จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กบอ.เรียก3บริษัท"เควอเตอร์ กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย และITD ชี้แจงทบทวนโครงการฟลัดเวย์ระบุงบ 1.2 แสนล้าน ไม่พอสร้างฟลัดเวย์สองฝั่งตะวันตก
ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะกรรมการกบอ. เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดทำทีโออาร์ โครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ 3.5 แสนล้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างทีโออาร์ เพื่อเปิดให้เอกชนทั้ง 6 กลุ่มบริษัท ที่ผ่านเข้ารอบ 2 กลับไปทำข้อเสนอด้านราคา 45 วัน โดยคาดว่าทีโออาร์ฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า หลังผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกในขั้นสุดท้าย โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เนื่องจากในขั้นตอนการใช้จ่ายเงิน กรรมการ กบอ. ไม่มีสิทธิเพราะไม่ได้เป็นนิติบุคคล
อย่างไรก็ตาม การร่างทีโออาร์เพื่อความชัดเจน เมื่อวานนี้(13 ก.พ.) กบอ. ได้เรียก 3 บริษัท ที่ผ่านการคัดเลือกในโมดูลเอ5 การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และ/หรือ ทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 พันลบ.ม./วินาที ซึ่งมีงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เข้ามาชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากข้อเสนอจากเอกชนที่ให้สร้างฟลัดเวย์มีทั้งสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออกและตะวันตก แต่เนื่องจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 1.2 แสนล้าน ไม่พอสำหรับทำฟลัดเวย์ทั้ง 2 ฝั่ง จึงได้เรียก ทั้ง 3 กลุ่มบริษัทที่ได้รับเลือกในโมดูลเอ5 ได้แก่ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย และ ITD-POWERCHINA JV เข้ามาชี้แจงในด้านเทคนิค
"ทีโออาร์ที่จะออกมาต้องชัดเจนว่าให้สร้างฟลัดเวย์ในทิศทางใดทางหนึ่ง ไม่ให้เลือก เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนตัดสินราคาซึ่งทั้ง 3 กลุ่มบริษัท ได้ชี้แจงข้อมูลทางเทคนิค และให้เหตุผลในการเลือกพื้นที่ในการสร้างฟลัดเวย์โดยข้อมูลดังกล่าวคณะทำงานจะได้นำไปพิจารณาในร่างทีโออาร์ ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้"
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กบอ. จะสรุปข้อเสนอที่คิดว่าดีที่สุดในการทำฟลัดเวย์ จากกรอบแนวคิดของทั้ง 3 บริษัท เพื่อกลั่นกรองเป็นทีโออาร์ฉบับสมบูรณ์ โดยเมื่อกระบวนการเป็นไปตามขั้นตอน คณะกรรมการวิชาการจะสลายตัว เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลังจากทีโออาร์ได้ออกไปแล้ว กบอ. จะออกทีโออาร์ฉบับใหม่เพื่อคัดเลือก 3 บริษัท ในขั้นตอนตรวจสอบงาน ซึ่งยืนยันว่าจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทก่อสร้าง และมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทต่างชาติเป็นทุนเดิม
@ยันไม่ฮั้ว เควอเตอร์สร้างฟลัดเวย์
อย่างไรก็ตาม ดร.อภิชาติ ในฐานะคณะกรรมการด้านวิชาการ กบอ. ยืนยันว่า ไม่มีการฮั้วกับเควอร์เตอร์เพียงรายเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ โครงการฟลัดเวย์เป็นเรื่องใหม่ ทำให้คนกลัวว่าจะทำไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่เจริญหรอก ต้องคิดใหม่ แม้เรารู้ว่าเป็นอุปสรรค แต่เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว"
เขาบอกว่า โครงการฟลัดเวย์จะมีหน้าตาไม่เหมือนคลอง แต่เป็นทางให้น้ำหลาก เพียงแค่กันพื้นที่กว้างประมาณ 1-2 กิโลเมตร แทนที่น้ำจะหลากตามทุ่ง เปลี่ยนมากั้นให้น้ำอยู่ในแนวฟลัดเวย์ ถ้าน้ำท่วมถึงระดับหนึ่งจึงจะปล่อยออกมา แต่ยอมรับว่าโอกาสที่จะได้ใช้งานฟลัดเวย์ อาจไม่ใช่ทุกปี อาจจะหนึ่งครั้งในร้อยปี หรือห้าสิบปี ซึ่งรัฐต้องแฟร์ จ่ายค่าเสียหายอย่างเต็มที่
@ต้องจ่ายชดเชยชาวบ้านที่รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการชดเชยค่าเสียหาย ต้องมีการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถึงการชดเชยค่าอย่างเป็นธรรมสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างแนวฟลัดเวย์
"ถ้าเราคุยกันบนพื้นฐานของความเป็นธรรม ฟลัดเวย์มีโอกาสเสี่ยงทำให้คนในพื้นที่จำเป็นต้องปรับวิถีชีวิตบ้าง คนที่เดือนร้อนก็ต้องได้รับการชดเชย" เขากล่าวย้ำ
@ชาวบ้านยื่นน้ำ3.5แสนล้านละเมิด
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ บุกยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิ ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ การละเมิดสิทธิชุมชน และการละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนได้กล่าวว่า ทางกรรมการสิทธิฯ จะได้ดำเนินการต่อไป ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิตามที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบร้องเรียน
นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี กล่าวถึงภาพรวมลุ่มน้ำยม ที่มีกรณีปัญหาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง "เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ได้หมกเม็ดแผนการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายป่า 41,7501 ไร่ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำลายป่าอีก 13,000 ไร่ นอกจากนี้ในแผนการจัดการน้ำยังมีเขื่อนที่จะต้องสร้างทั้งหมด 22 เขื่อน ป่าไม้และชุมชน จะต้องถูกกระทบอย่างมากแน่นอน อีกทั้งยังให้ต่างชาติมาประมูลงานอีก การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชนก็ยังไม่มี รัฐบาลและ กบอ. เดินหน้ากู้เงินมาทำลายป่าอย่างนี้ละเมิดสิทธิหรือไม่
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เขาและคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้มายื่นหนังสือเพื่อให้กรรมการสิทธิได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง เพราะรัฐบาล กบอ. ไม่เคยมาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่อย่างใด กลับนำโครงการเหล่านี้ไปบรรจุในแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ข้ามขั้นตอนต่างๆ มากมาย ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน จึงขอให้กรรมการสิทธิช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต