สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อนามัยโลกเตือน ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ ในจีนจัดอยู่ในกลุ่มอันตรายที่สุด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       รอยเตอร์ - ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ซึ่งแพร่ระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตในจีนไปแล้ว 22 ราย จัดเป็นชนิดหนึ่งที่ “อันตรายที่สุด” ในกลุ่มไวรัสไข้หวัด และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ง่ายกว่าเชื้อชนิดเดิมที่คร่าชีวิตคน ทั่วโลกไปหลายร้อยตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงวันนี้ (24)
       
       ทางการจีนแผ่นดินใหญ่เองยืนยันว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัส H7N9 ในจีนแล้ว 108 ราย โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าผู้ป่วยรับเชื้อด้วยวิธีใด ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ก็ยังไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่องจากคนสู่คน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในเวลานี้
       
       ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO และรัฐบาลจีนใช้เวลา 5 วันร่วมกันตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดในแดนมังกร แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ไวรัสชนิดนี้จะสามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้หรือไม่
       
       เคอิจิ ฟุกุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงด้านสุขภาพของ WHO ระบุว่า “สถานการณ์ในขณะนี้ยังมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
       
       “เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ไวรัสชนิดนี้จัดว่าอันตรายอย่างผิดธรรมดามากสำหรับมนุษย์” ฟุกุดะกล่าวในการบรรยายสรุป
       
       เขาแจกแจงว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ระบาดมาหลายปีแล้ว นั่นคือ สายพันธุ์ H5N1 นั้น ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 30 รายจากจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนทั้งสิ้น 45 รายในระหว่างปี 2003-2013 ถึงแม้จำนวนคนตายจากไวรัส H7N9 จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า แต่เขายืนยันว่า “นี่เป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีอันตรายที่สุดเท่าที่เราเคยพบ มา”
       
       พวกนักวิทยาศาสตร์ที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลรหัสทางพันธุกรรม จากตัวอย่างเชื้อไวรัส ซึ่งได้มาจากเหยื่อของ H7N9 รวม 3 รายระบุว่า สายพันธุ์นี้เป็นสิ่งที่เรียกกันว่า ไวรัสจาก “การรวมตัวของยีนส์ 3 ชั้น” (“triple reassortant” virus) นั่นคือเป็นการผสมรวมตัวของยีนส์ที่มาจากสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่อื่นๆ 3 สายพันธุ์ซึ่งพบในสัตว์ปีกในแถบเอเชีย
       
       ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในช่วงหลังๆ มานี้ รวมถึง ไวรัส “ไข้หวัดหมู” H1N1 ของช่วงปี 2009/2010 ต่างก็เป็นการผสมรวมตัวของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไข้ หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก อันเป็นไวรัสพันธุ์ผสมซึ่งน่าที่จะมีความรุนแรงลดต่ำลง เพราะไข้หวัดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีแนวโน้มที่จะทำให้มนุษย์ป่วยรุนแรง น้อยกว่าไข้หวัดนก
       
       ขณะที่พวกสายพันธุ์ไข้หวัดนกบริสุทธิ์ อย่างเช่นสายพันธุ์ใหม่ H7N9 และสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งตั้งแต่ปี 2003 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วไปโลกราว 371 รายจากผู้ป่วยทั้งสิ้น 622 ราย โดยทั่วไปแล้วจะทำให้คนถึงตายได้มากกว่า
       
       พวกผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยตรวจสอบสถานการณ์ในจีนตั้งแต่สัปดาห์ ที่แล้ว ชี้ด้วยว่า ปริศนาสำคัญเกี่ยวกับ H7N9 ประการหนึ่งก็คือ สัตว์ปีกซึ่งติดเชื้อจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วย ทำให้ยากแก่การติดตามและควบคุมการแพร่ระบาด
       
       ฟุกุดะย้ำว่า ทีมงานของเขายังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นทำการสอบสวนโรคเท่านั้น และกล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้ “เราอาจจะกำลังได้เห็นการระบาดอย่างรุนแรงที่สุด” ของไวรัสนี้พอดี
       
       เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่ เขาเตือนว่า “ไวรัสนี้สามารถที่จะติดต่อจากสัตว์ปีกไปสู่มนุษย์ได้ง่ายดายกว่าเชื้อ H5N1”
       
       ทางด้าน แนนซี ค็อกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเชื้อไข้หวัดใหญ่ สถาบันควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ แถลงว่า จากการสุ่มตรวจไก่, เป็ด และนกพิราบที่วางจำหน่ายตามตลาดสัตว์ปีกในจีนพบว่ามีเชื้อไวรัส H7N9 อยู่จริง ทว่าไม่พบเชื้อดังกล่าวในฝูงนกอพยพ
       
       “อย่างน้อยเราก็พอจะทราบได้ว่าต้นตอของเชื้อน่าจะมาจากสัตว์ปีกในฟาร์ม” ค็อกซ์ กล่าว
       
       พวกผู้เชี่ยวชาญไข้หวัดใหญ่ต่างระบุว่า ในช่วงหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนจากนี้ไป น่าจะปรากฏกรณีคนติดเชื้อไวรัส H7N9 เพิ่มมากขึ้นอีก อย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าจะสามารถยืนยันเรื่องต้นตอของการระบาดได้อย่าง สมบูรณ์ ตลอดจนมีการควบคุมโรคอย่างได้ผล
       
       แอนน์ เคลโซ ผู้อำนวยการศูนย์ร่วมมือเพื่อการอ้างอิงและการวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ของ WHO ซึ่งตั้งอยู่ในนครเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย ให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่งว่า ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีการระบาดและมีคนเสียชีวิตเพราะเชื้อ H7N9 มากที่สุดในตอนนี้นั้น ขณะนี้ “จำนวนคนที่ติดเชื้อได้ลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ” แล้ว ซึ่งเธอเห็นว่า เป็นข่าว “ที่ให้กำลังใจ”
       
       เธอระบุว่า หลังจากเซี่ยงไฮ้ปิดตลาดค้าสัตว์ปีกเป็นๆ ในต้นเดือนเมษายน จำนวนคนติดเชื้อไวรัสนี้ก็ลดลงเกือบจะในทันที
       
       กระนั้นก็ตาม ไมเคิล โอเลียรี ผู้แทนองค์การอนามัยโลกในประเทศจีน ได้เคยแถลงเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ป่วยราวๆ ครึ่งหนึ่งที่ได้รับเชื้อ H7N9 ในจีนบอกว่า จำไม่ได้ว่าได้เคยสัมผัสสัตว์ปีกมาก่อนล้มป่วย
       
       อนึ่ง ทางการผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขในไต้หวันแถลงในวันอังคาร ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัส H7N9 ในเกาะแห่งนี้ โดยคนไข้รายนี้เป็นชายวัย 53 ปี ซึ่งได้ไปทำงานที่เมืองซูโจวทางภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงที่ ผ่านมา เขามีอาการป่วยประมาณ 3 วันก่อนที่เขาจะเดินทางกลับมายังไต้หวันผ่านทางนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ชายผู้นี้ถูกนำตัวเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน และอาการในขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อนามัยโลก เตือน ไข้หวัดนก สายพันธุ์ใหม่ จีน จัดอยู่ในกลุ่ม อันตรายที่สุด

view