จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จันทร์จิรา พงษ์ราย
ในยุคที่กระแสโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยืดชีวิตโลก
ไม่ให้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากมีความชัดเจนแล้วว่าภายในอีก 20-30 ปีข้างหน้า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส
และหนึ่งในมาตรการทางอ้อมที่หลายชาติยักษ์ใหญ่ในสหภาพยุโรป อาทิ เยอรมนี ขานรับ เพื่อช่วยกู้โลกก็คือความพยายามในการปรับมาตรฐานของสินค้าและบริการสีเขียว ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
"ปัจจุบันเยอรมนีสร้างฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่รู้จักกันในนามของบลู แองเจิล ซึ่งเป็นฉลากสินค้าที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้กระบวนการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้า ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า 30 ปี จนปัจจุบันสามารถเพิ่มฉลากเขียวได้ 30% และกำลังเพิ่มเป็น 50% ในอีก 3 ปี"
อูลฟ์ เจคเคิล ตัวแทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมคุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บอกถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่เยอรมนี กำลังให้ความช่วยเหลือผ่านทาง โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GTZ) ในการขยายความร่วมมือการส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะที่ 2 กับไทย และกลุ่มสมาชิกอา เซียน และอาเซียนบวก 3 ขึ้น
เมื่อหันกลับมาดูบทบาทของไทยต่อมาตรการดังกล่าว ถือเป็นเรื่องน่ายินดีว่าเราเริ่มรณรงค์ผ่านทางโครงการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้าง และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2551-2554 โดยมีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแม่งานหลัก
" จากการดำเนินงานมาแล้ว 4 ปี โดยมีหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางระดับกรม 170 แห่งเข้าร่วมในการใช้สินค้าและบริการ 17 รายการ อาทิตลับหมึก กระดาษ เครื่องพิมพ์ กระดาษชำระ เครื่องถ่ายเอกสาร แฟ้มเอกสาร ซองบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด หลอดฟลูออร์เรสเซนต์ แบตเตอรี่ บริการทำความสะอาด บริการเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร และบริการโรงแรมนั้น เราพบว่า ช่วยรัฐประหยัดเงิน 359 ล้านบาทหรือ 39% รวมทั้งลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 25,685 ตัน"
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บอกถึงความสำเร็จ พร้อมว่า ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำในการแปลงนโยบายสินค้าสีเขียวไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้นไทยอาจจะเป็นต้นแบบในการดึงชาติสมาชิกอาเซียนร่วมกัน กำหนดมาตรฐานสินค้า และบริการสีเขียว เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) อีกด้วย
เขาย้ำว่า ขณะนี้คพ.ร่วมกับ GTZ ในการขยายความร่วมมือการส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2555-59 มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และประชาชนระดับครัวเรือนใช้สินค้าและบริการสีเขียว
" นอกจากนี้ยังได้เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง ในการใช้มาตรการทางภาษี ให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าสีเขียวด้วย พร้อมกันนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานสินค้าสินค้าเขียวเพิ่มในกลุ่มรถยนต์ หลอดไฟ และกระดาษบางชนิดเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายสร้างแรงจูงใจในการใช้สินค้าสีเขียวเพิ่มอีกเท่าตัวของปัจจุบัน" เขา ระบุ
แทบไม่น่าเชื่อว่าจากข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล โดยกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากกิจกรรมการบริโภคของภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น ผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายจึงควรคำนึงถึงการบริโภคอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นถือเป็นงานที่ท้าทายของสมาชิกอาเซียน ที่จะรวมตัวกันใช้สินค้าสีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อกู้ภาวะโลกร้อน...
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต