จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
ที่สุดแล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จำใจยอมถอยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก “ทุกเมล็ด” เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 2 หรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ตั้งเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือก 7 ล้านตัน เงินหมุนเวียน 1.05 แสนล้านบาท
เนื่องด้วยเงื่อนไขโครงการกำหนดหลักเกณฑ์ “ห้าม” ข้าวเปลือกอายุน้อยกว่า 110 วัน หรือที่เรียกกันว่า “ข้าวเบา” เข้าโครงการ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำที่นักธุรกิจชาวนาแถบภาคกลางนิยมปลูกปีละ 23 รอบ เร่งปุ๋ย เร่งยาฆ่าแมลง เร่งเกี่ยวข้าวเข้าโครงการ กระทั่งข้าวสารทะลักล้นโกดัง ส่วนรัฐบาลต้องหมุนเงิน “หน้ามืด”
แม้ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่มีการอนุญาตให้ข้าวอายุต่ำกว่า 110 วัน เข้าโครงการตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น ส่วนการรับจำนำข้าวเปลือกคราวที่แล้ว แม้จะอนุโลมให้ข้าวอายุสั้นเข้าโครงการบ้าง แต่อนุโลมเฉพาะบางพื้นที่ และปริมาณข้าวประเภทนี้มีจำนวนน้อยมาก
“ไม่ใช่เราไม่รับข้าวอายุต่ำกว่า 110 วัน เพราะเราไม่รับมาแต่เดิมอยู่แล้ว ส่วนข้าว 18 สายพันธุ์ กระทรวงเกษตรฯเขาไม่เคยออกหนังสือรับรองให้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคราวที่แล้วไม่มีการประกาศออกไปอย่างชัดเจน และเราก็ถือว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกยังเป็นการรับจำนำข้าวเปลือกทุก เมล็ดเหมือนเดิม”บุญทรงกล่าว
แต่ลักษณะเช่นนี้บ่งชี้ว่ารัฐบาล “ยุติ” การจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดแล้ว
“รัฐบาลเขาเริ่มจำกัดไม่ให้ข้าวเปลือกเข้าโครงการทุกเมล็ดแล้ว แต่ยังไว้เชิงอยู่ เพราะวันนี้รัฐบาลเจอปัญหา 4 เรื่อง คือ 1.องค์การการค้าโลกเข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ 2.ข้าวที่เข้าโครงการเยอะจนบริหารไม่ไหว 3.เงินมีไม่พอ และ 4.เป็นโครงการที่จูงใจชาวนาให้ปลูกข้าวคุณภาพต่ำ” สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าว
ย้อนกลับไปฤดูเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย เพราะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด 50-60% ที่เรียกแขกได้ผลชะงัดนัก แต่เพราะความ “มันส์ปาก” โครงการรับจำนำข้าวเปลือก “ผิดเพี้ยน” เป็นการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด
เมื่อชนะเลือกตั้งรัฐบาลเพื่อไทยต้องทำตัว “เจ้ามือใหญ่” รับซื้อข้าวเปลือกราคาแพง แต่ขายข้าวสารขาดทุน “ยับเยิน” ทุกเมล็ดในวันนี้
“ตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 1.5 หมื่นบาทต่อตัน พรรคไม่ได้บอกว่าจะจำนำข้าวทุกเมล็ด แต่บังเอิญในช่วงหาเสียงผู้สมัครหาเสียงจนปากพาไป บอกว่าจะจำนำข้าวทุกเมล็ด เมื่อชาวนา ชาวบ้านเขาชอบ ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลย”แกนนำทีมยุทธศาสตร์หาเสียงพรรคเพื่อไทยย้อนอดีตให้ ฟัง
เมื่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเข้าสู่ปีที่ 2 “ฝีดิบ” ก็บ่มกลายเป็น “ฝีสุก” และหนองปริแตก เมื่อโครงการรับจำนำข้าวถลุงเงินประเทศจนฐานะการคลังเข้าขั้นบักโกรก
แน่นอนไม่มีใคร “เถียง” ว่าชาวนาไม่ได้ประโยชน์ แต่หากใช้เหตุใช้ผลพิเคราะห์ โรงสี เครือข่ายพ่อค้า นักการเมืองล้วนอิ่มหมีพีมันจากโครงการ ทั้งๆ ที่ทำตัวเป็น “เสือนอนกิน” ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก
ส่วนชาวนาตัวจริงเสียงจริงต่างหลังขดหลังแข็งก้มหน้าทำนา จ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง แถมตอนนำข้าวเปลือกเข้าโครงการยังถูกกดราคาสารพัดวิธีตามแต่ที่โรงสีจะอ้าง หากไม่พอใจก็เชิญขนข้าวไปรับจำนำที่โรงสีอื่นที่ห่างกันไกลลิบๆ สุดท้ายก็จำใจยอมขายข้าวในราคา “อยุติธรรม” เหลือเศษเนื้อเข้ากระเป๋าไม่กี่บาท
แม้มีการเปิดช่องให้ชาวนาร้องเรียนหากถูกโรงสีกดราคาข้าวเปลือก ก็ต้องย้อนถามไปในช่วงการเปิดรับสมัครโรงสีเข้าโครงการรับจำนำ โรงสีที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการจะต้องทำธุรกรรมลับจ่ายเงินค่าสมัคร “ใต้โต๊ะ” ให้คนการเมืองที่คุมโครงการ ฉะนั้นเมื่อมีการ “อุ้มสม” เช่นนี้ จึงแทบไม่ปรากฏว่ามีโรงสีใดถูกขับออกจากโครงการแม้แต่รายเดียว
ชาวนาที่มีอาชีพทำนาจริงๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ลืมตาอ้าปากอย่างที่รัฐบาลป่าวประกาศ
แต่กระนั้น เสนาบดีใหญ่บางคนก็ยังหลับหูหลับตา อ้างชาวนาอ้างประชาชนได้ประโยชน์อยู่นั่น ทั้งบอก มีความจงใจให้ข้อมูลเท็จ หวังล้มโครงการที่ชาวนาได้ประโยชน์ ทั้งการ ปั่นตัวเลขข้อมูลการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าวที่บอกว่ามีการใช้เงินไปแล้ว เกิน 56 แสนล้านบาท ว่า “ไปเอาตัวเลขมาจากไหน”
“การใช้เงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกยังอยู่ในกรอบวงเงินกู้เดิมที่ ครม.อนุมัติ 4.1 แสนล้านบาท การที่หลายหน่วยงานคำนวณว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจึงไม่เป็นความจริง ขณะที่งบการเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบว่ามีเงินสดส่วนเกินอยู่มาก” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง บอก
ขณะที่ข้อมูลจริงจาก ธ.ก.ส. ระบุชัดว่า1.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 6.97 ล้านตัน ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกร 118,535 ล้านบาท 2.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 14.72 ล้านตัน ธ.ก.ส.จ่ายให้เกษตรกร 218,196 ล้านบาท และ 3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555-25 มี.ค. 2556 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 11.19 ล้านตัน ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกร 180,166 ล้านบาท
สรุปแล้วถึงวันนี้รัฐบาลจ่ายเงินค่าข้าวเปลือกแล้ว 516,897 ล้านบาท ไม่รวมค่าบริหารจัดการโครงการ สอดคล้องกับแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2555 และ 2556
ที่ระบุแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2555 ปรับปรุงครั้งที่ 4 กำหนดให้ ธ.ก.ส.ก่อหนี้ใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 จำนวน 64,070 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2555 จำนวน 1.61 แสนล้านบาท
ขณะที่แผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2556 ปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดให้ ธ.ก.ส.ก่อหนี้ใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวเปลือกปี 2555/2556 จำนวน 224,170 ล้านบาท ส่งผลให้ 2 ปีงบประมาณ ธ.ก.ส.ก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 449,240 ล้านบาท
เมื่อรวมกับ “สภาพคล่อง” ที่รัฐบาลดึงจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอีก 9 หมื่นล้านบาท นั่นทำให้กรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 539,240 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเงินที่ใช้ในโครงการในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนว่าสิ่งที่ กิตติรัตน์ บอกว่า เงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวยังอยู่ในกรอบเงินกู้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท น่าจะ “คลาดเคลื่อน”
เช่นเดียวกับตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าส่งเงินค่าขายข้าวสารให้ ธ.ก.ส. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ตอบกระทู้ในสภาว่า ข้าวสารที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี นาปรัง ปีการผลิต 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่สีแปรสภาพเป็นข้าวสารได้ 13 ล้านตันข้าวสาร มีการระบายออกจากสต๊อกแล้ว 7.072 ล้านตัน
ได้เงินค่าข้าว 97,238 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินทั้งหมดจะใช้หมุนเวียนในการรับจำนำข้าว เพราะเอกสารประกอบการประชุม ครม. วันที่ 31 มี.ค. เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2556 เลขที่ พณ 0414/1195 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2556 ระบุว่า เงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกรอบนี้มาจาก 2 แหล่ง คือ
1.วงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2555 เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
และ 2.เงินที่ได้จากการระบายข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ปี 2554/2555 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะขายผลผลิตได้ถึงเดือน ก.ย. 2556 เป็นเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท
“เงินจากทั้งสองแหล่งที่มีจำนวน 1.23 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 2” เอกสารระบุ
สำทับด้วยข้อเสนอเพิ่มเติมที่ว่า กรณีมีความจำเป็นให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายผลิตผล หรือเงินจากแหล่งอื่นๆ และให้ทบทวนความเหมาะสมในการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าปีการผลิต 2556/2557 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโซนนิงพื้นที่ปลูกข้าว
ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “เงินพนัน” ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง และบอกว่าจะยกระดับราคาข้าวไทยและราคาข้าวโลกให้สูงขึ้นกำลัง “หมดหน้าตัก” และวันนี้ราคาข้าวโลกก็ยังต่ำเตี้ยลงทุกวัน และหากใส่เงินเพิ่มอีกรังแต่จะเข้าเนื้อ
นั่นเท่ากับว่าเกมส์พนันในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่นักการเมืองที่กุมนโยบายรัฐบาล ประเคนเงินประเทศจำนวนมากเข้าโครงการล้มเหลว “ไม่เป็นท่า” รัฐบาลจึงต้องเข้าสู่โหมด “ถอย” ทั้งตั้งกฎเหล็กคุมเข้มไม่ให้ข้าวเปลือกเข้าโครงการไม่มีลิมิตเช่นที่ผ่านมา แต่สิ่งที่คนไทยเฝ้ารออย่างเศร้าใจ คือ ประเทศจะเจ๊งจากเกมพนันข้าวกี่แสนล้านบาท
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต