สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อมูลลับประจาน ก.เกษตรฯ ละเลงเงินกู้ 10,000 ล้านดันราคายาง หายวับใน 6 เดือน

จากสำนักข่าวอิสรา

เปิดแผนใช้จ่ายเงินกู้ โครงการดันราคายางพารา ก.เกษตรฯ พบทุ่ม 10,000 ล้าน แต่หายวับใน 6 เดือน ควักวันละ 300-400 ล้าน ซื้อผลผลิตเข้าสต็อก สุดท้ายเหลว เสนอ ครม. ขอโปะด่วนอีก 30,000 ล้าน 


     ความคืบหน้าการตรวจสอบ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้วงเงินหลายหมื่นล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมายอมรับว่า มีการตรวจสอบสถาบันเกษตรกร นำยางซึ่งไม่ใช่ของสมาชิกมาสวมสิทธิ์สมาชิกแล้วคิดค่าบริหารจัดการเพื่อหา กำไรจากโครงการ

     สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า การใช้จ่ายงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพื่อพยุงราคายางให้สูงถึงระดับ 120 บาทต่อกิโลกรัมตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้นั้น โดยในช่วงระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน มกราคม 2555 จนถึงเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ใช้เงินกู้ไปแล้วจำนวน 10,000 ล้านบาท แต่ดันราคายางในท้องตลาดได้แค่ 75-80 บาท ต่อกิโลกรัม

     ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขออนุมัติวงเงินกู้ เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ พบว่า ได้ระบุใน หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 1602/2870 ลงวันที่ 17 กันยายน 2555 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราขอวงเงินสนับสนุนเพิ่มเติม 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่ครม.อนุมัติวงเงินมาแล้ว จำนวน 15,000 ล้านบาท ว่ารัฐบาล ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางในประเทศ โดยอนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรฯมาดำเนินโครงการ พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตั้งแต่เดือน มกราคม 2555 จนถึงปัจจุบัน แต่ราคายางในตลาดท้องถิ่น ตลาดกลางยางพาราฯ อยู่ที่ระดับ 75-80 บาท ต่อกิโลกรัม

    ในขณะที่ยางแผ่นดิบ คุณภาพ 3 ของโครงการฯ ตรึงราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ100 บาท มีส่วนต่างกิโลกรัมละ20-24 บาท ทำให้ชาวสวนยาง เข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น และนำยางมาขายในโครงการฯมากถึงวันละ 3,000-4,000 ตัน ต้องใช้เงินซื้อยางวันละ300-400 ล้านบาท

    กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ขณะที่การดำเนินงานโครงการฯ ในช่วงเวลาที่เหลือ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 -31 มีนาคม 2556 คาดหมายปริมาณการซื้อยางตั้งแต่กันยายน 2555-มีนาคม 2556 โดยประมาณการ 15% ของตัวเลขผลผลิตยางของประเทศไทย ปี 2554 -55 ในช่วงเวลาเดียวกัน ในระดับราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 กิโลกรัมละ 100 บาท ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 104 บาท และรวมต้นทุนการผลิตเฉลี่ยกิโลกรัมละ 106 บาท จะต้องใช้วงเงินกู้ในการดำเนินการเพิ่มเติมโดยประมาณ 30,000 ล้านบาท

    กระทรวงเกษตรฯ ยังระบุด้วยว่า “เนื่องจากวงเงินของโครงการฯ ที่ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 จำนวน 10,000 ล้านบาท ได้ใช้ซื้อยางหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2555 ส่วนวงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ใช้ชำระค่าซื้อยางให้สถาบันเกษตรกรที่นำยางมาขายตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2555 –วันที่ 10 กันยายน 2555 จึงจำเป็นต้องขออนุมัติวงเงินกู้ของโครงการฯ เพิ่มเติม จำนวน 30,000 ล้านบาท”

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสนอเรื่องขออนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 30,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุมครม. ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นว่า องค์การสวนยาง ควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการฯ โดยเพิ่มจุดรับซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งให้กับเกษตรกร และใช้แนวทางความร่วมมือในการชะลอการส่งออกยางตามสัดส่วนปริมาณการผลิตยาง ของประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยดึงราคายางให้สูงขึ้นและควรมีมาตรการในการ บริหารจัดการเพื่อชะลอการส่งออกภายในประเทศที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ส่ง ออก

    “เพื่อให้การขอเพิ่มวงเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ตามโครงการฯ ไม่เป็นภาระงบประมาณให้กับภาครัฐ องค์การสวนยางควรกำหนดแผนบริหารจัดการในการระบายยางในสต็อกให้ชัดเจนภายหลัง ครบกำหนดระยะเวลา6 เดือนที่ต้องจำกัดปริมาณการส่งออก พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การตั้งราคารับซื้อยางพาราให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ดำเนินธุรกิจของ อ.ส.ย.มีความคล่องตัวและไม่เป็นภาระในการชดเชยส่วนต่างของราคาซึ่งสูงกว่า ที่ควรจะเป็น" สศช.ระบุ 

     ขณะที่กระทรวงมหาดไทย เสนอความเห็นว่า ควรกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตด้วย

    เบื้องต้น ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 มีมติอนุมัติให้องค์การสวนยาง กู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เพื่อดำเนินโครงการฯ นี้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ข้อมูลลับ ประจาน ก.เกษตรฯ ละเลงเงินกู้ 10 000 ล้าน ดันราคายาง หายวับ 6 เดือน

view