จาก มติชนออนไลน์
75 ปีมาแล้วที่ทางการฟินแลนด์จะต้องมอบ"กล่อง"ให้แก่คุณแม่ทุกราย โดยกล่องดังกล่าวประกอบด้วยสิ่งของจำเป็นสำหรับทารก อาทิ เสื้อผ้า ผ้าปู และของเล่น และยังสามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นเตียงเด็กได้อีกด้วย กระทั่งมีผู้กล่าวว่า"กล่อง"ดังกล่าว ทำให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดต่ำที่สุดใน โลก
นโยบายการมอบกล่องดังกล่าวให้แก่สตรีใกล้คลอด สามารถย้อนไปได้ราวยุค 1930 โดยรัฐบาลคาดหวังว่าเด็กทุกคนจะได้รับการปฏิบัติความเท่าทียมกันตั้งแต่แรก เกิด โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะมีที่มาจากที่ใด
อุปกรณ์ภายในประกอบด้วย เสื้อผ้าเด็ก ถุงนอน อุปกรณ์อาบน้ำ ผ้าอ้อม ผ้าปูเตียง ที่นอนเล็กๆ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ และด้วยการที่ที่นอนถูกวางไว้บริเวณพื้นล่างสุดของกล่องนี่เอง ที่ทำให้มันสามารถนำไปใช้เป็นเตียงนอนสำหรับเด็กอ่อนได้ และเด็กหลายคนก็ได้ใช้กล่องกระดาษดังกล่าวเป็นที่นอนแรกในชีวิต
ทั้งนี้ แม่ของเด็กมีทางเลือกสองทาง คือการรับกล่องดังกล่าวไปใช้ หรือรับเป็นเงินสด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 140 ยูโร แต่ 95% นิยมรับเป็นกล่อง เพราะมีมูลค่ามากกว่าเงิน
ธรรมเนียมการให้กล่องดังกล่าว สามารถย้อนกลับไปถึงปี 1938 ที่เดิมทีจะมอบให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในปี 1949 ที่มีการเสนอทางเลือกให้รับเงินหรือกล่อง โดยผู้ที่ต้องการรับต้องไปแจ้งความจำนงที่คลีนิคแพทย์ก่อนที่จะมีอายุครรภ์ ครบ 4 เดือน กล่องดังกล่าวไม่เพียงแต่มีเครื่องใช้จำเป็นสำหรับแม่และเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำให้สตรีมีครรภ์ ให้ได้พบแพทย์และพยาบาลอีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อยุค1930ฟินแลนด์เป็นประเทศยากจนและมีอัตราการเสียชีวิต ของทารกแรกคลอดค่อนข้างสูง ในอัตรา 65 ต่อ 1,000 ราย แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีต่อมา
กว่า 75 ปีที่ผ่านมา กล่องดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างผู้หญิงรุ่นหนึ่งไป สู่อีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นสัญลักษณ์แทนการย่างเข้าสู่ความเป็นแม่ของหญิงสาว
ไรญา เคลเม็ตตี วัย 49 ปี ชาวกรุงเฮลซิงกิ เปิดเผยว่า เธอยังจำได้ถึงช่วงเวลาที่ต้องไปรับกล่องจากที่ทำการไปรษณีย์ สำหรับลูก 1 ใน 6 คนของเธอ เธอกล่าวว่า นอกจากมันจะน่ารักแล้ว มันยังเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาของการมีลูก แม่ เพื่อนๆ และญาติของเธอต่างรู้สึกตื่นเต้นที่จะดูว่าในกล่องจะมีอะไรอยู่บ้าง และข้าวของจะมีสีสันสดใสเพียงใด
ขณะที่แม่สามีของเธอ ซึ่งได้รับกล่องนี้กล่องแรกในราวช่วงปี 1960 กล่าวว่าในขณะนั้นเธอเองก็ไม่ทราบว่าต้องการอะไรบ้าง แต่เมื่อเปิดออกมาสิ่งที่จำเป็นก็มีอยู่ครบถ้วนแล้ว ส่วนซอนญา วัย 23 ปี ลูกสาวของเคลเม็ตตี ก็รู้สึกตื่นเต้นเช่นเดียวกับแม่และย่าของเธอเช่นกันเมื่อได้รับกล่องดัง กล่าวเป็นครั้งแรก ขณะที่คุณแม่ลูกสอง วัย 35 ปีกล่าวว่า สีสันของเสื้อผ้าทำให้รู้ว่าเด็กๆเกิดในปีใด เนื่องจากมีการเปลี่ยนสีสันของเสื้อผ้าเด็กทุกปี และเป็นเรื่องดีที่บรรดาแม่ๆจะเอาเสื้อผ้าที่ได้รับมาร่วมชื่นชมกัน
สำหรับบางครอบครัว สิ่งของที่อยู่ในกล่อง อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถมีได้ในชีวิตจริง หากมันไม่ใช่ของที่ได้รับมาโดยไม่คิดมูลค่า แต่สำหรับเวย์รีเนน แล้ว ข้อดีของมันคือช่วยทำให้ประหยัดเวลามากกว่าเงิน มันทำให้เธอไม่ต้องเสียเวลากับการเลือกซื้อและต้องมาเปรียบเทียบราคาสินค้า แต่ละชนิด นอกจากนั้น เมื่อตอนที่เธอมีลูกคนที่สอง เธอขอรับเป็นเงินสดแทน เพราะเห็นว่าเสื้อผ้าที่ได้มาจากกล่องแรก สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เนื่องจากสีสันของเสื้อผ้า เป็นสีที่มีความเป็นกลางและเหมาะกับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย
นอกจากนั้น สิ่งของที่บรรจุอยู่ในกล่อง ยังมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยในช่วงยุค 1930-1940 สิ่งของในกล่องจะเน้นเป็นผ้า เนื่องจากแม่ในยุคนั้นนิยมตัดชุดให้เด็กๆเอง แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องใช้ผ้าสักหลาดและผ้าฝ้ายทอจำนวนมาก ดังนั้นวัสดุบางอย่างจึงถูกเปลี่ยนเป็นแผ่นรองเตียงที่ทำจากกระดาษ และผ้าห่อตัวทารก
ส่วนในช่วงยุค 1950 เริ่มมีการใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น และในช่วงยุค 60 และ 70 เริ่มมีการใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่น ในปี 1968 เริ่มมีการให้ถุงนอน และในปีต่อมาก็เริ่มมีการให้ผ้าอ้อมเป็นครั้งแรก และเมื่อยุคสมัยผ่านไป ผ้าอ้อมผืนใหญ่ก็ได้เปลี่ยนเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปเช่นในปัจจุบัน
พานู พุลมา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ฟินแลนด์และนอร์เวย์ จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ แสดงความเห็นว่า แต่เดิมทีทารกมักจะต้องนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ แต่การมาของกล่องกระดาษ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กต้องนอนแยกจากพ่อแม่ เขากล่าวว่า หนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของโครงการนี้คือการทำให้เด็กหันมากินนมแม่มากขึ้น เขายังเชื่อว่าการนำหนังสือภาพใส่ลงไปในกล่องด้วย จะก่อให้เกิดผลในทางบวกต่อเด็ก ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้หยิบจับหนังสือ และหันมาอ่านในที่สุด
ท้ายที่สุด เขามองว่ากล่องดังกล่าวคือสัญลักษณ์ของแนวคิดแห่งความเท่าเทียม และแนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่เด็กๆ
แปลและเรียบเรียงจาก "Why Finnish babies sleep in cardboard boxes"
โดย Helena Lee
BBC News
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต