ถังแตกจำนำข้าวจะรีดเลือดกับใคร
จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
หากเปรียบเป็นคนไข้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่เข้าสู่ปีที่ 2 ปลายๆ เรียกว่า อาการหนักเพียบแปล้ เหมือนคนไข้ถูกหามส่งห้องไอซียู มีเครื่องช่วยหายใจและเครื่องปั๊มหัวใจรอท่าอยู่ข้างเตียง
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มี สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ไม่สามารถ “ปิดบัญชี” โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/2555 (นาปีและนาปรัง ปีการผลิต 2554/2555) ได้ ขณะที่มีเสียงประเมินอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก “ปีแรก” ส่อแววขาดทุนบักโกรก 2 แสนล้านบาท
เป็นตัวเลขที่ทำเอาหนาวสั่นสะท้านทั้งรัฐบาล
เช่นเดียวกับ “เจ้าหน้าที่รายใหญ่” คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่หาทุนรอนทั้งในฐานะ “นายทุนและนายหน้า” บากหน้าหาเงินให้รัฐบาลใช้จ่ายสนุกมือในโครงการจำนำข้าวเปลือก ที่ล่าสุดมีการใช้เงินทุนแล้วเกือบ 6 แสนล้านบาทแล้ว ทั้งๆ ที่โครงการเพิ่งย่างเข้าสู่ฤดูกาลผลิตที่ 4 (นาปรัง ปี 2556)
ส่งผลให้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ธ.ก.ส.ได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 พ.ค. 2556 ส่งถึง กขช.ร้องเตือนดังๆ ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 (ฤดูกาลที่ 3) ทำท่าจะมีเงินไม่พอจ่ายเสียแล้ว
เนื่องด้วยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/2556 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 2 ต.ค. 2555 อนุมัติกรอบวงเงินโครงการ 2.4 แสนล้านบาท ปริมาณข้าวเข้าโครงการ15 ล้านตัน
แต่ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ค. มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 14.05 ล้านตัน ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 219,738 ล้านบาท เหลือเงินใช้เพียง 20,262 ล้านบาท
ทำให้มีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ชาวนารอจ่อนำข้าวเข้าโครงการ ในช่วงที่เหลือของโครงการที่จะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 2556
“ขณะนี้มีข้าวเปลือกนาปีเข้าโครงการแล้ว 14 ล้านตัน จากเป้าหมาย 15 ล้านตัน แต่ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของโครงการน่าจะมีข้าวเปลือกเข้ามาอีก เพราะเกษตรกรบางส่วนมีรอบการปลูกข้าวที่คาบเกี่ยวในช่วงนาปีและนาปรัง” บุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.อธิบาย
เช่นเดียวกับเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เงินจำนำข้าวไปไม่เพียงพอ เป็นเพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่จ่ายเงินค่าขายข้าวให้ ธ.ก.ส. เพราะอย่างที่รู้กันว่าก่อนหน้านี้ บุญทรงยืดอกโยนบาปไปที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ขายข้าวสารจีทูจีไม่ได้ ทั้งๆ ที่ราคาข้าวขาวของไทยขณะนี้สูงกว่าคู่แข่ง 120-180 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 2530%
บุญทรง จึงสั่งทุบโต๊ะในที่ประชุม กขช.ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเสนอ ครม.ขออนุมัติ“ยุบรวม” โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 1 (นาปี) และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 2 (นาปรังหรือฤดูกาลที่ 4) เข้าด้วยกัน เป็น “โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556” โครงการเดียว
จุดประสงค์คือ การปลดล็อกมติ ครม.ให้สามารถดึงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2556 ที่กันไว้ 1.05 แสนล้านบาท มาโปะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 2555/2556 ได้ แต่นั่นจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “งูกินหาง” ตามมา
เพราะข้อมูลทางการของ ธ.ก.ส.ได้ระบุว่า ณ วันที่ 14 พ.ค. ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรที่นำข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2556 แล้ว 31,724 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือกประมาณ 2 ล้านตัน เหลือวงเงินที่ใช้ได้อีก 73,276 ล้านบาท สำหรับการรับจำนำข้าวเปลือกอีก 5 ล้านตัน จากมติ ครม.ที่อนุมัติเป้าหมายรับจำนำข้าวที่ 7 ล้านตัน
ขณะที่ตัวเลขปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 7 ล้านตัน ที่บุญทรงในฐานะประธาน กขช. ชงให้ ครม.อนุมัติเป็นตัวเลขที่สวนทางกับข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2556 จะมีปริมาณข้าวเปลือกสูงไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตัน
ผลที่ตามมาคือ แม้จะมีการรวมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 1 และ 2 เหลือโครงการเดียว โดยยังคงปริมาณรับจำนำข้าวที่ 22 ล้านตัน กรอบวงเงิน 3.45 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่“อุปโลกน์” ขึ้นให้ ครม.ยิ่งลักษณ์ สบายใจแต่ถ้าว่ากันทางสำนวนแล้วก็ไม่ต่างกับการ“แก้ผ้าเอาหน้ารอด”
ไม่เพียงเท่านั้น หากโฟกัสยอดวงเงินที่ใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก พบว่าตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2554-14 พ.ค. 2556 ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 588,280 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 329,914 ล้านบาท และเป็นเงินที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายให้เกษตรกรไปก่อน 88,790 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือเป็นเงินค่าขายข้าวที่นำมาใช้หมุนเวียนใช้ 80,004 ล้านบาท (ไม่ระบุปริมาณข้าวที่ขาย)
ก็จะปรากฏว่ารัฐบาลได้ยืม “สภาพคล่อง” จาก ธ.ก.ส.มาใช้ในวงเงินสูงถึง 178,790 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นเงินที่เรียกว่า “สำรองจ่าย” มีจำนวน 88,790 ล้านบาท เป็นการเลี่ยงบาลีอย่างชัดเจน เพราะเงินสำรองจ่ายก้อนนี้ ธ.ก.ส.จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา FDR+1 หรือประมาณ 3.4-3.5% ต่อปี
โดยเฉพาะหากพิจารณาจากเงินที่จ่ายให้เกษตรที่นำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2556 เข้าโครงการ พบว่าเงินที่จ่ายเงินให้ชาวนาไปเกิน3 หมื่นล้านบาทแล้วนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากเงินกู้ที่เรียกว่าเงินสำรองจ่ายทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลพอที่จะประวิงเวลาไม่ให้กรอบวงเงินกู้ในโครงการเกินเพดาน 5 แสนล้านบาท
เพราะอย่าลืมว่ามติ ครม.วันที่ 30 ก.ย. 2555 ระบุว่า “ไม่ว่ากรณีใดๆ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าว เปลือกไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส.ไม่เกิน9 หมื่นล้านบาท” จึงต่อลมหายใจโครงการรับจำนำข้าวได้อีกเฮือก
ทว่า เมื่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีแต่ “เงินจ่ายออก” แต่ไม่มี “เงินไหลเข้า” เช่นนี้ คงร้อนถึง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนที่นายกฯยิ่งลักษณ์ สั่งให้เข้าควบคุมเงินใช้จ่ายในโครงการไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท เพราะในไม่ช้ากระทรวงพาณิชย์จะเข้าเจรจากับนิวัฒน์ธำรง เพื่อ “ขอขยาย” กรอบวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกที่กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท อย่างแน่นอน
“เขาก็ดำเนินการกันได้ดีคือ เมื่อเขาไม่ได้มีปัญหา ผมก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับเขา ถ้าเป็นช่วงที่มีปัญหาว่าเงินมาไม่มาอย่างนี้ ผมก็ต้องเข้าไปประสาน แต่ถ้าปกติแล้วผมก็ไม่ได้ไปดู” นิวัฒน์ธำรง ให้สัมภาษณ์ วันที่ 9 พ.ค. 2556 เกี่ยวกับเงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
แต่งานนี้น่าจะเป็นงานหินสำหรับมือบริหารอย่างนิวัฒน์ธำรงเป็นแน่ เพราะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2556 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2556 กำหนดให้ ธ.ก.ส.ก่อหนี้ใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรโดย เฉพาะข้าวเปลือกปี 2555/2556 จำนวน 224,170 ล้านบาท
เท่ากับทำให้วงเงินค้ำประกันและให้กู้ต่อที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ รัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 479,999.86 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2556 ส่งผลให้กระทรวงการคลังจะไม่สามารถค้ำประกันเงินและให้กู้ต่อแก่รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้อีกแล้ว เป็นโจทย์ที่นิวัฒน์ธำรงต้องคิดหนัก
แต่ใช่จะไม่มีทางออก เพราะหนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะใช้วิธียืมเงิน ธ.ก.ส.มาใช้ไปพรางก่อน ในรูปเงิน “สำรองจ่าย” ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้ และเมื่อเริ่มปีงบประมาณ 2557 จึงบรรจุหนี้เหล่านี้ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะฉบับใหม่ เรียกว่าถูๆ ไถๆ กันไปก่อน ส่วนหนี้สินก้อนโตจะถูกซุกไว้ที่ ธ.ก.ส.
แน่นอนว่าผลพวงที่เกิดจากกรอบวงเงินโครงการรับจำนำข้าวที่ทะลุกรอบ 5 แสนล้านบาท ในทางพฤตินัยนั้น หากพิเคราะห์แล้วจะส่งผลต่อชาวนาอย่างน้อย 2 ประการ
คือ 1.จะเกิดปรากฏการณ์สร้างเงื่อนไขสกัดกั้นไม่ให้ชาวนานำข้าวเปลือกเข้า โครงการ เช่น ชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการจะถูกบังคับหักหนี้สินที่ค้างอยู่กับ ธ.ก.ส.ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวนาบางส่วนหันเหนำข้าวไปขายให้โรงสีในราคาตลาด หรือประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน แม้ว่าจะได้รับเป็นเงินสด แต่ก็เสี่ยงถูกโรงสีกดราคาตามใจชอบ
มิหนำซ้ำ ข้าวเปลือกที่โรงสีขี้ฉ้อบางแห่งรับซื้อเอาไว้ จะถูกสวมสิทธิในโครงการอีกต่อหนึ่ง
2.ความเข้มข้นในการออกใบประทวนและการขึ้นใบประทวนรับเงินค่าข้าวเปลือกใน โครงการ กรณีที่ผลผลิตมีมูลค่ามากกว่า5 แสนบาทต่อราย หรือผลผลิตข้าวเกิน 20% จากฤดูกาลผลิตที่แล้ว
ไม่แน่ว่า จะทำให้ปรากฏการณ์ “ชาวนามีเส้น” คือ หากเป็นชาวนาตาสีตาสามีหวังถูกตรวจสอบยิบ ต่างจากชาวนามีเส้นที่หนทางรับเงินค่าข้าวได้รับไฟเขียวตลอดทาง
ข้อมูลเหล่านี้เป็นการตอกย้ำกันชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเข้าสู่ภาวะถังแตกแล้ว แต่คงต้องติดตามกันต่อว่าโครงการจะนี้จะไปรีดเลือดจากใครบ้าง
แต่ที่แน่ๆ เงินภาษีถูกรีดเลือดจนคางเหลืองอย่างไม่ต้องสงสัย
กิตติรัตน์'ปัดตอบปลด'สุภา'สังเวยจำนำข้าว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"กิตติรัตน์"เลี่ยงตอบ"กรณ์"เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังโครงการรับจำนำข้าวขาดทุน โยนเด้ง"สุภา"เป็นการตัดสินใจของปลัดคลัง ไม่เกี่ยวครม.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการรับจำนำข้าวหลังจากที่ คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ได้สรุปว่ารัฐบาลขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 260,000 ล้านบาท โดยเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ออกมารับผิดชอบ เนื่องจากนายกิตติรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2554 ว่า ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ชดเชยในระบบประกันรายได้เกษตรกร พรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ และไม่ต้องตั้งคำถามว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร โดยนายกิตติรัตน์ตอบสั้นๆว่า "ผมไม่ขอตอบเรื่องนี้"
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีกระแสข่าวที่จะปลด นางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตรออกจากตำแหน่ง นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เรื่องนี้อธิบายว่ารองปลัดกระทรวงการคลังมีจำนวน 4 คน สามารถสลับหน้าที่กันได้ตามการตัดสินใจของปลัดกระทรวงการคลัง ดังนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะไม่ใช่การดำเนินการปรับโยกย้ายระดับอธิบดีกรมที่ต้องเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา ซึ่งกรณีที่จะปรับการรับผิดชอบรองปลัดกระทรวงในกระทรวงที่มีรองปลัดหลายคน เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงดำเนินการตามความเหมาะสม
"ถ้าไปโยงกัน ผมเข้าใจอย่างนี้น่าจะถูกต้อง ท่านรองปลัดกระทรวงท่านนั้นดูแลในฐานะประธานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ถ้าสลับตำแหน่งอะไรทั่วไป ก็ยังเป็นตำแหน่งรองปลัดเหมือนเดิม ส่วนคุณกรณ์ เป็นอดีตรมว.คลังไปแล้ว อยู่ในหน้าที่อดีตรมว.คลังอย่างเหมาะสมแล้วกัน มีอะไรไปพูดจากันในสภาฯ ผมว่าน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนผมเป็นรมว.คลังในปัจจุบัน ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อบริหารเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ขอให้มั่นใจได้"นายกิตติรัตน์กล่าว
พาณิชย์มั่นใจกลับมาผงาดเบอร์1ส่งออกข้าว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พาณิชย์มั่นใจไทยขึ้นแท่นมูลค่าส่งออกข้าวสูงสุดในโลก แม้ปีก่อนพลาดเป้า เตรียมเสนอกรอบจำนำรอบใหม่ ยันไม่ของบเพิ่ม
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมข้าวนานาชาติ ครั้งที่ 6 หรือ Thailand Rice Convention 2013 (TRC 2013) ว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจในวงการข้าวได้เจรจาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การค้าขายข้าว ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาซื้อขายข้าวในที่สุด โดยรัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาข้าว เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของโลก โดยเฉพาะอาเซียน และการจัดงานครั้งนี้จะทำให้ประเทศคู่ค้ามีความมั่นใจในการศักยภาพของข้าวไทย และตัดสินใจซื้อข้าวจากไทยง่ายขึ้น
นอกจากนี้ภาครัฐรวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผลักดันการส่งออกข้าวของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าปีที่ผ่านมาการส่งออกข้าวจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่ยังมั่นใจว่าไทยการส่งออกข้าวไทยจะมูลค่าสูงที่สุดโลกเหมือนเดิม ส่วนปริมาณยังต้องติดตามสถานการณ์การส่งออก โดยสัญญาการส่งมอบข้าวยังมีอีกหลายสัญญาที่รอส่งมอบ และอยู่ระหว่างเจรจา
รัฐบาลยังมั่นใจว่าจะสามารถระบายข้าวในสต็อกได้ตามแผน และนำเงินจากการระบายมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำรอบใหม่ ซึ่งจะมีการเสนอกรอบการรับจำนำรอบใหม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยกรอบรับจำนำรอบใหม่ยังคงเหมือนเดิม คือราคาตันละ 15,000-20,000 บาท และไม่ของบประมาณเพิ่ม แต่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนเดิมที่มีอยู่
ทั้งนี้ สาเหตุที่เกษตรกรได้รับเงินจากการจำนำล่าช้าไม่ได้เกิดจากรัฐบาลขาดสภาพคล่อง แต่เป็นเรื่องการตรวจสอบข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งอาจคลาดเคลื่อน ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
'ณัฐวุฒิ'ลั่นจำนำข้าว เกษตรกรชำระหนี้ได้
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ณัฐวุฒิ"ระบุโครงการรับจำนำข้าวทำการบริโภคในประเทศขยายตัว-เกษตรกรชำระหนี้ค้างได้มากขึ้น
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ปาฐกถาหัวข้อนโยบายการค้าข้าวของประเทศไทย ในงาน Thailand Rice Convention 2013 วันที่ 27 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ว่า ประเทศไทย มีผลผลิตข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญครองอันดับ 1 การส่งออกข้าวเป็นสินค้ามายาวนาน ปัจจุบันแม้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงกลไกการตลาดของโลกแต่ก็ยังถือว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยอยู่ แต่ความเป็นจริงกลับพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลับยากจน รัฐบาลจึงดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกขึ้นปีละ 2 รอบการผลิต ให้ชาวนาหมดภาระในการจะต้องวางแผนการผลิตข้าวปีละ 3-4 รอบ โดยโครงการรับจำนำข้าวเดินหน้ามาจนถึงขณะนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว
จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรชาวไทยให้การยอมรับและสัมผัสประโยชน์อย่างแท้จริงจากโครงการนี้ มีตัวชี้วัดเมื่อเกษตรกรได้รับเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศไทยขยายตัวมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่มาจากการบริโภคภายในประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนและเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนั้น เกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ค้างเก่าของตัวเองได้มากขึ้น การบริโภคสินค้าที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตได้มากขึ้น
"ราคาในประเทศขยับสูงขึ้น ทำให้ราคาส่งออกข้าวขยับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน อาจจะไม่ใช่ข่าวดี ถ้าไม่ได้มาพร้อมกับการพัฒนาขึ้นของคุณภาพ แต่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีการตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนรับจำนำและชำระเงินให้เกษตรกร หมายความว่า เกษตรกรต้องผลิตข้าวได้คุณภาพตรงมาตรฐานถึงจะได้เม็ดเงินเต็มจำนวนตามโครงการประกาศ หากได้คุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์จะได้รับเม็ดเงินในโครงการลดน้อยถัดลงมา จึงเป็นการเร่งรัดกระตุ้นจูงใจให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าวเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการพัฒนราคุณภาพข้าวของประเทศไทย" นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การเร่งพัฒนาศักยภาพในการผลิตและส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก ก่อให้เกิดการแข่งขันส่งออกข้าวอย่างเข้มข้น อาจไม่เป็นผลดีต่อผู้ส่งออกอาเซียนโดยรวม ดังนั้น ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกข้าว 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนนมาร์ เวียดนาม และไทย จึงควรอย่างยิ่งรวมกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านการผลิตและการค้า เพื่อกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ นโยบายร่วมมือข้าวอาเซียนขึ้นมา เพื่อยกระดับรายได้ และความเป็นผู้นำเกษตรกรแต่ละประเทศ พัฒนาราคาร่วม ส่งเสริมระดับราคาข้าวให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียนและโลก
"เวทีการแข่งขันการค้าเสรี เป็นเวทีของผู้มีศักยภาพ ผู้มีขีดความสามารถแข่งขัน และเป็นเวทีรอความร่วมมือจริงจังที่จะสร้างความเข้มแข็ง อนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ไทยพร้อมที่จะเป็นแหล่งอาหารสำคัญ เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั่วโลกอย่างมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ รัฐบาลจึงยินดีที่จะให้ควมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อพัฒนากิจการข้าวทุกประเทศไปพร้อมกัน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นอาหารคุณภาพที่มีประโยชน์กับผู้ผลิต เพื่อให้ประโยชน์อย่างแท้จริงกับผู้บริโภค" นายณัฐวุฒิ กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต