สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอ็นจีโอต้านอีไอเอเขื่อนแม่วงก์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



อดีตคชก.ชี้อีไอเอเขื่อนแม่วงก์ฉบับใหม่ ประเมินแบบจำลองน้ำท่า-ตะกอน ผิดพลาด มูลนิธิสืบจับมือเครือข่ายนักอนุรักษ์ จัดเวทีคู่ขนาน

จากกรณีที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้าร่วมประชุมทางวิชาการเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการดำเนินโครง การเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ของกรมชลประทาน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ก.พ.นี้ แต่จากการหารือร่วมกันของกลุ่มเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ เมื่อวันที่9 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติถอนตัวไม่เข้าร่วมการประชุมเวทีดังกล่าว พร้อมทั้งจัดเวทีคู่ขนานขึ้นด้วยนั้น

ชี้เหตุผลเปลี่ยนตัวคชก.-เมินเวทีสผ.

นางรตยา จันทรเฑียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงเหตุผลท่่ี่เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ มีติถอนชื่อตัวแทนนักวิชาการ ชาวบ้าน และมูลนิธิสืบ 5 คนประกอบด้วยดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติสกุล ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ดร.รุ้งนภา พูลจำปา นายณรงค์ กสิกร และนายศศิน เฉลิมลาภ ด้วยเหตุผลว่าเพิ่งทราบว่ามีเปลี่ยนโครงสร้าง และคณะทำงานคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)พิจารณาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นนายสันทัด สมชีวิตา เป็นประธาน และเป็นคชก.ชุดที่ีมติตีกลับให้กรม ชลประทานกลับไปแก้ไขรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งมีข่าวว่ามีมากกว่า 20 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 2 พบว่ารูปแบบการจัดประชุมของกรมชลประทานครั้งนี้ เป็นแค่การรับฟังรายงานประกอบรายงานอีเอชไอเอ ไม่ใช่เวทีเทคนิคพิจารณ์ (Technical Hearing) ตามที่มูลนิธิสืบ และทางเครือข่ายเป็นผู้เสนอให้จัด เพื่อให้มีประโยชน์ต่อการหาทางออกร่วมกันในกบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

จี้สผ.-กรมชลเปิดอีเอชไอเอที่ถูกตีกลับ

" ความไม่ชอบมาพากลจากการเปลี่ยนตัวประธานคชก. ชุดเก่า ซึ่งอาจทำให้มีผลต่อการพิจารณาอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ ขาดความต่อเนื่อง และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำหนังสือไปถึงสผ.ก่อนหน้านี้เรื่องขอให้จัดทำเวทีเทคนิคพิจารณ์เขื่อนแม่วงก์ เราจึงขอถอนตัว พร้อมทั้งเรียกร้องให้สผ. เปิดเผยผลการพิจารณาอีเอชไอเอฉบับที่ถูกคชก.ตีกลับว่ามีอะไรที่ต้องไปปรับแก้ รวมทั้งให้กรมชลประทาน นำข้อคิดเห็นที่แก้ไขแล้วเปิดเผยต่อสาธารณะชนควบคู่ไปกับการนำเสนอต่อคชก.ชุดใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของกฎหมาย และสุดท้ายมูลนิธิสืบ ยังยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาป่าและระบบนิเวศให้เป็นสมบัติของทุกคนต่อไป" นางรตยา ระบุ

อดีตคชก.เผยแบบจำลองน้ำ คลาดเคลื่อน

ขณะที่ดร.พงษ์ศักดิ์ อดีตคชก. พัฒนาด้านแหล่งน้ำ เขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า จากการอ่านรายงานอีไอเอเขื่อนแม่วงก์ พบว่ามีการใช้ข้อมูลที่ไม่ครบในการทำแบบจำลองศึกษา ซึ่งอาจส่งผลให้การประเมินอีไอเอ มีความคลาดเคลื่อนด้วยโดยเฉพาะการประเมินค่าปริมาณน้ำฝนในลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เงาฝนของเทือกเขาตะนาวศรี มีฝนเฉลี่ยปีละ 1,218 มม. แต่เนื่องจากกรมชลประทานเลือกสถานีวัดน้ำฝนปางมะค่า เป็นตัวแทนพื้นที่ศึกษา และพบว่าบริเวณนี้มีอัตราการระเหยของน้ำสูงกว่า 1,776 มม. และมีน้ำเติมในช่วงเดือนส.ค-ต.ค.เท่านั้น เรียกว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีความผันแปรของข้อมูลฝนอยู่ในช่วง 695-2,010 มม.ต่อปีหรือเฉลี่ย 1,215 มม.ต่อปี ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างต่อเนื่อง ป่าพื้นราบหายไป65% เป็นพืชเชิงเดี่ยวทำให้อัตราดูดซับน้ำฝนหายไป และมีผลต่อการสะสมในชั้นดินต่ำลงไปด้วย ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการผลิตน้ำท่าโดยตรง

" การศึกษาของกรมชลประทานชี้ว่าลุ่มน้ำเขาสบกก ซึ่งมีพื้นที่ 612 ตร.กม.ให้น้ำท่า 407.3 มม.ต่อปี และมีน้ำสูงสุดในเดือนต.ค 141.19 มม. และน้อยสุดเดืือนก.พคือ4.6 มม. ส่วนบริเวณเขาชนกันมีพื้นที่930 ตร.กม. ให้ผลผลิตน้ำท่า 391.1 มม. และมีน้ำท่าสูงสุดในเดือนต.ค.136.3 มม.ต่อปี และน้อยสุดเดือนก.พ.4.5 มม.ต่อปี แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบแบบจำลองของเขาชนกันและเขาสบกก กลับสรุปว่าน้ำท่าของพื้นที่มีค่าใกล้เคียงกัน และมีแนวโน้มในทางเดียวกันทุหเดือน ซึ่งผิดหลักความจริง แสดงว่าวิธีการประเมินอาจมีความผิดพลาดจสกความเป็นจริงค่อนข้างสํง ถ้าเป็นไปได้ควรทบทวนใหม่" ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ดร.พงษ์ศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตได้ว่าในภาพรวม ถ้านำข้อมูลนี้มาเทียบกับแบบจำลองของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช พบว่าปริมาณฝนเฉลี่ยในพื้นที่ 1,218 มม.ต่อปี และมีอัตราน้ำท่า 383.2 มม.ต่อปีหรือคิดเป็น 31.5% โดยเขาสบกก มีพื้นที่รองรับน้ำฝน 612 ตร.กม.ให้ผล ผลิตน้ำท่า 283.3 มม.ต่อปี และน้ำท่าสูงสุดเดือนต.ค.53.3 มม.ต่อปี และน้อยสุดเดือนก.พ.5.6 มม ดังนั้นถ้าปริมาณน้ำท่าที่ผลิตจากป่าแม่วงก์ที่ให้น้ำเพียงพอในหน้าน้ำ และลดลงในช่วงหน้าแล้ง และมีกระจายตัวสม่ำเสมออยู่แล้ว จึงถามว่ายังจำเป็นที่ต้องมีเขื่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากคำนวณการกระจายตัวของฝน น้ำท่าที่คลาดเคลื่อนจะมีผลต่อหารประเมินตะกอนรายปี และรายเดือนตามมาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะตะกอนที่มีมากจะทำให้การใช้ประโยชน์ของเขื่อนลดลงจากตะกอนที่จะลงมาในเขื่อนด้วย

สผ.เดินหน้ารับฟังข้อมูล

นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการจัดประชุมวิชาการเขื่อนแม่วงก์ ของกรมชลประทาน โดยมีตัวแทนจากกรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บริษัทที่ปรึกษาและผู้เชี่ยว ชาญด้านสัตว์ป่าและป่าไม้เข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โดยในที่ประชุมมีความกังวลในเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่า และการประเมินคุณค่าเมื่อเทียบกับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนซึ่งอาจต้องไปทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องชนิดสัตว์ป่าที่มีรายงานเข้ามาเพิ่มเติมอย่างเช่น สมเสร็จ ซึ่งอาจมีการพบใสพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์จริงเพราะมีพื้นที่ป่ากว่า 2 ล้านไร่ แต่อาจไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ในส่วนทางเลือกของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนนั้น ตนเชื่อว่า ทางกรมชลประทานได้ทำการศึกษามาดีแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้สร้างบ่อน้ำในพื้นที่นาชาวบ้านซึ่งยังมีข้อกังวลในลักษณะทางธรณีวิทยาว่าจะสามารถสร้างบ่อน้ำได้หรือไม่ อีกทั้งลักษณะพื้นที่ที่เป็นทรายและไม่สามารถเก็บน้ำได้ ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอในเรื่องของการทำฝายซึ่งเดิมในพื้นที่มีการสร้างฝายในอำเภอลาดยาวไว้แล้ว แต่เนื่องจากสภาพการไหลของน้ำที่มีความเร็วและแรง และระดับน้ำมีความสูงมากจึงทำให้ฝายพังลงมา เนื่องจากไม่มีสิ่งก่อสร้างมาชะลอความเร็วของน้ำ แต่ถ้ามีการเก็บน้ำไว้เพื่อชะลอความรุนแรงของน้ำและมาสร้างฝายเพิ่มเพื่อเก็บน้ำไว้ได้ก็อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการสร้างฝายเพียงอย่างเดียว

"ข้อถกเถียงเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องมาถกกัน ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต้องเอาข้อมูลมาถกในคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมว่าเหมาะหรือไม่เหมาะสม" นายสันติกล่าว

อุทยานฯ ตั้งคณะทำงานสำรวจพืช-สัตว์อีกรอบ

ด้าน น.ส.จันทร์เพ็ญ เนียนหอม หัวหน้าส่วนทรัพยากร สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจและรวบรวบข้อมูลพันธุ์ป่าและชนิดของสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ปัจจุบันได้สำรวจข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วและกำลังรวบข้อมูลเพื่อประเมินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ในเบื้องต้นพบว่าข้อมูลบางอย่างอาทิเช่นพันธุ์ป่ากับชนิดของสัตว์ป่าที่บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาและนำเสนอต่อเวทีประชุมวิชาการนั้นไม่ตรงกับข้อมูลของกรมอุทยาน

" ทางกรมอุทยานฯไม่ขัดข้องกับการสร้างเขื่อน แต่กรมชลประทานต้องมีข้อมูลในพื้นที่ที่รอบด้านและต้องตอบสังคมให้ได้ อยากให้กรมชลประทานให้น้ำหนักกับความเป็นอุทยานแห่งชาติและสมบัติของแผ่นดินอีกด้วย" น.ส.จันทร์เพ็ญกล่าว

ขณะที่นายสมโภชน์ คลี่ตี ผู้แทนกรมป่าไม้กล่าวว่า ทางกรมป่าไม้อยากให้กรมชลประทานให้น้ำหนักในการปลูกป่าทดแทนเพิ่มเติมในพื้นที่ จ.กำแพงเพชรมากกว่า จ.นครสวรรค์ เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในการทำเขื่อนมากกว่า

ด้าน นายวีรกร คำประกอบ สส.จังหวัดนครสวรรค์ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ให้ทางกรมอุทยานฯประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิิ่มเติมอีก 30,000 ไร่ขยายต่อจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์แทนการปลูกไม้ทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียจากการสร้างเขื่อน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เอ็นจีโอต้าน อีไอเอ เขื่อนแม่วงก์

view