จากประชาชาติธุรกิจ
จะมีการปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิต 2556/57 หรือไม่ ไม่ใช่แค่เป็นการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยเท่านั้น
แต่กำลังถูกจับตามองจากต่างประเทศ!!
เพราะในฐานะที่ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตและผู้นำส่งออกข้าวโลก แม้จะไม่ได้ติดอันดับหนึ่ง ของโลกมาในช่วง 2 ปีหลัง แต่การส่งออกข้าวไทย ก็ยังเป็นที่ยอมรับในภาพพจน์และความเป็นมืออาชีพ จึงยังเป็นผู้นำในด้านการอ้างอิงราคา และความมีอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน
เพราะหากไทยขึ้นราคาข้าวในประเทศ ประเทศคู่แข่งในอาเซียนก็จะปรับตาม ในทำนองเดียวกัน เมื่อใดไทยปรับลดราคาข้าวในประเทศ ประเทศคู่แข่งส่งออกก็จะปรับลดราคาลงเช่นกัน เพื่อแข่งขันส่งออกข้าวกับไทยให้ได้
เห็นได้จากการปรับขึ้นราคารับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ประกาศรับจำนำข้าวเปลือกสูงขึ้นทันที โดยข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท ตั้งแต่ผลผลิตปี 2554/55 แถมเงื่อนไขรับจำนำแบบไม่อั้น รับทุกเมล็ด
จากรายงานตัวเลขราคาข้าวในตลาดของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้จัดทำเพื่อเตรียมทำการชี้แจงและเผยแพร่ให้เห็นถึงผลดีที่มากกว่าประกันราคารายได้ของรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ระบุว่า ราคาตลาดเฉลี่ยข้าวในปีผลิต 2554/55 ของรัฐบาลชุดนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 11,000 บาท สูงขึ้นจากผลผลิตปี 2553/54 ของรัฐบาลก่อน เฉลี่ยราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 6,000-7,000 บาท จากราคาเฉลี่ยที่ชาวนาเคยรับเงินจากรัฐบาลก่อนกับระบบประกันรายได้ 2,129 บาทต่อตัน เพิ่มเป็น 14,795 บาทต่อตัน เท่ากับชาวนาได้รับเงินส่วนเพิ่มอีกตันละ 3,795 บาท รวมถึงได้จ่ายเงินไปสู่ระบบจำนำแล้ว 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินว่าเงินที่ชาวนาได้รับแล้วนำไปใช้จ่าย ตามหลักคำนวณจะเพิ่มรายได้ทางการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3-4 เท่าตัวของมูลค่าเงินที่สู่ระบบ โดยอ้างอิงผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำที่เห็นผลดีแล้วว่าทำให้เศรษฐกิจปี 2555 สูงกว่าคาดการณ์อีก 0.5-1%
แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัญหาคลุมเครือในเรื่องภาวะขาดทุนที่ รัฐบาลต้องแบกรับจากโครงการรับจำนำนั้นสูงแค่ไหนจะกระทบต่อวินัยการเงินการ คลังในอนาคตหรือไม่หากยังคงจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาด 3-4 พันบาทต่อตัน จนเป็นที่มาของตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท หรือขาดทุนแค่ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 3.4 หมื่นล้านบาท ตามตัวเลขล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์
ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขสูงหรือต่ำ ก็ล้วนแต่เป็นผลขาดทุนทั้งสิ้น!!
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มิถุนายนนี้ ก็จะชัดเจนแล้วว่าตัวเลขทางการขาดทุนรับจำนำนั้นเท่าไหร่ และเชื่อว่าจะเป็นทางออกของแนวคิดการปรับลดราคาข้าวรับจำนำรอบใหม่ที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เกาะติดและเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกนโยบายจำนำข้าวมาโดยตลอด ยืนยันมาตั้งแต่เริ่มทำโครงการจำนำข้าว ว่าการรับจำนำมีผลเสียมากมายเพราะใช้เงินแยะ จากทั้งจำนำราคาสูงและแบกสต๊อกรอการขายก็น่าจะใช้เวลา 4-5 ปีกว่าข้าวจะระบายได้หมด รวมทุกอย่างต้นทุนที่รัฐต้องแบกรับขาดทุนต่อปีตกประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ชาวนาได้ประโยชน์เพียง 80,000 ล้านบาท
ที่เหลือ 2 ใน 3 เป็น "ค่าโง่" ที่ต้องจ่ายไปตามรายทาง ก่อนถึงมือชาวนา!!
ซึ่งการยอมรับตัวเลขการขาดทุนในทางบัญชี ไม่ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และความวิตกต่อภาพพจน์ประเทศต่อวินัยการเงินการคลัง กำลังปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติมองถึงการลงทุนในประเทศนั้นๆ ว่ายังมีเสถียรภาพดีหรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลปรับท่าที และแนวโน้มจะปรับราคาจำนำข้าว
จากท่าทีของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็แสดงให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ตลาดไม่รับราคาข้าวที่แพงเกินไป จำนำข้าวก็คงต้องปรับ พร้อมกับโยนปัญหาขบคิดมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งเป็นประธาน เป็นคนตัดสินใจในการเคาะราคาใหม่!!
ทั้งนักวิชาการ พ่อค้า หรือแม้แต่ชาวนาเอง ก็แสดงความเห็นด้วย โดยผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ฤดูกาล 2556/57 ควรปรับเหลือตันละ 10,000-11,000 บาท จาก 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ 16,000-17,000 บาท จาก 20,000 บาท
สมาคมชาวนายันรับได้ หากกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ตาม แต่ชาวนาได้เงินเข้ากระเป๋าจริงไม่ต่ำกว่า 10,000-11,000 บาท ส่วนนักวิชาการ แนะตั้งราคาไม่ควรสูงเกินราคาตลาดในขณะนั้น โดยไม่ควรเกิน 20-30%
นอกจากนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลควรเลิกรับจำนำทุกเมล็ด โดยหันมากำหนดโควต้าการรับจำนำต่อราย
วงในของผู้กำหนดนโยบายรับจำนำของรัฐบาล รับรู้มาตลอดว่าปัญหาจำนำข้าวนั้นมีมาก โดยเฉพาะการเกิดความรั่วไหลจากการทุจริตหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ปฏิบัติ แม้จะมีการออกระเบียบหรือมาตรการ อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยการรับจำนำต่อเนื่องเป็นปีๆ และไม่จำกัดจำนวนรับจำนำข้าว ย่อมมีความเสี่ยงสูงและดูแลยาก ซึ่งประเมินว่าความรั่วไหลนั้นเป็นวงเงินสูงหลักหลายหมื่นล้านบาททีเดียว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงกันว่า นโยบายการรับจำนำ สร้างความถูกอกถูกใจ สนองตอบความต้องการของชาวนาได้ดีกว่าระบบอื่นๆ โดยผลสำรวจชาวนา 9 ใน 10 ราย พึงพอใจกับโครงการรับจำนำมากกว่าประกันรายได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลคงโครงการรับจำนำข้าวต่อไป จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไป
เพื่อรักษาฐานเสียงชาวนาเอาไว้!!
แต่ตัวเลขการขาดทุนหลายหมื่นหรือเป็นแสนๆ ล้านบาท ก็มีผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นไหวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เชื่อว่าในช่วง 3-4 เดือนก่อนผลผลิตข้าวรอบใหม่ออกสู่ตลาด จะเห็นการตัดสินใจ "ปรับเปลี่ยน" จากรัฐบาลหลายประการ
ประการแรก หากปรับราคาจำนำข้าวอีก 2-3 พันบาทต่อตัน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าเหลือตันละ 13,000 บาท จากตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิเหลือตันละ 17,000-18,000 บาทจากตันละ 20,000 บาท โดยที่ชาวนารับเงินจริงไม่ต่ำกว่า 10,000-11,000 บาทนั้น จะทำอย่างไร เพราะแม้ขณะนี้รัฐกำหนดราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท ก็พบว่ากว่าครึ่งรับเงินไม่ถึง 12,000 บาท เพราะจากความผันผวนของอากาศและชาวนานิยมตัดข้าวแล้วจำนำทันที ความชื้นจึงสูงกว่าอัตราความชื้นกำหนด 14.5% สูงเป็น 20-25% หักทอนไปก็เหลือไม่ถึง 15,000 บาท
ประการที่สอง ชาวนาจะรับได้ไหม หากเลิกรับจำนำเมล็ด โดยจำกัดรับจำนำเพื่อช่วยเหลือชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินไม่เกิน 10 ไร่ โดยประเมินว่า ชาวนาส่วนใหญ่ของไทยจะมีพื้นที่ทำกินเพียงเท่านี้ และผลผลิตที่ได้มาจะไม่เกิน 5 แสนบาท หากรวมกับประมาณการผลผลิตต่อปี 25-28 ล้านตัน ก็จะใช้เงินได้ตามกรอบหมุนเวียนไม่เกินปีละ 5 แสนล้านบาท
พร้อมๆ กับการเร่งประกาศแผนจัดโซนนิ่งข้าว และแยกการส่งเสริมตามพื้นที่ ควบคู่กับการยกเลิกการรับจำนำทั่วประเทศ เปลี่ยนมาเป็นการรับจำนำบางพื้นที่แทน
ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้รัฐผ่านวิกฤตขาดทุนไปได้!!
นายประสิทธิ์ บุญเฉย
นายกสมาคมชาวนาไทย
"ชาวนากังวลเรื่องภาระงบประมาณรัฐบาลกับการอุ้มราคาข้าว การจะลดราคาจำนำข้าวก็ไม่ได้คัดค้าน หากไม่ได้กระทบต่อรายได้จริงที่ชาวนาควรได้เกินต้นทุน ที่ตอนนี้ไร่ละ 7-8 พันให้ลดลง และรับเงินขายข้าวจริงเกิน 1 หมื่นบาท"
น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
"ปรับราคาจำนำข้าวแล้วหันไปส่งเสริมสวัสดิการให้ชาวนา น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อการบริหารจัดการข้าวในขณะนี้ ในทางปฏิบัติไม่ว่าไทยจะปรับราคาขึ้นหรือลง คู่แข่งเขาก็ขยับตาม แต่ยังคงคุมราคาขายให้ต่ำกว่าไทย แต่ดีที่ผู้ซื้อรับได้และส่งออกได้มากขึ้น เพราะราคาข้าวไทยลดลง แต่ด้วยความเชื่อถือข้าวไทย และเพิ่มการทยอยรับจำนำข้าวในสต๊อกรัฐแบบสม่ำเสมอจนเป็นเรื่องปกติ จะทำให้ราคาข้าวไทยไม่ผันผวน ตลาดข้าวจะเดินได้ดีขึ้น เริ่มต้นที่ราคาตันละ 10,000 บาท คิดเป็นราคาส่งออก 550 เหรียญสหรัฐ ชดเชยด้วยการเพิ่มสวัสดิการชาวนา เชื่อว่าไม่เสียคะแนนนิยม"
ที่มา : นสพ.มติชน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต