จากประชาชาติธุรกิจ
เป็นธรรมดาของงานประมูลเมกะโปรเจ็กต์ทั่วโลกที่ต้องถูกจับตา !
ประเทศไทยก็เช่นกัน หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ อภิมหาโครงการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ก็ถูกลำเลียงขึ้นบรรจุไว้ในโครงการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม และน้ำท่วม
ทุกโครงการเพื่อชาติ ล้วนเป็นสิ่งดี แต่น่าเสียดายที่ "ระหว่างทาง" ของ "ขั้นตอน" ในการดำเนินงานใหญ่ เกิดปัญหาอุปสรรคไม่จบไม่สิ้น
โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งของ "คน" และ "พรรคการเมือง"
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดในกรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคชาติไทยมาหลายยุคหลายสมัย
วันดีคืนดีอาจจะเห็น ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี แวะเวียนไปเยี่ยมบ่อยครั้ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
ขณะที่นโยบายเรื่องเหล่านี้ มี นายปลอดประสพ สุรัสวดี
รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลอยู่ ในฐานะประธานคณะบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
เผอิญว่า ทั้งแนวคิดและวิธีการของ 2 บิ๊กต่างพรรค อาจไม่ลงรอยกันบ้างตามธรรมชาติที่ต้องตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ
สายสัมพันธ์จึงไม่แนบแน่นเท่าที่ควร
ไม่แนบแน่นมาแต่สมัยที่นายปลอดประสพ นั่งเป็นอธิบดีกรมประมงแล้ว
ครั้นเมื่อตัดสินใจลงเล่นการเมือง สังกัดพรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ ก็แจ้งเกิด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนขยับขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล
ยิ่งลักษณ์ 3 ที่สำคัญยังนั่งเป็นประธาน กบอ.อีกด้วย
ทำให้ ฯพณฯ บรรหารและรองนายกฯ ปลอดประสพ ต้องโคจรมาพบกันอีก ท่ามกลาง "งานใหญ่" ที่รออยู่
เหมือนจะง่ายก็ไม่ง่าย เหมือนจะยากก็ไม่ยาก ทำให้กลุ่มข้าราชการและบริษัทเอกชนต้องจับยามสามตาและดูทิศทางลม
โดยเฉพาะการปรับทิศของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการผลักดัน "กระทรวงน้ำ" ให้เกิดขึ้น เทียบแล้วก็เหมือนการผ่ากรมชลประทานเป็นสองซีก
ข้อดีข้อเสียกำลังอยู่ในระหว่างการชั่งน้ำหนัก
วกกลับมาเรื่องงานใหญ่ ล่าสุด แหล่งข่าวใน (กบอ.) กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้จะมีออกประกาศคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษามาช่วยวิเคราะห์ ประเมินผลการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโครงการทั้ง 10 โมดูล มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท (ตามตาราง)
หลังได้บริษัทรับเหมาที่ผ่านการคัดเลือกพีคิวมาแล้ว
โมดูลละ 3 บริษัท ซึ่งวงเงินค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษายังไม่ระบุชัดเจนจะกี่เปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าส่วนนี้จะอยู่ที่ 0.5-2.5% ของมูลค่างาน หรือขั้นต่ำ 2,000-8,000 ล้านบาท
"เดิมทีจะออกประกาศมาพร้อมกับตอนคัดเลือกผู้รับเหมา
ที่ออกแบบ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจ้างที่ปรึกษา หรือจะให้ทางคณะกรรมการทั้ง 30 กว่าท่านที่เป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ มาดูแลกันเอง ตอนนี้ กบอ.กำลังร่างทีโออาร์
ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ว่า ขอบเขตงานของที่ปรึกษาว่าจะทำอะไรบ้าง
จะดูเฉพาะแบบรายละเอียด หรือจะรวมถึงควบคุมการก่อสร้างของแต่ละโมดูลให้เสร็จใน 5 ปีด้วยหรือไม่ จึงยังไม่ได้ออกประกาศ จะสรุปอีก 2 สัปดาห์นี้"
เนื่องจากจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจะได้มาช่วยพิจารณาและประเมินแบบรายละเอียด ราคา และระยะเวลาของแต่ละบริษัท
ที่จะให้ยื่นแบบรายละเอียดในวันที่ 15 มีนาคม 2556
ก่อนประกาศผลผู้ชนะแต่ละโมดูลในวันที่ 16 เมษายน 2556
ขณะที่วงการรับเหมาร่ำลือกันว่า โครงการน้ำมีการล็อก
ผู้ชนะไว้ล่วงหน้าแล้ว และงานนี้จะซับงาน (จ้างรับเหมาช่วง) อีกจำนวนมหาศาล ฉะนั้นทุกคนจึงต้องพยายามดิ้นรน และ
รองานด้วยใจจดจ่อ
กระแสข่าวลือยังระบุอีกว่า ขั้นตอน "ต้นน้ำ" ที่ต้องมีการศึกษาแต่ละโครงการนั้น กลายเป็นช่องทางการจ่ายค่ากินเปล่า 3% ของ 3.5 แสนล้านบาท หรือร่วม ๆ หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าขั้นตอนใหญ่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก
หากเป็นจริงก็ถือว่าท้าทายนโยบายต่อต้านการทุจริต
คอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดนี้อย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายปลอดประสพ รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการ กบอ.ชี้แจงต่อบริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาในวันรับร่างทีโออาร์ว่า แต่ละโมดูลจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาโมดูลละ 2 บริษัท เป็นที่ปรึกษาโครงการและควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลกำหนด
สำหรับบริษัทที่ปรึกษาที่เคยแสดงความสนใจ อาทิ บจก.โปรเกรสเทคโนโลยีคอนซัลแท็นส์, บจ.สำรวจวิศวอินเตอร์เทค, บจ.พัฒนา คอนซัลติ้ง แอนด์เซอร์วิส, บจ.พันปีกรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา), บจ.เอเชี่ยนเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์, บจ.พีซีบีเคอินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.เอ-เซเว่นคอร์ปอเรชั่น, บจ.เซ้าอี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี, บจ.เอ็มเอเอคอนซัลแตนท์, บจ.ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.เทสโก้, บจ.เอเชียคอนซัลแตนท์, บจ.อินเด็กซ์อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป, บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก, บจ.แปซิฟิคคอนซัล, บจ.ซิกม่าไฮโดร ฯลฯ
"ส่วนบริษัททีมฯและปัญญาคอนซัลฯนั้นหมดสิทธิ์แล้ว เพราะได้ยื่นร่วมกับผู้รับเหมาที่ยื่นประมูลก่อสร้างไปแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขานุการคณะกรรมการ กบอ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเนื้องานของแต่ละโมดูลว่ามากน้อยแค่ไหน และเหมาะสมเพียงใด
เมกะโปรเจ็กต์น้ำมูลค่ามหาศาล ดูเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่ายจริง ๆ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต