จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นิพนธ์"ประเมินลดราคาจำนำข้าวคำนวณย้อนหลัง 2 โครงการทำรัฐขาดทุน 8.7 หมื่นล้าน ย้ำไม่ช่วยแก้ทุจริต ระบุต้นเหตุรั่วไหลมาจากการระบายไม่โปร่งใส
วานนี้ (23 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ลดราคาจำนำข้าว: ลดขาดทุน-ป้องทุจริตได้จริงหรือ?" นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการลดราคารับจำนำข้าว ช่วยลดภาระการใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จาก 2 โครงการ คือนาปี 2554/55 และ นาปรัง 2555 โดยใช้ การคำนวณ สมมติฐาน ใช้ราคาข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดปริมาณเกษตรรายละไม่เกิน 41.7 ตัน หรือ 5 แสนบาท ทำให้ปริมาณจำนำนาปีลดลง 21.75% นาปรังลดลง 23.7% ปริมาณรวมของข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการลดลง 17.2% ขาดทุนลดลง 49.5% หรือ 8.7 หมื่นล้านบาท
การลดราคารับจำนำเป็นการแก้ปัญหาให้มีเงินดำเนินโครงการต่อไป เพราะรัฐบาลกำลังไม่มีเงิน จากเดิมที่วางแผนว่าต้องดำเนินโครงการ 4 ฤดูกาล การลดจำนวนเงินลงแต่ไม่ได้ลดผลประโยชน์โรงสี โกดังและเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลยังไม่เปิดข้อมูลขายข้าว แม้จะลดราคารับจำนำแต่ในทางปฏิบัติจริง ลดการขาดทุนได้บางส่วน ส่วนที่มีการแอบขายข้าวกัน รัฐบาลยังไม่มีทีท่าแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการขายข้าวที่ใช้อำนาจระดับสูงตัดสินใจแต่ละครั้ง หากรัฐบาลมีความจริงใจควรเปิดระบายอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกระบวนการ
นายนิพน์ กล่าวว่ารัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาการทุจริต ดังนั้นควรเริ่มจากการยกเลิกกติกาการสีแปรสภาพ 7 วัน ป้องกันไม่ให้โรงสีมีเวลานำข้าวสารราคาถูกจากส่วนอื่นไปส่งมอบแทน การกำหนด 7 วัน ทำให้โรงสีสามารถนำข้าวจากเพื่อนบ้าน ถือเป็นการอนุมัติให้นำเข้าข้าวเปลือกจากเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่ามาส่งมอบแทน ประเมินได้ว่าข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ 3 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลางประมาณ 2 ล้านตัน
ขณะที่ข้าว 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้ เนื่องจากข้าว 3 ฤดูกาล ได้แก่ นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56 มีปริมาณรวม 40 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในโครงการฯยังมีปริมาณจากการบริโภคภายใน 18 เดือน รวม 26.1 ล้านตัน (ข้าวสาร) ที่มีการผ่านตลาดทั่วไป 8.9 ล้านตัน เมื่อรวมกับที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ แจ้งต่อรัฐสภาว่าได้ระบายข้าวผ่านจีทูจี 7 ล้านตัน ทำให้มีข้าวเกินอยู่ในระบบ
"ปริมาณข้าวที่เกินทำให้ราคาข้าวสาร รัฐบาลนี้ถูกว่ายุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้เชื่อว่ามีข้าว 1.9 ล้านตัน ถูกระบายออกมา เมื่อรวมกับข้าวในมือเอกชน ต้องมีสต็อกประมาณ 2 ล้านตัน รวมเป็น 3.9 ล้านตัน เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมปิดบัญชีปี2555/56 ไม่ได้ เพราะมีข้าวมากกว่าที่ควรจะเป็น ประมาณ 1 ล้านตัน น่าจะเป็นข้าวที่มาจากเพื่อนบ้าน โดยโรงสีใช้ช่วงสีแปรสภาพ 7 วัน เป็นช่องทางนำข้าวมาสวมสิทธิ์ ทั้งหมดนี้มีใครบางคนมีอำนาจเอาข้าวสารแอบไปขาย เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องรับผิดชอบ คนที่ไม่มีอำนาจระดับสูงจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด"นายนิพนธ์ กล่าว
ชาวนายื่นนายกฯไม่รับจำนำ1.2หมื่นบาท
ด้านนายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย กล่าวว่าวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ยอมการปรับลดราคาเหลือตันละ12,000 บาท แต่เห็นด้วยกับการกำหนดเพดานรายละไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะชาวนาส่วนใหญ่ที่จะได้ประโยชน์
"ไม่ได้เรียกร้องถึง 15,000 บาทต่อตัน ตอนนั้นเอามาให้ผมเอง เมื่อเอามาแล้วต้นทุนก็เพิ่มขึ้น ค่าเช่านาจากไร่ละ 500-700 บาท ปัจจุบันขึ้นไป 1,000-1,500 บาทต่อปี บางรายมีการเก็บค่าเช่าทุกครั้งที่ทำนา เมื่อรัฐบาลสัญญากับเราไว้แล้ว มาลดราคาจะฟ้องรัฐบาลที่รัฐบาลพูดวันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกัน"นายรังสรรค์ กล่าว
ตำหนิรมว.พาณิชย์ไม่รู้เรื่องข้าว
นายรังสรรค์ ยังได้ตำหนินายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ว่าไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลย หลังจากออกมาพูดว่าเกษตรกรไม่สามารถขายข้าวได้เต็มราคา เพราะเกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรใจร้อน ชี้ให้เห็นว่าไม่มีความรู้เรื่องข้าว การเก็บเกี่ยวที่ความชื้น 22-25% เมื่อนำมาทำข้าวแห้งข้าว 10 กก.จะเหลือ 5.5 กก.
นายรังสรรค์ กล่าวว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นที่มาของการทุจริต ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโครงการประกันรายได้ พบว่าจำนวนพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นผิดปกติ ยังมีประเด็นการส่งมอบข้าวสาร หรือเปาเกา คือโรงสีรับข้าวไว้แล้วไม่สีแปรแต่ซื้อข้าวสารส่งมอบแทน อาจไปซื้อจากโกดังหนึ่งไปอีกโกดังหนึ่ง ส่วนข้าวสารในโกดังรัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่าขายไปเท่าไหร่ เมื่อบอกไม่ได้ทำให้สงสัยว่ามีการทุจริตหรือไม่ ดังนั้นการลดราคามีส่วนเล็กน้อยที่จะลดการทุจริต
"เกียรติ"ชี้ชาวนาได้ประโยชน์น้อยมาก
นายเกียรติ สิทธิอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดการรับจำนำราคาสูงมีการแถลงในสภา และพูดชัดเจนว่า จะยกระดับราคาทั้งโลกให้แพงขึ้นนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะทั้งโลกซื้อขายข้าวปริมาณ 30 ล้านตัน ผลผลิตรวม 600-700 ล้านตัน แต่ไทยส่งออกเพียง 10 ล้านตัน ผลิตปีละ 20 ล้านตัน ทำให้ไม่สามารถดึงราคาข้าวทั้งโลกให้สูงได้
ส่วนชาวนาก็ได้ประโยชน์จากโครงการน้อยมาก จากรายงานราคาข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าทั้งปีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่พันบาท หรือบางช่วงเพิ่มหลักร้อยบาท ชาวนามีรายได้เพิ่มไม่มาก ขณะที่โครงการขาดทุนแล้วหลายแสนล้านบาท
สำหรับการระบายข้าว ช่วงที่ผ่านมาปีนี้มีการส่งออกไป 1.99 ล้านตัน ส่งออกไปแล้ว ถือว่าต่ำมากเพราะไทยไม่สามารถส่งออกได้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพ่อค้า แต่เป็นปัญหาของรัฐบาลด้วย เมื่อรับจำนำทุกเมล็ด ก็ต้องหาที่เก็บทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ไม่ให้ข้อมูลแล้วจะตรวจสอบอย่างไร เข้าใจข้าราชการ แต่ฝ่ายการเมือง น่าจะมีอะไรบางอย่าง จึงไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาประชุมกับฝ่ายตรวจสอบ เช่น ออกหนังสือเรียก องค์การคลังสินค้า (อคส.) 6 ครั้งไม่มาเลย เรื่องนี้นายกฯต้องตรวจสอบการขายข้าวแบบ จีทูจี ถ้าเป็นส่วนที่กำลังเจรจายอมรับให้เป็นความลับได้ แต่ซื้อขายเสร็จ ต้องประกาศ
สว.จี้รัฐสอบข้าวถุงหายนับล้านตัน
พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สรรหา กล่าวว่า การระบายข้าวมีปัญหามาก กรณีระบายข้าวราคาถูกเพื่อให้ประชาชน มีความไม่โปร่งใส มีการอนุมัติแล้ว 2.5 ล้านตัน ผลิตเป็นข้าวถุง 500 ล้านถุง ผ่าน 3 ช่องทางได้แก่ ช่องแรก ร้านถูกใจของกระทรวงพาณิชย์ให้ขายข้าวถุง 5 กก.ถุงละ 70 บาท ช่องสอง ร้านถูกใจและงานธงฟ้าจังหวัดต่างๆ โดยกรมการค้าภายใน เป็นแม่งาน ซึ่งมีข้าวถุงขายบ้างแต่ไม่มาก ช่องที่3 คือเอาข้าวจำนวนนี้ไประบายช่องทางร้านค้าทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการดำเนินโครงการเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน จากการตรวจสอบพบว่ามี 3 บริษัท ที่เข้าไปทำสัญญาซื้อข้าวจาก อคส. แต่ไม่ได้ส่งมอบ ทำให้เอกชนมีส่วนต่างกำไรมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นความสูญเสียของรัฐ
"เป็นเรื่องใหญ่มากที่ข้าวถุงหายไปเป็นล้านๆตัน เรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เอาข้าวมาคืนให้ประชาชน"พ.ต.ท.ยุทธนา กล่าว
พาณิชย์ชี้1.2หมื่นบาทลดแรงจูงใจทุจริต
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่าไม่ว่าราคารับจำนำจะอยู่ที่เท่าใดการดำเนินโครงการไม่ได้ละเลย ดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการและดำเนินคดีจริงๆ ทั้งเรื่องการสวมสิทธิ์ เกษตรกร ศาลตัดสินไม่รอลงอาญา เช่น กรณีที่นครนายก ที่โรงสีรับใบเกษตรกรและสวมสิทธิ์ ซึ่งดำเนินคดีทั้งโรงสีไม่ให้ร่วมโครงการ หากดำเนินคดีถึงที่สุดจะไม่สามารถเข้าร่วมอีกเลย ชาวนาด้วย เรื่องคลังสินค้าก็มีการดำเนินคดี คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ตรวจสอบทุกเดือน ทั้งนี้การลดราคาจะช่วยการทุจริตลดลงได้หรือไม่ ส่วนต่างอาจจะมีแรงจูงใจลดลง แต่มาตรการการปราบทุจริตจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม ยอมรับว่าบทลงโทษที่เกิดจากการทุจริตยังไม่แรงพอ ทำให้การทุจริตยังมีอยู่
สำหรับวิธีการคำนวณผลการดำเนินโครงการโดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการฯ ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เคยเห็นและนำมาใช้ในโครงการดูแลสินค้าเกษตรของรัฐบาลมาก่อน ใช้วิธีคำนวณแบบธุรกิจที่นำต้นทุนที่สูงสุดมาคำนวณ ขณะที่การคำนวณที่เคยทำมาจะกำหนดว่ามีเงินต้องใช้สำหรับดำเนินโครงการต่อขาดเหลือเท่าใด เพื่อตั้งงบประมาณเพิ่มเติม เพราะโครงการลักษณะนี้จะไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนอยู่แล้ว
"สมพร"เชื่อลดราคาจำนำรัฐไม่มีเงิน
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าสาเหตุลึกๆ การลดราคารับจำนำ มาจากงบที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ข้าวที่มาจากโครงการรับจำนำ มีการระบายในประเทศ ส่วนใหญ่ข้าวอยู่ในสต็อกที่รอวันระเบิด
"เราไม่มีอำนาจไปชี้นำตลาด กระทรวงพาณิชย์แจ้งทำรายงานสัญญาส่งออก 7 ล้านตัน เอ็มโอยู อีก 8 ล้านตัน แต่เมื่อเอาเอ็มโอยู กางดูฟิลิปปินส์ บอก 1 ล้านตันราคาตลาด แต่ปีก่อนนำเข้าแค่ 3 แสนตัน บังคลาเทศ นำเข้าจริงแค่ 57 ตัน ข้อมูลเอ็มโอยูเป็นข้อมูลที่ไม่ได้กำหนดให้ปฏิบัติตาม โกติวัวร์ ไม่ได้ซื้อจริง เชื่อว่าการลดราคาแล้วจะทำให้กลไกในประเทศเป็นมาร์เก็ตไพรส์ เอกชนจะแข่งกับรัฐบาลได้ในแง่การซื้อเก็บ รัฐบาลยอมแพ้กลไกตลาดแล้ว พยายามให้ตลาดทำงาน และช่วยลดงบประมาณรัฐไม่ต้องแบกภาระ"นายสมพร กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต