จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
“นโยบายรับจำนำข้าว” นับเป็นวาทกรรมแรกๆ ที่พรรคเพื่อไทยใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2554 จุดประสงค์เพื่อหักล้าง “นโยบายประกันราคา” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็สามารถใช้กลยุทธ์นี้มัดใจจนกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล ได้อีกครั้ง
ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งในเดือน ส.ค. “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายนี้เป็นอย่างมาก ถึงกับบรรจุเอาไว้เป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา
“นำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท และ 2 หมื่นบาทตามลำดับ” (นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 11)
การประกาศลักษณะนี้เป็นความต้องการรัฐบาลที่อยากให้เห็นว่าสิ่งที่ได้หา เสียงเอาไว้นั้นสามารถทำได้จริง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่าทำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการให้กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นกลไกสำคัญ
รัฐบาลหวังว่านโยบายนี้จะเป็นฐานสำคัญทางการเมือง เพื่อปูทางให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งระยะยาว
ทว่า กว่า 2 ปีที่ดำเนินนโยบายได้มีเสียงเตือนจากภาควิชาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ ส่งเสียงเตือนให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายนี้ก่อนจะเกิดปัญหา ซึ่งมีให้เห็นจาก 4 หน่วยงานสำคัญด้วยกัน
เริ่มที่เดือน มิ.ย. 2555 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานแรกที่ส่งเสียงและทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้
“คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ที่เกษตรกรรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลและไม่บิดเบือนกลไกตลาด และควรมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต” สาระสำคัญในข้อเสนอของ ป.ป.ช.
ในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) เป็นอีกฝ่ายที่ส่งเสียงเตือนรัฐบาลค่อนข้างหนักอยู่หลายครั้ง โดยทีดีอาร์ไอมองนโยบายนี้ว่า “รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาท เพราะผลวิจัยสรุปชัดเจนว่าเงินถึงมือชาวนาที่ยากจนเพียง 17% แต่รัฐบาลต้องขาดทุนจากโครงการปีละ 1 แสนล้านบาท เงินที่เหลืออีก 8.3 หมื่นล้านบาท ตกอยู่ที่ชาวนาร่ำรวย โรงสี พ่อค้า นักการเมือง ข้าราชการ และชาวนาต่างประเทศ”
จนกระทั่งมาถึง “คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา” ระบุว่า “จากการศึกษาพบว่าได้ทำลายกลไกตลาดและทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าว ไทยในตลาดโลก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน ทำให้ขาดรายได้จากการส่งออกลดลงประมาณ 35% หรือเดือนละ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นปีละ 7.2 หมื่นล้านบาท”
ทุกข้อห่วงใยที่ส่งมาถึงรัฐบาลไม่ต่างอะไรกับการพูดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เนื่องจากรัฐบาลแสดงท่าทีปฏิเสธออกมาอย่างชัดเจนหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ ด้วยการท่องคาถาเอาตัวรอดว่า “ยอมขาดทุนเพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์”
ถึงกระนั้นคงยากที่รัฐบาลจะเอาตัวรอดด้วยวิธีนี้อีก ในเมื่อปัญหาของนโยบายจำนำข้าวได้ถูกยกระดับเป็น “วิกฤตศรัทธา” ไปแล้ว โดยมีปัจจัย 2 ประการ
1.การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่านโยบายนี้มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น
2.การเปิดเผยตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท ของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มี “สุภา ปิยะจิตติ” รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
ในสถานการณ์เช่นนี้แทนที่รัฐบาลทั้ง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ และ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ จะใช้จังหวะนี้เปิดหลักฐานให้ชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ได้ขาดทุนและทุจริตตามที่ ถูกกล่าวหาเพื่อลดกระแสกดดัน แต่กลับใช้กลยุทธ์ทางการเมืองแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่า “เป็นความลับ” ไปจนถึงการลงพื้นที่ทำ “โครงการรับจำนำข้าวสัญจร”
วิธีนี้ไม่ต่างอะไรกับการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ และพร้อมจะผลักดันโครงการนี้ต่อไปแบบไม่มีทางเลือก
ในเมื่อโครงการรับจำนำข้าวคือหัวใจของรัฐบาล หากถอยหรือเลิกโครงการนี้เท่ากับว่ารัฐบาลยอมจำนนต่อหลักฐาน แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบตามมาอย่างหนัก โดยเฉพาะการสูญเสียฐานคะแนนเลือกตั้งจากภาคเกษตรกร และจะกลายเป็นแผลใหญ่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปขยายผลเพิ่มเติม
ครั้นจะเดินหน้าต่อไปก็เต็มไปด้วยความลำบากด้วยเหตุที่ความเชื่อมั่นของ รัฐบาลกำลังมีปัญหา และรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงหลักประกันที่สร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยไม่ต้อง แบกรับภาระขาดทุนจากนโยบายจำนำข้าวต่อไปเรื่อยๆ ตลอดอายุของรัฐบาล
ดังนั้น รัฐบาลจึงตกอยู่ในเส้นทาง “ไปต่อก็ลำบากถอยหลังก็พัง” เลยเลือกที่จะซุกทุกปัญหาเอาไว้ เพื่อรอวันระเบิดออกมา
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต