีพี บทเรียนราคาแพง

view