จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กรม พัฒนาที่ดิน เร่งกู้วิกฤต ‘ดิน’ เสื่อมสภาพทั่วประเทศ หวั่นกระทบต่อการผลิตอาหารป้อนครัวโลก ระบุต้นเหตุเกิดจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี มุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามนโยบายรัฐมากเกินไป ชี้ภาคกลางแห่ปลูกข้าว ภาคใต้พลิกผืนดินหันมาปลูกยาง ส่วนภาคอีสานยึดโครงการประกันราคาข้าวปลูกทุกพื้นที่ ขณะที่สภาพดินไม่เหมาะสม กระทบผลผลิตไม่ได้คุณภาพ พร้อมวาง 3 แนวทางแก้วิกฤตดิน แนะเกษตรกรนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ฟรี “ประเทศไทยดำรงอยู่ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารให้กับทั้งครัว ไทยและครัวโลกมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่ประชากรโลกทวีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มมากถึง 9,000 ล้านคน จากปัจจุบัน 7,000 ล้านคน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความเป็นครัวโลกของประเทศไทยอย่างมาก” นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวถึงความท้าทายของประเทศไทยที่จะผงาดในฐานะครัวโลกอย่างเต็มภาคภูมิยิ่ง ขึ้นในอนาคต ทว่า ปัญหาใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นประเทศผลิตอาหารคือ ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินที่ส่งผลกระทบหนักขึ้นทุกวันต่อรายได้และ ผลผลิตของเกษตรกรไทย โดยประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 152 ล้านไร่ ประกอบด้วยที่นา 72 ล้านไร่ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ 32 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 33 ล้านไร่ พื้นที่สวนผัก ไม้ดอก ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 2.49 ล้านไร่ และที่เหลือใช้ทำการเกษตรอื่นๆ หรือเป็นที่อยู่อาศัย และที่รกร้าง อย่างไรก็ดี ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติร่วมกับฝีมือมนุษย์ และการใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเปิดหน้าดิน การไถพรวน การปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินเป็นระยะเวลายาวนาน ในที่สุดดินไทยจึงกลายสภาพเป็นดินมีปัญหาที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะหรือ เหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ให้ผลผลิตน้อย และอาจกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรง ทั้งนี้ปัญหาหลักของดินในประเทศไทยประกอบด้วย ดินกรด 95.4 ล้านไร่ ดินตื้น 46.1 ล้านไร่ ดินดาน 27.3 ล้านไร่ ดินเค็ม 14.3 ล้านไร่ ดินทรายจัด 12.5 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวจัด 6.2 ล้านไร่ และดินอินทรีย์ 0.3 ล้านไร่ ซึ่งการแก้สภาพดินดังกล่าวต้องใช้มาตรการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด การใช้สารอินทรีย์แล้วลดใช้สารเคมี การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินกรด เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่มากถึง 108 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 152 ล้านไร่ ยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลาย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดินด้านบน โดยสาเหตุสำคัญคือฝนและน้ำไหลบ่าที่มากระแทกผิวดิน ทำให้ดินแตกตัว และพัดพาเอาวัตถุจากหน้าดินไปโดยแรงของน้ำ เกิดผลเสียตามมาเป็นพรวนคือ พื้นที่เพาะปลูกลดลง สูญเสียธาตุอาหารพืช และอินทรียวัตถุในดิน การปฏิบัติการในไร่นายากลำบากขึ้น โครงสร้างดินถูกทำลาย เก็บกักน้ำได้น้อยลง ผลผลิตพืชลดลง และยังทำให้เกิดการตกตะกอนในลำน้ำและอ่างน้ำอีกด้วย ปัญหาที่ฝังอยู่ใต้ผืนธรณีเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอุปสรรค สำคัญในการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานของประเทศไทย รวมถึงอาจกระทบต่อสถานภาพการเป็นครัวโลกที่ไทยรักษาแชมป์มาอย่างยาวนานในอีก ไม่ช้านี้ด้วย !?! |
||||
‘จัดเขตโซนนิ่งปลูกพืช-นวัตกรรม พด.-หมอดินอาสา’ แก้ปัญหาดิน นางกุลรัศมิ์บอกว่า กรมพัฒนาที่ดินมีแนวทางแก้ไขปัญหาดินด้วยการจัดการต่างๆ ทั้งในพื้นที่ดินมีปัญหา และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นโยบายของรัฐบาล คือ 1. แนวทางการจัดเขตการใช้ที่ดินที่เหมาะสมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (zoning) โดยกำหนดเขตการใช้ที่ดินที่เหมาะสม นำร่องประกาศใน 6 ชนิดพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมัน โดยใช้ข้อมูลความเหมาะสมทางกายภาพของดิน สภาพเศรษฐกิจและสังคม และสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จัดทำเป็นแผนที่ โดยได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ดินออกเป็น พื้นที่เหมาะสมมาก พื้นที่เหมาะสมปานกลาง พื้นที่เหมาะสมน้อย และพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดดังกล่าว ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการผลิตในแต่ละชนิดพืช การบริหารงบประมาณ การวางแผนการผลิตทั้งเพื่อการอุปโภค เพื่อการส่งออก เพื่อการสำรองใช้ภายในประเทศ ตลอดจนการหาแนวทางลดพื้นที่ปลูกในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนระบบการผลิต มีการบูรณาการการใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผนในระดับจังหวัด 2. การใช้เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ พด. นวัตกรรม องค์ความรู้ (Know how) ต่างๆ ซึ่งถือเป็นสินค้า (Commodity) ที่กรมพัฒนาที่ดินมีการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม พื้นที่ดินเปรี้ยว พื้นที่ดินกรด และพื้นที่ดินปัญหาอื่นๆ ให้สามารถนำพื้นที่ดินที่มีปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้, หลักการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เสี่ยงต่างๆ, มีเทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ พด. ที่พัฒนาจากจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน “ผลิตภัณฑ์ พด. นวัตกรรม Know how ต่างๆ เป็นเทคโนโลยีที่กรมพัฒนาที่ดินนำมาใช้เพื่อช่วยฟื้นฟู ปรับปรุงบำรุงดินให้คืนกลับมาใช้ประโยชน์ สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ผลผลิตสูง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครือข่ายหมอดินอาสาช่วยพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราด เปรื่อง (Smart farmer) เป็นแนวทางในการขยายเครือข่ายเพื่อเพิ่มการยอมรับในเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ พด. นวัตกรรม Know-how ต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน การฟื้นฟูดิน การปรับปรุงบำรุงดินผ่านกลุ่มเครือข่ายหมอดินอาสา และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินเป็นที่ยอมรับในชุมชน มีความยั่งยืน และเกษตรกรปฏิบัติได้จริงอีกด้วย” นางกุลรัศมิ์กล่าว |
||||
แนะเกษตรกรวิเคราะห์ดิน เพิ่มศักยภาพการผลิต ด้าน นายสถิระ อุดมศรี นักสำรวจดินชำนาญการพิเศษ เผยว่า สถานการณ์ปัญหาดินที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากการใช้ที่ดินที่เข้มข้นกว่า ในอดีต โดยเฉพาะการมุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวจากนโยบายรัฐเมื่อ 40-50 ปีก่อน ทำให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยขาดความรู้และเทคโนโลยีในการใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสม เช่น ภาคกลางมีการปลูกข้าวตลอดเวลา โดยไม่ได้พักดินเลย จึงเกิดโรคระบาดได้ง่าย และมีแต่การสูญเสียธาตุอาหารในดินอย่างเดียวโดยไม่มีการเติมเข้าไปเลย เขาอธิบายต่อว่า ปัญหาดินในแต่ละภาคของประเทศไทยมีความแตกต่างกันตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อม โดยขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ พืชพรรณธรรมชาติ วัตถุต้นกำเนิดดิน และพัฒนาการของดิน ซึ่งร้อยละ 95 ของประเทศไทยมีปัญหามาจากวัตถุต้นกำเนิดดิน เช่น ภาคอีสานโครงสร้างของวัตถุต้นกำเนิดดินเป็นดินทรายเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขณะที่ภาคเหนือมีปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าและมีวงรอบการเผาป่า ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง เมื่อฝนตกลงมาจะเกิดปัญหาการชะล้างพังทลาย ทำให้มีดินถล่มในพื้นที่ตามมา ส่วนภาคกลางแม้จะมีลักษณะของดินตะกอนที่ถูกแม่น้ำ 4 สายพัดพามาสะสม แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทะเลเก่า ดินส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นดินกรดจัด หรือดินเปรี้ยวจัด แต่สามารถแก้ไขควบคุมได้ จึงไม่เป็นปัญหาเท่าไร ในขณะที่ดินภาคใต้ รวมถึงภาคตะวันออกบางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุก จึงเกิดปัญหาการชะล้างพังทลายได้ง่าย ซึ่งทำให้แร่ธาตุอาหารในดินสูญหายลงไปในฐานหน้าตัดดิน สภาพปัญหาดังกล่าวเมื่อร่วมกับการใช้ที่ดินเพาะปลูกอย่างเข้มข้นโดย ไม่มีการวิเคราะห์และฟื้นฟูบำรุงดิน เป็นวิกฤตดินที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข เนื่องจากหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เกษตรกรจะใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อผลผลิต และรายได้ รวมถึงการส่งออกพืชอาหารเพื่อป้อนครัวโลกอีกด้วย |
||||
เขาเล่าด้วยว่า ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่มีการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท เช่น ความนิยมปลูกยางพาราในภาคใต้สมัยที่ยางพาราได้ราคาดี ชาวบ้านจึงเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกยางโดยยกร่องขึ้น แต่ปลูกได้งามเพียง 3-4 ปี หลังจากนั้นเกิดปัญหารากเน่า เพราะยางพาราเป็นพืชที่ไม่ชอบพื้นที่น้ำพื้นที่ลุ่ม ในที่สุดจึงต้องโค่นยางทิ้งเพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนปลูก เช่นเดียวกับกรณีของความ นิยมปลูกข้าวในภาคอีสานในปัจจุบันซึ่งข้าวมีการประกันราคาตันละ 15,000 บาท ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเต็มที่ ทั้งที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานเป็นดินทราย ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เกษตรกรจะไถดินทรายออกและปลูกข้าวบนชั้นดินเหนียว ซึ่งปัญหาที่ชาวนาภาคอีสานต้องพบอย่างแน่นอนคือน้ำไม่เพียงพอในฤดูกาลเพาะ ปลูก และการปลูกเอาปริมาณเช่นนี้จะทำให้ไทยสู้เขาไม่ได้ เพราะผู้บริโภคชอบกินข้าวอร่อย ชาวนาจึงควรเน้นการปลูกข้าวคุณภาพมากกว่าปริมาณ |
||||
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคงไม่ได้อยู่ที่การขาดความรู้และเทคโนโลยีในการปรับ ปรุงแก้ไขปัญหาดิน เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานราชการอย่างกรมพัฒนาที่ดินมีการพัฒนาเทคโนโลยีและ ผลิตภัณฑ์ปรับสภาพและวิเคราะห์ดินเพื่อวางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมพร้อม สรรพ แต่ดูเหมือนเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ดังกล่าว หรือมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เกษตรกรส่วนมากยังคงเพาะปลูกตามความเคยชิน ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ และไม่ได้วิเคราะห์ดินเพื่อใช้ดินอย่างเต็มศักยภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการใช้สารเคมีหรือแม้กระทั่งการใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็นยังส่ง ผลให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิต ทำให้ผักผลไม้ส่งออกบางชนิดถูกตีกลับ เพราะพบสารพิษตกค้าง เช่น มังคุดส่งออกที่ถูกตีกลับเพราะพบว่ามีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากเกษตรกรไม่ระมัดระวังจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ครัวโลกของประเทศ ไทยอย่างมาก ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องใช้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปสนับสนุนความรู้ให้กับชาวบ้านมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรใช้ดินได้เต็มศักยภาพ พร้อมลดต้นทุนการผลิต เพราะใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้อย่างถูกที่ถูกเวลา รวมถึงการลดใช้สารเคมีลง โดยนำเกษตรอินทรีย์เข้าไปแทน |
||||
สำหรับแนวทางหนึ่งในการกระจายความรู้เรื่องดินสู่ชุมชนคือ หมอดินอาสา หรือเกษตรกรที่อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนกรมพัฒนาที่ดินในการให้ความรู้ และบริการงานพัฒนาที่ดินในชุมชน ซึ่งถือเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่พร้อมรับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราถ่ายทอดให้ โดยปัจจุบันมีหมอดินอาสากว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ “ปัจจุบันเรามีเกษตรกรหัวก้าวหน้าประมาณ 10-20% ของเกษตรกรทั้งหมด เกษตรกรกลุ่มนี้จะมีการวิเคราะห์ดินและปรับปรุงบำรุงดินก่อนทำการปลูกพืช และเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้เห็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ ที่ดินที่ถูกต้องและยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรสมัยใหม่ส่วนมากมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี พร้อมเสพข่าวสารและข้อมูลความรู้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีผลผลิตที่สูงและได้ราคาดีขึ้น” ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถรับบริการทุกด้านเกี่ยวกับเรื่องดินได้ที่กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานพัฒนาที่ดินในทุกจังหวัด โดยเฉพาะการวิเคราะห์ดิน ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ส่งไปให้กรมพัฒนาที่ดิน หรือหน่วยงานในสังกัด ทำการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์และปัญหาของดินในแปลงปลูกพืชโดยไม่มีค่าใช้ จ่าย ซึ่งเกษตรกรจะได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การใส่ปุ๋ย ใส่ปูน ปรับปรุงดินกรด หรือสารปรับปรุงดินอื่นๆ ตามความจำเป็น เพื่อให้การปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และคุณภาพดีขึ้น “เกษตรกรไทยจะมีศักยภาพในการผลิตพืชอาหารป้อนตลาดโลกมากขึ้น หากใช้ข้อมูลความรู้และเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินเป็นแนวทางในการใช้ ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมและเต็มศักยภาพ ซึ่งหากเกษตรกรรู้จักข้อมูลดินในพื้นที่ของตนเองจะรู้วิธีลดต้นทุนการผลิต รู้วิธีเพิ่มผลผลิต และใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน ซึ่งในเบื้องต้นเกษตรกรและผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ของกรมพัฒนาที่ดิน (www.ldd.go.th)” นายสถิระกล่าวทิ้งท้าย |
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต