จากประชาชาติธุรกิจ
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การส่งออกข้าวครึ่งปีแรกของ ปี 2556 และแนวโน้มครึ่งปีหลังของปี 2556 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สรุปแบบฟันธงลงไปเลยว่า อนาคตการส่งออกข้าวปีนี้ ประเทศไทยคงต้องครองเหรียญทองแดง (อันดับที่ 3) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากความเป็นจริงที่ว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยเพิ่งส่งข้าวออกไปได้แค่ 2.94 ล้านตัน หรือลดลง 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านมูลค่าการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก เท่ากับ 61,988 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดส่งออกอยู่ที่ 67,214 ล้านบาท
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ประเมินเป้าหมายส่งออกข้าวเอกชน ทั้งปีไว้ที่ตัวเลข 6.5 ล้านตันเท่ากับปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 145,000 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าครึ่งปีหลัง ประเทศไทยจะต้องส่งออกข้าวให้ได้เดือนละ 600,000 ตัน โดยไม่รวมยอดการส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) จึงจะสามารถส่งออกได้เท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็ยัง "ต่ำกว่า" เป้าหมายการส่งออกข้าวของรัฐบาลที่วางเอาไว้สูงมากที่ 8.5 ล้านตันอยู่ดี
เป็น ที่น่าสังเกตว่าประมาณการส่งออกข้าวของสมาคมสอดคล้องกับการคาดการณ์การส่ง ออกข้าวไทยของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ที่ระบุว่า การค้าข้าวโลกในปีนี้มีปริมาณ 37.58 ล้านตัน หรือลดลง 4.01% จากปีก่อนที่มีปริมาณ 39 ล้านตัน โดยประเทศอินเดีย ยังคงครองแชมป์ส่งออกข้าว 9 ล้านตัน ตามด้วย เวียดนาม 7.40 ล้านตัน และ ประเทศไทยอยู่เป็นอันดับ 3 ประมาณ 7 ล้านตัน ส่วนตลาดนำเข้าในปีนี้ จีนจะมาเป็นอันดับ 1 ด้วยการนำเข้าข้าวในปริมาณ 3 ล้านตัน รองลงมาคือ ไนจีเรีย 2.3 ล้านตัน, ฟิลิปปินส์ 1.50 ล้านตัน, อิรัก 1.40 ล้านตัน และอินโดนีเซีย 1 ล้านตัน
อิรักดึงข้าวขาว ไนจีเรียทุบข้าวนึ่ง
นาย เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุทัย โปรดิวซ์ ในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิในครึ่งปีแรกที่ปริมาณ 719,857 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 16.58% คาดว่าตลอดทั้งปี 2556 จะส่งออกได้ 2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 3% จากปี 2555 ที่ส่งออกได้ 1,399,620 ตัน สาเหตุจากตลาดสหรัฐนำเข้าข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น 12,000 ตัน โดยตลาดนี้ยังมีความนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากไทย
แม้ว่า ราคาข้าวหอมมะลิไทย ถือว่าสูงที่สุด 1,182 เหรียญสหรัฐ แต่ข้าวเวียดนามและกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่าก็ยังไม่สามารถเจาะตลาดสหรัฐได้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลยังคงยืนราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 ที่ตันละ 20,000 บาท (จำนำข้าวหอมมะลิ) อาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวคุณภาพพรีเมี่ยมให้กับคู่แข่งในอนาคต
นาย ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ กล่าวว่า 6 เดือนแรกไทยสามารถส่งออกข้าวขาวได้ 1,223,919 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 8.22% คาดว่าทั้งปีจะส่งออกได้ 2,700,000 ตัน สาเหตุที่ยอดส่งออกข้าวขาวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อข้าวในตลาดอิรัก ช่วงต้นปีแรก มีการประมูลนำเข้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 190,000 ตัน เป็น 410,000 ตัน และอิรักยังมีแผนที่จะเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นอีก
ด้าน นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกยอดส่งออกข้าวนึ่งของประเทศถือว่า "น่าห่วงที่สุด" เพราะส่งออกไปได้เพียง 597,597 ตัน หรือลดลง 44.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าตลอดทั้งปีคงส่งออกข้าวนึ่งได้ 1.5 ล้านตัน ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2 ล้านตัน ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากตลาดไนจีเรีย ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 100% ทำให้ต้องนำเข้าข้าวไปสต๊อกไว้มากในปีก่อนและชะลอการนำเข้าข้าวนึ่งในปีนี้ ลง
ส่วน นายวัลลภ มานะธัญญา กรรมการสมาคมฯกล่าวว่า ปริมาณการส่งออกข้าวหอมปทุมธานีมีเพียง 26,000 ตัน หรือลดลง 40.90% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้ 44,000 ตัน คาดว่าทั้งปีน่าจะส่งออกได้ 100,000 ตัน โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากราคารับจำนำข้าวหอมปทุมที่ตันละ 16,000 บาท จัดเป็นราคาที่ไม่จูงใจ ทำให้เกษตรกรลดกำลังการผลิตข้าวหอมปทุมลงจากที่เคยได้ปีละ 1 ล้านตัน แล้วเพื่อหันไปปลูกข้าวชนิดอื่นที่มีราคาจูงใจ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคารับจำนำที่สูง ตันละ 20,000 บาท
2 ปีรายได้หาย 6 หมื่นล้าน
อย่าง ไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังคงฝากความหวังไว้กับการส่งออกข้าวในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยบวกในระยะสั้นที่ตลาดจีน-อิรัก และญี่ปุ่น ยังคงมีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญก็คือรัฐบาลตัดสินใจระบายข้าวในสต๊อกออกสู่ตลาด ส่งผลให้ภาวะอุปทานข้าวที่เคยตึงตัว "ผ่อนคลายลงไปบ้าง" รวมทั้งมีการเร่งเจรจาและเร่งรัดให้มีการส่งมอบข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) เร็วขึ้น
ส่วนปัจจัยบวกระยะกลางและระยะยาวก็คือ นโยบายความมั่นคงด้านอาหารของอินเดียฉบับใหม่ ทำให้ต้องเพิ่มการเก็บสต๊อกข้าวและธัญพืช เพื่อนำมาขายให้ประชาชนในราคาต่ำ เช่น ข้าวขาย กก.ละ 1.5 บาท 3 รูปี, ข้าวสาลี กก.ละ 1 บาท หรือ 2 รูปี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้าของรัฐบาลอินเดีย ขณะที่ประเทศไทยต้องติดตามว่า รัฐบาลจะทบทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้สอดคล้องกับภาวะตลาดข้าวและภาระงบ ประมาณของประเทศหรือไม่ ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่
หากรัฐบาลยัง คงดึงดันที่จะคงราคารับจำนำข้าวเปลือกไว้ที่ 15,000 บาท (ข้าวขาว) 20,000 บาท (ข้าวหอมมะลิ) ก็เชื่อแน่ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาในการระบายข้าว ทั้งปริมาณและราคาข้าวภายในประเทศที่สูงผิดปกติ และมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาภาระทางด้านงบประมาณ ในการหาเงินมาจำนำข้าวรอบต่อไปจนกระทบกับฐานะทางการเงิน-การคลังของประเทศ
ถาม ว่า เมื่อเปรียบเทียบทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบข้างต้น การส่งออกข้าวจะเป็นอย่างไร ? ผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า ตลาดส่งออกข้าวในครึ่งปีหลังยังเป็น "ตลาดของผู้ซื้อ" เพราะอุปสงค์ข้าวในตลาดโลกมากกว่าอุปทาน จากปริมาณผลผลิตอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 104 ล้านตัน เป็น 108 ล้านตัน และมีสต๊อกมากขึ้นอาจถึง 40 ล้านตัน ส่วนเวียดนามก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 27.7 ล้านตัน มีสต๊อกมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ขณะที่ประเทศไทยถือ ครองสต๊อกข้าวไว้มากถึง 17-18 ล้านตัน ถ้าหากใช้วิธีการระบายในราคาตลาดตามปกติ โดยไม่ยอมขายข้าวในราคาขาดทุน รัฐบาลอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะขายข้าวในสต๊อกหมด นั่นหมายถึงรัฐบาลจะมีภาระค่าเก็บรักษา โกดังเก็บข้าวไม่เพียงพอ และไม่มี "เงิน" เพียงพอสำหรับการรับจำนำข้าว (ปี 2556/57) ในราคาเท่าเดิม ถ้าหากรัฐบาลยืดแผนการระบายข้าวในสต๊อกต่อเนื่องไปถึงปี 2557 และมีการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 เข้ามาเพิ่มเติมอีก อาจทำให้ราคาขายข้าวไทยลดลงจาก 440 เหลือเพียง 350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็เป็นได้
ด้านความต้องการซื้อ แม้จะมีการนำเข้าข้าว แต่ประเทศผู้นำเข้าหันมาผลิต ลดการบริโภค และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อเป็นแบบ "ซื้อมาพอกิน ไม่เก็บสต๊อก" เพราะทุกคนตระหนักดีว่าข้าวในโลกไม่ขาดแคลน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ลูกค้าย่อมเลือกของถูกลงเพื่อรัดเข็มขัด
สุดท้าย นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ กล่าวถึงผลเสียของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดต่อเนื่อง 2 ปีของรัฐบาลชุดนี้ว่า ทำให้รัฐบาลมีสต๊อกข้าวมาก แต่เน้นการระบายแบบ G to G ทำให้ตลาดข้าวมี 2 ราคาคือ ตลาดซื้อขายตามปกติ กับตลาดซื้อขายตามราคา G to G หรือราคาข้าวถุง ที่มักจะนำไปส่งออกตัดราคาตันละหลาย 10 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวในประเทศเคยสูงสุด 18,000 บาท แต่หลังจำนำราคากลับลดลงเหลือ 12,000-13,000 บาท ผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จนไม่กล้าร่วมประมูลข้าวรัฐบาลที่เพิ่งเปิดการประมูลรอบแรกไป
แต่ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของโครงการรับจำนำข้าวแบบนี้ก็คือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ "รายได้" จากการส่งออกข้าวหายไปรวม 60,000 ล้านบาท จากปี 2554 เคยได้ 200,000 ล้านบาท ก็ลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 145,000 ล้านบาท จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าการรับจำนำข้าวทุกเม็ดไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลหวัง แม้ว่า จะดันราคาส่งออกข้าวไทยสูงสุดในโลก แต่ก็ยังสูงไม่เท่ากับต้นทุนการรับจำนำ ซ้ำยังมีรายได้จากการส่งออกข้าวลดลง
พร้อมกับแนะนำรัฐบาลว่า ควรปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการหันไปส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ผูกติดกับราคาสินค้าจะดีกว่า
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit