เวียงหนองหล่ม : สมบัติของสังคมและมนุษยชาติ
โดย : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พื้นที่ “เวียงหนองหล่ม” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wet Land) ขนาดใหญ่ในภาคเหนือตอนบน อยู่ระหว่างอำเภอแม่จัน และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
เป็นพื้นที่ที่มีค่าและความสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศวิทยา เพราะได้สร้าง/ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช สัตว์น้ำ สัตว์ปีก และสัตว์บก
เดิมทีนั้น "เวียงหนองหล่ม" เป็นสมบัติร่วมกัน (Common Property) ของชุมชนรอบพื้นที่ คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นฐานของการดำรงชีวิตประจำวัน การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ฯลฯ ความเชื่อจากตำนานเป็นหลักค้ำประกันความมั่นคงของการใช้พื้นที่ไม่ให้ใครถลุงใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว ได้แก่ ความเชื่อว่าในพื้นที่นี้เดิมเป็นเมือง (เวียง) แต่ล่มไปเพราะผู้คนไม่รักษาศีลและธรรม พากันไปกินปลาไหลเผือกศักดิ์สิทธิ์ (ยกเว้นแม่ม่ายเพียงคนเดียว) จึงทำให้แผ่นดินยุบตัวลงกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมา
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กระทบต่อความเป็นสมบัติร่วมกันของชุมชน ได้แก่ การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ ความเปลี่ยนแปลงของความคิดในเรื่องระบอบทรัพย์สินในชุมชน และ การขยายตัวของรัฐ
การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ได้เริ่มขึ้นในทศวรรษ 2510 พร้อมไปกับการขยายตัวของรัฐทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ถนน การปลูกข้าว/พืชไร่/ผลไม้ (พืชเชิงเดียว) เพื่อขายได้ขยายตัวมากขึ้นซึ่งทำให้การดำรงชีวิตของคนในชุมชนเวียงหนองหล่มเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อความคิดในเรื่องระบอบทรัพย์สินในชุมชน
ความเปลี่ยนแปลงความคิดในเรื่องระบอบทรัพย์สินได้ปรากฏชัดเจนขึ้น เพราะในด้านหนึ่ง รัฐรับรองทรัพย์สินของชาวบ้านเพียงระบบเดียว ได้แก่ ทรัพย์สินเอกชน (Private Property Regime) รัฐไม่ยอมรับสมบัติชุมชนที่เคยมีมา จึงทำให้สมบัติชุมชนมีสภาพเป็นสมบัติเปิด (Open Access) ให้ใครเข้าไปใช้ได้อย่างเสรี ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ก็ได้ทำให้ชาวบ้านทั่วไปมีโอกาสในการเลื่อนฐานะตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ความหวังจากโอกาสนี้ได้ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีที่ดินเพียงพอในการปรับตัวก็ได้เข้าไปใช้พื้นที่บางส่วนของสมบัติชุมชนเปลี่ยนมาเป็นสมบัติเอกชนหรือสมบัติส่วนตัวเพื่อปลูกข้าวและพืชเชิงเดียวเพื่อขาย
แต่การขยายตัวของชาวบ้านในการเข้าไปใช้พื้นที่บางส่วนของสมบัติชุมชนเป็นการใช้พื้นที่แบบชาวนาย่อย/เล็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาไม่มากนัก การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เข้าไปในพื้นที่หลังทศวรรษ 2520 ต่างหากที่กลืนกินและทำลายความหลากหลายที่มีค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ
ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา กลุ่มทุนใหญ่ได้อาศัยเงินมหาศาลในการกว้านซื้อที่ดินจากชาวนาย่อย/เล็กที่ทำกินรายรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ และเปลี่ยนการใช้มาสู่การทำการเพาะปลูกขนาดใหญ่ (Plantation) ในช่วงแรกเป็นการทำสวนส้ม ต่อมาเมื่อส้มราคาตก ก็ถูกกลุ่มไทยเบฟเวอเรจเข้ามาครอบครองพื้นที่แทน และขยายการปลูกยางพาราออกไปอย่างกว้างขวาง รวมแล้วน่าจะกว่าหมื่นไร่
การขยายตัวของการปลูกยางพาราในพื้นที่รอบข้างและส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะได้ทำลายป่าที่เคยหล่อเลี้ยงน้ำเอาไว้ในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่เป็นสมบัติส่วนตัวของบริษัทและคนรวยจากภายนอกได้สร้างพนังกั้นน้ำ /เขื่อน/บ่อน้ำที่เก็บน้ำเอาไว้ใช้เอง ก็เป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างที่เคยเป็นมาตามธรรมชาติ
การขยายตัวของรัฐเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง การกระจายอำนาจลงสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีขอบเขตอำนาจของตนบนพื้นที่กายภาพทั่วไป ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำนี้อยู่ในการดูแลของสาม-สี่เทศบาล ซึ่งแต่ละเทศบาลเองก็มีวิธีคิดในการจัดการพื้นที่ไม่เหมือนกันและไม่เคยคุยกัน (เพิ่งมาเริ่มคุยกันเมื่อเกิดโครงการวิจัย) ประกอบกับ ความเข้าใจว่าพื้นที่ชุ่มน้ำก็เป็นเหมือนเช่นหนองบึงธรรมดา จึงทำให้การจัดการในแต่ละเทศบาลก็เป็นไปในรูปแบบของการจัดการคูคลองหนองบึงทั่วไป เช่น ตัดถนนเข้าไปในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อกันการบุกรุก โดยไม่รู้ว่าถนนนั้นได้เข้าไปกระทบต่อการไหลเวียนของน้ำอย่างไร
พร้อมกันนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งก็ไม่กล้าที่จะพิสูจน์ว่าเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ออกให้แก่บริษัทและกลุ่มทุนสวนส้มก่อนบริษัทเข้ามานั้นมาได้อย่างไร จะมีกรณีของ สค.บินจากที่อื่นลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่อื่นหรือไม่
การเปลี่ยนจากสมบัติชุมชนมาสู่สมบัติเอกชนของบริษัทยักษ์ใหญ่และความเพิกเฉยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ ยิ่งทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำหมดสภาพไปเรื่อยๆ และจะกลายเป็นพื้นที่ธรรมดาที่รอเวลาให้บริษัทได้กอบโกยตามลำพังต่อไป เชื่อได้ว่า ในไม่ช้าการครอบครองพื้นที่นี้จะขยายตัวต่อไปอีกเมื่อสภาพและคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมธรรมดา
ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ จะทำอย่างไรให้เวียงหนองหล่มไม่ใช่เพียงแค่สมบัติเอกชนที่ถลุงโดยไม่สนใจผลกระทบใดๆ แต่เวียงหนองหล่มจะต้องกลับมาเป็น “สมบัติของสังคม” เพื่อทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศน์ให้แก่มนุษย์ โดยมีชุมชนในพื้นที่เป็นผู้ดูแลรักษา เพราะหากปล่อยเอาไว้เช่นนี้ ก็ย่อมจะเกิด “โศกนาฏกรรมของสมบัติส่วนรวม” เป็นแน่แท้
ผมคิดว่าทางออกเบื้องต้นในการแก้ปัญหาสำคัญนี้ ได้แก่ สังคมต้องหาทางสนับสนุนพี่น้องชาวบ้านที่กำลังพยายามรักษาพื้นที่เอาไว้ ด้วยการแสดงออกให้รัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นรับรู้ว่าพวกเขาต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจนและต้องเข้าไปแก้ปัญหา โดยการร่วมกันหาทางทำให้เวียงหน่องหล่มเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก
คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ หนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้กล่าวในพื้นที่ว่าจำเป็นที่จะต้องหาทางให้ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับการประกาศพื้นที่แรมซาร์ไซด์ไว้แล้ว ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะเสนอเรื่องนี้ได้เอง ดังนั้น หากสังคมช่วยกันสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินเรื่องก็ย่อมจะมีผลดีต่อทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำและการปรับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการประกาศให้เวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่ชุมชนน้ำโลกจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่ที่เป็นสมบัติของสังคมและมนุษยชาติ โดยมีองค์กรชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลให้ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น รัฐส่วนกลางจะต้องให้ความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรให้แก่องค์กรชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมมือกันทำงานดูแลสมบัติของสังคมและมนุษยชาตินี้มากขึ้น
ที่สำคัญอีกประการ ได้แก่ สังคมโดยรวมต้องทำความเข้าใจในการพิทักษ์รักษาสมบัติส่วนรวมนี้ โดยร่วมกันกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่คืนพื้นที่ชุ่มน้ำให้แก่ชุมชนและสังคมโดยเร็ว การร่วมกันคิดและเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้สังคมทั้งหมดได้หวนกลับมาคิดถึงกระบวนการคืนสมบัติชุมชนให้แก่สังคมต่อไปในอนาคตนี้ เพราะการรุกรานพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นนี้เกิดขึ้นทุกหัวระแหงในประเทศไทย
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นผลมาจากการไปดูโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นพื้นที่ “เวียงหนองหล่ม” ซึ่งอาจารย์สินธุ์ สโรบล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ และการร่วมพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ที่รวมตัวกันเพื่อรักษาพื้นที่ไว้ให้แก่ลูกหลาน ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านครับ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต