จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุพรรณี พุฒิพิสุทธิ์
เป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้รัฐบาลต้องกลืนน้ำลายตัวเอง โดยหาทางลงสำหรับโครงการรับจำนำข้าว
เพราะโดยนโยบายที่ประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ในราคาสูงถึงตันละ 1.5 หมื่นล้านบาทสำหรับข้าวขาว 5% และ 2 หมื่นบาทสำหรับข้าวหอมมะลิ รวมถึง กระบวนการรับจำนำที่มีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต ได้ทำให้เกิดผลขาดทุนจำนวนมหาศาลต่อโครงการนี้
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหรือกขช. ประกาศให้ทบทวนเงื่อนไขการรับจำนำ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการการปิดบัญชี โดยให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไปศึกษาแนวทางการลดราคาสำหรับการรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 2556/2557 เบื้องต้น คาดว่า ราคารับจำนำจะเฉลี่ยที่ตันละ 1.2-1.35 หมื่นบาท ขณะเดียวกัน ยังให้ศึกษาจำกัดปริมาณการรับจำนำด้วย
นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ บรรดานักวิชาการได้คัดค้านและเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่รัฐบาลปฏิเสธ พร้อมเดินหน้าโครงการมาถึง 3 ฤดูการผลิต และ ขณะนี้ ได้เข้าสู่การรับจำนำในฤดูการผลิตที่ 4 ขณะที่ ผลขาดทุนของโครงการ ที่สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินที่มากเกินคาดการณ์ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานสรุปผลการดำเนินโครงการว่า ในช่วง 3 ฤดูการผลิตที่รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าว หรือ จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 รัฐบาลมีผลขาดทุนถึง 2.2 แสนล้านบาท พร้อมประมาณการว่า จะมีผลขาดทุนเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จนถึงปัจจุบัน นั่นเท่ากับว่า ผลขาดทุนจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลอดทั้ง 4 ฤดูการผลิต ผลขาดทุนจะทะลุหลัก 3 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจต้องขยายวงเงินกู้จาก 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้
เมื่อตัวเลขผลขาดทุนปรากฏ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า ผลขาดทุนจะต้องต่ำกว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ใช้งบประมาณราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ถึงขนาดที่รัฐมนตรีพาณิชย์แถลงประกาศไม่รับผลขาดทุนดังกล่าว ทั้งยังมีกระแสข่าว จะเอาผิดกับบุคคลที่ปล่อยข่าวผลขาดทุนนี้ ขณะเดียวกัน มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ก็ประกาศจะปรับลดเครดิตประเทศ เพราะผลขาดทุนได้ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมาก
แต่ด้วยการประเมินผลการดำเนินโครงการที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีที่ถูกต้องของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ได้ทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะ”บุญทรง เตริยาภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จำนนด้วยหลักฐาน ออกมายอมรับตัวเลขผลขาดทุนดังกล่าว เพราะผลขาดทุนของโครงการก็จะต้องไปโผล่ที่งบประมาณที่ต้องจัดสรรเพื่อชดเชยผลขาดทุนดังกล่าว และหากดึงดันที่จะไม่รับผลขาดทุนและดันทุรังเดินหน้าต่อ ความเสียหายจะตกอยู่กับรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการนี้
อย่างไรก็ตาม ในฟากของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะมีความเห็นต่อเงื่อนไขการรับจำนำใหม่ได้หรือไม่ ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายการบริหารจัดการของรัฐบาล เพราะด้วยต้นทุนการปลูกข้าวที่ถีบตัวสูงขึ้นรับกับนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายรับสุทธิของชาวนาลดลง หากราคาและปริมาณข้าวในการรับจำนำลดลง ขณะที่ ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย รัฐบาลจะสามารถยอมรับคะแนนเสียงที่จะลดลงจากชาวนากว่า 1.4 ล้านครอบครัวได้หรือไม่ ต้องติดตาม
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต