สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิพากษ์โครงการน้ำ ส่อสะดุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เวทีวิพากษ์น้ำเดือด"ปราโมทย์"ลั่นสร้างฟลัดเวย์ต่อให้ 20 ปีก็สร้างไม่เสร็จ สภาวิศวกรตั้ง 8 ประเด็น ส่อเค้าสะดุด หวั่นซ้ำรอย โฮปเวลล์-โรงพัก

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) เปิดเผยว่า การจัดงานวิพากษ์โครงการบริหารจัดการน้ำของทางรัฐบาล โดยขณะนี้ได้มีมติอนุมัติ 6 กลุ่มบริษัท ที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น แต่ทาง วสท. ยังเห็นว่าการเสนอกรอบแนวคิดที่ข้ามขั้นตอน จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างในระยะยาวอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาประสบการณ์ความผิดพลาด จากการตัดสินใจที่ข้ามขั้นตอนของรัฐบาลไทย ก็มีให้เห็นอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโฮปเวลล์ โครงการโรงกำจัดน้ำเสียคลองด่าน และล่าสุดโครงการก่อสร้างโรงพักใหม่ทั่วประเทศ

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อประสบการณ์ที่ล้มเหลวในอดีต ยังคงเป็นอนุสรณ์ให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทาง วสท.จึงได้ตั้งข้อสังเกต ผ่านมุมมองของนักวิชาชีพและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ออกเป็น 8 ประเด็น ดังนี้ 1.การเสนอกรอบแนวคิดที่ข้ามขั้นตอน โดยบ้างโครงการก่อสร้างยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำประชาพิจารย์จากภาคประชาชน จึงอาจเกิดการต่อต้านจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินงานไม่เป็นไปตามรายงานกรอบแนวคิด
2.การพิจารณาคัดเลือกขั้นตอนสุดท้าย จากทางรัฐบาลที่กำหนดไว้ 3 ข้อ คือ ด้านเทคนิค เวลา และราคาในการก่อสร้างนั้น สรุปแล้วรัฐบาลจะใช้ดุลยพินิจอะไร ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เป็นกลาง เนื่องจากทั้ง 6 กลุ่มบริษัท ต่างคนต่างนำเสนอรายงาน ซึ่งในทางวิศวกรรมการ ถือว่าการตัดสินใจจากรายงาน ที่เขียนมาแตกต่างกัน ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก 3.โครงการที่น่าจะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน จากการต้องต่อสู้กับภาคประชาชน คือ โครงการฟลัดเวย์ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการตกลง กับภาคประชาชนอย่างชัดเจน ว่าจะให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบอพยพไปตรงไหน หรือมีการตกลงราคาค่าเวนคืนพื้นที่แล้วหรือยัง

4.โครงการก่อสร้างหลายแห่งอาจต้องเสียเวลาจ้างบริษัท พิจารณาความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนก่อสร้าง เพราะว่าการดำเนินการก่อสร้างจะต้องเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน

5.การก่อสร้างจะต้องใช้บุคลากรผู้คุมงานก่อสร้างจำนวนมาก เพราะโครงการก่อสร้างทั้งหมด กระจายไปตามลุ่มน้ำต่างๆ ดังนั้นจะควบคุมงานกันอย่างไร

6.จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้าง เนื่องจากรายละเอียดการทำสัญญาไม่ชัดเจน เช่น ถ้าหากว่าสัญญานั้นครอบคลุมทุกโครงการก่อสร้างในโมดูลลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน แต่หากว่าในลุ่มน้ำยมผู้รับเหมา ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เวลาในการก่อสร้างจะต้องยืดไปอีก ซึ่งอาจเกิดการฟ้องร้อองเป็นคดีความกันได้ ดังนั้นรัฐบาลได้คิดไว้หรือเปล่าว่าจะต้องแยกทำสัญญาหรือไม่

7.อาจเกิดการทิ้งงานจำนวนมากจากผู้รับเหมา เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มบริษัทที่ได้รับงานไปเพียงบริษัทเดียว จะสามารถดำเนินการก่อสร้างเองได้ทั้งหมด จึงต้องมีการจ้างบริษัทซับคอนเทคจำนวนมากเข้ามาช่วย ซึ่งจะเกิดการหักค่าหัวคิวกันเป็นว่าเล่น สุดท้ายจะเหลืองบประมาณก่อสร้างตกถึงบริษัทใหญ่เพียงไม่มาก จนเกิดเป็นปัญหาในที่สุด

และ 8.กลุ่มบริษัทที่มาร่วมกันเสนอกรอบแนวคิดไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ดังนั้นหากมีการแบ่งงานกันรับผิดชอบ และเกิดบริษัทใดบริษัทหนึ่งก่อสร้างไม่เสร็จ จะต้องเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาอย่างแน่นอน

ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำไทยติดกับดัก

นายปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวว่า แผนแม่บททั้ง 10 แผนที่ออกมาจาก กยน. เป็นแผนคิดคำนึง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2 สัปดาห์ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และข้อมูลเก่าจากหลายหน่วยงาน จากนั้นมีการกำหนดงบประมาณ 3.5 แสนล้าน โดยคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ต่างชาติมั่นใจว่าไทยมีความตั้งจริง โดยหลายโครงการคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการก่อสร้างเขื่อน ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของประเทศ

“ระยะเวลาสั้นๆ ในการร่างแผน โดยที่ไม่มีการศึกษารายละเอียด แนวคิดคำนึงออกมาได้อย่างไรไม่มีใครตอบ หากปล่อยให้เดินหน้าต่อไป ประเทศก็จะติดกับดัก เกิดเป็นอนุสาวรีย์โฮปเวล สถานีตำรวจ ที่ลุยสร้าง จ้างบริษัท แต่เอาเข้าจริงเป็นไปไม่ได้” อดีต กยน. กล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า โครงการฟลัดเวย์ กรอบเวลาที่ตั้งไว้ 5 ปี ไม่มีทางแล้วเสร็จ ต่อให้ 20 ปีก็ ไม่มีทางสร้าง อย่าลืมว่าบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาค่าเวรคืน แรงต่อต้านจากคนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าหลายโครงการจะเดินหน้าไปได้ยาก
ด้าน ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยอมรับว่าโครงการบริหารจัดการน้ำภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เป็นโครงการใหญ่ ที่ทุกคนแสดงความเป็นห่วงได้ เพื่อเกิดประโยชน์เต็มที่ โดยสาเหตุที่รัฐบาลต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามา เพราะการฝากชีวิตไว้กลับคนกลุ่มเดิมไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น ถึงเวลาที่ต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเสนอกรอบแนวคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำของประเทศ

ประเทศต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพื่อใม่ให้บอบซ้ำไปมากกว่านี้ โดยหลังจากที่ กยน. ได้กำหนด 10 แบล๊คโบน หรือโมดูลจัดการน้ำ เพื่อเป็นมาสเตอร์เพลนให้ กบอ. นำไปปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดให้โครงการแล้วเสร็จตามเงื่อนเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหลายฝ่ายห่วงว่าจะข้ามขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

“ในทีโออาร์ได้กำหนดชัดเจนในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้าง โดยกำหนดให้รับประกันราคาสูงสุด โดยไม่มีการปรับราคาในภายหลัง ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงด้านงบประมาณก่อสร้าง ตลอดจนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามกฎหมายไทย ไม่ใช่ละเลย หรือข้ามขั้นตอนนี้ไป” ตัวแทน กบอ. อธิบาย และว่า ทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบ ถ้ายังไม่มีการก่อสร้าง จะยังไม่จ่ายเงิน รัฐบาลจะไม่ยอมเสียค่าโง่ซ้ำรอยที่ผ่านมา

กรอบข้อเสนอแนวคิดของกลุ่มบริษัทเอกชน ซึ่งถือเป็นสมบัติของรัฐบาล จะนำมากำหนดเป็นทีโออาร์ฉบับใหม่ เพื่อใช้เป็นข้อสอบใหม่ เป็นโจทย์เดียวที่มีความชัดเจน ซึ่งแต่ละกลุ่มบริษัทที่เข้ารอบ 2 ต้องกลับไปทำข้อเสนอเข้ามาใหม่เพื่อตัดสินในรอบสุดท้าย เดือนเมษายน

“หลักเกณฑ์ 3 ข้อที่ กบอ. ใช้ในการตัดสินผู้ชนะการประมูล คือ คุณสมบัติด้านเทคนิค ราคา และเวลาในการก่อสร้าง โดยรัฐบาลได้กำหนดกรอบเวลาไว้ที่ 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการจัดการน้ำของประเทศ ในเมื่อเราไม่รู้ว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ แต่จะให้รอ 15 ปี 20 ปี คงไม่ได้” ดร.อภิชาติกล่าว

หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว กบอ.จะดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 3 กลุ่ม ได้แก่ 1 Project Management Consultant ทำหน้าที่บูรณาการระหว่าง 10 โมดูลให้เชื่อมโยงกัน 2 Consultant Engineering รับผิดชอบด้านการออกแบบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฏหมายไทย และ 3 Project super vision ทำหน้าที่คำนวนราคา และงบประมาณ

“ในทุกขั้นตอนมีผู้รับผิดชอบดูแล ไม่ใช้ระบบเหมาจ่าย บริษัทไม่มีโอกาสขอเงินเพิ่ม มีแต่โอกาสได้เงินน้อยลง มีการตรวจสอบบริษัทที่เข้ามารับงานต่อ เนื่องจากบริษัทเดียวทำงานเองทั้งหมดไม่ได้ อาจจำเป็นต้องมีบริษัทย่อยๆ มารับงานไป” เขาอธิบาย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้จากเวทีวิพากษ์นี้คือข้อเสนอ ให้กลุ่มบริษัทรับผิดชอบร่วมในกรณีที่การก่อสร้างเดินหน้าไปไม่ได้ การฟ้องร้อง ความรับผิดชอบต้องเป็นของบริษัทที่ได้ทำสัญญาร่วมกัน โดย กบอ. จะกลับไปหารือเพื่อเขียนข้อกฎมายให้รัดกุมมากขึ้น

ดร.อภิชาติ ทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอกรอบแนวคิดจากภาคเอกชน ทำให้เห็นว่า มีหลายข้อเสนอที่วิศวกรไทยอาจมองข้าม เช่น แนวทางการปรับระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล แนวทางการแก้ปัญหาคอขวดที่อยุธยา ซึ่งเป็นข้อเสนอจากบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น โดยเขาได้โยนคำถามให้กับวิศวกรไทยว่า ที่ผ่านมาได้ทำอะไรให้กับรัฐบาลบ้าง หลายโครงการที่ผ่านมายังมีข้อผิดพลาด ทั้งเรื่องการวางท่อ สร้างถนน ซึ่งวิศวกรรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วิพากษ์ โครงการน้ำ ส่อสะดุด

view