จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
บ้านไม้สองชั้น บานเฟี้ยม และอาคารเก่าแก่ เป็นคาแรกเตอร์ของเมืองเล็กๆ ที่น่ารักเมืองนี้ เมืองที่ไม่มีแสงสีแต่มีสีสันแห่งวิถีชีวิตของผู้คน
เมืองที่ในอดีตผู้คนแวะเข้ามาเพื่อผ่านไป แต่วันนี้ไม่มีใครที่เข้ามาเที่ยวแล้วอยากจะรีบกลับ
หลังจากแรมทางมาเกือบครึ่งวันด้วยรถตู้ ในที่สุดฉันก็เดินทางมาถึงถิ่นเมืองเก่าที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจะมีมากมายดาษดื่น แต่ที่นี่ถือว่าสดใหม่และยังคงมีความง่าย งาม ของผู้คนอยู่มาก ที่สำคัญอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์แค่ชั่วอึดใจ
หล่มสัก เป็นอำเภอหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์แต่กลับมีชื่อเสียงมากกว่าตัวเมืองด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว หล่มสักยังเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภาษา และอาหารการกินก็มีความหลากหลายและแปลกแตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ในเพชรบูรณ์ จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมวันนี้หล่มสักจึงถูกมองในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งในเส้นทางเชื่อมระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ
พื้นเพของคนไทหล่มสืบเชื้อสายมาจากคนลาวเวียงจันทน์ปนกับลาวหลวงพระบางที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยที่ไทย-ลาวยังมีการทำศึกสงครามกันอยู่ ประชากรอีกส่วนก็สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนที่เข้ามาค้าขายที่เมืองหล่มสัก จวบจนปัจจุบันทุกเชื้อชาติผสมผสานกลมกลืนกันจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของไทหล่มที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
-1-
ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวชมเมืองเก่าแห่งนี้ ฉันขอซึมซับความเป็นหล่มสักตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากรถด้วยการไปชิม ขนมจีนไทหล่ม อาหารขึ้นชื่อของที่นี่ ความโดดเด่นเห็นจะเป็นตัวเส้นขนมจีนที่จะทำเส้นสดๆ วันต่อวัน ส่วนน้ำยาขนมจีนก็ยกมาเสิร์ฟถึง 4 หม้อ 4 รสชาติ ซึ่งแต่ละหม้อก็เป็นน้ำยาแบบดั้งเดิม หากินได้ที่นี่ที่เดียว พออิ่มท้องและได้พักผ่อนนคลายความเมื่อยล้าสักพัก กำลังวังชาก็เริ่มมาและพร้อมที่จะเดินทางไปยัง ชุมชนคนตีมีดบ้านใหม่ อ.หล่มสัก เป็นจุดหมายแห่งแรกของทริปนี้
ชุมชนคนตีมีดบ้านใหม่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2533 การรวมกลุ่มอย่างชัดเจนนี้ก็เพื่อที่จะสามารถต่อรองราคาวัตถุดิบจากพ่อค้าคนกลางให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผล แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไปพบว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปีมาแล้ว นับย้อนกลับไปในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ หลังจากที่ไทยบุกเข้าเมืองลาวได้เป็นผลสำเร็จก็ได้กวาดต้อนเชลยกลับมายังฝั่งไทยด้วย
การโยกย้ายถิ่นครั้งนั้นเป็นการเทครัวมาพร้อมกันหลายสิบครอบครัว ซึ่งล้วนแต่เป็นช่างฝีมือโดยเฉพาะช่างตีมีด ด้วยกุศโลบายของฝ่ายไทยที่ต้องการตัดตอนการทำอาวุธสงครามของฝ่ายตรงข้ามจึงได้เกณฑ์ช่างเหล่านั้นมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คุ้มโนนสะทอน สี่แยกสักงอย อ.หล่มสัก เพื่อให้ผลิตเครื่องมือเกษตรและของใช้ในครัวเรือน ต่อมาคนกลุ่มนี้ได้ย้ายที่ตั้งบ้านเรือนข้ามลำน้ำสักไปอยู่ฝั่งตรงข้ามบริเวณบ้านใหม่ท่าขั้นได กลายเป็นกลุ่มตีมีดบ้านใหม่ในปัจจุบัน
"ตอนแรกเราตีมีดเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่น เพราะไม่ได้ทำนาทำไร่ ก็เอามีดไปแลกกับข้าว ฝ้าย และพืชผักต่างๆ ต่อมาจากแลกเปลี่ยนก็กลายเป็นซื้อขาย ก็เอาลงเรือไปขายที่อยุธยา ลพบุรี ไปตามแม่น้ำป่าสัก บางทีก็ใช้ลูกหาบหาบไปขายที่ขอนแก่น เมื่อก่อนมีดเล่มหนึ่งราคาสลึงเดียวแต่ตอนนี้ราคามีตั้งแต่ 150 - 3,000 บาท" ช่างตีมีดฝีมือดีคนหนึ่งเล่า
ในอดีตวัตถุดิบที่ใช้ทำมีดคือก้อนเหล็กที่ช่างจะเอามาหลอมแล้วตีขึ้นรูป แต่ปัจจุบันเหล็กที่ใช้คือเหล็กแหนบรถยนต์ โดยมีดที่ทำจากเหล็กแหนบรถยุโรปจะมีราคาและคุณภาพสูงกว่าแหนบรถญี่ปุ่น ส่วนจุดเด่นของที่นี่คือมีการตีมีดสระโอ ลักษณะเป็นเหล็กเรียวยาว ส่วนปลายแหลมจะดัดโค้ง มีดนี้เอาไว้ใช้สำหรับการจับปลาไหลของชาวบ้านและมีที่นี่ที่เดียวในไทย นอกจากนี้ยังมีมีดอีกหลายแบบ ทั้งมีดถาง มีดหัวตัด มีดอีโต้ มีดม้ง มีดปลายแหลม มีดทำกับข้าว ดาบ เสียบ ขวาน ซึ่งทุกแบบมี มอก. รับรองในเรื่องความแกร่งคงทน
"มีดสระโอเป็นสิ่งเราภูมิใจ บรรพบุรุษได้คิดค้นทำไว้แล้วรุ่นลูกหลานได้สืบต่อวิชาความรู้นี้มา ทำให้เรามีอาชีพสามารถที่จะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งช่างที่จะทำมีดนี้ได้ต้องมีทักษะสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นมีดที่ตียากที่สุด"
เอกลักษณ์อีกอย่างของช่างตีมีดบ้านใหม่คือ มีดทุกเล่มจะมีชื่อของช่างที่ตีมีดเล่มนั้นสลักไว้และจะสืบทอดกันทางสายเลือด หมายความว่าช่างรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะยังคงได้รับมรดกใช้ชื่อของช่างตีมีดรุ่นปู่ รุ่นพ่อ ในการตีมีดออกจำหน่าย ปัจจุบันกลุ่มตีมีดบ้านใหม่ จัดว่าเป็นกลุ่มตีมีดที่ตีมีดด้วยขั้นตอนและรูปแบบโบราณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เรียกว่ามีดที่นี่ไม่แพ้มีดอรัญญิกที่อยุธยาเลย
-2-
ไม่นานนักเราก็เดินทางออกจากบ้านใหม่เพื่อไปเที่ยวชมถนนคนเดินแห่งแรกของเมืองหล่มสัก โชคดีมากที่ฉันได้มาในวันเปิดงานของ ถนนคนเดินไทหล่ม พอดิบพอดี เพราะนอกจากจะได้เดินชมและช้อปของกินของฝากแล้ว ยังได้ชมการแสดงแสงสีเสียงสุดอลังการที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกาอีกด้วย
ถนนคนเดินแห่งนี้มองผิวเผินก็อาจจะเหมือนถนนคนเดินที่เชียงใหม่ หรือ เชียงคาน แต่ถ้าได้ลองมาสัมผัสจริงๆ แล้ว ที่นี่มีความแตกต่างอยู่มาก เพราะได้นำเอาเอกลักษณ์ของชาวไทยหล่มเข้ามาโชว์และจัดแสดงในถนนสายนี้ด้วย
กิตติ พั้วช่วย นายกเทศมนตรีเมืองหล่มสัก บอกเล่าถึงที่มาของถนนคนเดินไทหล่มว่า เมื่อก่อนถนนรณกิจแห่งนี้เป็นถนนเส้นแรกของหล่มสัก บริเวณรอบๆ เป็นย่านเศรษฐกิจของเมือง บ้านเรือนสองข้างทางก็เป็นบ้านไม้ที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปี และความที่หล่มสักเป็นเหมือนเซ็นเตอร์ของแหล่งท่องเที่ยว เวลานักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวเขาค้อ น้ำหนาว ภูทับเบิก ก็ต้องเดินทางผ่านหล่มสักก่อน ดังนั้นจึงมองเห็นศักยภาพตรงนี้และมีไอเดียว่าอยากเพิ่มจุดท่องเที่ยวขึ้นมาอีกแห่ง เมื่อปรึกษาหารือกันก็เลยลงตัวที่การจัดทำเป็นถนนคนเดิน
"เราให้คนหล่มสักมาทำประชาพิจารณ์กันว่าอยากให้ถนนเส้นไหนเป็นถนนคนเดินมากที่สุด ประชาชนก็ลงมติว่าเอาถนนรณกิจตรงบริเวณหอนาฬิกาซึ่งเป็นถนนดั้งเดิมของหล่มสัก และด้วยความร่วมมือร่วมใจของบ้านเรือนสองข้างทาง เราขอปิดถนนทุกวันเสาร์ ชาวบ้านก็ให้กำลังใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี"
ส่วนกิจกรรมตลอดเส้นทางสายวัฒนธรรมนี้ นอกจากการออกร้านจำหน่ายสินค้าแฮนเมดต่างๆ และสินค้าพื้นเมืองแล้ว ยังมีซุ้มวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ของคนหล่มมาจัดแสดงให้ได้ชม ได้แก่ ซุ้มงานฝีมือ ทั้งทอผ้า แทงหยวก ตีมีด ซุ้มอาหารการกินพื้นถิ่นของชาวไทหล่ม มีทั้งข้าวหลามพญาลืมแกง ไก่ปิ้งข้าวเบือ น้ำพริกขี้ปู เมี่ยงค้น เป็นต้น ถัดมาเป็นซุ้มการละเล่นผีตาโม่ และซุ้มสินค้าโอท็อป ฉันเดินชมสินค้าและซื้อขนมนมเนยกินอย่างเพลิดเพลินจนเกือบลืมเวลากลับ ใครอยากมาสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ก็แวะมาเที่ยวได้ทุกเย็นวันเสาร์ซึ่งจะมีการเปิดถนนคนเดินแห่งนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์
เช้าวันถัดมา ได้เวลาไปเดินชมย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองหล่มสัก โดยมีวิทยากรพิเศษอย่าง บัณฑิต พันธุ์ฤทธิ์ นักวิชาการผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์เมืองหล่มสัก มาทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ เราเริ่มเดินชมจุดแรกที่ถนนรณกิจ ซึ่งการเที่ยวชมในช่วงกลางวันจะมีเสน่ห์แตกต่างออกไปจากที่เป็นถนนคนเดินในช่วงค่ำ
ไกด์คนพิเศษเล่าว่า ถนนรณกิจปรีชาเป็นถนนสายสำคัญของเมืองหล่ม ที่ท้ายถนนคือแม่น้ำป่าสัก มีท่าน้ำ 'ภูกฎ ฤทธิ์รอด' ตั้งอยู่ ท่าน้ำนี้มีไว้สำหรับขนสินค้าที่มาทางเรือขึ้นฝั่งเพื่อเอามาค้าขายแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดนายหมายนายสง่า ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมของหล่มสักมีมาตั้งแต่ปี 2480 และบริเวณย่านเศรษฐกิจแห่งนี้ก็มีตรอกสำคัญตรอกหนึ่งชื่อ ตรอกโรงยา เป็นตรอกที่คนไทยเชื้อสายจีนสมัยก่อนจะมานั่งสูบยาฝิ่นกันที่นี่ เพราะเชื่อว่าจะช่วยรักษาอาการปวดท้องได้
การเดินชมย่านตลาดเก่าของเมืองหล่ม ทำให้ฉันได้สัมผัสถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่เผยโฉมออกมาให้ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นร้านซ่อมจักรยานเก่า ร้านทำทอง ร้านตัดผม ร้านบะหมี่เก่าแก่ ซึ่งทั้งหมดยังคงสภาพเป็นเรือนไม้เก่าแทบทั้งสิ้น ซึ่งเหมาะมากกับคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในบรรยากาศที่ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 5
-3-
ความที่ชาติพันธุ์ดั้งเดิมของคนหล่มส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากคนลาว โดยเฉพาะลาวหลวงพระบางที่มีเอกลักษณ์ด้านศิลปะที่โดดเด่น ที่หล่มสักจึงมีผลงานศิลปะที่ว่านี้อยู่กระจัดกระจายตามวัดสำคัญๆ หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ วัดศรีษะเกศ
บัณฑิตเล่าว่า วัดแห่งนี้อยู่ในต.บ้านสก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือบริเวณด้านนอกโบสถ์จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นศิลปะแบบ Folk Art (ศิลปะวิถีพื้นบ้าน) ซึ่งช่างที่วาดนั้นเป็นชาวบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากชาวล้านช้างในหลวงพระบาง
ศิลปะแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจของนักวิชาการมาก เพราะในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก ภาพที่ช่างชาวลาววาดนี้แม้จะไม่มีแบบแผนแต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยวาดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งแต่ละภาพที่วาดลงไปจะมีความแตกต่างจากขนบช่างสิบหมู่ของไทย เพราะภาพจิตรกรรมของวัดแห่งนี้วาดขึ้นตามความเชื่อพื้นถิ่นของชาวบ้านผสมผสานกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ตรงนี้เองที่ทำให้นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นงานช่างศิลป์ที่ต่างจากขนบช่างทั่วไป
หลังจากใช้เวลาที่วัดสักพัก เราก็เดินทางต่อไปยัง กลุ่มทอผ้าพื้นบ้าน ต.บ้านติ้ว อ.หล่มสัก ที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมช่างทอผ้าฝีมือดีที่จะมานั่งทอผ้าด้วยกันในวันว่างเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มอนุรักษ์วิธีการทอผ้าแบบโบราณไว้ให้ผู้สนใจได้เดินทางมาศึกษาอีกด้วย
มเนศ จันดา ประธานที่ปรึกษากลุ่มทอผ้าพื้นบ้าน เล่าว่าทางกลุ่มไม่เพียงแต่ทอผ้าขายตามออเดอร์ แต่ยังมีการศึกษาเรื่องลายผ้าโบราณ ลายผ้าพื้นเมืองดั้งเดิม รวมถึงพัฒนาต่อยอดลายผ้าใหม่ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงทำกิจกรรมสืบสานลายผ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนสอนทอผ้าให้เยาวชนในหมู่บ้านออกมาเรียนรู้และฝึกฝนฝีมือทอผ้าให้มีความชำนาญเทียบเท่ากับบรรพบุรุษเพื่อที่จะได้มีคนสืบสานงานฝีมือแขนงนี้ไม่ให้สูญหายไป
"กลุ่มเรายังอนุรักษ์การทอแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน เริ่มจากปลูกฝ้ายเอง เก็บฝ้าย อิ้วฝ้าย เข็นฝ้าย ดีดฝ้าย ไปจนถึงการทอเป็นผืนผ้า ส่วนลวดลายที่เราทอขายอยู่ในปัจจุบันที่โดดเด่นคือ ลายราชวัตถ์ ลักษณะการทอจะทอด้วยเส้นด้ายที่ถี่หนามีการยกดอกให้มีลายนูนขึ้นมาหรือที่เรียกกันว่าทอแบบ 4 ตะกอ"
นอกจากนั้นก็ยังมีลายดอกจัน ลายขิด ลายไขว้ ลายญวน ผ้าขาวม้าลายสก็อต และผ้ามัดหมี่ ซึ่งผ้าที่ทอออกมาแล้วสามารถขายได้เลย หรือสมาชิกคนใดจะเอาไปตัดเย็บเป็นผ้าถุง ผ้านวม หรือผ้าปูที่นอนเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าก่อนก็ได้
เดินชมผ้าสวยๆ ยังไม่ทันเหนื่อยก็ถึงเวลาอำลาเมืองน่ารักเมืองนี้ไปเสียแล้ว ก่อนกลับเราทุกคนไม่ลืมที่จะหอบหิ้วของฝากชื่อดังอย่างมะขามหวานกลับไปกินให้หายคิดถึงคนไทหล่ม ให้หายคิดถึงเมืองเพชรบูรณ์ และอีกไม่นานฉันจะหาเวลามายลเสน่ห์ของที่นี่ให้ชุ่มปอดอีกครั้ง
การเดินทาง
โดยรถยนต์ สามารถเดินทางไปหล่มสักได้สองเส้นทาง เส้นทางแรกจากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรีเลยไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์พุแคตรงกิโลเมตรที่125 แยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอชัยบาดาล อำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี ต่อไปอีก ประมาณ 221 กิโลเมตร ถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมระยะทางประมาณ 346 กิโลเมตร จากนั้นขับต่อไปยังสี่แยกพ่อขุนผาเมือง ตรงไปอีก 44 กิโลเมตรก็จะถึงอำเภอหล่มสัก
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1ถนนพหลโยธิน ถึงอำเภอวังน้อยแล้วแยกเข้าเส้นทาง หลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วใช้เส้นทาง หมายเลข 117 ตรงเข้าจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นใช้ทางหมายเลข 12 เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก จากนั้นจะผ่านเขาค้อ และขับตรงไปก็จะเข้าตัวอำเภอหล่มสัก รวมระยะทางประมาณ 547 กิโลเมตร
โดยรถโดยสารประจำทาง สามารถเดินทางไปกับบริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถปรับอากาศชั้น 2 และรถธรรมดากรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-หล่มสัก ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2936 2852-66 สาขาเพชรบูรณ์ โทร. 0 5672 1581
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต