จาก เดลินิวส์ออนไลน์
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบหรือได้รับผล
กระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของภาคเกษตรนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการวิเคราะห์ทั้งด้านของผลกระทบรวมถึงโอกาสของไทยไว้แล้ว
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปิดเสรีการค้าให้กับประเทศในอาเซียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เพียงรอประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV ที่ขอให้มีการเปิดเสรีการค้าในปี 2558 หรือ เออีซี และการค้าสินค้าเกษตรในอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวม 2.6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าปีละประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และมูลค่ารวมมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่องใน ปี 2554-2555 ประมาณ 3.2-3.4 แสนล้านบาทต่อปี และยังได้เปรียบดุลการค้ากว่า 2 แสนกว่าล้านบาท ฉะนั้นการเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการในปี 2558 จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าในภาคเกษตรแล้วไทยยังคงได้เปรียบอีก9 ประเทศสมาชิกเออีซี เนื่องจากเราเป็นประเทศพัฒนาด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีพื้นฐานการเกษตรที่ดีกว่าหลาย ด้าน
โดยเฉพาะถ้ามองในเรื่องของโอกาสทางธุรกิจการเกษตรจากการเปิดเออีซี เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวแล้ว สามารถแยกได้เป็น 5 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วยด้านที่ 1 ด้านตลาด ที่เปิดกว้างขึ้น เนื่องด้วยจำนวนประชากรของอาเซียนที่มีอยู่กว่า 600 ล้านคน ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าเกษตรและอาหารในปริมาณมากขึ้น
ด้านที่ 2 ด้านแหล่งวัตถุดิบใหม่ เราสามารถใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่น ถั่วเหลือง ที่ในประเทศสามารถผลิตได้ปีละประมาณ 1.5 แสนตันและต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล ปีละกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น เราสามารถใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบที่ถูกกว่าการนำเข้าจาก ประเทศนอกอาเซียน เพื่อนำกลับมาแปรรูปในประเทศไทย หรือจะเป็นมันสำปะหลังก็ดี เอาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปเป็นแป้งมัน หรือเอทานอล ใช้ในประเทศหรือส่งออกไปยังนอกอาเซียน รวมถึงวัตถุดิบเครื่องเทศ สมุนไพร กุ้ง ปลา ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของการแปรรูปสินค้าเพราะมีเทคโนโลยีการผลิต ที่ทันสมัย จะสามารถลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น
ด้านที่ 3 คือการขยายฐานการผลิตของภาคเกษตรอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไก่ สุกร อุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล เป็นต้น ที่เราสามารถย้ายฐานการผลิตไปตั้งยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกลงรวมทั้งมีสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากประเทศยุโรป เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับมายังประเทศไทยหรือส่งออกไปยังประเทศที่สามโดยตรง
ด้านที่ 4 มีความสำคัญมากคือการเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน เนื่องจากเรามีภูมิประเทศที่อยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางทั้งด้านโลจิสติกส์ภาคเกษตร สามารถส่งออกสินค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อไปยัง ประเทศนอกอาเซียนได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถเป็นศูนย์ที่พักและกระจายสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรอีกหลายด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและการพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่สามารถ ส่งไปยังประเทศอาเซียนได้ เราจึงได้เปรียบและเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในทุกด้านของภาค เกษตร
ส่วนด้านที่ 5 คือการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการสร้างตลาดเดียวกัน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของเออีซีในการก้าวกระโดดไปสู่นอกอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตเหมือนกันและรวมกัน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากกว่า 50% เราจะสามารถรวมตัวกันและสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้า เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ยางพารา ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดโลกขณะนี้ 80-90% อยู่ในอาเซียน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เป็นไตรภาคีในการรวมตัวเรื่องยางพารา แต่ถ้าสามารถรวมเวียดนาม ลาว หรือพม่าที่มีการผลิตยางพาราเข้ามาก็จะสามารถรวมเป็นตลาดผู้ผลิตและผู้ส่ง ออกรายใหญ่ของโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องข้าว ไทยคงต้องดึงเวียดนามมาเป็นพันธมิตร รวมทั้งพม่า กัมพูชา หรือประเทศใดก็ตามที่มีการผลิตข้าว ต้องรวมตัวกันค้า อย่าแข่งกันเอง
นายคนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่กล่าวมานี้เป็นด้านของโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยเมื่อเปิดเออีซี แต่ก็ยังมีด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรของไทยบางประเภท เช่น เมล็ดกาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน แต่ทางกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนและเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น แล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกร ที่เป็นต้นน้ำของการผลิตสินค้าเกษตรพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต มีการใช้ข้อมูลวางแผนการผลิตและตลาดรวมทั้ง ติดตามข่าวสารของประเทศในอาเซียนเพื่อนำมาปรับใช้ในฟาร์มของตนเอง
...และที่สำคัญต้องยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยให้สูงกว่าประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในอนาคต.
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต