เปิดใจ 'วัชรี วิมุกตายน' จำนำข้าว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คนได้ประโยชน์ไม่พูด หรือพูดแล้วก็ไม่มีเสียง คนอื่นเป็นคนวงนอก ก็อยากวิจารณ์ข้อมูลไปตามที่ได้รับ : เปิดใจ "วัชรี วิมุกตายน" จำนำข้าว
กระทรวงพาณิชย์เป็นกลไกหลักของรัฐบาลในโครงการจำนำข้าว ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกภาคส่วน "กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ วัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำ ถึงมุมมองเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว หลังจากผ่านมา 3 รอบ ของการจำนำข้าวภายใต้รัฐบาลชุดนี้
ทำไมโครงการจำนำข้าว จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ข้าราชการไม่ท้วงติงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือ
คิดว่าหน้าที่ของข้าราชการ คือ เดินตามรอยพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวต้องการให้ประเทศก้าวหน้า ท่านมองว่าทำอย่างไรให้คนไทยที่เป็นรากหญ้าเป็นชาวชนบทสบายขึ้นหน่อย ลำบากน้อยหน่อย ในฐานะที่เป็นข้าราชการ มันศักดิ์ศรีของคนไทย ศักดิ์ศรีของข้าราชการไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องดูแลคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน ไม่ว่าระดับกลาง ระดับล่าง
ในเรื่องข้าว พี่มาจากท้องนา ได้สัมผัสเพื่อนพี่เป็นชาวนาเยอะ รู้ว่าชีวิตลำบากลำเค็ญอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งเงินทุน ขาดแคลนเงินทุนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของเขาสูง บ้านเราระบบแบงก์ค่อนข้างที่จะเห็นแก่ตัว และที่ทำให้ต้นทุนสูง อีกประการหนึ่ง คือ เมล็ดพันธุ์ ต้องเพียงพอ มันจะต้องดูต้นน้ำก่อน แล้วปลายน้ำจะต้องจัดการให้ได้
แยกแยะอย่างไร ระหว่างการบริหารราชการ และการสนองตอบฝ่ายการเมือง
พี่สงสัย พี่ก็จะเข้าโลงอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าคนบริหารประเทศชาติเขาบริหารประเทศชาติ มีวัตถุประสงค์อะไร เพื่อนำพาประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อาสาตัวเข้ามาทำหน้าที่อย่างนั้นแล้ว พอทำหน้าที่ ยังทำอย่างนั้นอยู่มั้ย สงสัยมากเลย เรื่องการเมืองคิดว่า ถ้าหาก 40-50% เพื่อประเทศชาติ 40-50% เพื่อการเมือง คิดว่าคนไทยยังพอจะสบายใจบ้าง ยังจะหายเหนื่อยได้บ้าง แต่ถ้าหากว่าการเมืองทั้ง 100% เลยอย่างนี้ ประชาชนจะพึ่งใคร ถ้าจะมองว่าพูดแบบนี้กลัวเก้าอี้จะหลุด อีกปีเดียวเกษียณแล้ว คิดว่าชีวิตราชการคนหนึ่ง ในฐานะที่เขาให้มาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้เพื่อตำแหน่งอย่างเดียวนะ มีความรับผิดชอบด้วย ที่จะต้องทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติ ให้กับประชาชน
แสดงว่าการเมืองที่ผ่านมา ชี้ให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
ไม่ใช่ แต่กำลังจะมองว่า การเมือง ควรที่จะต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ประเทศชาติครึ่งหนึ่ง คือ คุณทนได้เหรอ ที่ชอบพูดกันนักว่าเมื่อก่อนนี้เราสูสีกับญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้เราก็ถอยไปแล้ว ถัดมาบอกเราสูสีกับสิงคโปร์ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ต่อมาเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ตอนนี้ก็ตามหลัง
ผู้บริหารประเทศมีหน้าที่อะไร ตัวเองต้องนำพาประเทศชาติไป ส่วนที่ว่าการเมืองที่จะแย่งชิงกัน ก็ต้องแข่งกันด้วยฝีมือ ใครทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมากที่สุด ใครที่มีนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ที่โดนใจคนกลุ่มใหญ่มากที่สุดก็ได้เปรียบไป เป็นเรื่องการเมืองที่แข่งขันกันอิสระ
นโยบายตรงนี้ (จำนำข้าว) เป็นนโยบายอุ้มรากหญ้าใช่หรือไม่ แต่ก่อนหน้านโยบายไม่ส่งอย่างนี้นะ ถามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงสร้างน้ำ สร้างดินให้ดี ถ้าหากว่าปลูกออกมาแล้ว โดนกดราคาจนเป็นหนี้ตลอดปี ตลอดชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะสบายพระราชหฤทัยมั้ย ขณะที่โครงการนี้เข้ามา "โอเค" อันนั้นเป็นนโยบายที่เขาหาเสียง แต่พอเข้ามาแล้วในเบื้องแรก คนที่เคยลำบากมานานเป็นหนี้สินรุงรัง เบื้องต้นช่วยเขาก่อน แล้วก็ต้องทำให้เขาเข้มแข็ง
แล้วดนตรีมันต้องบรรเลงทั้งคณะ ไม่ใช่ให้ปี่มันเล่น ให้กลองมันเล่น กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องไปดูต้นน้ำด้วย ตอนนี้ นายกฯ มาถูกทางแล้ว ไปโซนนิ่ง ไปลดต้นทุน ไปดูว่าพื้นที่ไหนเหมาะสม พื้นที่ไหนไม่เหมาะสม ต้องดูแล้วจะทำอย่างไร คือ ตอนนี้กำหนดมาตรการ Top Down ยาเดียวรักษาทุกโรค มันได้ผลน้อย ต่อไปนี้จะต้องเป็นแบบสั่งตัด นโยบายจะต้องเป็นแบบเฉพาะกลุ่ม
รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณถอยจำนำข้าว หรือไม่
ผ่อนคลายการช่วยเหลือปลายน้ำ ไปเร่งการพัฒนาต้นน้ำ ส่วนชาวนาต้องไปเร่งให้มีการปรับปรุง เขาก็ส่งสัญญาณมาแล้ว 18 สายพันธุ์ห้ามเข้าโครงการ ซึ่งสองปีที่ผ่านมา คือ จากสายตามองว่ารัฐบาลไม่อยากไปสงครามวาทะ เขาอยากทำสงครามกับงานเขาเอง จึงให้ความสำคัญกับการให้ข้อเท็จจริงน้อย แต่ในสังคมคนที่อยู่นอกวงมันมากกว่า คนที่อยู่ในวง แล้วคนการเมืองมันทำสงครามกัน ต้องเตรียมการที่จะเลือกตั้งกันต่อไป ก็ทำให้คนไม่มีโอกาสน้ำหนักมันน้อย คนไม่มีโอกาสก็ต้องโจมตี เพราะไม่มีโอกาสเข้ามาแสดงผลงาน มันก็เสียเปรียบ
นักวิชาการทั้งหลาย ก็ยืนยันความคิดของตัวเอง นโยบายมาไม่ตรงความคิดของตัวเอง เลยมีแต่คนต่อต้าน แล้วถามว่าชาวนาได้ประโยชน์กลุ่มใหญ่หรือไม่ แต่คนได้ประโยชน์ไม่พูดหรือพูดแล้วก็ไม่มีเสียง คนอื่นเป็นคนวงนอก คนเสียหาย ก็อยากวิจารณ์ข้อมูลไปตามที่ได้รับ คนวงในได้ประโยชน์ไม่ให้ข้อมูลกับสื่อบ้าง ข้อมูลที่ไหลเข้าไปในสังคม มันจะได้มีทั้งบวกทั้งลบ จะได้ไปคานกันสองด้าน อย่างน้อยจะวินิจฉัย ก็ได้ข้อมูลทั้งสองด้านแต่เวลานี้ มองว่าเหมือนกับมีข้อมูลด้านเดียว ซึ่งปลัดกระทรวงก็โดนด่า
จำนำข้าวตั้งงบประชาสัมพันธ์หลายร้อยล้าน ทำไมยังบอกว่าไม่ประชาสัมพันธ์
ไม่ใช้งบประชาสัมพันธ์มากขนาดนั้น แต่เป็นงบตรวจสอบ แล้วก็ตรวจสอบเอาตำรวจเข้ามา แล้วก็งบเซอร์เวเยอร์ งบตรงนี้เหลือไม่เยอะ แล้วงบนาปรังก็ไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์ ก็คิดว่ามันไม่ใช่ของใหม่ แล้วการเข้มงวดต้องไปตรวจสอบ เขาทำทั้งปีไม่มีเว้นวรรค ก็ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ ตอนนี้ 1 ต.ค. - 30 ก.ย. ไปทั้งปีเมื่อก่อนต้องประชาสัมพันธ์บอกว่าเริ่มแล้วนะ
สต็อกที่เก็บไว้เยอะ ขณะที่ราคาเป็นอย่างนี้ จะจัดการกับสต็อกอย่างไร
บอกตรงๆ เรื่องการขายข้าวเรื่องตรงนี้ มีผู้ใหญ่ที่รู้กันไม่กี่คน
เป็นปลัดกระทรวงไม่ได้รับข้อมูลตรงนี้
คือ รู้ไม่หมด ก็ถามว่ามันมีสต็อก ก็รู้ว่าสต็อกมันเท่าไร สต็อกก็ประเมินว่ามันน่าจะเท่าไร แต่พอถามจริงสต็อกที่ปลอดสัญญา ปลอดผูกพัน มีเหลือไม่เยอะ
ไม่ทราบข้อมูลแล้วจะนั่งบริหารได้อย่างไร
ก็พอรู้กลมๆ แต่ไม่รู้ว่ามีเท่าไร ที่อยากรู้เพราะเรานั่งบริหารตรงนี้ ถามว่าอยากจะรู้มั้ย มันก็อยากจะรู้ แต่เหตุผลทางฝ่ายบริหารเขาก็มีเหตุผล เราก็อย่าไปทำ คือ พี่ก็ดูห่างๆ ให้ช่วยก็ช่วยเต็มที่ แต่จะลงลึกช่วงต้นน้ำ ช่วงปลายกลไกตรงนั้น ไม่ก็สันทัด แต่ถามว่าหลักการค้าก็รู้ ถามว่าติดตามตลาดมั้ย พวกหยง ผู้ค้า ผู้ส่งออกก็ติดตามอยู่ เพียงแต่ว่าทำสัญญาไปแล้วเท่าไร ก็รู้ว่า 7 บวก 8 บวก เพราะในเวลานานก็ทำได้เพิ่มขึ้น ส่วนที่ว่าขณะนี้เหลือเท่าไร แล้วการขนออกเป็นอย่างไร ก็ได้แต่คร่าวๆ เป๊ะๆ เลยไม่รู้
ขายข้าวรัฐต่อรัฐ ขนข้าวออกไปโดยใคร อย่างไร
อย่างที่ได้ตั้งสอบ จีเอสเอสจี (รัฐวิสาหกิจจีน) มีหนังสือยืนยันว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริง รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งยืนยันว่า และมีมิสซิสคนนี้มาทำหน้าที่แทนจีเอสเอสจี ตอนอภิปรายกันแล้วทำไมคนไทยมายุ่ง เขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทยกัน จะมาทำกิจกรรม ก็ต้องมาอาศัยมือไม้คนไทย ก็เข้ามาแต่งตั้ง หรือจ้างคนไทยให้ดำเนินการแทน ให้ทำธุรกรรมแทน ทั้งเรื่องการเงินเรื่องการขนของ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบเรื่องนี้อยู่
ฟ้องกันไปก็ฟ้องกันมา
โครงการมีการรั่วไหลเยอะมาก ป้องกันอย่างไร
ดำเนินคดีอาญา ชาวนาถูกจำคุกเหมือนกัน ถ้าขายสิทธิข้าวตัวเองเสียหายแล้วนำหนังสือรับรองไปให้พ่อค้าสวมสิทธิ ก็โดนเหมือนกัน อย่างชาวนาไม่รอลงอาญา และมีที่ อบต. ร่วมมือกับโรงสีได้ประสานตำรวจ สปช. ดีเอสไอ นโยบายบอกชัดเจอจับจัดการเต็มที่ ถามว่ามันมีรั่วไหลมั้ย ทุกสังคมทุกยุคทุกสมัยปราบเท่าไรไม่หมด มันต้องมีคนเกเร แต่มันมีส่วนน้อย แต่เราก็ต้องตรวจสอบ เอาตัวมาลงโทษ
เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจหรือไม่
ตอนแรกที่ว่าตรวจไม่เจอ เพราะพื้นที่ตรวจกันเอง เพราะคนคุ้นเคยกันลูบหน้าปะจมูก จึงต้องมีทีมจากส่วนกลางลงไปด้วย ถามว่าตำรวจมีหรือไม่ ที่ร่วมมือกันไม่ลักลอบ ถ้าเจอก็จัดการก็ถึงผู้ใหญ่ ถึงรอง ผบ.ตร.เหมือนกัน เจอก็ทำเรื่อง
มีผู้มีอิทธิพลคอยเก็บผลประโยชน์โครงการ
กองทัพมดไม่กลัว กลัวกองทัพพ่วง ไอ้พ่วงมาได้อย่างไร มาอย่างนี้มองไม่เห็น มดน่ะเชื่อมองไม่เห็นมันตัวเล็ก ต้องช่วยกัน ปลัดมหาดไทย กลาโหมมียืนยันตลอดมีอะไรบอก ก็มีหนังสือ ให้ รมว.ลงหนังสือขอความร่วมมือ บางที่ก็ให้ความร่วมมือ บางที่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถ้าเราไม่สกัดหรือทำอะไรเลย ก็จะกลายเป็นว่าจะทำได้ ทั้งข้าวทั้งมันสำปะหลัง ที่สั่งให้เข้มงวด
มีขบวนการใหญ่คอยแสวงหาประโยชน์จากการจำนำข้าว
ยุคนี้พี่ไม่เห็นน่ะ แต่ยุคโน้น ก่อนหน้านี้ ก็อาจจะต้องดูตัวผู้บริหาร ต้องดูแบ็คกราวน์ อนาคตผู้บริหาร คิดว่าผู้บริหารยุคนี้ เขามองอนาคต เขาคิดว่าเขาอยู่ยาว คนที่คิดว่าตัวเองอยู่และมีอนาคต จะทำอะไรทำร้ายตัวเองเหรอ คิดว่าไม่ ถามว่าปีนี้รอบแรกปี 2554/55 ระดับหนึ่งก็ให้ดูตรงไหนจุดอ่อน รอบที่สองอุดไปดูไป รอบที่ 3 ยิ่งเข้มไปอีก มันถึงได้ดูเงียบ ก็ไม่รู้ที่พูดในสภาเอาข้อมูลมาจากไหน แต่ที่ไปตรวจดูก็เห็นอย่างที่แถลง มันเห็นอย่างนั้นจริงๆ
การท้าเอาสัญญาออกมาเปิด เอกสารราชการบางอย่างเป็นเรื่องของประเทศชาติ มันมีกฎหมายดูแลอยู่ ไปเปิดไปแฉเพื่ออะไร เพื่อจะให้คู่ค้าคู่แข่งเห็นไส้เห็นพุงเราเหรอ เราไม่ได้ดูคู่ค้า มัวแต่จะห้ำหั่นกันเอง
ในการอภิปรายบอกว่าคนขายคนซื้อกลุ่มเดียวกัน
พี่ก็ไม่รู้ไม่อยากไปกล่าวหา มันอยู่ที่ฐานข้อมูล ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน แต่ที่ตรวจสอบมาไม่พบข้อมูลอย่างนั้น
สยามอินดิก้า เป็นคนกำหนดทิศทางข้าวไทยในปัจจุบัน ใช่หรือไม่
ไม่รู้จัก สยามอินดิก้า ยุคนั้น พ.ศ. อะไร ที่เขามามีบทบาท ยุคนี้ ไม่มี ยุคที่เขามีตอนนั้น มัน พ.ศ. อะไร ปี 2551 ใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงที่พี่ยังไม่ได้เข้ามาดูเรื่องข้าว ที่ว่าประมูลข้าวล็อตใหญ่ไป ใช่หรือไม่
ถ้าอยากได้ข้าว ต้องวิ่งไปหาบริษัทนี้จริงหรือไม่
ไม่จริง ก็เห็นอธิบดี (กรมการค้าต่างประเทศ) เห็นทีมเขา วิ่งไปขายข้าวจีทูจี ทุกวันนี้ เขาวิ่งกันตลอด นายกฯ ไปทุกที่ ไปขายของด้วย รัฐมนตรีทำไมต้องตามนายกฯ ไปทุกที่ ไปเรื่องข้าวเรื่องส่งออกด้วย ไม่อยากจะพูดเลยว่ามันป้ายสีกันมากกว่า
ไม่เกี่ยวข้องทั้งทางลับและเปิดเผย
เท่าที่รู้ ไม่มี
ถือเป็นข่าวลือ ข่าวลวง
คิดว่าเป็นการสร้างสีสันมากกว่า ใช้คำให้มันเพราะๆ คิดอย่างนี้จริงๆ มันก็เป็นบทบาทของเขา จะให้เขาอยู่เฉยๆ งอมือขอเท้า มันก็ไม่ใช่ แต่คิดว่า ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเสียประโยชน์ ได้รับข้อมูลมาอย่างนั้น ก็ว่าไปอย่างนั้น ส่วนคนที่ได้ประโยชน์ ที่เห็นว่ามันเป็นทางที่ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องยกระดับราคาข้าวให้สอดคล้องกับคุณภาพ ยกระดับให้สมกับที่ชาวนาเหนื่อยยาก โครงการนี้ เป้าหมายช่วยคนกลุ่มรากหญ้าให้ลืมตาอ้าปากได้ คิดว่าอันนี้มีประสิทธิผลที่สุด ส่วนที่ว่าความเสียหาย ความเสี่ยงทั้งหลาย เป็นหน้าที่ภาครัฐต้องบริหารจัดการ ไม่ใช่มีความเสี่ยงความเสียหายแล้วยกเลิกโครงการนี้ไป
ความในใจของ"วัชรี วิมุกตายน"
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฑิฆัมพร ศรีจันทร์
ผมได้มีโอกาสสนทนากับวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังจากกระทรวงพาณิชย์รับหน้าเสื่อหลักในโครงการจำนำข้าว
และถูกเสียงโจมตีจากทุกสารทิศ
วัชรีไต่เต้าจากข้าราชการเล็กๆในกรมการค้าภายใน จนได้เป็นอธิบดีกรมการค้าภายในและขึ้นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อเดือนต.ค.55และจะเกษียณอายุราชการก.ย. 2556
เหลือเวลาอีก 6เดือน วัชรีมองย้อนกลับไปกับการทำงานในอดีต เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ หรือเรียกได้ว่าผลงานที่โดดเด่นของตนเองอยู่ที่การจำนำข้าว
"เพื่อนพี่เป็นชาวนาเยอะ เวลาลงไปพบปะชาวนาเห็นเขามีฐานะขึ้น ใส่ทองกันแทบทุกคน พี่ก็หายเหนื่อย ก็ภูมิใจถือว่าเราๆได้ช่วยให้คนลืมตาอ้าปากได้"
ตั้งแต่รับราชการมาในเรื่องข้าว ไม่มีปีไหนที่ปล่อยเสรี ปีไหนปล่อยอิสระ รับม๊อบกันไม่ไหว ถามว่ารับม๊อบแล้ว ก็ยังมีผลทำให้ราคาชาวนาถูกกดราคา คือ ข้าวมันโอเวอร์ซับพลายตลอดทั้งปี ข้าวสาร 20 ล้านตันต้นๆ แล้วกินในประเทศไม่ถึง 10 ล้านตัน เป็นอาหารสัตว์ ส่วนที่เหลือต้องส่งออก อำนาจผู้ซื้อผู้ขายต่างกันลิบลับ ถ้ารัฐบาลไม่พยุงอำนาจผู้ขายให้มันมากขึ้น มันก็กลายเป็นเอาเปรียบ เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม
แต่เป็นเรื่องธรรมดา อำนาจอยู่ตรงไหน พ่อค้ากี่ราย ชาวนา 3 ล้านราย ผลผลิตกระจุกตัวช่วง 3-4 เดือน เกิน 80% พ่อค้าอย่าไปว่าเขาฉวยโอกาสในเมื่อสถานการณ์มันอำนวย ชาวนาไม่ขายก็ไม่ได้ ต้องใช้เงิน ทยอยขายก็ไม่ได้ ไม่มีเงินเดือน
โครงการที่จำนำมา รัฐไม่ได้รวบข้าวทั้งหมด แต่ใช้มาตรการแรงเพื่อดึงราคาตลาด อย่าไปกดราคาตลาด ถามว่าเจตนาจะค้าเองหรือไม่ คิดว่าไม่ใช่ เจตนาคือ อย่าถูกกดราคา นี่คือหัวใจ
นโยบายนี้กำหนดมาแล้ว และมีเหตุผลทางการเมือง ที่ต้องนำเข้ามาไว้ก่อน แล้วค่อยมาบริหารจัดการเป็นขั้นเป็นตอนไป ต้องทำตามสัญญาและทำอย่างไรลดความร้อนแรงปลายน้ำ และทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรรายได้ลดน้อยลง
การแทรกแซงทำมาโดยตลอดตั้งแต่เธอเป็นเจ้าหน้าที่เล็กๆ ก็ดูรอบแรกว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อน อย่างไร แล้วดีไซด์ออกมา ประกอบกับนโยบายทางการเมือง ต้องผนวกกันเพื่อให้เข้ามาบริหารและยังมีโอกาสที่จะปรับปรุง แต่อย่างน้อยปลายทางชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวนาไม่ได้แย่ลง
ในอดีตของการแทรกแซง การุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงบอกว่าทำเพียง 4-5%เพื่อดึงตลาด วัชรีบอกว่า นโยบายที่ปลัดการุณพูด ซื้อนำตลาดคือบวกตลาด 5% ขยับหนีขึ้นไป แต่ทางปฎิบัติกับสินค้าข้าวไม่เคยทำ สินค้าตัวอื่นทำได้ เพราะปริมาณไม่มากและของมันมีช่วงเวลาจำกัด เช่น หอมกระเทียม แต่ข้าวครึ่งนึ่งไทยต้องส่งออก ทำอย่างนั้นจัดการไม่ได้ มันต้องดูลักษณะของสินค้า
วัชรีย้ำว่าอย่ามองตัวเลขขาดทุนจากการรับจำนำราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐ และขายออก 500 ดอลลาร์ เพราะไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่ระบบนี้จ่ายเงินออกไป ต้นน้ำมีทางเลือกจากเดิม 10,000 บาทได้แน่ๆ เพิ่มขึ้น 5000 บาท ทั้งระบบเข้าโครงการได้มากหน่อย ต้องคิดทั้งระบบ เม็ดเงินอยู่ในกระเป๋าชาวนามากกว่าระบบเดิมใกล้ๆ 2 แสนล้านบาท ชาวนามีเงินก็ใช้เงินก็หมุนเวียน 2-4 รอบ จากเม็ดเงินที่จ่ายเข้าไป 3.37 แสนล้านบาท เกิดภาษีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจขายของมากขึ้นได้กำไรมากขึ้น 20% กำไรแสนล้าน ต้องมองตัวเลขตรงนี้ด้วย
โครงการนี้ไม่มีอะไรลับลมคมใน วิธีการขายก็เคยเป็นวิธีที่เคยปฎิบัติมา ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม สมัยนี้ข้าวมันเยอะ จะทำอะไรลับลมคมในมันยาก
ทั้งหมดเป็นความในใจของวัชรี
เป็นความในใจที่อึดอัดมานาน จากการโจมตีโครงการจำนำข้าว !
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต