สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ออกแบบบ้านรับ ยุคโลกร้อน ให้อยู่ได้สบายกายสบายใจ

ออกแบบบ้านรับ “ยุคโลกร้อน” ให้อยู่ได้สบายกายสบายใจ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      การ ออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ หลายๆ คนให้ความสนใจในยุคที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งเพื่อตัวเราเอง และคนอื่นๆ ในวันนี้และวันข้างหน้า
       สถาปนิกจากสมาคมสถาปนิกสยามให้คำแนะนำว่า ในเบื้องต้นการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ทำให้อยู่แล้วสุขกายสบายใจ มีพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึง เริ่มจาก “การวางผัง” ด้วยการใส่ใจในเรื่องทิศทางของ “แดด-ลม-ฝน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบบ้านที่เข้าใจธรรมชาติเป็นหลักนั่นเอง
       นอกจากการวางผังให้ถูกต้องตามทิศทางแดด-ลม-ฝน แนวทางที่จะทำให้เกิดผลตามที่ต้องการยังต้องให้ความสำคัญกับ “การลดความร้อน” เข้าสู่อาคารด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เช่น ฉนวนกันความร้อน ฯ หรือ “การรีไซเคิล” เช่น การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อลด carbon footprint เพราะช่วยลดระยะทางในการขนส่ง หรือ“การใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” เช่น การใช้สีซึ่งไม่มีสารระเหย เป็นต้น
       เรื่องการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ที่สำคัญคือ “เปลือกหรือผิวของบ้าน” เช่น หลังคา จะต้องใช้ฉนวนกันความร้อน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักที่จะช่วยป้องกันความร้อนซึ่งจะถ่ายลงมาสู่ตัว บ้าน หลักการคือการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้มากที่สุด เพื่อจะต้องปรับอากาศให้น้อยลง โดยมีวัสดุต่างๆ หลากหลาย เช่น ฉนวนใยแก้ว ฉนวนโพลิยูรีเทน ฉนวนพียูโฟม ซึ่งบางอย่างมีประสิทธิภาพพอๆ กัน แตกต่างกันที่ความหนา อย่างไรก็ตาม มีฉนวนที่ดีซึ่งคนส่วนมากมักจะนึกไม่ถึงคือช่องว่างของอากาศ จึงควรจะเว้นช่องว่างระหว่างวัสดุมุงหลังคากับวัสดุกันความร้อน เพื่อให้การนำพาความร้อนเข้าสู่อาคารช้าลง
ผนังบ้านส่วนที่รับแสงแดด ควรใช้ฉนวนกันความร้อน ฉาก กันสาด รวมถึงการปลูกต้นไม้ จะช่วยลดอุณหภูมิในบ้าน
       ในส่วนของผนัง สามารถใช้การก่ออิฐให้หนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อน สำหรับกระจก มีทางเลือกด้วยการใช้กระจกที่มีการเคลือบ low E จะช่วยกันความร้อนได้มากกว่ากระจกใสธรรมดา นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กระจกสองชั้น ได้อีกด้วย
       “เมื่อเราใช้การป้องกันความร้อนในส่วนที่ได้รับแสงแดดมากๆ ไม่ว่าจะเป็น หลังคา ผนัง และช่องแสงหรือกระจก จะทำให้เราสามารถปรับอากาศหรือความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านได้ดี แต่ยังมีการออกแบบ passive ที่ใช้การปลูกต้นไม้ การดึงธรรมชาติเข้ามาอยู่ใกล้บ้านเพื่อให้บ้านเย็น หรือการออกแบบให้ลมผ่าน เพื่อถ่ายเทอากาศได้ดี จะช่วยลดการใช้พลังงานได้แน่นอน”
       
       ขณะที่ส่วนหลักๆ คือ “หลังคา ผนัง หน้าต่าง” มีตัว กันความร้อน แต่อีกส่วนสำคัญที่คนไทยไม่ค่อยใส่ใจคือ การปิดช่องว่างของประตูกับหน้าต่าง ทั้งๆ ที่ จะทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ได้อย่างมาก ดังนั้น จึงควรจะสำรวจรอยต่อที่ทำให้อากาศภายนอกกับภายในรั่วไหลว่ามีที่ใดบ้าง
เปลือกหรือผิวของบ้าน เช่น หลังคา จะต้องใช้ฉนวนกันความร้อนเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในบ้าน ทำให้ใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศลดลง
       สำหรับการออกแบบให้การใช้ “แสงธรรมชาติ” เข้ามาช่วย โดยใช้วัสดุป้องกันความร้อนได้ดีจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างดีเช่น กัน ส่วนการใช้ “พืชพรรณต่างๆ” เพื่อช่วยลดความร้อน แนวทางที่ทำควรจะทำให้พื้นที่รอบๆ บ้านเย็นลงระดับหนึ่ง แล้วจึงจะปรับอากาศภายใน แทนที่จะให้พื้นที่รอบๆ ร้อนระอุ และควรจะเป็นพืชพรรณที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะจะเหมาะสมและดูแลได้ง่าย เมื่อทำเช่นนี้ทุกบ้าน จะช่วยให้การใช้พลังงานของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย
       ส่วนการ “ตกแต่งภายใน” อยู่บนแนวทางเดียวกันคือการ เลือกใช้ของที่มีอยู่ในพื้นที่หรือท้องถิ่น เพื่อจะไม่ต้องขนส่งให้สิ้นเปลืองพลังงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงก็ตาม นอกจากนี้ การคำนึงถึงการออกแบบที่ละเอียดขึ้น ยังมีการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ไม่มีเศษเหลือซึ่งจะกลายเป็นขยะ ให้ต้องจัดการอีก รวมทั้ง การใช้ “อุปกรณ์ต่างๆ” เช่น อุปกรณ์ห้องน้ำและ สุขภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ชักโครก ก๊อกน้ำ และฝักบัว แบบประหยัดน้ำ
       อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สะดวกในการเลือกใช้หรือเลือกซื้อ สามารถดูได้จากใบรับรองซึ่งผู้ประกอบการที่ทำในเรื่องนี้มักจะมีการขอการ รับรองเอาไว้ เช่น ใบรับรองการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯ สำหรับสถาบันของไทยที่รับรองด้านที่อยู่อาศัยมีสถาบันอาคารเขียวเป็นผู้ รับรองในเรื่องของกระบวนการก่อสร้าง การใช้วัสดุ การออกแบบ งานระบบที่นำพลังงานหรือน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้ซื้อมีความสามารถในการเลือกหรือเรียกร้องมากขึ้นจะช่วยผลักดัน ผู้ผลิตให้เพิ่มความสำคัญ
       แต่ในเรื่องของราคา ยอมรับว่ามีบางส่วนที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย เช่น กระจกเคลือบผิว
       แต่ในส่วนที่ไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย เช่น กันสาด ซึ่งอยู่ที่การออกแบบวางผังให้หันไปในทิศทางที่ถูกต้องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีอุปกรณ์บางอย่างที่ราคายังคงสูงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับ ประสิทธิภาพ เช่น ระบบ invertor ในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งราคาที่จ่ายยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะคุ้มกับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย แต่ต้องมองว่าถ้าทุกคนช่วยกันลดการบริโภคพลังงานให้น้อยลง เป็นการช่วยกันทุกๆ ส่วนเพื่อสังคมโดยรวม 
       เมื่อมองถึงเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นการจัดการองค์ประกอบในการอยู่อาศัยแล้ว ยังเป็นเรื่องของวิถีการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้ที่อยู่อาศัยด้วย จึงจะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

Green Home สร้างบ้านให้ประหยัดพลังงาน-ทุ่นค่าใช้จ่ายระยะยาว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       บ้านพักอาศัยหลายหลังมัก ถูกสร้างโดยลืมนึกถึงสภาพภูมิอากาศที่บ้านตั้งอยู่ หรือใช้วัสดุไม่เหมาะสม รวมถึงการอยู่อาศัยอย่างไม่สอดคล้องกับเมืองร้อน ทำให้ต้องมาแก้ไขภายหลังสร้างเสร็จโดยการใช้เครื่องปรับอากาศภาพในบ้าน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน และทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
       ทั้งๆ สามารถลดใช้พลังงานในบ้านพักอาศัยแต่แรกที่เริ่มเลือกปลูกสร้าง รวมถึงรู้จักปรับวิถีชีวิต พฤติกรรม และบ้านเรือนให้สามารถอยู่อาศัยได้สบาย โดยมีการใช้พลังงานน้อยที่สุด หรือหากต้องใช้พลังงาน ก็ใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
       ลองดูกันว่า “สร้างบ้านให้ประหยัดพลังงาน” ต้องเลือกพิจารณาอย่างไร
       1. หันบ้านให้ถูกทาง
       บ้านที่อยู่อาศัยแล้วสุขสบาย ควรเป็นบ้าน “อยู่เย็นเป็นสุข“ “ร่มรื่น ร่มเย็น“ “โล่ง โปร่ง สบาย”
       ดังนั้น สภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านมีส่วนช่วยทำให้บ้านเย็นสบาย เช่น มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีแหล่งน้ำที่ให้ความเย็น ไม่มีอาคารกีดขวางทางลม ฯลฯ
       การวางตำแหน่งบ้านที่ดีจะทำให้ภายในบ้าน ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติมากที่สุด ดวงอาทิตย์อ้อมใต้ ความร้อนที่เกิดในบ้านส่วนใหญ่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วเคลื่อนตัวอ้อมไปทางทิศใต้จนไป ตกทางด้านทิศตะวันตก ดังนั้น การวางตำแหน่งของบ้าน อาจใช้หลัก “เปิดรับแสงด้านเหนือ” และ “กันแดดด้านตะวันตกและใต้” เท่านี้ก็พอจะสู้รบกับความร้อนได้อย่างดี และประหยัดพลังงานทีเดียว
       ดูทิศทางลมเหนือและลมใต้ ลมที่พัดผ่านประเทศเรามี 2 ชนิด คือ ลมมรสุมฤดูร้อน ที่พัดมาจากทางทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมฤดูหนาว ที่พัดมาจากทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การจัดวางบ้าน ควรจะจัดให้มีช่องเปิดที่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ทั้ง 2 ด้าน
       2. กางร่มให้บ้าน
       ต้นไม้สุดยอดร่มเงา การปลูกต้นไม้บริเวณรอบๆบ้าน นอกจากความร่มรื่นความสดชื่น อากาศบริสุทธิ์ที่ได้รับจากต้นไม้แล้ว ต้นไม้ยังดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบๆ ไปทำให้น้ำที่รากดูดขึ้นมาจากใต้ดิน ระเหยเป็นไอน้ำผ่านออกทางปากใบ ทำให้อากาศรอบๆต้นไม้เย็นลง
       ติดกันสาดให้บ้าน การติดตั้งกันสาด หรือแผงกันแดด เป็นการป้องกันความร้อนและแสงแดด ไม่ให้ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา เป็นความร้อนสะสมอยู่ในบ้าน กันสาดหรือแผงกันแดดที่ดีนั้น ต้องกันแสงแดด ไม่ให้ส่องผ่านเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด แต่อย่าให้มากไปจนทำให้บ้านมืด
       
       3. อย่าใส่แหล่งความร้อน
       การที่ลานรอบบ้านเป็นลานคอนกรีตนั้นจะเป็นตัวดูดความร้อนโดยเฉพาะที่ อยู่ด้านทิศใต้หรือทิศตะวันตก เมื่อมีลมพัดมาก็จะนำความร้อนและฝุ่นจากพื้นคอนกรีตนี้มาด้วย ดังนั้น จึงควรจัดให้บ้านมีพื้นที่แบบนี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ปูฉนวนให้พื้นดิน การปลูกหญ้าหรือไม้คลุมดินรอบๆบ้าน นอกจากเป็น “การปูฉนวนกันความร้อน” ให้กับพื้นดิน ยังเสมือน “ ตัวป้องกันฝุ่น” และยังให้ความร่มรื่นสบายตา ลดการสะท้อนของแสงอีกด้วย
       
       4. ยอมให้ลมพัดผ่าน
       ทุกครั้งที่มีลมพัดผ่านตัวเราเราจะรู้สึกเย็นสบาย ถ้าบ้านเรามีลม (เย็น)พัดผ่านเข้าบ้าน บ้านเราอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือเปิดก็เพียงเล็กน้อย
       ดังนั้น การวางบ้านหรือช่องหน้าต่างที่เหมาะสมกับทิศ บ้านก็มีโอกาสที่จะรับลมได้ มีทางให้ลมเข้า ต้องมีทางให้ลมออก การให้แต่ละห้องมีหน้าต่างอยู่ด้านตรงข้ามกัน จะทำให้อากาศถ่ายเทในห้องได้มาก รวมถึงอย่าวางเฟอร์นิเจอร์ขวาง หรือบังทางลมเข้าออกด้วย
       5. เปิดบ้านรับแสงธรรมชาติที่ดี
       การที่แต่ละห้องมีช่องแสงหรือหน้าต่างให้แสงธรรมชาติส่องสว่างเข้ามา ในห้องได้นั้น ประโยชน์ที่เห็นชัดที่สุดคือ ไม่เสียสตางค์ค่าไฟฟ้าเพื่อที่จะเปิดโคมไฟ ในเวลากลางวัน
       การรับแสงธรรมชาติเข้าบ้านที่ดีนั้นควรอยู่ในทิศทางที่ไม่มีแสงแดด เข้ามา การที่มีช่องแสงหรือหน้าต่างทางทิศเหนือนั้น จะรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ดีที่สุด หรือทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือที่ช่วงบ่ายจะไม่โดนแดด ก็จัดว่าได้รับแสงธรรมชาติที่ดีเช่นกัน
       
       6. ปรับที่ และปรับตัว
       เชื่อว่าที่บ้านของทุกคนนั้นจะมีบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ว่าในหรือนอกบ้านที่ค่อนข้างจะเย็นสบาย ที่สุดในแต่ละเวลา เช่น มีร่มเงาลมพัดผ่านอยู่เสมอ เมื่อรู้แล้วว่าเป็นบริเวณใด ลองปรับการใช้สอยของตัวเรา เช่น จัดบริเวณนั้นให้เป็นที่ตั้งโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งเล่น พักผ่อน เท่านี้ก็เป็นการ “เคลื่อนตัวเราหาลมและแสงธรรมชาติ” อย่างง่าย
       รวมถึงการใส่เสื้อผ้าให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และมีการปรับตัวโดยสวมใส่เสื้อผ้า เบา บาง ในหน้าร้อนให้ร่างกายสบาย เพื่อที่จะไม่ต้องตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้ต่ำมาก
       7. ติดตั้งฉนวนป้องกันความร้อน
       ฉนวนกันความร้อน? วัสดุอะไรก็ตามที่สามารถกั้นไม่ให้ความร้อนถ่ายเท หรือส่งผ่านจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
       ติดตั้งฉนวนตรงไหนของบ้าน ถึงจะประหยัดพลังงาน และอยู่สบาย? ในแต่ละบ้านมักจะมีการปรับอากาศเพียงบางห้อง บางเวลา ซึ่งมีข้อแนะนำตามกำลังงบประมาณ ดังนี้
       สำหรับห้องที่มีการปรับอากาศ (ห้องที่ติดแอร์)
       - หากมีงบประมาณเพียงพอ ควรติดฉนวนทั้งที่ผนังและหลังคา (ฝ้าเพดาน) ของทุกห้องที่มีการปรับอากาศ เพราะจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่หนัก เนื่องจากสู้รบกับความร้อนที่เกิดภายในบ้านเท่านั้น
       - หากมีงบประมาณปานกลาง ควรติดฉนวนที่หลังคา (ฝ้าเพดาน) แล้วเลือกติดที่ผนังด้านที่ร้อนที่สุด 1-2 ด้าน โดยมากจะเป็นด้านที่โดนแดดมากๆ เช่น ทิศใต้ ทิศตะวันตก
       - หากมีงบประมาณน้อย เลือกติดที่หลังคา (ฝ้าเพดาน) ก็ยังพอช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ เพราะหลังคาจะได้รับความร้อนมากที่สุดเกือบตลอดเวลา
       สำหรับห้อง หรือบ้านที่ไม่มีการปรับอากาศ (บ้านไม่ติดแอร์) แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าควรหางบประมาณ สำหรับติดตั้งฉนวนที่หลังคา หรือฝ้าเพดานของชั้นบนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อน แผ่ลงมาหาเรา หากมีงบประมาณเพียงพอ อาจเลือกติดฉนวนที่ผนังด้านที่ค่อนข้างร้อนเพิ่มเติม
       ติดตั้งฉนวนใต้หลังคาหรือฝ้าเพดานได้อย่างไร ? สำหรับฝ้าเพดานแบบ ที-บาร์ ลักษณะเป็นตารางสามารถยกเปิดแผ่นฝ้าได้ กรณีนี้เจ้าของสามารถทำได้เอง โดยการยกเปิดแผ่นฝ้า แล้วใช้ฉนวนแบบแผ่น หรือแบบม้วน ปูทับไปบนโครงตาราง แล้วปิดแผ่นฝ้าตามเดิม เป็นอันเรียบร้อย การปูก็พยายามให้ชิดกัน
       
       ฝ้าเพดานแบบแผ่นเรียบไม่เห็นรอยต่อระหว่างแผ่น เป็นแบบติดตายไม่สามารถยกเปิดได้ การติดตั้งฉนวนกับฝ้าแบบนี้ด้วยตัวเอง จะยุ่งยากพอควร ทางที่ดีควรหาช่างมาติดตั้งให้ การเลือกใช้ฉนวนก็ใช้ได้ทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน
ภายนอกบ้าน ถ้าปลูกต้นไม้จะช่วยลดอุณหภูมิบ้านได้เยอะ
       8. เรื่องน่ารู้ก่อนใช้ไฟฟ้า
       
       วัตต์ (WATT) ที่เขียนอยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นบอกอะไร ?
       วัตต์ (WATT) หรือตัว W ที่มักเขียนติดอยู่ตามหลอดไฟ พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ คือ อัตราการใช้กำลังไฟฟ้า หากวัตต์มาก เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นก็ต้องใช้พลังงานมากด้วย
       หน่วยของไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จะเรียกว่า 1 กิโลวัตต์ หรือ 1 หน่วยที่การไฟฟ้าเขียนไว้ในบิลค่าไฟฟ้า ว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วยในแต่ละเดือน
       ส่วนที่มักทำให้เราเสียค่าไฟมากก็คือเครื่องปรับอากาศ เพราะเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน กินไฟฟ้าประมาณ 1,300 วัตต์ ขณะที่พัดลมกินไฟฟ้าเพียง 60-80 วัตต์เท่านั้น
       ดังนั้นการจะลดค่าไฟก็ต้องลดการใช้งาน กับอุปกรณ์ตัวที่กินไฟมากๆ จึงจะเห็นผลชัดเจน
       
       บำรุงรักษา คือหัวใจของการใช้อุปกรณ์ ไม่ว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ดีเพียงใด หากไม่มีการบำรุงรักษา เช่น ไม่ยอมถอดแผ่นกรองของเครื่องปรับอากาศมาล้าง หรือวางตู้เย็นชิดผนัง ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้อาจทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นจากเบอร์ 5 กลายเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ได้ทันที
ภายใน ควรให้โล่ง โปร่ง ลมพัดผ่านได้ ถึงอยู่สบาย
       9. กลยุทธ์การลดค่าไฟ
       นอกจากเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ทั้งหลาย ถอดปลั๊ก ปิดสวิทซ์ เมื่อไม่ใช้งาน รวมถึงการดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดีแล้วยังมีข้อแนะนำอีกดังนี้
       
       เอาของร้อนและชื้นออกไปจากห้องแอร์เครื่องปรับอากาศนั้นมีหน้าที่ใน การทำความเย็น หรือ “เอาความร้อนจากในห้องออกไปทิ้งนอกห้อง” แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว พลังงานที่ใช้ในการทำความเย็นนั้น เพียงแค่ 30 % ส่วนที่เหลืออีก 70 % นั้นหมดไปกับ ”การทำให้อากาศในห้องแห้ง” ดังนั้นอย่าเอาของร้อน หรือที่มีความชื้นเข้าไปในห้อง เช่น กาต้มน้ำร้อน กระถางต้นไม้
       
       ปิดแอร์อย่าเปิดประตูหน้าต่างทันที การเปิดหน้าต่างทันที หลังจากปิดแอร์นั้น จะทำให้ความชื้นจากภายนอก เข้ามาสะสมอยู่ใน ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน พอตกเย็นเข้ามาเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็เลยต้องใช้พลังงาน ในการรีดความชื้นสะสมออกไปอีก
       
       25 องศา ตัวเลขเย็นกำลังดี การตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศา แทน 24 หรือ 23 องศา ก็เพียงพอที่จะทำให ้ภายในห้องนั้นเย็นสบายแล้ว ถ้าไม่ใส่เสื้อผ้าหลายชั้น เช่น สูท การเพิ่มอุณหภูมิขึ้น 1 องศา จะทำให้ประหยัดค่าไฟได้ 10 % ทีเดียว
       
       เปิดพัดลมช่วยกันดีกว่า การที่ห้องปรับอากาศมีขนาดใหญ่ ลมจากเครื่องปรับอากาศอาจกระจายไม่ทั่งถึง การเปิดพัดลมตั้งพื้นช่วยกระจายความเย็น ให้ทั่วห้องจะประหยัดค่าไฟมากกว่า การลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศลง
       
       ทำกิจกรรมในบ้านให้พร้อมกันเช่นการกินอาหารในแต่ละมื้อ ก็จะช่วยลดค่าไฟของไมโครเวฟ ค่าก๊าซหุงต้มจากการอุ่นอาหาร
       (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบาลพลังงานแห่งชาติ )

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ออกแบบบ้าน ยุคโลกร้อน อยู่ได้ สบายกายสบายใจ

view