จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไอหมอกจางๆ ที่ลอยมาพร้อมกับแสงสว่างของอรุณรุ่ง แม้จะช่วยคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทางไม่ได้ แต่มันก็ทำให้หัวใจของนักเดินทางทุกคนเบิกบาน
"พระอาทิตย์ขึ้นทุกวัน" เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้และไม่มีข้อสงสัย แต่สถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยที่สุดอยู่ที่ใด ไม่เคยมีใครตอบเรื่องนี้ได้เลยสักคน
เพราะไม่รู้ในคำตอบนั้นฉันจึงพยายามเสาะแสวงหา เดินทางไปชื่นชมพระอาทิตย์ขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง กระทั่งได้ค้นพบว่า ไม่ว่าพระอาทิตย์จะขึ้นที่ไหน ขอเพียงชื่นชมมันด้วยหัวใจ พระอาทิตย์ก็จะงดงามที่สุดได้โดยไม่ต้องใช้บรรยากาศ
ขุนเขาในตำนาน
5 นาฬิกาเศษ ฉันยืนอยู่บน "ยอดเขานารายณ์" จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดอีกมุมหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ที่บอกแบบนี้เพราะฉันรู้สึกว่ามันสวยที่สุดจริงๆ อาจเป็นเพราะเมื่อวานเราเดินทางขึ้นเขากันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย พอจะมีสิ่งที่เป็นกำลังใจได้บ้างก็เลยรู้สึกกับมันเสียมากมาย
อุทยานแห่งชาติรามคำแหง หรือ ป่าเขาหลวง มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอคีรีมาศ อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สภาพป่าของที่นี่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย ส่วน ยอดเขาหลวง ที่หลายคนปรารถนาที่จะขึ้นไปพิชิตให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิตนั้น มียอดเขาที่สำคัญอยู่ 4 ยอด คือ ยอดเขาภูกา และยอดเขาแม่ย่า มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาพระเจดีย์ มีความสูง 1,185 เมตรจากระดับน้ำทะเล และยอดเขานารายณ์ มีความสูง 1,160 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เคยได้ยินกิตติศัพท์ของเขาหลวงมามาก ทั้งในเรื่องความสูงชันของเส้นทาง ความรกทึบของผืนป่า ได้ยินแม้กระทั่งว่าภูเขาแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวสุโขทัยมาช้านาน แต่แม้จะได้ยินมาอย่างนั้นฉันก็ยังไม่เคยเชื่ออย่างสนิทใจ จนวันนี้...วันที่ได้มายืนอยู่บนยอดเขาที่เขาว่ากันว่า "ศักดิ์สิทธิ์" ความคิดของฉันก็เปลี่ยนไป
"...เบื้องหัวนอน (ทิศใต้) เมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ (ทำนบพระร่วง) มีป่าพร้าว ป่าลาง (ขนุน) ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพยกาในเขา (เขาหลวง) อันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้วไหว้ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยงเมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย..."
คำโบราณที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ของจารึกพ่อขุนรามคำแหง เพิ่มดีกรีความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาแห่งนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมี ทนงค์ อ้นทอง นักวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่สื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติรามคำแหง มายืนยันถึงความเชื่อที่มองไม่เห็นนั้นด้วยเรื่องเล่าเคล้าเรื่องจริงอีกนับสิบเรื่อง ทำให้การเดินทางของฉันในครั้งนี้มีอาการสงบเสงี่ยมกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา
สำหรับนักเดินป่า "เขาหลวง" อาจเป็นแค่บทเรียนชั้นอนุบาลที่สามารถผ่านไปได้ไม่ยากเย็นนัก ทว่า ระดับแรกที่ว่าไม่ยากนี้แหละ ยากที่สุด
เส้นทางอันแสนโหด
ก่อนเริ่มต้นเดินเท้า พี่ทนงค์บอกให้เราเข้าไปไหว้ "หลวงพ่อพุทธพิทักษ์พนาวัน” ที่ประดิษฐานอยู่ตรงทางขึ้นเขาก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล ฉันทำตามก่อนจะแหงนหน้าขึ้นไปมองยอดเขาที่อยู่ไกลลิบๆ นั่นอีกครั้ง มองจากด้านล่างไม่สูงมากนัก น่าจะไม่เกินกำลัง ไป-กลับ 55 กิโลเมตรอย่างการเดินป่าพิชิตยอดเขาโมโกจูฉันยังเคยเดินมาแล้ว กะแค่เพียง 3.7 กิโลเมตรจากที่ทำการอุทยานฯ จะหนักหนาสาหัสสักแค่ไหนกัน แต่...
เพียงแค่เริ่มต้นเขาหลวงก็ต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนด้วยอาการหอบเหนื่อย มันเป็นเส้นทางที่สูงชันจนเกือบจะเรียกว่าตั้งฉากกับพื้นล่างก็ไม่ปาน ฉันทิ้งร่างลงกับแคร่ไม้ไผ่ข้างทางหลายต่อหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ผ่านไปได้เพียงไม่กี่ร้อยเมตร แบบนี้หรือเปล่าที่เขาเล่าลือกันถึงความโหดของภูเขาลูกนี้
พ้นระยะ 1,000 เมตรแรกมาได้เราก็มาถึงจุดพักบริเวณ "ต้นประดู่ใหญ่" ตรงนี้มีต้นประดู่ยักษ์อยู่จริงๆ แต่มันสิ้นใจตายไปนานแล้ว เราพักอยู่ชั่วครู่ก็ต้องขยับเท้าก้าวเดินต่อ กัดฟันเดินฝ่าเนินหินสูงชันนั้นขึ้นไปจนถึง "มออีหก" วินาทีนี้ใครอยากทิ้งอะไรก็ทิ้งไป เพราะยังมีลูกหาบตามเก็บสัมภาระได้ แต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปแล้วอย่าหวัง เพราะพี่ท่านทั้งหลายจะหาบสัมภาระทิ้งเราไปเร็วจี๋
ละความสนใจจากความเหนื่อยด้วยการหันไปชื่นชมพืชพรรณที่อยู่ระหว่างทาง ต้นไม้สูงๆ เหล่านั้นหากประเมินอายุอานามแล้วคงไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี หรืออาจจะเป็นร้อยปีก็ได้ในบางต้น เห็นแล้วก็อดนึกถึงคนลักลอบตัดไม้ที่ฉันเคยประจันหน้าตอนไปเดินป่าในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งไม่ได้ ต้นไม้ใช้เวลาเติบใหญ่มาได้เป็นสิบเป็นร้อยปี แต่เพียงเสี้ยววินาทีของความโลภก็สามารถลบต้นไม้นั้นออกไปจากผืนป่าได้ ช่างใจร้ายเสียจริง
สายลมเอื่อยๆ พัดมาเป็นระยะ และดูจะชื่นใจมากขึ้นเมื่อเราเดินมาถึง "จุดชมวิว" คราวนี้ได้พักนานหน่อยเพราะมีทั้งน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำให้ดื่มชนิดที่ว่า เย็นชื่นใจ ไหนจะวิวสวยๆ ที่มองไกลได้จนสุดขอบฟ้า จากขาที่ล้าๆ เลยกลับมามีแรงกระชุ่มกระชวย
มื้อเที่ยงของฉันวันนี้เป็นข้าวเหนียวกับไข่เค็ม ฟังดูไม่น่าพิสมัยแต่เชื่อหรือไม่ว่านี่เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดอีกมื้อหนึ่งของฉัน เรานั่งกินข้าวกันเงียบๆ แบบไม่พูดไม่จาอยู่ตรง "ต้นตะเคียนคู่" ที่ว่าไม่พูดไม่จาเพราะทุกคนต่างอึ้งกับชุดไทยที่แขวนอยู่ตรงหน้า เพียงแค่สบตาก็รู้ใจกันว่าหมายถึงอะไร
สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราพักอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน แม้หนทางจะสูงชันแต่ไม่มีใครพิรี้พิไรอยู่ตรงนั้นได้นานสักคน กระทั่งมาถึง "น้ำดิบผามะหาด" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำซับที่ไหลลงไปให้เราได้ดื่มกินระหว่างทาง ฉันสัมผัสได้ถึงความเย็นฉ่ำเมื่อยืนอยู่ตรงนี้ ก่อนจะไปล้มตัวลงกับแคร่ไม้ไผ่อีกทีที่ "ชานเบิกไพร" แล้วเดินลากขาขึ้นไปจนถึง "ไทรงาม"
"ไทรต้นนี้มหัศจรรย์มาก อายุเป็นพันปี ต้นไม้ประเภทนี้ถ้ากิ่งแผ่ไปที่ไหนก็จะปล่อยรากอากาศลงมา ถ้ามันตกถึงดินแล้วก็จะเป็นรากค้ำยัน เป็นหลักให้ต้นได้เลย แล้วมันก็สามารถขยายไปได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด" พี่ทนงค์ เล่าถึงความมหัศจรรย์ของต้นไทร
จากตรงนี้เส้นทางดูเหมือนจะปกติมากขึ้น แต่ไม่ใช่ราบแบบขนานกับพื้นโลก เพราะมันยังคงมีเนินโหดๆ ให้ได้ออกแรงกันอีก เราเดินไปจนถึง "ปล่องนางนาค" พี่ทนงค์ก็เล่าถึงประวัติความเป็นมาให้ฟัง แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าเรื่องราวพิสดารอย่างไรแนะนำให้ลองไปพิชิตยอดเขาหลวงดู ฉันฟังแล้วยังขนลุก
ก่อนจะถึงจุดหมายเราเดินผ่านอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่เรียกว่า "พระยาแล่นเรือ" ไปก่อน จากนั้นจึงถึงเนินวัดใจสุดท้ายที่พี่ทนงค์ยกให้เป็นเนินปราบเซียน
"เราเรียกเนินหนุ่มเข่าอ่อน หรือ มอตะคริว เพราะส่วนใหญ่คนเดินมาถึงตรงนี้แล้วจะรีบเดินขึ้นไป ทั้งๆ ที่ร่างกายเพิ่งพักเต็มที่ ทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายๆ"
กว่าจะถึงจุดพักแรมได้ก็เล่นเอาพลังกายพลังใจหายไปหมดสิ้น
บนโลกแห่งความงาม
ความสำคัญของเขาหลวงอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นภูเขาที่มีธรรมชาติงดงาม ทั้งยังผูกพันกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เล่าขานเป็นตำนานที่เกี่ยวกับกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ดังจะเห็นได้จากร่องรอยโบราณสถานต่างๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็น สรีดภงศ์ (ทำนบพระร่วง) โซกพระร่วงลองพระขรรค์ เขาแม่ย่า ถนนพระร่วง ประตูป่า ประตูเปลือย ฯลฯ
เรื่องเล่าทั้งจากตำนานและพงศาวดารดูเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก แต่เมื่อเราขึ้นมาสัมผัสจะรู้สึกได้ทันทีว่าสิ่งที่เล่าขานกันนั้นมันคือเรื่องจริง
บนยอดเขามีพื้นที่กว้างขวางหลายร้อยไร่ ลักษณะเป็นทุ่งหญ้าขนาดกว้าง สามารถเดินชมจุดท่องเที่ยวต่างๆ ได้ครบรอบด้วยระยะทางราว 2 กิโลเมตร เราเลือกวนซ้ายไปชมร่องรอยการกำเนิดของพระร่วงเจ้าที่ "ถ้ำมเหรก" ก่อน ว่ากันว่าพระร่วงเจ้าเป็นราชบุตรของธิดาพญานาคที่ถือกำเนิดมาด้วยการสำรอก ทำให้ที่นี่กลายเป็นตำนานของภูเขาพระร่วง
จากถ้ำมเหรกเราเดินผ่านทุ่งหญ้าแฝกหอมต่อไปเรื่อยๆ มองดูตรงนี้คล้ายทุ่งหญ้าสะวันน่าก็ไม่ปาน กระทั่งถึง "ยอดเขาเจดีย์" ฉันจึงได้ชื่นชมเมืองสุโขทัยได้อย่างเต็มตา พี่ทนงค์ว่า ในอดีตบริเวณนี้เคยมีเจดีย์อยู่ตรงนี้จริงๆ และชาวบ้านก็จะขึ้นมาประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่นี่ แต่เพราะเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้เจดีย์ที่ว่านั้นอันตรธานหายไป
"เมื่อก่อนยอดเขาหลวงเป็นจุดสังเกตการณ์ของทหารญี่ปุ่น มีหลักฐานเป็นหินก้อนหนึ่งที่แกะสลักเป็นเข็มทิศ โดยใช้ตัวเลขอารบิกแล้วมีลูกศรชี้ ทำเป็น 8 ทิศเลย ใกล้ๆ กันตรงนั้นจะมีสถูปเก่า แต่มันอยู่ใกล้หน้าผามาก พอมีคนไปขุดก็ทรุดร่วงลงไปหมด" พี่ทนงค์ เล่าถึง "ยอดเขาภูกา" ที่อยู่อีกฟาก ซึ่งเราไม่ได้เดินไปตรงนั้นเพราะพระอาทิตย์ที่ทำงานมาตลอดทั้งวันกำลังหมดแรง
"ยอดเขาแม่ย่า" คือจุดชมพระอาทิตย์ตกในวันนี้ ด้านหน้าของฉันคือเมืองสุโขทัยที่กำลังจะหลับใหลไปพร้อมกับการพักผ่อนของแสงตะวัน หมอกจางๆ เริ่มคืบคลานเข้ามาห่มคลุม ฉันเลือกหลบอยู่หลังหินก้อนใหญ่เมื่อรู้สึกว่าลมที่พัดแรงไล่เอาความหนาวเย็นเข้ามาปะทะจนร่างกายแทบจะรับไม่ไหว แต่ก็ยังจะหันไปสบตาให้กับแสงสุดท้ายของวัน พร้อมๆ กับยิ้มให้มันเหมือนกับจะบอกว่า แล้วพบกันใหม่
5 นาฬิกาเศษ ฉันยืนอยู่บน "ยอดเขานารายณ์" จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดอีกมุมหนึ่งของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง
ไอหมอกจางๆ ที่ลอยมาพร้อมกับแสงสว่างของอรุณรุ่ง แม้จะช่วยคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทางไม่ได้ แต่มันก็ทำให้หัวใจของนักเดินทางทุกคนเบิกบาน
.........................
การเดินทาง
เขาหลวง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเอเชียวิ่งผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร แล้วเลือกเข้ามาทางอำเภอพรานกระต่าย เลาะมาจนถึงอำเภอคีรีมาศ ก่อนจะเข้าที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 423 กิโลเมตร หรือจะเลือกใช้เส้นทางสายเอเชียเหมือนเดิม แต่แทนที่จะวิ่งตรงจากนครสวรรค์เข้ากำแพงเพชร ก็ให้เลี้ยวขวามาพิษณุโลก วิ่งตามป้ายสุโขทัยแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอคีรีมาศ ระยะทางจะมากกว่านิดหน่อยคือ 457 กิโลเมตร สะดวกเส้นไหนก็เลือกเอา
ส่วนที่พักบนยอดเขาหลวงมีเพียงแค่เต็นท์ นักท่องเที่ยวจะนำเต็นท์ไปเองก็ได้ โดยจะต้องเสียค่าใช้สถานที่ 30 บาทต่อคน หรือจะไปเช่าด้านบนก็มีให้บริการทั้งเต็นท์ ถุงนอน เสื่อ แต่ไม่มีบริการร้านอาหาร นักท่องเที่ยวต้องนำขึ้นไปประกอบอาหารเอง สำหรับพื้นที่ประกอบอาหารนั้นไม่อนุญาตให้ก่อกองไฟตามสะดวก เพราะเจ้าหน้าที่จัดเตรียมพื้นที่สำหรับปรุงอาหารไว้ให้แล้ว แต่ถ้าไม่ได้เตรียมอาหารไปที่ร้านค้าสวัสดิการก็มีอาหารกึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวต่างๆ จำหน่าย
นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางพิชิตยอดเขาหลวงสุโขทัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง โทรศัพท์ 0 5591 0000-1 และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุโขทัย โทรศัพท์ 0 5561 6228-9
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต