|
ซำแฮก ปฐมบทสู่การเป็นผู้พิชิตภูกระดึง |
|
|
ในชีวิตของคนเรา คงจะมีหลายครั้งหลายคราที่ได้พบพานกับความสุขจากความสำเร็จ เหมือนที่ “ตะลอนเที่ยว” ก็เพิ่งพบพานความสนุกและสุขใจที่ได้จากการขึ้นไปพิชิตยอด “ภูกระดึง” ในพื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องไปพิชิตให้ได้ ก่อนจะออกเดินทางนั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญต้องทำการจองที่พักบนภูกระดึงไว้ก่อนล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลนั้นจะมีนักท่องเที่ยวมากมายขึ้นมาที่ภูกระดึง ดังนั้น หากไม่ได้จองที่พักไว้ก่อนก็อาจจะไม่มีที่นอนได้ |
|
จุดพักเหนื่อย พักชมวิวบริเวณซำแฮก |
|
|
เราออกสตาร์ทจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของภูกระดึง เพื่อยืนยันการจองที่พัก จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน และสำรวจข้อมูลต่างๆ ที่มีจัดแสดงไว้ให้ จากนั้นก็นำสัมภาระไปชั่งน้ำหนัก เพื่อจ้างลูกหาบให้หาบของขึ้นไปที่ด้านบน แต่ถ้าใครฟิตพอ จะแบกขึ้นไปด้านบนเองก็ตามสะดวก เท่าที่คาดคะเนจากสายตา นักท่องเที่ยวที่มายังภูกระดึง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในวัยหนุ่มสาว บ้างก็มาเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ บ้างก็มากับคู่รัก แต่ก็ยังมีคุณลุงคุณป้าที่ร่างกายแข็งแรง ขึ้นมารำลึกความหลังสมัยยังหนุ่มยังสาวกับเขาด้วยเหมือนกัน |
|
ลูกหาบ คนเหล็กแห่งภูกระดึง |
|
|
สำหรับคนที่เคยพิชิตภูกระดึงมาแล้ว ก็น่าจะยังพอจำได้ว่า มีกิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องทำบนภูกระดึง แต่คนที่ยังไม่เคยไปลองดูสักครั้ง “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำ “5 สิ่งที่ไม่ควรพลาดบนภูกระดึง” เอาไว้เป็นแนวทางสำหรับทริปภูกระดึงแสนสนุกในอนาคต |
|
กุหลาบพันปี บานแดงเต็มต้นที่ซำกกโดน |
|
|
เดินไปให้ถึง “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” จุดแรกในการเริ่มต้นการเดินขึ้นสู่ยอดภู จะต้องผ่านป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอพิชิตภูกระดึง” แวะถ่ายรูปให้เวลาทำใจสักครู่ ก็ต้องก้าวเท้าต่อไปเบื้องหน้า ผ่านป้ายบอกระยะทางระหว่างซำต่างๆ ไปจนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวด้านบน แถมด้วยหลักกิโลเมตรสีขาวหลักใหญ่ ที่บอกระยะทางถึงหลังแป 5.5 กิโลเมตร และวังกวาง 9 กิโลเมตร กว่าจะเดินขึ้นไปถึง “ซำแฮก” ที่แม้ชื่อจะหมายถึงซำแรก แต่หลายๆ คนก็ออกอาการหอบแฮกๆ สมชื่อ อีกทั้งซำนี้อาจทำให้ท้อใจได้จากระยะทางและความชันของเส้นทาง ฉะนั้น เมื่อมาถึงซำแฮกก็แวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และจับจ่ายใช้สอยร้านค้าของชาวบ้าน ถือเป็นการพักผ่อนร่างกายไปในตัว |
|
ป้ายแห่งความภาคภูมิใจของเหล่าผู้พิชิตภูกระดึง |
|
|
เมื่อหายเหนื่อยแล้ว ก็ออกเดินเท้าต่อไปเรื่อยๆ ผ่าน ซำบอน ซำกกกอก ซำกกหว้า ซำกกไผ่ ซำกกโดน และซำแคร่ ส่วนช่วงสุดท้ายที่จะผ่านขึ้นไปยังหลังแป ถือเป็นช่วงที่ถือว่าเหนื่อยหนักที่สุด เพราะต้องปีนป่ายไปตามโขดหิน ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจจะลื่นไถลลงมาได้ ขึ้นมาถึงหลังแปแล้ว แน่นอนว่า พอเห็นป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ก็แทบจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะนี่เป็นสัญญาณว่า เราได้ขึ้นมาถึงยอดภูกระดึงแล้ว แวะแชะภาพด้วยสภาพเหงื่อโทรมกาย แล้วก็ต้องเดินทอดน่องต่อไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร จึงจะถึง “วังกวาง” หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อันเป็นแหล่งที่พัก ศูนย์รวมร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สิริรวมระยะทางตั้งแต่เริ่มออกเดินมาจนถึงวังกวางก็ประมาณ 9 กิโลเมตร |
|
ลานกางเต็นท์ |
|
|
ชมพระอาทิตย์ยามอัสดงและรับอรุณ หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของคนที่ขึ้นมาบนภูกระดึง ก็คือ การไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่ผาต่างๆ ซึ่งหากว่าใครที่เดินขึ้นมาถึงด้านบน ในวันแรกหากแรงยังไม่หมด ก็ขอแนะนำให้เดินไปชมพระอาทิตย์ตกที่ “ผาหมากดูก” ในเย็นวันนั้นเลย ผาหมากดูก อยู่ห่างจากวังกวางประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เดินทางผ่านทุ่งหญ้าโล่ง มีทิวสนขึ้นเรียงรายให้ความร่มรื่น และข้างทางก็มีดอกไม้หลากหลายชนิดชูช่อส่งสีสันงดงามชวนมอง เดินเล่นทอดน่องไปเรื่อยๆ สักพักก็จะถึงลานกว้างให้นั่งชมพระอาทิตย์ตก แต่สำหรับที่ผาหมากดูกแห่งนี้ จะสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้เฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น เพราะตั้งอยู่ทางทิศใต้ ถ้ามาในช่วงฤดูกาลอื่นอาจจะเห็นไม่ชัดเจนนัก |
|
ตะวันตกดินที่ผาหมากดูก |
|
|
ส่วนจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของภูกระดึง ก็คือ “ผาหล่มสัก” ที่ มีลักษณะเป็นแผ่นหินใหญ่ยื่นลอยออกจากหน้าผา มีต้นสนเดียวดายทรวดทรงเป็นเอกลักษณ์ขึ้นคู่เคียงกับชะง่อนหินที่ยื่นล้ำออก ไป กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งภูกระดึงอันสุดคลาสสิกที่ดึงดูดนักเดินทางรุ่นแล้ว รุ่นเล่าให้มาเฝ้ารอชมอาทิตย์อัสดงที่ผาหล่มสักแห่งนี้ สำหรับความลำบากของการมาชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก ไม่ใช่ระยะทางการเดิน ถึง 9 กิโลเมตร แต่อยู่ที่การเดินกลับอีก 9 กิโลเมตร ในเส้นทางเลียบผา (นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไป-กลับคนละทางกัน) ที่ต้องฝ่าความมืดมิดหลักพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ฉะนั้น สิ่งจำเป็นที่ต้องติดตัวมาชมพระอาทิตย์ตกที่นี่ก็คือ ไฟฉาย ไฟแช็ก เทียนไข หรืออุปกรณ์ให้แสงสว่างอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์กันหนาวด้วย |
|
ผาหล่มสัก สัญลักษณ์อมตะแห่งภูกระดึง |
|
|
และในยามเช้า จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นรับอรุณก็อยู่ที่ “ผานกแอ่น” โดย ในช่วงเย็นของแต่ละวัน เจ้าหน้าที่จะประกาศบอกเวลาให้นักท่องเที่ยวมารวมตัวกันบริเวณหน้าศูนย์ บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เดินนำไปชมพระอาทิตย์ขึ้น โดยจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินไปเองเพราะอาจเกิดอันตรายจากสัตว์ป่า หรืออันตรายจากการไม่ชำนาญพื้นที่ได้ พระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น คล้ายเป็นสัญญาณของการออกเดินท่องเที่ยวในเช้าวันใหม่ นักท่องเที่ยวที่มานั่งชมพระอาทิตย์ยามเช้า ก็เหมือนกับได้ชาร์ตแบตให้เต็มที่ ก่อนจะออกไปตะลุยภูกระดึงกันทั้งวัน ทิวทัศน์ยามเช้า นอกจากจะมีแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆ สว่างขึ้นแล้ว ก็ยังมีสายหมอกขาวไหลเอื่อยๆ ผ่านพื้นราบด้านล่างที่ยังคงเขียวขจี เป็นภาพของธรรมชาติที่ดูสวยสดงดงามไม่ยังเลือนหายไป |
|
นักท่องเที่ยวมาเฝ้ารอชมตะวันเบิกฟ้าที่ผานกแอ่น |
|
|
ขากลับจากชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็แวะไหว้พระที่ “ลานพระแก้ว” ลานหินกว้างแวดล้อมด้วยทิวสน ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ยังมีกระดิ่ง สิ่งของที่นักท่องเที่ยวนำมาแก้บนผูกไว้ที่บริเวณกิ่งไม้ใกล้ๆ กับองค์พระ ครั้นเมื่อเดินกลับมายังวังกวาง สองข้างทางก็เต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ อย่างเช่น ดอกกระดุมเงิน (มณีเทวา) ดอกหยาดน้ำค้าง ใบเฟิร์น ดอกหญ้า เป็นต้น และหากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นใยแมงมุมที่มีหยดน้ำค้างเกาะพราว สะท้อนกับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า |
|
กระดิ่งแก้บนที่ลานพระแก้ว |
|
|
เดินเที่ยวบนภูเขารูปหัวใจ หากมองภูกระดึงจากที่สูงลงมา จะเห็นว่า มีรูปร่างคล้ายกับหัวใจ ซึ่งที่ราบรูปหัวใจบนยอดภูกระดึงนั้น ก็กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่หากว่าขึ้นไปถึงภูกระดึงแล้ว ต้องออกเดินสำรวจความเป็นธรรมชาติกันเสียหน่อย เส้นทางท่องเที่ยวบนภูกระดึงนั้นมีให้เลือกหลักๆ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางหน้าผา เส้นทางน้ำตก และเส้นทางป่าปิด |
|
สิ่งน่าสนใจเล็กๆระหว่างทาง |
|
|
สำหรับเส้นทางแรก ก็คือ เส้นทางหน้าผา “ตะลอนเที่ยว” ขอ เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็หลับมาอาบน้ำอาบท่า เตรียมน้ำและอาหารกลางวันให้พร้อม สะพายกล้องคู่ใจ แล้วออกเริ่มต้นเดินจากวังกวางไปสู่ “องค์พระพุทธเมตตา” ที่ประดิษฐานอยู่บนลานหิน ว่ากันว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธบนภู กระดึง ต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธเมตตา” |
|
หยาดน้ำค้าง |
|
|
เดินทางต่อไปยัง “สระอโนดาด” แหล่งน้ำธรรมชาติที่ มีลำธารไหลผ่านตลอดทั้งปี น้ำใสๆ ที่ไหลผ่านส่องสะท้อนท้องฟ้าสีคราม เราก็นั่งพักผ่อนให้ลมเย็นๆ พัดผ่าน ก่อนจะเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนถึงน้ำตกสอเหนือ และน้ำตกสอใต้ เดินไปเรื่อยๆ จนถึงผาหล่มสัก อันเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้าย ใครที่จะอยู่รอชมพระอาทิตย์ตก ก็สามารถนั่งเล่นนอนเล่นอยู่บริเวณลานกว้างแถวๆ นั้น หรือหากจะเดินกลับเลยก็ได้ ซึ่งเส้นทางเดินกลับสู่วังกวาง จากผาหล่มสัก ผ่านผาแดง ผาเหยียบเมฆ ผานาน้อย ผาจำศีล และผาหมากดูก กลับสู่วังกวาง สิริรวมระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร |
|
สระอโนดาด |
|
|
ส่วน เส้นทางน้ำตก อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางหน้าผา เพราะอยู่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก เราออกเดินทางเริ่มต้นจากน้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ และน้ำตกธารสวรรค์ ตามลำดับ ถ้าหากมาช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำตกแต่ละแห่งอาจจะมีน้ำไหลลงมามากหน่อย แต่ถ้ามาในช่วงฤดูหนาวเลย แม้จะมีน้ำไหลผ่านน้อยกว่า แต่ความงดงามกลับมาอยู่ที่ใบเมเปิ้ลสีแดง ที่ตกลงมาลอยละล่องอยู่ในธารน้ำ สีแดงสดของเมเปิ้ลตัดกับสีเขียวขจีของต้นไม้อื่นๆ เป็นภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมความงามของธรรมชาติแห่งนี้ |
|
น้ำตกโผนพบ |
|
|
เส้นทางสุดท้ายคือ เส้นทางชมป่าปิด อันเป็นเขตป่าดงดิบ และเป็นเขตหวงห้าม โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น (ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ของอุทยานโดยตรง) ซึ่งการจะเข้าไปชมป่าปิดนั้น ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางเข้าไป เพราะเสี่ยงต่อการหลงทาง และอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าได้ นอกจากจะเดินชมธรรมชาติในเส้นทางต่างๆ แล้ว ใครที่เป็นนักปั่น ก็สามารถเช่าจักรยานสำหรับปั่นชมธรรมชาติไปเรื่อยๆ ก็ได้ โดยบนยอดภูกระดึงจะมีจุดให้เช่าจักรยาน สามารถเข้าไปสอบถามราคาค่าเช่าได้เลย |
|
ใบเมเปิ้ลแดงที่ร่วงหล่นริมน้ำตกถ้ำใหญ่ |
|
|
กิจกรรมบนยอดภู กิจกรรมหลักๆ ในการมาพิชิตภูกระดึง ก็คือ การเดิน เดิน และเดิน ไปชมธรรมชาติป่าเขา น้ำตก และพระอาทิตย์ หรือใครอยากประหยัดแรงก็มีจักรยานให้เช่าปั่นโดยมีจุดบริการตามจุดต่างๆตั้ง แต่เมื่อขึ่นมาถึงหลังแป ส่วนยามค่ำคืนการชมดาวนับล้านดวงในคืนเดือนมืดที่ฟ้าใสกระจ่างเข้าไปด้วย |
|
จักรยานก็มีให้ปั่นบนยอดภูกระดึง |
|
|
อีกสิ่งที่สำคัญ ก็คือ การชิมและชอปตามร้านค้าต่างๆ อาหารส่วนมากที่มีขายบนภูกระดึง ก็จะเป็นจำพวกอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง เป็นหลัก สำหรับมื้อเช้า ก็จะมีอาหารอุ่นๆ ให้รองท้อง อาทิ ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวหมูทอด ชา กาแฟ เป็นต้น ส่วนมื้อเย็น ในช่วงอากาศหนาวๆ อะไรจะดีไปกว่าการได้กินหมูกระทะ และหมูจุ่ม ให้คลายหนาว ส่วนตามซำต่างๆ หรือตามหน้าผา ที่มีร้านค้าอยู่ ก็จะมีทั้งอาหารตามสั่ง ส้มตำ ไข่ปิ้ง ข้าวจี่ มันเผา ไอศกรีม รวมไปถึงน้ำแข็งไส ไว้ให้ได้กินแก้เหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดิน |
|
เลือกซื้อสินค้าที่ระลึกบนภูกระดึง |
|
|
อาหารการกินบนภูกระดึงส่วนมากก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆ เพียงแต่อาจจะมีราคาสูงกว่าจากค่าขนส่งขึ้นมายังด้านบน ซึ่งทางอุทยานฯ ก็มีการกำหนดมาตรฐานราคาไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าร้านนั้นจะถูกกว่าร้านนี้ หรือร้านนี้จะขายแพงมากเกินไป ของฝากของที่ระลึก บนยอดภูกระดึงก็มีขายไม่น้อยหน้าที่ไหน เริ่มตั้งแต่พวงกุญแจ ปฏิทิน โปสการ์ด ภาพถ่าย เสื้อ หมวก ผ้าพันคอ แต่ที่แตกต่าง ก็คือ ถุงกันทาก ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินป่า |
|
หลายคู่รัก หลายคู่เลิก เมื่อมาภูกระดึง |
|
|
นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมายังภูกระดึง ทุกๆ คนก็จะผ่านการเดินที่เหนื่อยหนักมาทั้งนั้น นั่นทำให้แต่ละคนเข้าใจความเหนื่อยของคนอื่นด้วย ทำให้เปิดใจคุยกันมากขึ้น มีน้ำใจให้กันมากขึ้น ช่วยเหลือกันมากขึ้น บางครั้งเราอาจจะเห็นคนที่เดินผ่านไปมาสวนกัน ทักทายกัน ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ กลายเป็นมิตรภาพดีๆ ระหว่างกัน และเป็นความทรงจำดีๆ ที่ได้มาเที่ยวภูกระดึง |
|
เจ้าถิ่น |
|
|
รักษ์ธรรมชาติ นอกจากจะมาเที่ยวเก็บเกี่ยวความงามจากธรรมชาติแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความงดงามยังคงอยู่ตลอดไปก็คือ การช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้หากมาถึงภูกระดึง ก็คือ ทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้ และหากเดินไปเห็นขยะตกอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ก็ช่วยกันเก็บมาทิ้งให้ถูกที่ ไม่ส่งเสียงดังจนเกินควร เพราะจะไปรบกวนผู้อื่นหรือสัตว์ป่า ไม่แกะสลักรอยรักความจำไว้ที่ต้นไม้ ก้อนหิน หรือหน้าผา สุดท้ายคือการเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ที่จะช่วยให้ภูกระดึงยังคงเป็นสถานที่งดงามตลอดไป |
|
สีสันระหว่างทาง |
|
|
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย โทร.0-4287-1333, 0-4287-1458 |