เปิดใจ'กำนันทรง'60ล้านคนรับกรรมจำนำข้าว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดใจ"กำนันทรง"เจ้าของท่าข้าวที่ยิ่งใหญ่ในอดีต มอง 60 ล้านคนรับกรรม"จำนำข้าว"ออกอากาศกรุงเทพธุรกิจทีวีคืนนี้(19 ธ.ค.)เวลา 20.00-21.00 น.
"รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะซื้อเกวียนละ 2 หมืน หรือ 3 หมื่นก็ได้ เพราะไม่ใช่เงินคุณยิ่งลักษณ์ มันเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน และแกก็ชาญฉลาดมาก รัฐบาลนี้ เอาเงินภาษีอากรมาซื้อใจประชาชน จะให้ 1.5 หมื่นบาท 2 หมื่นบาท หรือ 3 หมื่นบาทก็ได้ ชาวนาก็ชอบ พอขายรัฐบาลก็ชอบ แต่พอขายข้าวขาดทุนก็เป็นเรื่องของคน 60 กว่าล้านคนที่ต้องรับผิดชอบ ผมมองดูแล้วมันไม่มีความเป็นธรรมในคน 60 กว่าล้านคน"
นี่คือมุมมองของ "กำนันทรง"หรือ ทรง องค์ชัยวัฒนะ ผู้ก่อตั้งตลาดกลางค้าข้าวแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2508 ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่รู้จักกันในนาม "ท่าข้าวกำนันทรง" ตลาดกลางซื้อขายข้าวเปลือกใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่สะท้อนความเป็นห่วงภาระที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศจากการดำเนินโครงการรับจำข้าวทุกเมล็ด ตันละ 15,000 บาทของรัฐบาล
ด้วยประสพการณ์ที่อยู่ในวงการค้าข้าวมานานกว่า 40 ปี ท่าข้าวกำนันทรง จึงเป็นพื้นที่ต้อนรับนายกฯ ตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บรรหาร ศิลปอาชา และชวน หลีกภัย ที่ลงไปขอความเห็นนโยบายข้าว ถึง จ.นครสวรรค์
เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ลงไปขอความเห็นเรื่องข้าวกับกำนันทรง ตั้งแต่ยังไม่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
"ผมแนะนำคุณทักษิณว่า นโยบายข้าวต้องให้ชาวนาอยู่ได้ แต่ต้องไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน พอบอกเช่นนั้น คุณทักษิณก็ไม่ค่อนสนใจเท่าไหร่ แต่คุณทักษิณบอกเลยว่าต้องจำนำข้าวแน่ ผมก็บอกไปว่าจำนำข้าวจะมีการรั่วไหลเยอะ ถ้าท่านอยากเป็นนายกฯตลอดกาล ท่านไปจัดหาแหล่งน้ำดีกว่ามาทำเรื่องจำนำ ถ้าทำอย่างนั้นได้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร เพราะเมื่อเกษตรกรมีแหล่งน้ำเพาะปลูก แรงงานก็จะไม่ไหลมาอยู่ในกทม."
แต่หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เขาก็เดินหน้านโยบายรับจำนำข้าว และ “ท่าข้าวกำนันทรง”ก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรับจำนำข้าว จนต้องปิดตัวลงในปี 2549
"กำนันทรง" ยังเปรียบเทียบนโยบายรับจำนำข้าวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรว่า ทุกนโยบายมีการทุจริตเหมือนกันหมด แต่รูปแบบและผู้ได้รับประโยชน์จากการทุจริตต่างกัน
"รัฐบาลของคุณทักษิณรับจำนำข้าว รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ใช้ประกันราคาข้าว รวมความแล้วถ้าจะโกงก็โกงทุกรัฐบาล แต่วิธีการโกงประกันราคาข้าวส่วนใหญ่ชาวนาโกงรัฐบาล เช่นมีที่ดินที่ไม่ทำนาก็มาอ้างว่าทำนา มาขึ้นทะเบียนแต่จริงๆไม่ได้ปลูกข้าว แต่ชาวนาโกงผมก็ว่าเงินไม่ได้มากเท่าไหร่"
ส่วนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ซื้อข้าวเกวียนละ1.5 หมื่น จริงๆจะซื้อ 2 หมื่น 3 หมื่นก็ได้เพราะไม่ใช่เงินของตัวเอง มันเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน สุดท้ายข้าวก็ไปกองอยู่ในโกดัง รัฐบาลมีอำนาจจะซื้อเอง ขายเองก็ได้ หรือจะเปิดประมูลโดยวิธีการอะไรก็ได้ เพราะเขามีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ คือก็มีการโกง แต่ไม่ใช่โกงหลากหลาย โกงคนเดียวเลย ประกันราคาข้าวชาวนาโกงหลายล้านคน แต่จำนำข้าวพวกหลายล้านคนไม่ต้องโกง โกงคนเดียว”
"กำนันทรง"บอกว่า ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง อยากฝากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกร และราคาข้าวก็อย่าให้แพงเกินไปจนกรรมกรเดือดร้อน ส่วนการคอร์รัปชั่นมันมีมาทุกสมัย ขึ้นอยู่กับว่าจะมีมากหรือน้อย จึงอยากขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เอาใจใส่ให้การทุจริตเบาบางลง แต่จะให้ได้ 100% คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์พยายมเรื่องแหล่งน้ำ ปลูกป่า และโครงการพระราชดำริต่างๆ ได้คุณยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกฯอีก 50 ปี
'บุญทรง 'เลื่อนเปิดผลสอบระบายข้าว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"บุญทรง" เลื่อนแถลงผลสอบระบายข้าว อ้างคณะทำงานยังไม่พร้อม หลังผู้ส่งออกตบเท้าให้ข้อมูลซื้อข้าวรัฐบาลก่อน
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการสอบถามคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ที่มีนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน พบว่าอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดสรุป คาดว่าอย่างเร็ว ภายในวันที่ 21 ธ.ค.นี้จะแล้วเสร็จ และพร้อมแถลงผลการตรวจสอบทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า การทำงานของคณะกรรมการฯได้เชิญบริษัทผู้ส่งออกข้าวที่เคยซื้อข้าวจากรัฐบาลในช่วง 3 ปีย้อนหลังมาให้ข้อมูล แต่พบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะให้เจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติงานมาให้ข้อมูล ทำให้ไม่ได้รายละเอียดมากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯได้เน้นการตรวจสอบเอกสารการซื้อขายเป็นหลัก ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย คือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และเงื่อนไขการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่าน โดยเฉพาะกรณีการขายเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศและการขายแบบรัฐต่อรัฐว่ามีขั้นตอนการทำสัญญาอย่างไร ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ และมีเอกสารหรือบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง
โดยคณะกรรมการสามารถเรียกข้อมูล เอกสารและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานรัฐและเอกชนมาตรวจสอบรวมถึงเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบได้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต