สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐถังแตกดัน โซนนิ่ง คุมจำนำข้าว ดีเดย์นาปรังปี 57เลิกซื้อทุกเมล็ด

จากประชาชาติธุรกิจ

บุญทรง" แง้มนโยบายรับจำนำข้าวจะใช้ต่ออีกปีเดียว พ้นรอบนาปี 2556/2557 จะดึงระบบโซนนิ่งมาใช้ เปิดทางให้ "ยุคล" เดินหน้าประกาศใช้ใน มิ.ย.นี้ วงการชี้รัฐบาลถังแตก จับตาพื้นที่ได้ประโยชน์ "เหนือ-อีสาน" ปลูกหอมมะลิ-ข้าวเหนียวไหลเข้าโครงการ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุม คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า นอกเหนือไปจากการกำหนดราคารับจำนำข้าวรอบที่ 2 หรือข้าวนาปรังปี 2556 ให้เท่ากับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 กล่าวคือข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 16,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 15,000-16,000 บาท โดยคาดว่าจะมีปริมาณข้าวนาปรังเข้าสู่โครงการประมาณ 7 ล้านตัน จากผลผลิตรวม 9 ล้านตันนั้นปรากฏที่ประชุมยังมีการหารือกันถึงการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีต่อไปด้วย

"การรับจำนำ ข้าวนาปี 2556/2557 จะยังใช้ราคาเดิมในการรับจำนำ แต่นาปรัง 2557 จะมีการทบทวนราคาใหม่ให้สอดคล้องกับแผนการปรับเขตพื้นที่ปลูก (zoning) ที่กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ กำลังดำเนินการอยู่ว่าจะปรับ zoning อย่างไร หากพื้นที่ไหนไม่ได้ผลผลิตข้าวที่ดี หรือขาดทุน อาจจะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน หรือมีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือลดต้นทุนอย่างไร คาดว่า 1-2 เดือนจากนี้จะเรียบร้อย" นายบุญทรงกล่าว

ทั้ง นี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

โดย เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว รวมทั้งประเทศ 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด 189 อำเภอ 1,332 ตำบล, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 322 อำเภอ 2,494 ตำบล, ภาคกลาง 19 จังหวัด 132 อำเภอ 1,122 ตำบล, ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 55 อำเภอ 323 ตำบล และภาคใต้ 13 จังหวัด 111 อำเภอ 609 ตำบล

อย่างไรก็ตามการนำ zoning มาใช้กับโครงการรับจำนำข้าวในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ร่วมกับการออกใบรับรองเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากเกณฑ์ 1)ผลผลิตข้าวจะต้องอยู่ในเกณฑ์ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัดตามที่กำหนด กับ 2)เกษตรกรต้องปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริม ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวอายุสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 110 วัน หรือพันธุ์ที่เป็นข้าวคุณภาพต่ำจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำได้ ซึ่งเกณฑ์นี้ได้เริ่มใช้กับโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปีนี้แล้ว

ก่อน หน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับกรมการข้าว ได้ทำการวิจัยการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) ของข้าวในประเทศไทย แล้วเสร็จในปี 2556 และเตรียมจะออกประกาศเขต zoning ภายในเดือนมิถุนายน โดยผลการวิจัยระบุว่า กลุ่มพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบันมี 3 กลุ่มพันธุ์ คือ กลุ่มข้าวเจ้า กลุ่มข้าวหอม และกลุ่มข้าวเหนียว และได้กำหนดเขตเหมาะสมที่จะปลูกข้าวไว้ 3 เขต คือ 1)เขตปลูกข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) ได้แก่ เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กับภาคอีสานตอนบน 2)เขตปลูกข้าวเหนียว (พันธุ์ กข 6 และ กข 10) ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กับภาคเหนือตอนบน และ 3)เขตปลูกข้าวขาว (พันธุ์สุพรรณบุรี 1, ชัยนาท 1, พิษณุโลก 2, กข 41 และปทุมธานี 1) ได้แก่ เขตภาคเหนือตอนล่าง กับภาคกลาง โดยอัตราผลผลิตภายใต้เทคโนโลยีของชาวนาให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 493 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตภายใต้เทคโนโลยีที่เหมาะสมตามคำแนะนำของกรมการ ข้าว จะให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% เป็น 592 กิโลกรัม/ไร่

แหล่ง ข่าวจากวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ กขช.จะนำการกำหนดเขตพื้นที่ปลูกข้าว หรือ zoning มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ก็เพื่อที่จะลดจำนวนข้าวเปลือกที่รัฐบาลจะรับจำนำลง จากเดิมที่รัฐบาลประกาศจะรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดทั่วประเทศ

ทั้ง นี้การดำเนินโครงการรับจำนำตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2554/2555-2555/2556) ปรากฏมีข้าวเปลือกไหลเข้ามาในสต๊อกรัฐบาล แบ่งเป็น ปี 2554/2555 ข้าวเปลือกนาปี 6-7 ล้านตัน และนาปรัง 14-15 ล้านตัน กับปีการผลิต 2555/2556 รับจำนำข้าวเปลือกอีก 9.2 ล้านตัน ใช้วงเงินรับจำนำ 410,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 92% จากปี 2554/2555 ขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวปี 2555 มีเพียง 6.9 ล้านตัน หรือลดลง 35% จากปี 2554 ส่งผลให้เสียแชมป์มาอยู่อันดับ 3 เม็ดเงินรายได้จากการส่งออกข้าวมูลค่า 147,122 ล้านบาท ลดลง 24% จากปี 2554

"การ รับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล ทำให้รัฐต้องแบกสต๊อกข้าวสารและปลายข้าวมากกว่า 10 ล้านตัน นอกจากจะทำลายตลาดส่งออกข้าวของเอกชน เกิดการทุจริตในโครงการ ไม่มีความโปร่งใสในการระบายข้าวที่ทุกวันนี้ รัฐบาลก็ยังตอบคำถามเรื่องข้าว G to G ถูกส่งไปที่ไหนไม่ได้แล้ว โครงการยังประสบภาวะการขาดทุนจากการขายข้าวต่ำกว่าต้นทุนการรับจำนำและต่ำ กว่าราคาตลาด ส่งผลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประสบปัญหาเงินหมุนเวียนในการรับจำนำข้าว เมื่อกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ระบายข้าวในสต๊อกไม่สามารถนำเงินมาคืนตามแผน การระบายข้าวที่วางเอาไว้ได้"

ดังนั้นการนำระบบ zoning ข้าวมาใช้ จึงกลายเป็น "ทางออก" ทางเดียวที่จะลดปริมาณข้าวเปลือกที่จะเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวต่อไปใน อนาคตได้ เบื้องต้นมีการคำนวณว่า หลังจากนำระบบนี้มาใช้ ประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวประมาณ 38% ของพื้นที่ปลูกข้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีราว 67 ล้านไร่ และข้าวนาปรังราว 16 ล้านไร่


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รัฐ ถังแตก โซนนิ่ง คุมจำนำข้าว ดีเดย์ นาปรัง ปี 57 เลิกซื้อ ทุกเมล็ด

view