จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
ถึงขณะนี้ประเทศไทยที่เป็นบิ๊กส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้เลื่อนฐานะเป็นประเทศที่มีโกดังเก็บข้าวสารมากอันดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้ หรือในทางพฤตินัยก็ต้องบอกว่าไทยเป็น “คลังข้าวของโลก” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทั้งๆ ที่มีไทยมีประชากรไม่ถึง 0.1% ของประชากรทั่วโลกที่มี 6,000 ล้านคน
แต่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศว่า ไทยมีโกดังเก็บข้าวสารไม่ต่ำกว่า 30 ล้านตัน เพียงพอที่จะเก็บข้าวสารทุกเมล็ดจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีที่ 2 ของรัฐบาล
“เฉพาะเดือน ม.ค. มีโกดังข้าวสารที่เพิ่งสร้างเสร็จทยอยเข้าร่วมโครงการ 30 โกดัง และโกดังใหม่เก็บข้าวสารได้ 6 ล้านตัน” วัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ท่ามกลางข้อเรียกร้องสมาคมโรงสีข้าวไทยที่ระบุว่า ส่งข้าวสารเข้าโกดังกลางไม่ได้ เพราะโกดังเต็ม
หากพินิจข้อมูลปริมาณข้าวเปลือกที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2555 พบว่ามีปริมาณข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้สั่งสีแปรและข้าวเปลือกที่สั่งสีแปร แล้วคิดเป็นข้าวสาร 1718 ล้านตัน และคาดว่าจะมีข้าวสารทยอยเข้าโครงการภายในสิ้นปี 2556 อีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน
เบ็ดเสร็จเป็นเมล็ดข้าวสาร 27-28 ล้านตัน
จะเป็นรองก็แค่จีนที่มีประชากร 1,300 ล้านคน ที่มีสต๊อกข้าว 44-45 ล้านตัน และอินเดียประชากรเกิน 1,000 ล้านคน มีสต๊อกข้าว 24.5 ล้านตัน
กระทั่งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกมี สต๊อกข้าว 4.5 ล้านตันและ 12 ล้านตัน ตามลำดับ ส่วนเวียดนามที่เป็นคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยก็มีสต๊อกข้าวเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น
ฟังแล้วก็ “หน้าชื่นอกตรมใจ” เพราะไทยได้ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เก็บข้าวสารมากที่สุดอันดับ 3 ของโลกไปเสียแล้ว
ส่งผลให้ธุรกิจโกดังข้าวในไทยอยู่ในยุคเฟื่องฟูที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ปัญหาคือระหว่างการเก็บข้าวสต๊อกไว้ในโกดังกับการระบายข้าวสัมพันธ์กันหรือไม่
ข้อมูลทางการจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มีการระบายข้าวสารประมาณ 2 ล้านตัน แต่ทว่าไม่รวมข้าวสารจำนวนหนึ่งที่ว่ากันว่า แอบขายข้าวกันลับๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านบริษัทเครือข่ายฯ ในรูปแบบ “จีทูจี” และไม่มีการเปิดเผยว่ามีปริมาณอย่างเป็นทางการว่ามีเท่าไหร่ เพราะเป็น “ความลับ” ระดับชาติ
กระทั่งวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังอมพะนำเป็น “น้ำท่วมปาก” ก้มหน้าก้มตาสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการรับจำนำแต่ถ่ายเดียว
สัปดาห์ก่อน บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ตะลอนทัวร์นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อโปรโมตข้าวไทย และบอกว่าจีนนิยมข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวที่มีคุณภาพอย่างข้าวหอมมะลิ การทำโปรโมชันแต่ละครั้ง ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจีนมาก เพราะคนจีนเชื่อว่ากินข้าวไทยแล้วจะมีโชคลาภ เป็นข้อยืนยันว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นตลาดรับรู้และยอมรับได้
เป็นการชี้แจงทั้งๆ ที่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ก็รู้แก่ใจว่า ข้าวที่ขายได้เป็นข้าวที่เอกชนทำตลาดอยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องลงทุนเสียเงินเสียทางไปทำตลาด จีนก็ซื้ออยู่แล้ว
และแม้ว่าข้าวหอมมะลิจะเป็นข้าวนำโชคสำหรับคนจีน แต่ปริมาณที่ซื้ออย่างมากก็ไม่เกิน 3 แสนตัน เพราะราคาสูงลิ่วเทียบกับข้าวหอมมะลิเวียดนาม
ส่วนข้าวสาร ประเภทข้าวขาว 5% ข้าวขาว 25% ยิ่งแล้วใหญ่ เป็นอันว่า “หมดหวัง” ที่จะรุกเข้าไปทำตลาดจีน เพราะจีนสนใจซื้อข้าวดีจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งไม่ต้องระแวงว่า จะมีข้าวเน่าจากบางโกดังซุกอยู่ในกระสอบ อีกทั้งซื้อข้าวสารได้ในราคาถูก
เนื่องจากอินเดียและเวียดนามแข่งกันดัมพ์ราคาข้าวจนอยู่ที่ระดับ 420-440 เหรียญต่อตัน
เช่นเดียวกับการขายข้าวขาวไทยไปตลาดโลก หากราคายังเกิน 500 เหรียญต่อตันอย่างนี้ การขายข้าวออกในราคานี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าคนในรัฐบาลยังมั่นใจในคุณภาพข้าวไทยมีชาติใดๆ เทียบได้
แต่กลับไม่ยอมหันมองวงการข้าวโลกที่หลายประเทศพัฒนาพันธุ์ข้าวกระทั่งคุณภาพดีแทบจะวิ่งหายใจรดต้นคอข้าวไทยทุกทีแล้ว
ที่สำคัญโครงการรับจำนำข้าวเปลือกกระตุ้นให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวขาวที่มี อายุสั้นเก็บเกี่ยวได้เร็วนั้น นอกจากทำให้รัฐบาลต้องควักเงินซื้อข้าวเปลือกเจ้าที่แปรสภาพเป็น “ข้าวขาว” มาเก็บไว้ในโกดังกลางแล้วไม่ต่ำกว่า 12-14 ล้านตัน แล้วเหล่านี้ยังเป็นข้าวคุณภาพต่ำ
“ขณะนี้โรงสีมีโกดังเก็บรักษาข้าวเปลือกไม่เพียงพอ โกดังกลางไม่เปิดรับข้าวสาร และข้าวเปลือกที่รับจำนำ มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เพราะชาวนาปลูกข้าวที่มีอายุสั้นเพื่อให้ทันต่อการนำข้าวเปลือกมาเข้า โครงการรับจำนำ” วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานผลการตรวจราชการ กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ระหว่างวันที่ 2021 ม.ค. 2556 เสมือนเป็นการตอย้ำถึงปัญหาการระบายข้าว
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่ มานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า “การจัดหาที่เก็บข้าวสารถือว่าคลี่คลายไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะการส่งมอบข้าวหอมมะลิไม่มีปัญหา จะมีปัญหาก็แต่การส่งมอบข้าวขาว” นั่นสะท้อนว่ามีรัฐบาลขายข้าวหอมมะลิได้ต่อเนื่อง ทำให้ยังมีที่เก็บ แต่ข้าวขาวไม่มีที่เก็บ เพราะข้าวค้างโกดังเต็มไม่ไปไหนนั่นเอง
ปัญหาการขายข้าวขาวออกจากสต๊อกรัฐบาล ที่ทำให้มีผลขาดทุนน้อยที่สุด จึงเป็นโจทย์หินที่รัฐบาลต้องขบคิดกันให้หนัก
ผู้กำหนดนโยบายต้องชั่งใจว่าจะเลือก “ตัดขา” เพื่อรักษา “ชีวิต” หรือยอมเสียหน้าขายข้าวขาดทุนแลกกับการทำให้ระบบการคลังของประเทศพังครืนอย่างไม่เป็นท่า
นี่คือทางที่ต้องเลือก
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต