สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคต - เกษตรทั่วไทย

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

ยุทธศาสตร์ ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการบริหารประเทศ คือ การแก้ปัญหาความยากจน การกินดีอยู่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจรากหญ้าจะก่อให้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่ถูกมองข้ามละเลยทั้ง ๆ ที่ในชีวิตประจำวันและชีวิตธุรกิจจำเป็นต้องใช้นั้นคือ การจดบันทึกการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นประจำวัน หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า การจัดทำบัญชีครัวเรือน เพราะการลงบัญชีเป็นการเตือนสติในการจับจ่ายใช้สอยของตนเอง ก่อให้เกิดการลด ละ เลิก สิ่งฟุ่มเฟือยต่าง ๆ เมื่อลดความฟุ่มเฟือยลงได้ก็ก่อให้เกิดเงินออม ครอบครัวก็จะอยู่กันอย่างผาสุก

นายวิจักร อากัปกริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ให้ความสำคัญในการรณรงค์การจัดทำบัญชีครัวเรือนไปยังทุกๆ กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน ล่าสุดได้จัดทำ โครงการรณรงค์การจัดทำบัญชีครัวเรือนของนักเรียนในสถานศึกษา โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 10,000 คน จาก 14 โรงเรียน เพื่อให้เยาวชนนักเรียน มีความรู้ในการบันทึกบัญชี สามารถบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเองและครอบครัว ซึ่งเมื่อบันทึกเป็นการต่อเนื่องแล้วจะเป็นบันทึกช่วยจำ ช่วยเตือนสติในการจับจ่ายใช้สอยก่อให้เกิดการลด ละ เลิก สิ่งฟุ่มเฟือยต่าง ๆ รู้คุณค่าของเงิน เยาวชนนักเรียนได้เกิดจิตสำนึก รู้จักการประหยัด และอดออม ก็จะทำให้ครอบครัวอยู่ดี มีสุข ชุมชนก็จะเข้มแข็ง ส่งผลต่อสังคมประเทศชาติโดยรวม

นอกจากนี้ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ให้ความรู้ในการเสริมสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีให้แก่ เกษตรกรไทย ทั่วไป ได้รับรู้ถึงการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เทียบกับผลผลิตที่ได้มีความคุ้มค่า หรือคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ หากไม่คุ้มก็จะมีการปรับเปลี่ยน หรือลดค่าใช้จ่ายในส่วนใดลงได้หรือไม่ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพไปปลูกพืชชนิดอื่นที่คุ้มกับการลงทุน ต้นทุนต่าง ๆ ที่น้อยกว่าได้ โดยได้มีการบูรณาการงานต่าง ๆ ร่วมกับกรมต่าง ๆ ทั้ง 14 กรม ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในลักษณะการทำงานเป็นเครือข่าย สร้างบุคลากรทางด้านบัญชี ที่เรียกว่า   “ครูบัญชี” ซึ่งเป็นอาสาสมัครในตำบล หรือในหมู่บ้าน เป็นผู้ช่วยในการเผยแพร่การทำบัญชี ให้กับสมาชิกในตำบล หมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งยังถือว่าน้อย หากเทียบกับอาสาสมัครอื่น ๆ เพราะเป็นงานอาสาที่ยังไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งทางกรมฯ ก็ให้การสนับสนุนในแง่ขวัญกำลังใจ การมอบโล่เกียรติยศประกาศเกียรติคุณ โดยยังได้พยายามที่จะหาแนวทางในการให้ผลตอบแทนกับครูบัญชี เช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ที่ปัจจุบันได้รับเงินตอบแทนในแต่ละเดือนเช่นกัน

นายวิจักร กล่าวถึงความสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือน ว่า เป็นแนวทางสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานศูนย์ศึกษาพัฒนา ห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2541 ว่า ’ทำบัญชีให้เห็นว่าสมดุลไม่ขาดทุน ถ้าทุกคนสามารถที่จะทำให้พอดีไม่ขาดทุน ประเทศชาติไม่ขาดทุนแน่ และประเทศชาติขาดทุนอย่างนี้ ไม่ขาดทุน อยู่รอด ข้อสำคัญเป็นอย่างนี้ ที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ว่าพอเพียงในการบริโภค แต่ให้พอเพียงในการมีชีวิตอยู่ บางคนก็อาจจะรวยได้ทีเดียว“

ทั้งนี้โดยหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือการดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลางที่ประกอบไปด้วย 3 ห่วง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ คือการใช้ความรู้และคุณธรรมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยความสำคัญของการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายประจำวัน บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน ได้กลายเป็นความรู้เพิ่มเติมที่ทำให้ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรที่ได้ทำบัญชี ได้ตระหนักและมองเห็นตัวตนด้วยการใช้ข้อมูลในสมุดบันทึกบัญชีมาเป็นเครื่อง มือช่วยให้สามารถตั้งหลักคิด เพื่อเลือกทางที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตโดยมีภูมิปัญญาทางด้านบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคต

....ดังนั้นต้องลงมือทำบัญชี ต้องลงบัญชีทุกวันที่มีการรับ-จ่ายเงิน จะทำให้รู้รายได้มาจากไหนเท่าไร รู้รายรับ รู้รายจ่าย รู้ต้นทุน กำไร ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักประหยัด ทำให้เกิดการออม ก็จะทำให้ครอบครัวมีความสุข ช่วยแก้ปัญหาความยากจน กินดีอยู่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป.


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถี สู่อนาคต เกษตรทั่วไทย

view