สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดรหัสขาดทุน 2.6 แสนล้าน สารพัดคำถาม จำนำข้าว คำตอบที่รัฐบาลไม่อยากฟัง

จากประชาชาติธุรกิจ

บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ มติชนสุดสัปดาห์


ไม่ เพียงแต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก อย่าง มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะตั้งคำถามถึง ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว พร้อมผูกโยงไปถึงการลดอันดับเครดิตของไทยในอนาคต 

แต่คนไทยก็สงสัย และตั้งคำถามต่อ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงผลดี-ผลเสีย และ ประโยชน์ที่แท้จริงของการดำเนินโครงรับจำนำข้าวเปลือก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สโลแกนจับใจชาวนา "รับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ"

ด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท 

แน่ นอนว่า ราคาข้าวเปลือกขนาดนี้เป็นราคาสูงมากกว่าความเป็นจริงของตลาดข้าวโลกพอสมควร และกำลังกลายเป็นภาระทางด้านงบประมาณของประเทศ ส่งผลกระทบไปถึงอัตราการเติยบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม อันเนื่องมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อโครงการประชานิยมโครงการนี้

จาก ตัวเลขเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำ 3 ครอป (3 รอบการผลิต) ที่ผ่านมา กล่าวคือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 และ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 คาดว่าจะถูกใช้ไปแล้วมากกว่า 661,000 ล้านบาท 

โดยมีข้าวจากชาวนาทั่วประเทศไหลรวมเข้ามาเป็นข้าว ในสต๊อกรัฐบาลระหว่าง 39.5-40 ล้านตันข้าวเปลือก หรือราว 25 ล้านตันข้าวสารและปลายข้าว 

ทว่า มีการขายข้าวและคืนเงินกลับสู่รัฐบาลเพียง 120,000 ล้านบาท มากกว่า 90% เป็นการขายผ่านวิธีการแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ขายให้กับรัฐบาลประเทศใด จำนวนเท่าไหร่ และราคาเท่าใด โดยอ้างว่า "เป็นความลับ บอกใครไม่ได้" 

ประโยคนี้เองที่กำลังจะกลายเป็นเชือกมัดคอ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของอมตะวาจาดังกล่าว



การ ระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ได้ถูกปิดเป็นความลับดำมืด ไม่มีใครรู้กำไร-ขาดทุน รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้าวในสต๊อกรัฐบาล พากันออกมาตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณส่งออกข้าวไทยที่หดหายไป ราคาส่งออก ปริมาณข้าวหมุนเวียนในตลาด และพฤติกรรมของผู้ส่งออกข้าวบางรายที่แสดงตนเป็น "นายหน้า" เร่ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลกันอย่างเอิกเกริก

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเกิดความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาถึง 2 ครอปยังไม่สามารถแสดงต่อสาธารณชน อีกทั้งไม่เคยมีการรายงาน ครม. ให้ทราบ

ล่า สุด จึงเกิดกระบวนการ "ปูด" ตัวเลขการรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินเกษตร ชุดที่มี นางสาวสุภา ปิยจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 คณะอนุกรรมการ คำนวณการขาดทุนจากการระบายสต๊อกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สต๊อกข้าว ถึง 260,000 ล้านบาท

แน่นอน ตัวเลขผลการขาดทุนสูงมโหฬารขนาดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการนี้ "รับ" ใน "ความจริง" ที่เกิดขึ้นไม่ได้ 

แถมความจริงนั้นยังเป็นชุดความจริงที่ออกมาจาก คณะอนุกรรมการ ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้นมากับมือเองอีกด้วย



สถานการณ์ ของ นายบุญทรง และคณะข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถูกผลักให้ลงเรือลำเดียวกัน จึงเต็มไปด้วยความอึดอัด ทำได้เพียงออกมายืนกราน "ปฏิเสธ" ผลการตรวจบัญชีของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่า ใช้ตัวเลขที่ "ยกเมฆ" เพื่อหวังผลทางการเมือง

ก่อนจะสรุปให้เหตุผลแบบห้วนๆ ว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ยังไม่สามารถทำได้ จนกว่าจะมีการระบายข้าวในสต๊อกออกไปจนหมด

แน่ นอน พิจารณาตามเหตุผลแบบนี้ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในการปิดบัญชีได้ พร้อมกับย้ำความเชื่อส่วนตัวที่ไม่มีเหตุผลรองรับเช่นกันว่า โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลน่าจะขาดทุนแค่ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท หรือไม่เกินไปกว่าโครงการประกันราคาข้าวของ พรรคประชาธิปัตย์ ในอดีต 

ใน อีกมุมหนึ่งของความพยายามที่จะ "ชี้แจง" ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของรัฐบาล ว่า ผลการดำเนินโครงการรับจำนำนั้น ขาดทุนแน่นอน

แต่เป็นการขาดทุนที่ "ชาวนา" เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ช่วยทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น 83,000 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5-1% ในปี 2555 ที่ผ่านมา

คำแถลงข่าวแบบนี้ นอกจากจะไม่สร้างความกระจ่างให้เกิดแก่สาธารณชนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวด้วย 



ยัง มีผลสะท้อนทางการเมืองตามมาอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน การขาดทุนโครงการนำไปสู่การ "โยน" ความรับผิดชอบของคนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จนสุดท้ายมาตกหนักอยู่กับ "นายบุญทรง" ที่ถูกดันออกมาอยู่แถวหน้าให้เผชิญกับผลการขาดทุนในครั้งนี้

ใน ขณะที่ทุกคนกำลังรอผลการแถลงการขาดทุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ก็มีชุดข้อมูลจากผู้ส่งออกข้าวที่เข้าไม่ถึงข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมา ว่า ถ้าคำนวณตามต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 1 ตัน ราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท เมื่อนำมาสีแปรเป็นข้าวสารจะมีราคา 24,000 บาท โดยข้าวเปลือก 1 ตันหรือ 1,000 ก.ก.ได้ข้าวสาร 600 ก.ก. 

ฉะนั้น การรับจำนำข้าวเปลือก 40 ล้านตันของรัฐบาล จะคิดเป็นข้าวสาร (40 ล้านตัน X 1,000 ก.ก. ได้เป็น ก.ก. แล้วนำมาคำนวณเปลี่ยนสัดส่วนเป็นข้าวสาร) ประมาณ 24-25 ล้านตัน X 15,000 บาท จะเป็นต้นทุนข้าวเปลือก 375,000 ล้านบาท

หรือหากคิดเป็นต้นทุนแบบข้าวสารประมาณ 600,000 ล้านบาท

เมื่อ นำมารวมกับกับค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายครั้งเดียวคือ ค่าจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว 16 บาท/ตัน จ่ายครั้งเดียว, ค่าจ้างกรรมกร 30 บาทรวมเป็น 46 บาท และ ค่าใช้จ่ายรายเดือน แยกเป็น ค่าเช่าเดือนละ 20 บาท/ตัน หรือปีละ 240 บาท/ปี ค่าจ้างรมยาเดือนละ 6 บาท/ตัน หรือปีละ 72 บาท และ ค่าเบี้ยประกันน้ำท่วมอีก 1,700-1,800 บาท/ปี รวมเป็น 2,012-2,112 บาท/ตัน 

ดังนั้น หากเก็บข้าวสาร 25 ล้านตันไว้เป็นเวลา 1 ปี จะมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายครั้งเดียว 1,150 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก 52,850 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่าย 54,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับต้นทุนข้าวสาร 600,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินที่ใช้จ่ายไปประมาณ 654,000 ล้านบาท

เท่ากับว่า "ต้นทุน" ข้าวของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 26,160 บาท

หากขายข้าวได้ต่ำกว่าราคานี้ แปลว่ารัฐบาลจะขาดทุนแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่รัฐบาลขายได้ 

และ หากเก็บข้าวไว้นานกว่า 1 ปี นอกจากค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นแล้ว มูลค่าของข้าวจะต่ำลงเพราะ การเก็บรักษาข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรย่อมจะมี ความเสื่อม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหักค่าความเสื่อมอีก

หากหักไปปีละ 10% จากต้นทุนข้าวสาร 600,000 ล้านบาท จะเหลือมูลค่าข้าวอยู่เพียง 540,000 ล้านบาท แต่มีค่าบริหารจัดการเท่าเดิม



อย่าง ไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันมาโดยตลอด ว่าได้คืนเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล คืนกลับไปให้ ธ.ก.ส. แล้ว 120,000 ล้านบาท แต่ไม่ยอมแจ้งปริมาณข้าวสารที่ถูกระบายขายออกไป บอกเพียงว่า เป็นการขายข้าวแบบ G to G จำนวน 7.328 ล้านตัน 

คำนวณ ง่ายๆ หากรัฐบาลส่งมอบข้าวครบตามจำนวนดังกล่าว จะมีราคาขาย G to G เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 16,400 บาท เท่ากับขาดทุนตันละเกือบ 10,000 บาท 

เฉพาะขายข้าวแบบ G to G ตามตัวเลขที่ปรากฏไป 7.328 ล้านตัน จึงมีผลการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 70,000 กว่าล้านบาท 

แต่ การขายข้าวไม่หมดเพียงแค่นี้ เนื่องจากมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลเหลืออยู่ในโกดังขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ถึง 17-18 ล้านตัน ดังนั้น ฤหากขายข้าวในสต๊อกคงเหลือทั้งหมดไปในราคาเฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน เท่ากับว่า รัฐบาลจะขาดทุนถึง 163,000 ล้านบาท 

และ ยังมีข้าวบางล็อตที่ อคส. แจ้งว่ามีการขายไปแบบราคามิตรภาพประมาณตันละ 10,000 บาท ก็จะยิ่งทำให้ยอดขาดทุนโครงการนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 256,000 ล้านบาท

ผลคำนวณแบบคร่าวๆ เช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่า โดยไม่จำเป็นต้องรอปิดบัญชี ก็มีข้อมูลฟ้องอยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลจะขาดทุนเกินกว่า 80,000-90,000 ล้านบาท ตามการกล่าวอ้างของ นายบุญทรง แน่นอน 

และนี่คือคำเฉลย หรือคำตอบที่ไม่ว่ารัฐบาลจะหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงอย่างไร ความจริงจากโครงการจำนำข้าว ก็จะยังคงเป็นบาดแผลและจุดเปราะบางทั้งในด้านการบริหาร และผลกระทบด้านการเมืองที่จะตามมาอย่างแน่นอน


ชำแหละขาดทุนจำนำข้าว ปั้นตัวเลขใหม่ชง "บุญทรง" แก้ต่าง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดูเหมือนว่า ผลการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลกำลังบานปลายเป็นเรื่องราว ใหญ่โต เมื่อรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ชุดของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 มีผลการดำเนินโครงการขาดทุนไปแล้วถึง 220,967 ล้านบาท

แน่ นอนว่า ตัวเลขการขาดทุนที่สูงถึง 220,967 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ "ยอมรับไม่ได้" ไม่เฉพาะกับรัฐบาล แต่จำเพาะเจาะจงไปถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกมอบหมายให้ควบคุมดูแลโครงการรับจำนำข้าวนี้

จากที่มีการตั้งธง เอาไว้แล้วว่า ตัวเลขขาดทุนต้องไม่มากไปกว่าโครงการประกันราคาข้าว สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ สอดคล้องอย่างน่าประหลาดกับตัวเลขของนายบุญทรง ที่ประกาศต่อสาธารณชนเสมอว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะขาดทุนอยู่ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท 

เกิด เป็นกระแสตีโต้ว่า "ตัวเลข" การขาดทุนชุดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯว่า "คลาดเคลื่อน" จากความเป็นจริง แม้ว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลายเป็นความกระอักกระอ่วนของผู้คนซีกรัฐบาลที่ไม่อาจ "ปฏิเสธ" ความมีอยู่ของตัวเลขขาดทุนชุดของ น.ส.สุภาได้

ผลการดำเนินการที่ขาด ทุนมหาศาลนำมาซึ่งการซักฟอกนายบุญทรงอย่างหนักหน่วง จนเกิดข่าวลือในและนอกรัฐบาลกับคำถามที่ว่า นายบุญทรงจะถูกปรับเปลี่ยนจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ?

ส่ง ผลให้รัฐบาลต้องออกมาแก้เกมด้วยการดันนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด นัยว่า ต้องการสร้างความกระจ่างต่อสาธารณชนที่อยากรู้ว่า โครงการนี้ขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ ? พร้อมกับโยนข้อมูลทั้งหมดเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้นายบุญทรงเสนอตัวเลขผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอีกชุด หนึ่งขึ้นมา "โต้แย้ง" ตัวเลขการขาดทุนชุดของ น.ส.สุภามีข้อน่าสนใจตรงที่ว่า ระหว่างตัวเลขขาดทุนชุด น.ส.สุภา กับตัวเลขขาดทุนชุดของกระทรวงพาณิชย์ ทำไมถึงมีผลคำนวณการขาดทุน "แตกต่าง" กันถึง 102,051.76 ล้านบาท

ในส่วนนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อธิบายว่า ใช้สมมติฐานการขาดทุนสูงสุด เพราะใช้ราคาตลาดต่ำสุด ณ วันปิดบัญชี (31 ม.ค.) มาคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ ปรากฏตัวเลขขาดทุน "ลดลง" เหลือ 136,896.80 ล้านบาท หรือน้อยกว่าตัวเลขการขาดทุนที่ถูก "ปูด" ออกมาทีแรก (220,967 ล้านบาท) เนื่องจากมีการหักยอดขาดทุนปี 2555/56 ที่รายงานไว้ออกไป 84,000 ล้านบาท

ขณะที่การคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า ใช้สมมติฐานของการคำนวณเฉพาะต้นทุน ทั้งที่รับมามอบและส่งมอบข้าว/รับเงินแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งกระทรวงพาณิชย์ใช้ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ณ วันคำนวณ ในประเด็นนี้มีคำอธิบายว่า ใช้ตัวเลขการขายข้าวจริงประมาณ 5 ล้านตัน ส่วนข้าวในสต๊อกคงเหลือไม่ได้นำมาคำนวณ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ประกอบไปด้วยค่าสีแปร ค่าการจัดการ ไม่รวมต้นทุนดอกเบี้ย ก็ไม่ได้นำมาคำนวณด้วย

การยึดหลักคำนวณเฉพาะ ข้าวที่ถูกขายออกไปจริง ๆ แล้วเท่านั้น จากชุดคำตอบของกระทรวงพาณิชย์ข้างต้น กลับกลายเป็นการเปิดโปงตัวเองที่ว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีสต๊อกข้าวคงเหลือที่ยังไม่ได้ถูกระบายออกไปไม่ต่ำกว่า 17 ล้านตัน โดยตัวเลขข้าวที่ถูกระบายออกไปและรับเงินเข้ามาแล้วมีอยู่เพียง 5 ล้านตัน หรือที่รู้จักกันดีในนามของการขายข้าว G to G แบบปิดลับ

สอด คล้องกับตัวเลขการคืนเงินค่าข้าวให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่น่าจะเกิน 83,813 ล้านบาท กลายเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมกระทรวงพาณิชย์ต้องเสนอ ครม. ขอให้นำ "เงินทุน" ธ.ก.ส.จำนวน 90,000 ล้านบาทมาใช้รับจำนำข้าวนาปรังปี 2556 ไปพลาง ๆ ก่อน เนื่องจากไม่สามารถนำเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกมาใช้คืนได้ตามที่กำหนดเอา ไว้

ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวเองก็มีข้อสงสัยในตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่า ทำไมค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 (37,071.44 ล้านบาท) ถึง "น้อยกว่า" ค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 (47,685.60 ล้านบาท) 

ทั้ง ๆ ที่มีข้าวนาปีเข้ามาจำนำเพียง 6.95 ล้านตัน แต่ข้าวนาปรังรับจำนำไว้ถึง 14.7 ล้านตัน ? โดยชุดตัวเลขนี้แตกต่างไปจากตัวเลขค่าใช้จ่ายจากการคำนวณของชุดคณะอนุกรรม การปิดบัญชีมาก

ล่าสุดนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เรียก กระทรวงพาณิชย์ กับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เข้ามาหารืออีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏผลการหารือได้มีการปรับตัวเลขการขาดทุนให้เข้าใกล้กันมากขึ้น กล่าวคือโครงการข้าวนาปี 2554/55 ตัวเลขค่าใช้จ่ายโครงการเริ่มตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์คือ 125,823 ล้านบาท แต่ยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อยที่มูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อกกับ มูลค่าข้าวที่ระบายออกไป ส่งผลให้ผลการขาดทุนใกล้เคียงกันมากขึ้น กล่าวคือ คณะอนุกรรมการ คำนวณได้ 43,123 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ คำนวณได้ 31,023 ล้านบาท

ส่วนตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ยังคงแตกต่างกันมาก แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะตรงกันคือ 226,284 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าข้าวคงเหลือในสต๊อก คณะอนุกรรมการฯคิดอยู่ที่ 107,500 ล้านบาท พาณิชย์คิดที่ 187,000 ล้านบาท มูลค่าข้าวที่ระบายออกไป คณะอนุกรรมการฯ 25,000 ล้านบาท พาณิชย์ 20,400 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการขาดทุนโครงการนี้ คณะอนุกรรมการฯได้ตัวเลขสูงถึง 93,784 ล้านบาท พาณิชย์ 18,884 ล้านบาท รวม 2 โครงการ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ คำนวณออกมาได้ 136,908 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่รายงานใน กขช.ส่วนกระทรวงพาณิชย์คำนวณออกมาได้ 49,908 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15,063 ล้านบาท

แน่นอนว่า ผลการการประชุมที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า แท้จริงแล้วผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเพียง 34,845 ล้านบาท หรือ 136,896 ล้านบาท ตราบเท่าที่มันถูกออกแบบมาให้นายบุญทรงใช้ "แก้ต่าง" จะอยู่หรือไปบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ด้านรัฐบาลเองก็ เริ่มเปิดทางถอย ด้วยการปล่อยให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาพูดทำนองที่ว่า อาจจะมีการปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกใหม่ บนข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลได้ใช้เงินไปแล้วถึง 500,000 ล้านบาท กับความพยายามที่จะ "ปกปิด" ผลการขาดทุนที่กำลังบานปลายอยู่ในปัจจุบัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ถอดรหัสขาดทุน 2.6 แสนล้าน สารพัดคำถาม จำนำข้าว คำตอบ รัฐบาล ไม่อยากฟัง

view