สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จะจัดการกับโลกร้อนให้ลูกหลานอย่างไร…(ต่อ)

จะจัดการกับโลกร้อนให้ลูกหลานอย่างไร…(ต่อ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เป็นที่ฮือฮาทั้งในหมู่นักสิ่งแวดล้อม พ่อค้า และนักวิชาการ ต่อนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (National Climate Change Plan)

ใหม่เอี่ยมที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศต่อสาธารณะเมื่อคราวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ ปลายเดือนที่แล้ว ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่คงต้องยอมรับว่าเป็นความริเริ่มและความกล้าหาญใหม่ๆ ที่โอบามาแถลงออกมาเที่ยวนี้

โอบามายอมรับว่าต้นตอของการปล่อยคาร์บอนของอเมริกาในปริมาณร้อยละ 40 ของมลพิษทั้งหมดมาจากโรงไฟฟ้า รัฐบาลกลางไม่มีกฎระเบียบที่จะจำกัดการปล่อยคาร์บอนของโรงไฟฟ้า แม้จะมีกฎหมายจำกัดการปล่อยสารปรอทหรือซัลเฟอร์ทั้งในอากาศและในน้ำก็ตาม แต่สังคมอเมริกันมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือแต่ละมลรัฐสามารถดูแลเรื่องดังกล่าวได้เอง ครึ่งหนึ่งของมลรัฐทั้งหมดมีการตั้งเป้าของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency Targets) มีอยู่ 35 รัฐที่ตั้งเป้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Targets) มีนายกเทศมนตรีกว่า 1,000 คนลงนามในข้อตกลงลดคาร์บอน

ไม่แต่เพียงภาครัฐเท่านั้น แม้แต่ภาคเอกชนก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน บริษัทขนาดใหญ่อย่างเช่น เยนเนอรัลมอเตอร์ และไนกี้ ประกาศปฏิญญาโลกร้อนขององค์กร (Climate Declaration) บริษัทวอลมาร์ทตั้งเป้าลดมลพิษลงร้อยละ 20 และจะแทนที่โดยพลังงานหมุนเวียน คำถามคือบริษัทเหล่านี้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวหรือ โอบามากล่าวว่าธุรกิจจะได้ประโยชน์ด้วย

ผมคิดว่านโยบาย “เศรษฐกิจเขียว” (Green Growth) จะเป็นนโยบายใหญ่ของหลายประเทศหวังว่าจะมีประเทศไทยด้วย เราจะต้องตีโจทย์ให้แตกโดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่อง “ได้อย่างเสียอย่าง” คือ ได้สิ่งแวดล้อมแต่เสียรายได้ หรือได้รายได้แต่เสียสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหม่ที่เราจะต้องคิดคือทำอย่างไรถึงจะได้ทั้งสองอย่าง “เศรษฐกิจพัฒนาไปพร้อมๆ กับคุณภาพสิ่งแวดล้อมดี” ผมเชื่อว่าจะทำทั้งสองอย่างได้ก็ต้องเอา “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัย” มาช่วย ลองคิดดูสิครับ นอกจากเราจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดมลพิษแล้ว คงจะวิเศษยิ่งหากยังสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งออกไปขายได้ทั่วโลก นโยบายอีกด้านหนึ่งของโอบามาคือ การผลิตและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น สี่ปีที่ผ่านมาอเมริกามีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตกังหันลมที่ผลิตไฟฟ้าป้อน 15 ล้านครัวเรือน มีการจ้างงานในธุรกิจติดตั้งแผงเซลแสงอาทิตย์ที่ประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 4 เท่าตัว สหรัฐทราบดีว่าคู่แข่งทางเทคโนโลยีอย่างจีนและเยอรมันกำลังวิ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างเข้มข้นเพื่อช่วงชิงตลาดโลก วิธีสร้างตลาดของสหรัฐคือการให้กระทรวงมหาดไทยจัดที่ดินสาธารณะให้เอกชนลงทุนในการผลิตไฟฟ้าสะอาดให้กับ 6 ล้านครัวเรือนภายในปี ค.ศ. 2020 หรือการสั่งการให้กระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดในประเทศลงทุนติดตั้งพลังงานสะอาด 3 ล้านกิกะวัตต์ในฐานทัพแทนการใช้พลังงานจากการเผาถ่านหิน 3 ล้านตัน และที่กล้าหาญคือประธานาธิบดีโอบามาจะเสนอรัฐสภาให้ยกเลิกการอุดหนุน (Subsidy) ทางภาษีให้กับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐ เพื่อหันไปลงทุนในบริษัทพลังงานสะอาดแทน

ยังมีมาตรการที่ฟังดูง่ายกว่ามาตรการอื่นๆ แต่มักจะปฏิบัติยากเพราะติดปัญหาวัฒนธรรมและความเคยชิน คือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออีกนัยหนึ่ง ลดความสูญเปล่าในการใช้พลังงาน จะเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนายานยนต์ที่ใช้น้ำมันน้อยลงในระยะทางเท่าๆ กันก็ได้ จะเป็นการติดตั้งหรือปรับปรุงการใช้พลังงานในบ้าน ในสำนักงาน ในโรงงาน ที่มีตั้งแต่หลอดไฟเพื่อแสงสว่าง ประตูหน้าต่างที่ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศหรือลมร้อนจากเครื่องทำความร้อนไม่เล็ดลอดสูญเปล่า หรือมาตรฐานสินค้าประเภทเครื่องใช้ในบ้านที่ประหยัดพลังงานสุดๆ จำพวกตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องอบผ้าที่อเมริกันชนขาดไม่ได้ ล้วนแล้วแต่เป็นการประหยัดพลังงาน สร้างงานใหม่ๆ และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในระยะยาวทั้งสิ้น

อุบัติภัยจากธรรมชาติในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องหันมาดีดลูกคิดรางแก้วถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อเราไม่สามารถหยุดยั้งภัยธรรมชาติได้ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องวางแผนเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติในอนาคต มหานครนิวยอร์กที่ได้รับบทเรียนจากพายุแซนดี้เมื่อไม่นานมานี้กำลังลงทุนกับอภิมหาโครงสร้างพื้นฐานป้องกันพายุตลอดแนวติดทะเล 520 ไมล์ ประกอบด้วยกำแพงกั้นน้ำทะเลที่แข็งแรง เสาและสายไฟฟ้าที่ไม่ล้มระเนระนาดแบบคราวก่อนที่ทำให้นิวยอร์กไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ระบบการขนส่งและกระจายเชื้อเพลิงสำหรับพลเมืองในยามวิกฤต เป็นต้น ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนทั้งข้อมูลและงบประมาณให้กับพื้นที่ในระดับชุมชนให้คิดโครงการที่มีประโยชน์ต่อการป้องกันภัยของตนเองได้จริง

จากนโยบายของโอบามา คงพอคาดเดาได้ว่าอเมริกาจะเริ่มเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับโลกร้อนแล้ว หลังจากที่ทั่วโลกผิดหวังที่สหรัฐไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนตามข้อตกลง Kyoto Protocol ในอดีตที่ผ่านมา บัดนี้สถานการณ์สุกงอมเพราะคิดออกแล้วว่า การลงทุนลดโลกร้อนสามารถเดินไปพร้อมๆ กับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ นโยบายเศรษฐกิจเขียวจึงควรได้รับการชี้นำและลงทุนจากรัฐบาลไทย หาไม่แล้วคงตกทั้งเวทีเศรษฐกิจและเวทีโลกร้อนอย่างแน่นอน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จะจัดการกับโลกร้อน ลูกหลาน

view