จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เอ็นจีโอ ปูดมีขาใหญ่ ตำรวจชัยภูมิจับมือนายทุนจากประเทศลาว โยงคดีช้างตายแก่งกระจาน อัดอุทยานฯสร้างหลักฐานเท็จ
จากกรณีปัญหาช้างถูกลักลอบฆ่าตายแถวบริเวณบ้านป่าเด็ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งพบว่าตั้งแต่ปี 2555-56 รวมทั้งหมด 5 ตัวจนกระทั่งนายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อหาสาเหตุการตายของช้างป่าแก่งกระจาน ขณะที่ในสัปดาห์หน้านายชัยวัฒน์ เตรียมยื่นข้อมูลให้กับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยขยายผลขบวนการลักลอบฆ่าช้างนั้น
วานนี้ (20 เม.ย.) นายดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักอนุรักษ์ช้างไทย ได้เดินทางเข้าพบนายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดเผยข้อมูลการตายของช้างไทย ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยระบุว่า ภายหลังจากที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่ามีช้างไทยตายจำนวนกว่า 6 ตัวในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าช้างทั้งหมดล้วนเสียชีวิตที่อ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตพบว่ามีรอยกระสุนปืนตามตัวช้างหลายจุด แต่หัวกระสุนปืนที่ตรวจพบเป็นหัวกระสุนปืนที่ไม่สามารถฆ่าช้างให้เสียชีวิตได้
นายดุลสิทธิ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การฆ่าช้างดังกล่าวไม่ได้ฆ่าเพื่อต้องการเอางา และไม่ได้ฆ่าเพื่อต้องการเอาลูกช้างตามที่กรมอุทยานฯระบุ แต่ตนเชื่อว่าช้างที่ถูกฆ่าจะถูกวางยาพิษ และยิงเพื่อสร้างหลักฐานเท็จ โดยหวังผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มกะเหรี่ยง กะหร่าง และปกากะญอ เพื่อชะลอโครงการตามพระราชดำริ
"ขบวนการนี้เป็นขบวนการใหญ่มีนายทุนค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ต้องการใช้เส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฎหมายอยู่เบื้องหลัง ร่วมมือกับนางรอยหรือนางดอย จันทวงศา ชาวลาว สัญชาติเวียดนาม นักค้าซากสัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งมีข้าราชการตำรวจ และภรรยาชาวเวียดนามในจังหวัดชัยภูมิ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนางลอยและนายทุนแก่งกระจาน ซึ่งหากตำรวจตามจับนางรอยได้ ความจริงก็จะกระจ่าง นอกจากนี้นายดุลสิทธิ์ ยังระบุอีกว่า ช้างป่าตัวแรกที่ถูกยิงตายที่บริเวณอ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 ซึ่งกรมอุทยานฯระบุถูกยิงตายเพื่อเอาลูกนั้น ความจริงแล้วช้างตัวดังกล่าวเป็นช้างตัวผู้ ส่วนช้างที่พบตัวล่าสุดก็เป็นช้างตัวเมียโดยมีลูกติดอยู่ในท้อง"
ด้านนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันว่าข้อมูลของนายดุลสิทธิ์ ไม่ตรงกับข้อมูลของกรมอุทยาน ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานได้เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับขบวนการล่าช้างป่าไว้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำข้อมูลของนายดุลสิทธิ์มาใช้ และในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปพบกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อนำหลักฐานและรายชื่อขบวนการล่าช้างป่า ไปมอบให้กับนายธาริต เพื่อให้นำเรื่องการล่าช้างป่าเป็นคดีพิเศษต่อไป
"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯไม่มีส่วนเกี่ยวในขบวนการล่าช้างแต่อย่างใด อาจจะมองได้หลายมุมและสามารถคิดต่างมุมได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าอุทยานไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรู้สึกเดียวกับคนทั้งชาติ เวลาเห็นช้างและสัตว์ป่าเสียชีวิต เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเขาเหมือนกัน" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าว
ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯพร้อมรับฟังข้อมูลหลักฐานเพื่อใช้ในการตามล่าขบวนการลักลอบฆ่าช้าง ซึ่งทางเราก็มีข้อมูลนี้อยู่เช่นกัน แต่มอบให้กับพนักงานสอบสวนสืบสวนทางลับ ทั้งนี้อยากให้นายดุลสิทธิ์ นำข้อมูลส่งให้กับทางราชการ เพื่อนำไปขยายผลมากกว่าการนำข้อมูลมาบอกสู่สาธารณชน เพราะอาจส่งผลให้การสืบและขยายผลในการหาผู้อยู่เบื้องหลังเป็นไปได้ยากขึ้น
"ในส่วนของการวางมาตรการและแนวทางแก้ปัญหาช้าง ทางกรมอุทยานฯ ไม่ได้ละเลย โดยวันที่ 22 เม.ย.นี้ ทางกรมอุทยาน เชิญหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ อาทิ แก่งกระจาน กุยบุรี ป่าตะวันออก เข้านำเสนอแผนดำเนินการของแต่ละพื้นที่ จากนั้นในวันที่ 23 เม.ย.นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาช้าง เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ เข้าประชุมจัดทำแผนช้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบฆ่าช้าง ปัญหาความขัดแย้งช้างกับคน และช้างเร่ร่อน โดยมีนายโชติ ตราชู ปลัดทส.เป็นประธาน และข้อมูลสถานการณ์ แผนดำเนินการและแก้ไขส่วนหนึ่งจะนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีต่อไป
ด้าน รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า การลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางา อวัยวะ มีการทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งการแก้ไขต้องมองไปข้างหน้า ควรต้องคุ้มครองพื้นที่อาศัยของช้างป่า เสริมสร้างแนวเชื่อมป่า การวิจัยและจัดการประชากรช้างป่า การป้องกันและวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่ดึงดูดช้างออกมาหากิน กล้วย อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ซึ่งไม่สามารถห้ามเกษตรกรปลูกพืชอาหารช้างใกล้กับแนวป่า ดังนั้นควรต้องให้ความรู้เสริมสร้างแนวร่วมทางสังคมช่วยกันดูแลช้าง และสุดท้ายถ้ามีช้างเพิ่มขึ้นอาจใช้ประโยชน์จากป่าได้มากขึ้น เช่น ในเชิงการท่องเที่ยว และคงไม่ถึงขั้นกรณีของช้างแอฟริกาที่ต้องชดเชยการใช้ที่ดินด้วยการถูกฆ่าเอางา อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการเลิกช้างเลี้ยง
ในวันเดียวกัน ที่ศาลาวัดบ้านขุนไชยทอง หมู่ที่ 4 ต.หนองเรือ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผวจ. สุรินทร์ ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัดมาประชุม ระดมความคิดเห็นร่วมกับตัวแทนกลุ่มเลี้ยงช้าง โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนผู้เลี้ยงช้าง ของอำเภอชุมพลบุรี โดยการประชุมในครั้งนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเลี้ยงช้าง ของอำเภอชุมพลบุรี ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่มีประชาชนเลี้ยงช้างอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 300 เชือก และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาตลอดจนให้ความช่วยเหลือเหมือนช้างที่อยู่ในศูนย์คชศึกษา อ.ท่าตูม จึงทำให้ชาวเลี้ยงช้างของ อ.ชุมพลบุรี ได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ ส่งผลทำให้ต้องกระจายกันนำช้างออกหากิน โดยการขายอาหารช้างไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จนถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคมมาจวบจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดสุรินทร์ได้พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีปัญหาทางด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งตัวแทนกลุ่มเลี้ยงช้าง ในอำเภอชุมพลบุรีได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาช่วยเหลือ และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเลี้ยงช้าง และได้เรียกประชุมคณะกรรมการในระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมาที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล และมีหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันการจับกุมช้างเร่ร่อน จนกว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และมอบหมายให้จังหวัดพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างศูนย์จัดแสดงช้าง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม (Home Stay) ในพื้นที่โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการหาอาชีพเสริมให้กับชุมชนคนเลี้ยงช้างควบคู่กันไป
นายยุทธนา วิริยะกิตติ รอง ผวจ. สุรินทร์ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาของชุมชนคนเลี้ยงช้างของอำเภอชุมพลบุรี ทางจังหวัดสุรินทร์พยายามเข้ามาหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะหาอาชีพเสริมหลังจากการทำนา หาแหล่งน้ำในการทำการเกษตร โดยเฉพาะนาปรังเพราะพื้นที่ของอำเภอชุมพลบุรีเหมาะสำหรับการทำนาปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ พร้อมจะดำเนินการสร้างศูนย์จัดการแสดงช้าง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม (Home Stay) แต่ต้องเข้าไปศึกษาเรื่องการบริหารจัดการให้ดีเพราะเป็นเรื่องยาก กว่าจะได้ผลก็ต้องใช้เวลา อย่างน้อย 1 - 2 ปี
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต