สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถังแตก จำนำข้าว! รัฐบาลติดหนี้6แสนล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รัฐบาล"ถังแตก" แทรกแซงราคา-รับจำนำสินค้าเกษตรที่ต้องชดเชย ธ.ก.ส.และสถาบันการเงินรัฐ ตั้งแต่ปี2551-2556 สูงกว่า 6 แสนล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกท้วงติงมาโดยตลอด ทั้งจากหลายภาคส่วนว่ามีการตั้งราคาสูงเกินไป เป็นเหตุให้ข้าวไทยในตลาดโลกไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ นอกจากนั้นยังเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐที่ใช้จ่ายกับโครงการสูงเกินไป ทั้งงบประมาณในการเก็บรักษาและงบประมาณค่าข้าวโดยตรง ส่งผลให้รัฐบาลเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

แหล่งข่าวจาก คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เปิดเผยว่า ภาระหนี้จากนโยบายรับจำนำผลผลิตการเกษตรของรัฐบาลตั้งแต่ปี 25551-2556 มียอดคงค้างภาระหนี้โครงการดังกล่าว ที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชย คืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สูงถึง 6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินทุนของธ.ก.ส.จำนวน 1.04 แสนล้านบาท และเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 4.5 แสนล้านบาท

สามารถแยกภาระหนี้ที่ยังไม่ได้ชดเชยคืน ธ.ก.ส. ประกอบด้วยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ธ.ค. 2551 วงเงิน 5.7 พันล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ( มี.ค.-ธ.ค.2552) วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวยุ้งฉาง ปี 2552/53 (ต.ค.52-ก.พ.53) วงเงิน 689 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวยุ้งฉาง ปี 2553/54 วงเงิน 46 ล้านบาท โครงการชะลอขุดมันสำปะหลังปี 2554/55 วงเงิน 2 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท รวมภาระหนี้เงินทุนธ.ก.ส.ทั้งหมด 1.04 แสนล้านบาท

สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะเป็นภาระผูกพันนอกงบการเงิน ประกอบด้วย โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52 (พ.ย.51 ต.ค.52) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โครงการระบายยุ้งฉางเกษตรกรปี 2551/52 (พ.ย.51-ต.ค.52) วงเงิน 283 ล้านบาท โครงการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/52 (ต.ค.51-ธ.ค.52) วงเงิน 4.6 พันล้านบาท โครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลัง ปี 2551/52 (พ.ย.51-ธ.ค.52) วงเงิน 2.3 พันล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 (ต.ค.54-ก.ค.55) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โครงการจำนำข้าวเปลือกยุ้งฉางปี 2554/55 (ต.ค.54-ก.ย.55) วงเงิน 105 ล้านบาท โครงการระบายข้าวองค์การคลังสินค้า ปี 2554/55 (ส.ค.54-ก.ย.55) วงเงิน 1.5 พันล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 (มี.ค.55-ต.ค.55) วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 (พิเศษ) (ต.ค.55-พ.ย.55) วงเงิน 6.6 หมื่นล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2554/55 (ก.พ.54-มิ.ย.55) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ปี 2555 (ม.ค.55-มี.ค.56 )วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 (ต.ค.55-ก.ค.56) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกยุ้งฉาง ปี 2555/56 วงเงิน 23 ล้านบาท โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราปี 2555/56 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลังปี 2555/56 วงเงิน 1.8 พันล้านบาท รวมภาระหนี้ทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีภาระหนี้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส.ในปีการผลิต 2552/53 วงเงิน 5 พันล้านบาท และปีการผลิต 2553/54 วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท รวมภาระหนี้ 3.7 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ภาระหนี้คงค้างที่รัฐบาลยังไม่ได้ชดเชยให้ ธ.ก.ส. 6 แสนล้านบาท ทำให้ ธ.ก.ส. อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องสำหรับการปล่อยสินเชื่อภาคเกษตรปกติได้ไม่มาก เพราะเงินทุนส่วนหนึ่งต้องนำมาสำรองจ่าย ในโครงการแทรกแซงผลผลิตภาคเกษตรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาไปก่อน ซึ่งในช่วงเดือนมี.ค.ของทุกปี เป็นช่วงที่ธ.ก.ส.ต้องปล่อยสินเชื่อปกติให้แก่เกษตรกรส่วนอื่นๆ ของธนาคารด้วย ดังนั้นหากเงินทุนของธ.ก.ส.ต้องใช้สำรองจ่ายไปในโครงการของภาครัฐอย่างเดียวอาจจะกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารได้

" ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีต เคยชำระคืนหนี้จากโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรให้ธ.ก.ส.มาแล้วจำนวนกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ก็ยังมีภาระหนี้คงค้างเหลืออยู่และสำนักงบประมาณ ต้องตั้งงบประมาณชดเชยไว้ทุกปี แต่ก็ยังชำระคืนไม่หมด เพราะในแต่ละปีรัฐบาลก็จะมีโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรหลักๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา และที่ใช้วงเงินจำนวนมากคือ การรับจำนำข้าวเปลือก" แหล่งข่าวระบุ



ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ถังแตก จำนำข้าว รัฐบาลติดหนี้ แสนล้าน

view