จาก โพสต์ทูเดย์
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน คอลัมน์ "มหัศจรรย์เมืองไทย" กลับมาเจอกับท่านผู้อ่านอีกครั้งแล้ว หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมา พาท่านผู้อ่านไปเยือนเมืองเหนือที่
โดย...นิธิ ท้วมประถม
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน คอลัมน์ "มหัศจรรย์เมืองไทย" กลับมาเจอกับท่านผู้อ่านอีกครั้งแล้ว หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมา พาท่านผู้อ่านไปเยือนเมืองเหนือที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กันไปแล้ว ว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังคงความมีมนต์สเน่ห์ของตัวเองไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย และผมเชื่อว่า ยามใดที่มีลมหนาวพัดโชยมา หลายคนคงนึกถึงเมืองเล็กๆ ในสายหมอกที่ชื่อ แม่สะเรียงแน่ๆ
ส่วนสัปดาห์นี้ ผมไม่พาท่านผู้อ่านไปไกลจากกรุงเทพมากนักครับ เพียงแค่วันหยุด 2 วันติดกัน ท่านผู้อ่านก็จะได้เห็นน้ำตกสูงใหญ่ตระการตา ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบซึ่งวอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า จ.กำแพงเพชร แค่นี้เองครับ
การเดินทางไปน้ำตกเต่าดำครั้งนี้ ผมถือโอกาสไปทำงานไปในตัวด้วยครับ นั่นคือไปทดลองขับรถมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต เวอร์ชั่น 2013 ไปด้วยในตัวเลยว่า จะไปไหวหรือเปล่า
ผมเองเคยไปน้ำตกเต่าดำ แห่งนี้เมื่อนานมาแล้วครับ กว่า 15 ปีมาแล้วแน่ๆ ซึ่งในครั้งนั้นบอกได้เลยว่า กว่าจะเข้าไปถึงตัวน้ำตกต้องใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ 7 ชั่วโมง กับระยะทาง 34 กิโลเมตรเท่านั้น
แถมรถที่ขับเข้าไปก็ต้องเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น และไม่ใช่ 4 ล้อธรรมดาๆ นะครับบางช่วงต้องใช้โซ่พันล้อกันเลยทีเดียว เรียกว่าถ้าเป็นหน้าฝนละก็ น้ำตกเต่าดำก็ปิดตายจากการเดินทางท่องเที่ยวกันเลยละครับ
แต่มาในสมัยนี้ ว่ากันว่าเส้นทางถูกพัฒนาดีขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ อยู่เช่นเดิม ก็เลยต้องขอลองหน่อย
ประกอบกับ ทางบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย ต้องการหาเส้นทางลองสมรรถนะรถปาเจโร สปอร์ต ขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยว่า จะลุยได้หรือไม่ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ "เข้าทาง" ผมพอดีครับ ที่จะมีทั้งรถสบายๆ ขับเข้าไปน้ำตกเต่าดำใน พ.ศ.นี้เลย
การเดินทางครั้งนี้ถูกกำหนดไว้เพียง 2 วัน 1 คืนเท่านั้นครับ เพราะเมื่อลองสอบถามจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าแล้ว ทราบว่าเดี๋ยวนี้เส้นทางเข้าน้ำตกใช้เวลาประมาณ 2 ชม.ก็ถึงแล้ว แต่ต้องเป็นช่วงที่ถนนแห้งนะครับ ส่วนหน้าฝนก็ต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ชม.เหมือนกัน
เมื่อเป็นอย่างนั้น ทริปเร่งด่วนก็ถูกเซ็ตขึ้นมาทันที กับเพื่อนร่วมทางอีก 9 คน กับมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ตอีก 3 คัน ซึ่งสบายมากครับ รถใหญ่ๆ อย่างนี้ขนสัมภาระทั้งอาหาร ลังน้ำแข็ง ถ้วยชาม แก้วน้ำ ไปได้อย่างเต็มที่
คณะของผมออกเดินทางจากกรุงเทพ ประมาณ 8.30 น.ครับ เพราะเราต้องการจะไปถึง อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าก่อนเที่ยงครับ ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ทำหน้าที่ได้ดีมากครับ ประมาณ 11 โมงกว่าๆ เราก็มาถึง สี่แยกตลาดวังเจ้า จ.กำแพงเพชรกันแล้ว ที่นี่เราต้องลงไปซื้อเสบียงอาหารเย็น แล้วก็เติมกระเพาะด้วยข้าวเที่ยงด้วยเลย จะได้ไม่เสียเวลา
เสบียงข้าวเย็น แน่นอนครับ ไก่ย่าง ข้าวเหนียม ปลาดุกย่าง คือเมนูหลัก ของเราที่หวังไว้ว่าจะหล่อเลี้ยงท้องของชายหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ ไว้ได้
ใช้เวลาไม่นานก็จัดการเรียบร้อยครับ หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อโดยเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกวังเจ้านั่นแหละครับ แล้วก็ขับมาเรื่อยๆ ประมาณ 30 กม.ก็จะมาถึงอช.คลองวังเจ้ากันแล้ว การเดินทางสบายๆ ครับ ช่วงนี้ไม่มีปัญหา
จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอช.แล้ว ก็มุ่งหน้าไปที่พักก่อนครับ บอกได้เลยว่าบรรยากาศที่พักที่นี่แจ๋วมาก บ้านพักหลังเบ้อเริ่มมีระเบียงหลังบ้านใหญ่พอจะเป๋นลานอเนกประสงค์ได้เลย แถมหลังบ้านยังติดลำธารสายใหญ่ มีน้ำเย็นเฉียบไหลอยู่ทั้งปีอีกด้วย
ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นลานกางเกต๊นท์ และบ้านพักของอช.อีกหลายหลังเหมือนกัน แต่ที่น่าแปลกใจคือ ฝั่งตรงข้ามลำธารเป็นเขตจ.ตากแล้วครับ แค่ข้ามลำธารไปเท่านั้นเราก็ข้ามจ.กันแล้ว
เก็บของเข้าที่พักเรียบร้อย เจ้าหน้าที่อช.ชื่อ .. ก็เข้ามาทักทาย พร้อมสอบถามว่าจะไปเที่ยวไหนกัน พอพวกเราบอกว่า จะไปน้ำตกเต่าดำ พี่. ก็บอกทันทีว่า เดี๋ยวผมพาไปดีกว่า แบบที่พสกเราไม่ได้ร้องขอเลยครับ เพราะเกรงใจเหลือเกิน
ซ฿่งต้องบอกว่า โชคดีเหลือเกินที่มีเจ้าหน้าที่ไปด้วยครับ เพราะการเดินทางครั้งนี้ลำบากกว่าที่คิดมากกกกก เลยทีเดียว
เริ่มตั้งแต่เส้นทางจาก อช.คลองวังเจ้าไปน้ำตกเต่าดำแล้วครับ เพราะเส้นทางที่จะไปน้ำตกนั้นไปตามทางไปบ้าน โละโคะ ครับ ซึ่งตอนแรกนึกว่าง่ายๆ แต่ที่ไหนได้พอขับริงเจ้าประคุณเอ้ย ทางแยกเยอะแยะไปหมด ถ้าไปเองพวกผมคงไปนอนอยู่บ้านกะเหรี่ยงหลังใดเหลังหนึ่งกันแล้วแหงๆ
ดีที่มีพี่เจ้าหน้าที่มาด้วย เลยพาเลี้ยวไปตามทางที่ควรจะไป แม้ว่าเส้นทางที่ไประยะทาง 30 กว่ากิโลเมตรนั้น ช่วงแรกๆ ยังเป็นทางลูกรังธรรมดาครับ ต้องผ่านไร่ข้าวโพดของชาวกระเหรี่ยงอยู่ตลอด แต่ก็ขับยากพอควรเรพาะทางเป็นเลนเดียวครับ สวนกันลำบากมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นทางบนเขาไม่มีทื่ให้หลบก็ต้องถอยหลัง เพื่อหาพื้นที่หลบครับ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นเราที่ต้องหลบเพราะรถที่สวนมา 99% เป็นรถขนข้าวโพด บรรทุกมาทีล้นรถเลย ไม่มีทางที่จะถอยให้เราแน่ๆ
นอกจากอุปสรรคในเรื่องของรถราที่สวนกันแล้ว ยังต้องเจอกับเส้นทางที่หนักหนาเอาเรื่อง แม้ว่าจะมีการทำทางปูนกันไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่ต้องขึ้น-ลง เขาซึ่งชาวบ้านเป็นคนทำกันเองะครับ แต่ทางปูนที่ทำ ไม่ได้เทปูนเต็มเลนถนนเหมือนอย่างที่เราเห็นนะครับ แต่ทำทางปูนเฉพาะล้อรถวิ่งเท่านั้น
หมายความว่าถนน 1 เลน จะมีทางปูน หรือพูดให้ชัดๆ คือ เส้นปูน 2 เส้นเป็นคู่ขนาดกันไปจนสุดสิ้นเนินเขา เวลาขับก็ต้องกะระยะล้อให้ดีนะครับ โค้งก็ต้องโค้งไปตามเส้นปูน ขับตกเส้นปูนไปละก็ ดีไม่ดียางฉีกก็เป็นได้ดีเดียว
แต่จะว่าไปแล้ว เส้นปูน เหล่านี้ ก็ช่วยให้การเดินทางไปน้ำตกเต่าดำสะดวกมากขึ้นพอสมควรทีเดียว และเส้นปูน ก็จะสุดลงที่ป่าไผ่ครับ และก็เหลือทางอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงแล้ว แต่เส้นทางต่อจากนี้จะเป็นทางลูกรังชื้นๆ ลื่นๆ แถมแคบอีกต่างหาก ก็ต้องขับแบบระวังกันหน่อย ช่วงนี้ถ้าเป็นหน้าฝนละก็ ผมว่ามีเป็นชั่วโมงแน่
ปาเจโร สปอร์ต ค่อยๆ พาพวกเราไต่ผ่านเนินดินลื่นๆ มาได้แบบไม่มีปัญหา เพียงพักเดียวเท่านั้น เราก็มาถึงลานจอดรถน้ำตกเต่าดำกันแล้ว
หลายคนกระโดดลงมาจากรถแบบสบายใจ หน้าตายิ้มแย้มกันจริงๆ ต่างพากันไปเปิดท้ายรถ เปิดฝาลังน้ำแข็งที่บรรจุดเครื่องดื่มกระป๋องเย็นๆ มาเปิดดื่มกัน พร้อมกับหยอกเย้ากันไปเรื่อย คงคิดว่ามาถึงน้ำตกเต่าดำแล้ว
แต่ความโหดของการมาเยี่ยมน้ำตกแห่งนี้เพิ่งผ่านพ้นช่วงแรกไปได้เท่านั้นเองครับ เพราะความโหดืที่แท้จริงกำลังจะเริ่มนับจากนี้
เราต้องเดินลงเขาไปอีก 600 เมตร เพื่อไปชมน้ำด้านล่าง!!
และทางลงไม่ได้เป็นทางลงแบบปกติด้วยครับ แต่เป็นทางลงที่แสนจะลาดชัน ผมอยากจะเรียกว่าเป็นหน้าผา มากกว่าทางลงปกติ แม้ว่าทางอช.จะมาสับดินให้เป็นชั้น หรือทำราวไม้ไผ่มาให้จับเป็นระะยะก็ตาม แต่ก็ต้องบอกว่า ชันมากกกกกก
ช่วงแรกที่เดินลงไป ก็ยังมีเสียงกระเซ้าเย้าแหย่กันอยู่บ้าง แต่พอลงไปได้สักพักเท่านั้น เสียงหัวเราะเริ่มกลายเป็นเสียงหอบ กระเป๋ากล้องที่สะพายมาเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เสื้อผ้า เริ่มเกะกะไปหมด เหงื่อนผมหยดเป็นทางแล้วครับ
ทางลงที่นี่ นอกจากชันแล้ว ยังลื่นมากๆ ด้วยครับทั้งจากใบไผ่แห้งๆ ที่ร่วงลงมาทับเส้นทาง ทั้งความชื้นของดิน ผมเองไถลลงไปทีเล่นเอาหลังย่นไปหลายวัน
คราวนี้ เวลาเจอทางชันมากๆ ผมถึงขนาดต้องใช้ก้นไถลลงไปช้าๆ ไม่พรวดพราดก้าวลงไปแน่ๆ ถึงแม้ว่าท่าทางจะดูไม่แมน แต่ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า
เราใช้เวลาไต่ลงมาประมาณ 1 ชม.ครับ เป็น 1 ชม.ที่แสนทรมานจริงๆ
แต่เมื่อเราลงมาถึงหุบเขา แล้วมองไปที่น้ำตกเต่าดำ ที่ต้องมองแบบคอตั้งบ่าเพื่อมองไปที่ยอดน้ำตก น้ำจำนวนมหาศาลไหลทะยานลงมาจากยอดน้ำตกที่ตั้งฉากกับเบื้องล่าง เสียงสนั่นหวั่นไหวไปหมด
ความเหนื่อยแทบจะหายไปเป็นปลิดทิ้งครับ แค่ยืนมองน้ำตกเต่าดำ น้ำตกหินดินดานสีดำที่แสนจะยิ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงหน้าแบบนี้ได้ ก็ชื่นใจเหลือเกินแล้ว
การผจญภัยยังไม่หมดแค่นั้นครับ เพราะผมต้องไปเล่นน้ำตกให้ได้ และไม่ได้เล่นแค่น้ำตกที่ไหลมาเท่านั้น ต้องไปยืนใต้น้ำตกเต่าดำเหมือนเมื่อครั้งที่มาเมื่อในอดีตให้ได้
โอว. แต่เมื่อเริ่มไต่หินข้างๆ น้ำตกเพื่อไปยังแอ่งด้านหน้าน้ำตก ก็พบว่าไม่ง่ายเสียแล้ว กับการกระโดดข้ามก้อนหินลื่นๆ ไปมา ถ้าลื่นตกลงไปละก็แข้งขาหักแน่ คิดได้อย่างนั้นก็ลองไต่ไปตามร่องน้ำดีกว่า น้ำไม่ค่อยลึกนัก เลยค่อยจุ่มตัวลงไป โอ๊ะปรากฏว่าหินใต้น้ำลื่นไม่น้อย แต่ที่น่ากลัวคือกระแสน้ำแรงจริงๆ ครับ ถ้าเดินไม่ดีหลุดเข้าไปในร่องน้ำมีสิทธิไหลไปตามน้ำแน่ๆ ทีเดียว
แต่เมื่อเดินลงน้ำมาแล้ว ก็ต้องเดินต่อแล้วครับ แต่ไม่ใช่เป็นการเดินแบบปกติ แต่ผมใช้นั่งแล้วถัดไปเรื่อยๆ ขนาดนั่งแล้วถัดไปยังโดนน้ำพัดไปหลายต่อหลายครั้ง ต้องตะเกียกตะกาย ให้อายเพื่อนร่วมทริปกันไม่น้อยทีเดียว
ผมเลยคิดว่า จริงๆ แล้วชื่อน้ำตกเต่าดำ ไม่น่าจะมาจากว่า ที่นี่เคยมีเต่าดำซึ่งเป็นเต่าท้องถิ่นอาศัยอยู่หรอก แต่เป็นเพราะนักท่องเที่ยวอย่างผมต้องคลานเป็นเต่าตั้งแต่ ทางลงน้ำตก จนถึงในน้ำตกหรือเปล่า
แต่เต่าอย่างผม ก็ไต่ไปจนถึงใต้น้ำตกครับ สามารถไปยืนให้น้ำตกไหลลงมากระแทกตัวกระแทกหัวเหมือนช่วงที่ยังหนุ่มๆ ได้แล้ว แต่ทนอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ เจ็บไปหมดแถมหนาวด้วย หุหุ แต่จริงๆ แล้วผมกลัวว่ายืนๆ ให้น้ำร่วงลงมาจะมีท่อนไม้ไหลปะปนมาด้วยอะสิ ถ้ามีจริงละก็ งามไส้ละครับ
เราเล่นน้ำตกจนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็นครับ หรือว่าเล่นน้ำตกนานกว่า 1 ชม.ซึ่งเป็นการเล่นน้ำตกครั้งแรกในรอบหลายปีของผมเลยทีเดียว หลังจากที่ครั้งสุดท้ายไปเล่นน้ำตกทีลอซูมา
ความเย็นของน้ำตกที่ไหลผ่านร่างกาย ทำเอาผมผ่อนคลายไม่น้อย เหมือนกับน้ำตกได้พัดเอาความเครียดจากเมืองหลวงออกไปจนหมดสิ้นเลยทีเดียว
และวันนี้ ผมได้กลับมาเยือนน้ำตกเต่าดำ น้ำตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยแล้วครับ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต