สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิพนธ์ ผ่ากระบวนการ เปาเกา

นิพนธ์'ผ่ากระบวนการ'เปาเกา'

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เจ๊งจำนำข้าว,นิพนธ์  พัวพงศกร,ทีดีอาร์ไอ

นิพนธ์"ผ่ากระบวนการ"เปาเกา" เชื่อสต็อกข้าวรัฐไม่ถึง 17 ล้านตัน ลั่น"ผมอยากให้มีการช่วยเหลือชาวนาต่อไป แต่ไม่ใช่ในรูปแบบนี้"

กรุงเทพธุรกิจทีวี สัมภาษณ์นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกตถึงสต็อกข้าวของรัฐบาล ภายหลังรับจำนำมา 3 ฤดูกาลผลิต และกำลังอยู่ในฤดูกาลจำนำที่ 4 โดยประเมินว่าสต็อกในมือรัฐบาลมีไม่ถึง 17 ล้านตันอย่างที่องค์การคลังสินค้า(อคส.) ออกมาระบุก่อนหน้า โดยชี้ว่า มีข้าวในสต็อกบางส่วนที่ถูกลักลอบนำไปขายในตลาดหรืออาจไม่มีสต็อกจริง เพียงตัดบัญชีข้าวเพื่อกินส่วนต่างๆราคาตลาดกับราคารับจำนำ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เขามั่นใจว่าสต็อกข้าวในโครงการจำนำของรัฐบาล มีไม่ถึง 17 -18 ล้านตัน ตามที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกมารายงาน โดยคาดว่า สต็อกรัฐบาลไม่ถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากหากดูตามข้อมูลที่ทาง ทีดีอาร์ไอ รวบรวมพบว่า ตั้งมีรัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี คือ ตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2555 รวมทั้งสิ้น 4 ฤดูการผลิต คือ นาปี 2554/2555 นาปรัง 2555 นาปี 2555/2556 และนาปรัง 2556 มีข้าวเข้าโครงการทั้งสิ้น 24.4 ล้านตันข้าวสาร รวมกับตัวเลขค้างสต็อกก่อนรัฐบาลชุดก่อนหน้าประมาณ 2 ล้านตันข้าวสาร ดังนั้น รัฐบาลมีสต็อกข้าว 26.4 ล้านตันข้าวสาร

เพราะฉะนั้น การที่ อคส. ออกมาสรุปตัวเลขสต็อกจำนวน 17 ล้านตันข้าวสาร เท่ากับว่า ณ สิ้นปี 2555 รัฐบาลสามารถระบายข้าวออกไปได้ 9.4 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้แถลงข่าวออกมา

ขณะเดียวกันกลับกล่าวถึงการคืนเงิน ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จำนวนทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท และเป็นเงินในการขายข้าวประมาณ 93,000 ล้านบาท ตรงนี้เองเมื่อคำนวณตามข้อเท็จจริง เท่ากับรัฐบาลสามารถขายข้าวได้ในราคาเพียง 10,000 บาท/ตัน จากต้นทุนรับจำนำ 15,000 บาท/ตันข้าวเปลือก ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ แต่ก็เห็นได้ว่ามีส่วนต่างที่หายไปประมาณ 5,000 บาท

ทำให้ตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็นคือ 1.ตัวเลขการส่งออกข้าวนึ่ง ประมาณ 1.06 ล้านตัน ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2555 ทั้งที่ในความจริงโครงการรับจำนำข้าวไม่มีนโยบายนำข้าวเปลือกมานึ่งได้ จึงสังเกตว่าต้องมีบุคคลที่สามารถนำข้าวออกจากโรงสีของรัฐบาลได้ และ 2.ในละปีคนไทยบริโภคข้าวในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งในเมื่อข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาลราคาข้าวสารในประเทศต้องราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันราคาข้าวสารในประเทศยังอยู่ที่ตันละ 21,000 บาทต่อตัน หรือ กิโลกรัมละ 21 บาท ถุงละ 5 กิโลกรัมราคาจึงอยู่ที่ประมาณ 105-110 บาท เท่านั้น

"น่าสนใจคือรัฐบาลพยายามทำให้ราคาข้าวสารที่ขายปลีก ทรงตัว ประมาณ 21,000 บาทต่อตันข้าวสาร แต่ว่ารัฐบาลขายได้ในราคา 10,000 บาทในตลาด แสดงว่ารัฐบาลขายข้าวให้ใครก็ตาม พ่อค้าขายส่งเอาไปขายต่อ อาจจะขายต่อ ประมาณ 15,000 บาท แสดงว่า มีส่วนต่าง10,000 บาทกับ 15,000 บาท ตันละ 5,000 บาท แล้วเป็นค่าต๋งที่หายไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจสั่งการเอาข้าวออกจากสต็อกรัฐบาลไปขายให้พ่อค้าที่มีการแอบระบายข้าวออกมามากกว่าที่คำนวณได้ 9.4 ล้านตัน ดังนั้นของจริงจะต้องเหลือในสต็อกรัฐบาลไม่ถึง 17 ล้านตัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และอธิบายว่าทำไมรัฐบาลไม่กล้าแถลงตัวเลขราคาข้าวที่ขายได้ "

อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่สามารถลักลอบเอาข้าวออกจากโครงการ นายนิพนธ์ อธิบายว่า ในวงการข้าวจะใช้คำว่า วิธีการเปาเกา ซึ่งหมายถึง นายหน้าตัวแทนส่งข้าว เช่น หากมีบริษัทค้าข้าวที่ต้องการข้าวสารจากโครงการ ก็จะว่าจ้างนายหน้าเพื่อไปหาข้าวมาให้โดยจ่ายให้ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจากเดิมเมื่อชาวนานำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการรับจำนำ โดยผ่านโรงสีที่เข้าโครงการของรัฐบาล ก็จะมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารและนำส่งเข้าโกดังกลางของรัฐบาล ผ่านตัวแทนของ อคส.

แต่ขบวนการนี้ คนที่เป็นนายหน้าจะเจรจาซื้อข้าวของรัฐบาลจากเจ้าหน้าที่รัฐและสั่งการให้โรงสีในโครงการส่งข้าวให้กับบริษัทค้าข้าวโดยตรงจากเดิมที่ต้องเข้าโกดังกลางของรัฐบาล พร้อมกันนี้นายหน้าตัวแทนส่งข้าว ก็มีอำนาจในการสั่งการให้โรงสีที่อยู่ในโครงการและร่วมขบวนการนี้ทำบัญชี เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ตามจำนวนที่รับข้าวเข้าโครงการจากชาวนาให้ถูกต้อง รวมถึงสามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนรู้เห็นทำบัญชีค้าขายข้าว ให้กับบริษัทค้าข้าวโดยตรง ให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน

"ใครก็ตามแอบขายข้าวในประเทศจะกินส่วนต่างถึง 5,000 บาทต่อตัน หรือ กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งต้องคำนวณกันจริงจังว่า มีการลักลอบแอบขายเท่าไหร่ "

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมอยากให้มีการช่วยเหลือชาวนาต่อไป แต่ไม่ใช่ในรูปแบบนี้ แต่อยากให้เงินตกถึงชาวนาทุกบาททุกสตางค์และจำกัดวงเงินในการช่วยเหลือ รวมทั้งมุ่งเน้นไปที่ชาวนาที่ยากจน รวมทั้งไม่ต้องแทรกแซงราคาตลาด เพราะการแทรกแซงตลาดเป็นที่มาของการทุจริตและการค้าไม่ถูกต้อง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นิพนธ์ ผ่ากระบวนการ เปาเกา

view