จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
เป็นมติเอกฉันท์ เมื่อ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ “โครงการรับจำนำข้าวกับการขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท” ประชาชน 92.95% เห็นว่า รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว เพื่อจะได้เป็นที่กระจ่างชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล 3 ฤดูกาลผลิต คือ นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56 ที่ “ประเมินกันว่า” จะขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้เกษตรกร 585,278 ล้านบาท (ไม่รวมค่าบริหารจัดการ) สำหรับข้าวเปลือก 37.22 ล้านตัน
แต่แน่นอนว่ากรณีนี้คนที่ได้รับแรงกดดันมากกว่า บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ก็คือ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะ “ประธาน กขช.” โดยตำแหน่ง
แม้ว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลงนามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 42/2555 วันที่ 10 ก.พ. 2555 ซึ่งมีชื่อ บุญทรง ปรากฏเป็นรองประธาน กขช. แต่คำสั่งฉบับเดียวกันนี้ ปลดไร้นาม กิตติรัตน์ ณ ระนอง อยู่ในบอร์ด กขช.ที่ประธาน กขช.เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พ้นจากสารบบ “กรรรมการ กขช.” นั่นทำให้ บุญทรง ทำหน้า
ขณะที่คำสั่งแต่งตั้งที่ 42/2555 ยังคงมีชื่อ “พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ” เป็นกรรมการ กขช. เช่นเดิม แต่ระบุตำแหน่ง “หมอวีระวุฒิ” ใหม่ เนื่องด้วยคำสั่งสำนักนายกฯ เรื่องแต่งตั้ง กขช.ที่ 153/2554 วันที่ 8 ก.ย. 2554 หมอวีระวุฒิ กินตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (กิตติรัตน์) แต่คำสั่งใหม่ หมอวีระวุฒิ ย้ายมาเป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (บุญทรง)
ทว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการที่มี บุญทรง รั้งตำแหน่งประธาน กขช.จะไม่สามารถ “ปิดบัญชี” โครงการได้ในสัปดาห์นี้แน่ เพราะก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งตั้ง วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว และสรุปตัวเลขรายงาน ครม.
“หากชี้แจงได้ใน 4 ประเด็น คือ ต้นทุนเท่าไหร่ ราคาขายเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และสุดท้ายขาดทุนเท่าไหร่ คนก็จะหายสงสัย” วราเทพ ระบุพร้อมทั้งสั่ง สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร แยกบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 3 ฤดูกาลผลิตให้ชัดเจนก่อนสรุปตัวเลขเสนอ ครม. 18 มิ.ย.นี้
นั่นส่งผลให้การประชุม กขช. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ บุญทรง เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะสรุปตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว “แทบไม่มีความหมาย”
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว “ไม่สะเด็ดน้ำ” เพราะการแถลงผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของ บุญทรง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. บุญทรง พลั้งปากด้วยความตั้งใจว่า “ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขขาดทุนได้เพราะยังไม่ปิดบัญชี ซึ่งการปิดบัญชีหมายถึงต้องมีการระบายข้าวออกมาให้หมดทั้งโกดังที่รับจำนำมา ในแต่ละปีก่อน”
สอดรับการประชุม กขช. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2556 ที่มี บุญทรง เป็นประธาน อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะที่ประชุม กขช.ครั้งนั้น มีมติให้ขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 6 โครงการ เช่น อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน พ.ย. 2555 เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2557 อนุมัติขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ก.พ. 2556 เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2557
จากนั้นมีการนำเสนอมติ กขช.ให้ ครม.เห็นชอบในการประชุม ครม.สัญจร จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. แต่ทว่า “เอกสาร 2 หน้า” ไม่มีการระบุถึงการขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าว มีเพียงการระบุถึงการรวมโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/2556 และนาปรัง 2556 เพื่อให้การใช้เงินยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น
เพราะรายงานสรุปผลการประชุม กขช.บรรทัดสุดท้าย ระบุว่า “ฯลฯ” นั่นไม่ต่างกับการ “ซุกมติ กขช.” เพื่อให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ
ส่วนการขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/2555 และนาปรัง 2556 ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องพิเคราะห์กันต่อ
“การขยายโครงการเป็นเรื่องปกติ เมื่อไม่สามารถขายข้าวสารในโครงการออกไปได้ ก็ต้องขอขยายโครงการ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเบิกเงินค่าเก็บฝาก และเจ้าหน้าที่เฝ้าโกดังได้ และยังหมายถึงการขยายระยะเวลาปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวแต่ละปีการผลิต ด้วย” นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตกรรมการ กขช.ให้ข้อมูล
นั่นหมายความว่า การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว 2 ปีการผลิตดังกล่าว จะเป็นการปิดโครงการโดยอาศัยการคำนวณทางบัญชี ซึ่ง “ไม่ตรง” กับผลการปิดบัญชีโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นสุดโครงการในเดือน ก.ย. 2557 หรืออีกไม่น้อยกว่า 16 เดือนนับจากนี้อย่างแน่นอน อีกทั้ง กขช.สามารถขยายเวลาโครงการได้อีก “หากขายข้าวไม่หมด”
เช่นเดียวกับการรับจำนำข้าวนาปี/ปรัง 2551 นาปี 2551/2552 นาปรัง 2552 และนาปี 2552/2553 ที่ กขช.ขยายระยะเวลาโครงการเป็นสิ้นสุด ธ.ค. 2556 หรือผ่านมาเนิ่นนานถึง 4 ปีนับแต่เริ่มโครงการ และคงไม่ต้องบอกเลยว่า ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกนาน 4 ปี จะมีคุณภาพแย่มากเพียงใด ทั้งมีภาระฝากเก็บข้าวคุณภาพแย่เหล่านี้อีกหลายร้อยล้านบาทต่อปี
จึงสรุปได้ว่าการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ บุญทรง และ วราเทพ เร่งปิดบัญชีกันอยู่นี้ เป็นการนำข้อมูลพื้นฐานโครงการรับจำนำข้าวมาสรุปยอดปิดบัญชี “รายปี” ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนได้ใน 3 ประเด็น
คือ 1.ปริมาณข้าวและราคาขายข้าวออกที่ยังไม่นิ่ง กระทรวงพาณิชย์ยังคงมีการระบายข้าวต่อเนื่อง 2.ค่าบริการจัดการในโครงการ เช่น ดอกเบี้ย และค่าเก็บฝากที่ยังเดินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขายข้าวหมดสต๊อก และ 3.การประเมินมูลค่าข้าวในสต๊อกและข้าวสารที่ไหลเข้าสต๊อกต่อเนื่องที่ยังไม่ มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ใด
โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าข้าวสารในสต๊อก
หากคำนวณจาก “ต้นทุนข้าวสาร” ที่เข้าโครงการ มูลค่าจะแตกต่างกันสิ้นเชิงกับการคำนวณ “ราคาข้าว ณ ราคาปัจจุบัน” เช่นกันการคำนวณค่าเสื่อมที่มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องหลายประเด็น ที่ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์คำนวณค่าเสื่อมที่ตายตัวได้ เช่น หักค่าเสื่อมปีละ 10% เพราะการเสื่อมคุณภาพข้าวยังขึ้นอยู่กับ “การเก็บรักษา” ว่าเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ การตัดตัวเลขสต๊อกข้าวสาร ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมาใช้ จะมีผลต่อการคำนวณ “มูลค่า” ข้าวสาร และที่สำคัญปริมาณข้าวสารที่อยู่ในสต๊อกตามที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รายงานนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่มีปัญหา “ตัวเลขบกพร่อง” หลายครั้งหลายครา
ปริมาณข้าวสารที่มากล้น และว่ากันว่ามีสต๊อกข้าวสูง 1517 ล้านตัน อาจเป็น “สต๊อกลม” ก็ได้
ที่ชัดเจนที่สุด คือ มติ ครม.ที่เห็นชอบรวมโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/2556 และนาปรัง 2556 กระทรวงพาณิชย์รายงาน ครม.จะมีข้าวเปลือกนาปรังเข้าโครงการน้อยกว่า 7 ล้านตัน ทั้งๆ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า นาปรัง 2556 มีเนื้อที่เพาะปลูก 14.7 ล้านไร่ ผลผลิต 9.9 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งข้าวเปลือกทุกเมล็ดต้องไหลเข้าโครงการ
ฟันธงได้เลยว่า ผลการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวที่มีการ “ปิดบัญชีรายปี” ตัวเลขขาดทุนจะอยู่ในระดับที่คนทั่วไปรับได้ หรือไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาทตามที่กระทรวงพาณิชย์ “ตั้งเป้า” ไว้ และมีการอ้างคำอธิบายที่สมเหตุสมผล เช่น การนำข้าวสาร 2 ล้านตันทำข้าวถุงขายให้ประชาชนในราคาถูก
สุดท้ายเมื่อมีการสรุปผลการขาดทุนรายปี ครม.ก็จะมีมติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบเพื่อชดเชยโครงการเพื่อให้โครงการ เดินต่อไประยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็จะเข้าสู่การถอยโครงการรับจำนำข้าว เพราะล่าสุด กิตติรัตน์ โยนหินถามทางมาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดราคาข้าวเปลือกในโครงการรับ จำนำข้าวให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก
แต่ที่แน่ๆ คนไทยจะไม่มีทางรับรู้ผลการขาดทุนที่แท้จริงในโครงการรับจำนำข้าว เพราะต้องรอคอยกันอีกอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง และเมื่อวันนั้นมาถึง นายกฯ อาจไม่ได้ชื่อ ยิ่งลักษณ์ และ รมว.พาณิชย์ ไม่ได้ชื่อ บุญทรง อย่างแน่นอน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต