จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
นับเป็นอีกห้วงเวลาที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 1 กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนักทั้งในเรื่องจริยธรรมและการทุจริต โดยเฉพาะอย่างหลังได้กลายเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์อยู่ไม่ใช่น้อย หลังจากมีคดีไหลเข้าสู่ระบบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน “บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะแล้ว จึงเป็นจังหวะเหมาะที่โพสต์ทูเดย์จะได้สนทนากับ “อาจารย์วิชา มหาคุณ” กรรมการ ป.ป.ช.ที่เข้ามารับหน้าที่โดยตรงถึงแนวทางไต่สวนคดี
“การทุจริตในสมัยปัจจุบันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้น พูดกันตรงๆ หมายความว่า เอาโครงการเดียวทั้งประเทศ อย่างกรณีจำนำข้าวเราไม่ได้ฟันธงว่าทุจริต แต่กระบวนการของมันจะเห็นได้เลยว่าจำนำข้าวทุกเมล็ดต้องพิสดาร คุณจะเอาที่ไหนมาเก็บข้าว คุณจะไปตรวจสอบได้ยังไงว่าแต่ละยุ้งฉางมีความเสื่อมราคาหรือเปล่า เป็นข้าวมาจากเมืองไทยหรือจากชายแดน มันไม่สามารถแยกแยะได้เลย” อาจารย์วิชา มองปัญหาในภาพรวม
อาจารย์วิชา บอกถึงขั้นตอนของ ป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช.ต้องดูละเอียดมาก เพราะเป็นการกล่าวหาทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน ระดับบนก็ดูว่าวางนโยบายอย่างไร การขายข้าวจีทูจีเป็นข้าวจำนวนไหนที่ขาย ดำเนินการขายอย่างไรแบบไหน ต้องดูละเอียด
“เรามีประสบการณ์มาแล้วจากการตรวจสอบคดีทุจริตรถดับเพลิงที่มีจีทูจี เหมือนกันจะทำให้เรารู้ได้ว่า จีทูจีเรื่องข้าวที่มีอ้างกันนั้นเป็นจีทูจีจริงหรือจีทูจีปลอมได้เลย เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์เหมือนกัน...
...นอกจากนี้ เราจะดูเปรียบเทียบกับจีทูจีที่กระทรวงกลาโหมเคยใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาดูและศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม คงถือกรณีของรถดับเพลิงหรือของกระทรวงกลาโหมมาเป็นบรรทัดฐานเลยคงไม่ได้ แต่เราจะเรียกว่าเป็นโมเดลในการตรวจสอบ”
การขายข้าวจะจับพิรุธและความผิดปกติจากตรงไหน? กรรมการ ป.ป.ช.ท่านนี้ ตอบทันควันว่า “ต้องดูสัญญาว่ามีจริงหรือไม่...จีทูจีมันต้องเป็นรัฐต่อรัฐ Government to Government ซึ่งคดีรถดับเพลิงเป็นตัวอย่างสำคัญของการทำจีทูจีที่ผิดปกติ”
มีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดการขบคิดกันมากว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าไม่สามารถตรวจสอบการจำนำข้าวได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบายแล้ว ป.ป.ช.จะดำเนินการได้อย่างไร ได้รับคำตอบจากอาจารย์วิชา ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา ดังนี้
“เราไปชี้ถูกชี้ผิดในเรื่องนโยบายของรัฐไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ แต่จะดูในเชิงว่าเขาออกกฎหมาย ออกกฎเกณฑ์ ออกข้อบังคับอะไร เพื่อที่ก่อให้เกิดช่องทุจริตหรือไม่ และมีการทุจริตตามนั้นจริงหรือเปล่า แต่เราจะเห็นได้ว่ามีนักเศรษฐศาสตร์และกระบวนการทางการเมืองที่ชี้ให้เห็น ว่านโยบายจำนำข้าวขัดกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ...
...การผูกขาดการขายข้าวโดยรัฐ ให้รัฐเป็นผู้ขายข้าวสารข้าวเปลือก แต่เพียงผู้เดียวอย่างนี้ถือว่าขัดกับหลักเศรษฐกิจเสรีหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เราดูเช่นกัน แต่ไม่ได้ดูโดยตรง เพราะจะดูแค่ว่าสิ่งนี้ได้เอื้อให้เกิดการทุจริตหรือไม่ โดยผ่านกระบวนการที่มีคนมาแฝงเร้นใช้อำนาจรัฐ”
อาจารย์วิชา ย้ำชัดในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “เราไม่ได้ดูว่าเมื่อนโยบายนี้ขัดกับหลักเศรษฐกิจแล้วจะถือเป็นความผิดฐาน ประพฤติมิชอบ แต่จะดูว่าไอ้นี่เป็นกระบวนการผูกขาดโดยการใช้อำนาจรัฐหรือไม่ เป็นไปตามทฤษฎีทางการเมืองในเรื่องการทุจริตที่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องของการ ผูกขาดและใช้อำนาจนั่นแหละคือการทุจริต ดังนั้น ป.ป.ช.จะดูว่าเขาใช้กลไกแห่งรัฐตัวนี้ เพื่อนำไปสู่การโกงหรือไม่”
ป.ป.ช.จะใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะสามารถสรุปและชี้มูลความผิดได้? เจอกับคำถามนี้ อาจารย์วิชาถึงกับครุ่นคิดพอสมควรก่อนตอบว่า “คงบอกเป็นจำนวนวันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคดีทั่วๆ ไปก็ประมาณ 6 เดือน-1ปี ก็น่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้น แต่ถ้าเป็นคดีที่ซับซ้อนก็น่าจะนานกว่านั้นประมาณ 1 ปีครึ่ง-2 ปี
การที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการให้ความเป็นธรรมกับ ทุกฝ่าย เช่น อาจมีบางกรณีที่ขอเลื่อนการชี้แจงเพราะต้องหาเอกสารหลักฐาน เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาก็จะถูกร้องไปยังศาลปกครองได้ว่า กระบวนการของ ป.ป.ช.มิชอบด้วยกฎหมายได้”
...อย่างคดีคลองด่าน ป.ป.ช.ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ยากมาก หรือกรณีการสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ ก็ใช้เวลานานประมาณ 2 ปี เพราะกระบวนการหาข้อเท็จจริงต้องสอบพยานมากกว่า 100 ปาก”
เหนืออื่นใด อาจารย์วิชา มองว่าการตรวจสอบการทุจริตต่อให้ยากแค่ไหนก็ไม่น่ากังวลเท่ากับความเฉยชาของ คนที่กำลังคิดว่าทุจริตไม่เป็นไรขอให้ได้ประโยชน์ เป็นทัศนคติอันตรายต่อสังคม เพราะโลกรับไม่ได้กับประเทศที่ถือการทุจริตเป็นวัฒนธรรม ซึ่งการแก้ไขตรงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง เพื่อทำลายระบบอุปถัมภ์
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต