จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์
คุณรู้จักคำศัพท์ต่อไปนี้มั้ย เช่น ท่อแกล้งข้าว แหนแดง เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ไลฟ์สไตล์ชาวนาวันหยุด ฯลฯ เหล่านี้ คือ ศัพท์ที่คุณต้องเรียนรู้ ถ้า
1.คุณเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่มีทุนเก่าเป็นลูกหลานเกษตรกรอยู่แล้ว
2.เป็นชาวนามืออาชีพ แต่เบื่อระบบทำนาแบบเก่า
3.เป็นคนเมืองที่เบื่อเมือง และอยากจะลองไปเป็นชาวนากับเขาดูมั่ง...ไลฟ์สไตล์แห่งแสงแดดและท้องทุ่งข้าว ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างคึกคักในโลกออนไลน์
และวันนี้ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น...ผู้ปฏิวัติชีวิตชาวนาด้วยเครือข่ายออนไลน์
ที่ญี่ปุ่นมี ฟูกูโอกะ ผู้ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางข้าวเพียงเส้นเดียว ที่เมืองไทยมีสุภชัย ปิติวุฒิผู้กำลังมุ่งมั่นกับการปฏิวัติไลฟ์สไตล์ชาวนาด้วยเครือข่ายออนไลน์ เจ้าของเพจชาวนาวันหยุดทางเฟซบุ๊กที่ปัจจุบันมีแฟนติดตามกว่า 8,000 ไลค์ บอกรับเป็นสมาชิกอีกกว่า 1,000 คน ส่วนยูทูบก็อีก 8 แสนวิว
“ขอข้อมูลในการทำนาแกล้งข้าว หรือขอรับได้ที่ไหนครับ”
“เพิ่งเริ่มทำนาค่ะ อยากขอคำแนะนำแบบปฏิบัติตามได้ง่ายๆ”
“จากอดีตวิศวกรโทรคมนาคม มาเป็นชาวนามืออาชีพ แล้วต่อยอดด้วยการผลิตปุ๋ยไส้เดือนใช้เอง ตอนนี้มีโรงงานปุ๋ยเล็กๆ ใช้เองแล้วครับ”
“เรื่องผลิตเพื่อจำหน่ายยังอีกไกล เพราะที่บ้านทำนาเยอะมาก นี่อยู่ในขั้นตอนผลิตเพื่อทดลองใช้ ถ้าใช้ได้ดีแล้วอยากใช้กันอย่างจริงจัง ผมคงต้องขยายและปรับปรุงอีกเยอะครับ”
“สุดยอดอ่ะ”
ฯลฯ
นี่คือบางส่วนที่คัดมาจากหน้าเพจชาวนาวันหยุด กระแสส่วนหนึ่งมาจากชาวเมืองเบื่อเมืองอยากหาทางออก แต่ที่ต่อยอดได้และขยายวงกว้าง เพราะการทำนาแบบใหม่“เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว”วัดผลได้จริง โดยผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน (สูงสุด 1.4 ตัน) ขณะที่ต้นทุนเหลือไร่ละ 3,000 บาท ชาวนาขายข้าวได้กำไรตันละ 1 หมื่นบาท สำคัญคือทำนาสบายเป็นเทรนด์ใหม่ชาวนาที่งานไม่หนักแบบเก่า
เมื่อนาข้าว (และชาวนา) เปิดรับเทคโนโลยี เครือข่ายชาวนาออนไลน์ก็เกิดขึ้น โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นข้าวและชาวนา ไทยอย่างน่าชม เจ้าของเพจสุดฮิตก็คือสุภชัย ปิติวุฒิเจ้าของสำเนียงเสียงเหน่อน้อยๆ มีเสน่ห์หน่อยๆ แห่งสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าขององค์ความรู้เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่ประยุกต์และผสมผสานจากนาข้าวทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็ยังเป็นต้นแบบตัวจริงของสโลแกน“พนักงานวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด”โดยในวันจันทร์-วันศุกร์ เขาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ-ขายเขตเหนือบนโซน 1 สำนักงานขายภาคเหนือ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีเวลาว่าง เป็นไงมาไง จึงกลายมาเป็นเจ้าของเพจแกล้งข้าว
“ผมสงสัยว่า ชาวนาทำไมยากจน ภาพของชาวนาคือความหดหู่ และความล้าหลัง ผมคิดว่า ถ้าผมเปลี่ยนได้ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการจะเปลี่ยนมากที่สุด”สุภชัย เล่า
สุภชัย ไม่ใช่ลูกหลานชาวนาอย่างที่นึกไว้ หากเป็นลูกหลานชาวสวนปาล์ม จบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยใจรักการเดินทาง เมื่อเรียนจบสมัครทำงานที่สยามคูโบต้า เนื่องจากลักษณะงานไม่ต้องประจำออฟฟิศ สามารถเดินทางในเขตรับผิดชอบได้อย่างอิสระ และด้วยตัวงานที่ต้องคลุกคลีกับพี่น้องเกษตรกร จึงทำให้มองเห็นว่า แม้ชาวนาจะมีปัจจัยและเครื่องมือการผลิต แต่ถึงจุดหนึ่งชาวนาไม่ได้ดีขึ้น
จากจุดนั้นใช้อินเทอร์เน็ตศึกษาความรู้เรื่องการทำนาจากประเทศต่างๆ รวมระยะเวลากว่า 7 ปี สุดท้ายคือการผสมผสาน ประยุกต์ และต่อยอด ต้นแบบนำมาจากระบบข้าวต้นเดี่ยวของอินเดีย (System of Rice Intensification-SRI) และระบบเปียกสลับแห้งของฟิลิปปินส์ (Alternate Wetting and Drying-AWD)
หลักการของข้าวต้นเดี่ยว คือ การใช้กล้าอายุน้อย ไม่ใช้ระบบน้ำท่วมขัง และการจัดการวัชพืช ส่วนระบบเปียกสลับแห้ง คือ การสลับบรรยากาศของนา ไม่ให้น้ำท่วมขังตลอดเวลา จากพื้นฐานที่ว่า ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ (แต่เป็นพืชทนน้ำขัง) คำว่า แกล้งข้าว หมายถึงการผลักดันให้ต้นข้าวได้ใช้ศักยภาพสูงสุดของตัวมันเอง แตกกอแตกรากได้สูงสุด แข็งแรงสูงสุด หรือมากพอที่จะป้องกันโรคได้เอง แมลงรบกวนน้อย ลดการสูญเสียเวลาเก็บเกี่ยว
“แทนที่จะโอ๋ต้นข้าว ให้น้ำมากมายหรือให้ท่วมขังตลอดเวลา ให้ปุ๋ยตลอดเวลา ไม่ เราไม่ทำ เราจะมีช่วงที่ปล่อยให้นาแห้งจนแตกระแหง ต้นข้าวเกิดมาเพื่อการดำรงชีพ มันต้องขยันหาอาหารให้ถึงที่สุดก่อน”
ท่อแกล้งข้าวจะถูกนำมาใช้ในจุดนี้ ท่อพีวีซีหน้า 4 นิ้ว สูง 25 ซม. ตัดรู 40 รู ฝังในที่นาที่เรียบแล้วล้วงดินออก ทุกวันให้สังเกตน้ำในท่อ ถ้าน้ำยังไม่ต่ำกว่า 5 ซม.ก็ยังไม่ต้องปล่อยน้ำเข้านา นอกจากนี้คือเทคนิคปลูกพืชคลุมดิน วิเศษสุดคือแหนแดง ที่ช่วยขยายตัวคลุมหน้าดิน พรางแสง ลดวัชพืชใต้น้ำ ตรึงไนโตรเจนจากอากาศเป็นปุ๋ยบำรุงข้าว
“เปียกสลับเเห้งแกล้งข้าว เป็นการใช้“ฟิสิกส์-วิธีกล”ทำนา ให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางกายภาพที่มีในดิน น้ำ อากาศ แสงเเดด ที่ผ่านมามองข้ามกันหมด ทำให้ไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น ต้องอาศัยปุ๋ย ยา ฮอร์โมนโน่นนี่นั่น”
แกล้งข้าวจนได้ดี วิธีนี้ข้าวจะแตกกอใหญ่ รากก็ดี ผลผลิตก็มาก โรคน้อย แรงงานไม่ต้องใช้มากเพราะนาไม่หล่ม ลงนาแล้วขาไม่เปียก ซึ่งชาวนาชอบ อีกหนึ่ง“ตัวช่วย”คือ เป็ด แกล้งข้าวแล้วอย่าลืมแกล้งเป็ด เรียกเป็ดย่ำนา ช่วยลดศัตรูพืช หอยเชอรีหายเรียบ เป็ดตอนเช้าไม่ต้องให้อาหาร แต่ปล่อยให้หิวแล้วไปหากินเองในนา ตกเย็นค่อยให้อาหารเสริม เป็ดไข่ดกดี และใช้โรตารี่ วีดเดอร์ ปรับหญ้าให้เป็นปุ๋ยสด
ชาวนามืออาชีพ คุยกัน 5 นาทีก็จบ ส่วนใหญ่รู้แล้วจะอยากลอง เนื่องจากไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นในแบบที่จับต้องได้ ชาวนารวยได้ แต่ต้องรวยแบบมีเงื่อนไขและองค์ความรู้ ที่ผ่านมาจัดกิจกรรมชาวนาวันหยุด สัญจร อบรมร่วมกับเครือข่ายชาวนามืออาชีพ ต่อยอดสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันแฟนเพจหลายคนกลายเป็นชาวนาเงินล้าน
ตี๋ ชาวนาวัยรุ่นเงินล้านอายุ 26 ปี จบคณะเกษตรศาสตร์ เอกพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีนาที่หูกวาง จ.นครสวรรค์ 100 กว่าไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 4 เดือน ได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน กำไรไร่ละ 1.3 หมื่นบาท ปีหนึ่งทำนา 2 ครั้ง รับ 2.6 ล้านบาท/ปี
“มันเจ๋งดี ทำนาก็สบาย บ้านผมมีปัญหานาหล่ม คนสมัยก่อนใส่น้ำในนาตลอดเวลา น้ำซึมลงไปเรื่อยๆ ลงไปในนา นาก็ดูด บางทีมันหล่มถึงเข่าเราเลย เวลาจะจัดการอะไรในนา มันก็ยากมาก เครื่องจักรยังทำไม่ค่อยไหว”
ที่ตี๋ชอบมากที่สุด คือ ดินแห้ง เป็นนาดินไม่ใช่นาน้ำ ตัดสินใจทำเพราะคิดว่าจะดีต่อสุขภาพ พ่อและแม่ก็แก่แล้วยังทำนาอยู่ ตอนแรกพ่อไม่ชอบ ไม่ยอมออกมาดูนาเลย แต่พอผลผลิตออกมาสูงกว่าเก่า พ่อก็เปลี่ยนมาเห็นดีเห็นงาม บอกว่า เออ เอ็งเก่งเว้ย นาเดิมได้เต็มที่ก็ไร่ละ 70 ถังเท่านั้น
“มาสืบสานกิจการพ่อแม่ พ่อแม่เป็นชาวนา แต่ผมจะทำให้มันดีขึ้น สบายขึ้น และรวยขึ้น”
สาวแบงก์วันธรรมดา ชาวนาวันหยุดคุณสาวแบงก์เป็นซูเปอร์ไวเซอร์ ทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง จ.พะเยา อายุ 29 ปี ชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยสัมผัสนาไร่ แต่วันหนึ่งได้ผืนที่นาจำนวน 20 ไร่ จึงริเริ่มทำนา ชาวบ้านหัวเราะฟันเกือบหัก เธอทำนาตามอินเทอร์เน็ต ช่วงแรกๆ เป็นลมคานาไปก็หลายรอบ
“วันจันทร์-ศุกร์ทำงานแบงก์ เสาร์-อาทิตย์ทำนา และเพราะเป็นสาวแบงก์มานาน ไม่เคยออกแดดออกลม ช่วงแรกๆ เป็นลมหลายรอบมาก (หัวเราะ) ต้องอดทนจนร่างกายปรับตัวได้ รางวัลก็คือผลผลิตข้าวปลอดสารพิษ”
ปัจจุบันคุณสาวแบงก์ตัดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปเลย ใช้วิธีจัดจำหน่ายในเครือข่ายเพื่อนฝูง ลูกค้าที่แบงก์และไปขายเองที่ตลาด มีความสุขมากที่เหมือนได้ดูแลลูกค้า ลูกค้าบางคนตลอดชีวิตกินแต่ข้าวเกรดเอคัดพิเศษโรงสี แต่ยอมเปลี่ยนมากินข้าวของเธอ สุขภาพของคนดีขึ้นเพราะข้าวปลอดสารพิษจากนาของเธอ
ชลเทพ ปานดำอายุ 33 ปี สายเลือดลูกชาวนา อดีตเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานบริหาร งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันลาออกจากงานประจำ และกลับมาเป็นชาวนาเต็มตัว ชลเทพ เป็นแฟนเพจรุ่นแรกๆ ของชาวนาวันหยุด เขาได้ทดลองทำนาเปียกสลับแห้งอยู่ระยะหนึ่ง พิสูจน์จนมั่นใจ จึงลาออกจากงานประจำกลับมาทำนา
“ตอนแรกเจอในเว็บโกทูโน แล้วก็มาเจอในยูทูบ ก็ติดตามมาเรื่อยๆ นำวิธีการมาปฏิบัติช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ แรกๆ ขัดแย้งกับพ่อ แต่ใช้เหตุผลมาหักล้าง สำคัญไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ผมลองทำดู 2 รอบ เดิมทำนาหว่านได้ไร่ละ 6-7 ถัง แต่แบบใหม่ได้ไร่ละตัน มีนา 5 ไร่ก็ 5 ตัน ผมลาออกเลย ได้กลับมาอยู่บ้านใกล้ลูกใกล้เมีย ดูแลพ่อแม่”ชลเทพ เล่า
ชลเทพ เล่าว่า คราวนี้พ่อคุยเป็นฉากๆ คนขับรถผ่านมา จอดดูนาของแกกันเลยทีเดียว ชาวบ้านใกล้ๆ มาซื้อข้าวพ่อเป็นเมล็ดพันธุ์ ซึ่งก็ขายให้ถูกๆ เพื่อต่อยอดต่อไป เรื่องอย่างนี้คือความภูมิใจ เราเป็นคนรุ่นใหม่ เราเอาวิธีการที่ดีกว่าไปช่วยพ่อแม่ ช่วยคนในหมู่บ้าน ล่าสุดมีแผนทำหมูหลุม เผาถ่าน ใช้น้ำส้มควันไม้ ทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยชีวภาพ อาจแบ่งจำหน่ายด้วยในระยะยาว
วีระ ท่าไม้ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดข้าวบ้านท่าไม้ ต.ชุมแสง อ.ท่าไม้ จ.นครสวรรค์ เล่าว่า ระบบเปียกสลับแห้ง ต้นทุนลด ได้ผลผลิตเพิ่ม ไม่มีข้าวดีดข้าวเด้ง นาไม่หล่ม ศูนย์นครสวรรค์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนมาใช้วิธีทำนาแบบใหม่นับได้ 2,000 ไร่ เพราะหันมาทำวิธีนี้กันหมด
“ชาวนาดั้งเดิม เราต้องไม่ย่ำอยู่กับที่แต่เพิ่มเทคโนโลยี เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่ประเพณีดั้งเดิม หรือพวกพิธีรับขวัญข้าว อะไรอย่างนี้ก็ยังทำ ไม่ทิ้ง”วีระ เล่า
ตบท้ายด้วยเจ้าของเพจที่ระบุว่า ปัญหาปัจจุบันไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นทัศนคติ ความเชื่อมั่น ในศักยภาพต้นข้าว ศักยภาพชาวนา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอยู่ตามธรรมชาติ ที่จะมาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรให้กับตัวชาวนาเอง แต่ต้องก้าวข้ามให้พ้นจากกับดักความคิดของตัวเองเสียก่อน
“ชาวนาไทยทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้ ด้วยการสร้างเครือข่าย ขยายโอกาสในการรับรู้ การปฏิบัติ ให้กว้างขวาง เป็นกลุ่ม เป็นก้อน”
และนี่คือสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ สำหรับผู้สนใจองค์ความรู้ปฏิบัติ“ระบบผลิตเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว”อย่าง ละเอียด แจ้งความประสงค์รับไฟล์ได้ที่http://www.youtube.com/watch?v=MPZ5PpInLKE& amp;sns=em
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต