จากประชาชาติธุรกิจ
ตอนที่เศรษฐกิจสหรัฐรุ่งเรืองมากๆ คนอเมริกันพากันทิ้งไร่ทิ้งนาแห่กันไปทำมาหากินอะไรที่มันง่ายๆ แต่ได้เงินมากและเร็วกว่าการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านแบบการทำเกษตรกรรม ในช่วงนั้นเองที่ การขาดแคลนแรงงานในไร่นา ส่งผลให้การคิดค้น "หุ่นยนต์" เพื่อเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกา "บูม" เอามากๆ
ครั้นผู้คนตกงานกันมากๆ เข้า การคิดค้นและประยุกต์ใช้หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรก็ดูเหมือนจะชะงักไป ทั้งในแง่ของพัฒนาการและในแง่ของการนำมาใช้ เนื่องจากมีแรงงานให้ใช้งานมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้นก็มีแรงกดดันจากสหภาพแรงงานต่างๆ ตามมาด้วยอีกส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ฟาร์มเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายแล้ว กระบวนการเพาะปลูกหลายๆ อย่างทำงานโดยเครื่องจักรอัตโนมัติที่ตัดสินใจได้ด้วยตัวเองจนเรียกได้ว่าเป็นหุ่นยนต์กลายๆ แม้ว่าจะไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นหุ่นยนต์แบบที่อยู่ในความคิดของเราตามแรงชักจูงของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดก็ตามที
อุปกรณ์อัตโนมัติที่นำมาใช้กับฟาร์มเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการหลอมรวมเอาเทคโนโลยีหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและรู้จักกันดี อย่างเช่น เซ็นเซอร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เซ็นเซอร์ในระดับที่สูงและละเอียดมากขึ้นตามความต้องการของงาน, การประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่เร็วและทรงพลัง, ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนที่เป็นแขนกลหรือหุ่นยนต์ ประกอบเข้ากับแนวความคิดทางด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างอัลกอริธึ่มสำหรับการควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดเหล่านี้ให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและได้ผลตามที่ต้องการ ในบางอุปกรณ์อาจจำเป็นต้องอาศัยเน็ตเวิร์กและระบบจีพีเอสที่แม่นยำสูงในการควบคุมเพิ่มเติม
ที่ซาลินาสแวลลีย์ พื้นที่เกษตรกรรมในแคลิฟอร์เนีย วิศวกรจากซิลิคอน แวลลีย์ เพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบประสิทธิภาพของหุ่นยนต์เพื่อการ "กำจัด" ใบที่ไม่ต้องการของหัวผักกาดขาวที่กำลังระบัดอยู่ในแปลงปลูก งานทำนองนี้ฟังดูง่าย อธิบายให้แรงงานฟังเพียงรอบเดียวก็รู้เรื่อง แต่การออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ควบคุมหุ่นยนต์ให้ "แยกความแตกต่าง" ระหว่างใบที่ต้องการกำจัด กับใบที่ต้องการคงไว้ เป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
แต่ "เลททูซ บอท" สามารถทำงานที่ว่านั้นได้ ภายในช่วงระยะเวลาพร้อมๆ กับการใช้แรงงานราวๆ 20 คน ทำหน้าที่เดียวกันนี้ด้วยมือ
หุ่นยนต์เพื่อเกษตรกรรมในสหรัฐ ไม่เพียงทำหน้าที่ทดแทนแรงงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สตราวอส จี. วูกิอูคาส อาจารย์ด้านชีววิทยาและวิศวกรรมการเกษตร จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตดาวิส เชื่อว่า เกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกากำลังปรับเปลี่ยนจากการใช้แรงคนไปเป็นเครื่องจักรมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วหุ่นยนต์เหล่านี้ยังคงอยู่ในขั้นของการทดสอบประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วยการใช้งานจริงๆ ในไร่นา เพื่อดูความคุ้มค่าคุ้มทุน กว่าที่จะมีอุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานกันทั่วไปจริงๆ ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี
อุปกรณ์ชนิดหนึ่งซึ่งแม้จะพัฒนาอย่างถึงที่สุดแล้ว หุ่นยนต์ก็ยังไม่สามารถทัดเทียมกับคนได้ นั่นคือ หุ่นเพื่อเก็บผลผลิตสดใหม่จากไร่นั่นเอง สาเหตุสำคัญก็คือ หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำให้ตา-สมอง-มือของมันทำงานประสานกันได้อย่างยอดเยี่ยมเหมือนกับที่มนุษย์ทำ
ตัวอย่างเช่น "อะโกรบอท" หุ่นยนต์เพื่อเก็บสตรอเบอรี่ที่พัฒนาโดย บริษัทชื่อเดียวกันจากสเปน มีแขนกลเพื่อเก็บสตรอเบอรี่มากถึง 24 แขน แต่ประสิทธิภาพในการเลือกสี คุณภาพ และขนาดของสตรอเบอรี่ ยังไม่สามารถทัดเทียมได้กับการทำงานของคน
นักวิชาการด้านนี้เชื่อว่าคงต้องอีกอย่างน้อย 10 ปี หุ่นยนต์เหล่านี้ถึงจะทัดหน้าเทียมตากับมนุษย์
ที่มา : นสพ.มติชน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต