จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...มัลลิกา นามสง่า
มีคำกล่าวที่ว่า บางคนก็กินเพื่ออยู่ บางคนก็อยู่เพื่อกิน บางคนก็กินเพื่อสังสรรค์ ทว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นได้เลือกดีแล้วหรือยังว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่ ไม่ใช่แค่น่าตาดี รสชาติอร่อย ซื้อหาหยิบจับเข้าปากง่ายให้เสร็จๆ กันไปในแต่ละมื้อ
ในสหรัฐผู้บริโภคใช้จ่ายเงินมากกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีกับการ เลือกซื้ออาหารฟังก์ชัน ที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยตลาดอาหารประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ท่ามกลางพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ในประเทศเอเชียเองผู้บริโภคก็เริ่มให้ความสนใจกับอาหารฟังก์ชันมากขึ้น
“อาหารฟังก์ชัน” คืออะไร ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ จากชมรมโภชนวิทยามหิดล ให้ความหมายไว้ว่า อาหารหรือสารอาหารชนิดใดๆ ที่อยู่ในรูปธรรมชาติ หรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานกันในชีวิตประจำวัน
ส่วนอาหารที่จัดว่าเป็นอาหารฟังก์ชันมีหลากหลายประเภท เช่น “พรุน” ที่นอกจากจะให้วิตามิน เกลือแร่ และอุดมด้วยใยอาหารที่ช่วยในการระบายท้องแล้ว ยังอุดมด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ “โสม” มีสารที่ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเมื่อยล้า ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถอดทนต่อความเครียดได้ “น้ำมันปลา” ที่ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือโอเมกา 3 ที่สามารถลดระดับไขมัน ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่ “ซุปไก่” ของคนจีนที่ถูกแปรรูปไปเป็นซุปไก่สกัด ก็ให้โปรตีนและสารไบโอเปปไทด์ ที่คนจีนเชื่อว่าช่วยในการสร้างเลือด
อีกอย่างที่เป็นที่นิยม คือ การรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เห็ดต่างๆ รวมทั้ง “เห็ดทางการแพทย์” (Medicinal Mushrooms) ได้แก่ เห็ดไมตาเกะ เห็ดหลินจือ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดชิตาเกะ เป็นต้น ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ให้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกอย่างที่คนจีนนิยมรับประทานกันมาก คือ “รังนกแอ่นกินรัง” ที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่ารังนกช่วยบำรุงหยินที่ปอด ช่วยให้ปอดชุ่มชื่น เสริมธาตุน้ำที่หลอดเสียงและหลอดลม บรรเทาอาการอักเสบของผิวหน้าและแผ่นหลัง เพิ่มความแข็งแรงให้กับไต ม้าม รวมถึงช่วยลดพลังหยาง ส่งผลให้ผิวพรรณดี
สำหรับประโยชน์ของอาหารฟังก์ชัน ผศ.ดร.เอกราช กล่าวว่า เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ และให้ผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรค เพิ่มภูมิคุ้มต้านทาน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับอาหารที่ถูกปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งอาหารที่ถูกเสริมด้วยสารพฤกษเคมีหรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับอาหาร ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารฟังก์ชันด้วยเช่นกัน
ด้าน ดร.ชนิดา ปโชติการ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือ กินเพื่อสุขภาพ ว่าอาหารฟังก์ชันคืออาหารที่ทำหน้าที่อื่นให้กับร่างกายนอกเหนือไปจาก หน้าที่ปกติที่ทำประจำอยู่เดิมในการให้สารอาหารที่จำเป็น ซึ่งหน้าที่ที่ทำพิเศษไปกว่าปกติ เช่น
ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของร่างกาย
ส่งเสริมและควบคุมให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ
ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
ป้องกันโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ เช่น โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด
ควบคุมหรือลดอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเข้าใจว่าอาหารฟังก์ชันไม่ใช่อาหารหลัก จึงไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้ แต่เป็นอาหารที่รับประทานเพื่อเสริมอาหารหลัก ที่อาจได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพียงพอและเหมาะสม ครบทุกหมวดหมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อการส่งเสริมให้มีสุขภาพดี
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต