จากประชาชาติธุรกิจ
ต้องยอมรับว่าเวลานี้ "เชียงคาน" เป็นเมืองเป้าหมายและเป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวที่รักความสงบ ความเรียบง่าย และใช้สำหรับหลบความวุ่นวายในเมืองหลวงไปชาร์จพลัง
แต่ทันทีที่กระแสการท่องเที่ยวบูม บวกกับแรงโปรโมตเรื่อง "อีโคทัวริซึ่ม" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปสัมผัสเชียงคานอย่างล้นหลาม
ว่ากันว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวของเชียงคานปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 260,584 คน เมื่อปี 2554 เพิ่มเป็น 381,866 คนในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นราว ๆ 1.2 แสนคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท โดยฤดูท่องเที่ยวของเมืองเล็ก ๆ ริมโขงแห่งนี้ คือ ตั้งแต่พฤศจิกายนยาวไปจนถึงกุมภาพันธ์ ขณะที่ในฟากของที่พักก็มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นร่วม 200 ราย รวมกว่า 1,000 ห้องพัก
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้นักท่องเที่ยวทะลักเข้ามาตามกระแสโดยไม่มีแผนรองรับที่ดี อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ "เมืองแตก" เหมือนกับที่เคยเกิดกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 4-5 ปีก่อน เมื่อครั้งนั้นถึงขนาดว่า นักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวจนน้ำมันหมดปั๊ม นักท่องเที่ยวแย่งกันกินแย่งกันใช้ ฯลฯ ขณะที่ฟากผู้ประกอบการ "ที่พัก" ต่างก็แห่กันลงทุนกันอย่างคึกคัก ทั้งโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ ผุดขึ้นราวดอกเห็ด
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สนับสนุน "โครงการเชียงคานกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน" เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเชียงคานที่มีผลมาจากการท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ พร้อมทั้งนำประเด็นที่น่าสนใจมาตั้งวงเสวนา โดยคนในชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การหาวิถีทางทำให้เชียงคานมีการท่องเที่ยวและยั่งยืน
ขณะเดียวกันก็ใช้ "หนังสั้น" 4 เรื่อง ความยาวเรื่องละ 20 นาที เป็นเครื่องมือในการนำเสนอประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นความร่วมมือและหาแนวทางในการพัฒนาเมืองร่วมกัน
ทั้งนี้พบว่าประเด็นปัญหาที่คนในชุมชนเป็นห่วงคือ การท่องเที่ยวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูงมาก สูงจนคนในพื้นที่ตั้งรับไม่ทัน กายภาพของชุมชนก็เริ่มกลายเป็นชุมชนเมือง นักท่องเที่ยวที่มาต่างก็คาดหวังว่าเมื่อมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามก็ต้องมีห้องพักที่ดีด้วย สภาพบ้านพักจากที่เป็นโฮมสเตย์ธรรมชาติกลายเป็นที่พักติดแอร์ รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก
อื่น ๆ อีกสารพัด เรียกได้ว่าสิ่งที่ "เชียงคาน" เป็นอยู่ในวันนี้แทบจะเดินตามหลัง "ปาย" ไปติด ๆ หากยังเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่า "เชียงคาน" จะเกิดความล้มเหลวในวันข้างหน้าแน่นอน
จึงอยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องของเมืองเชียงคาน รีบบริหารจัดการระบบ โครงสร้างของเมืองให้ "เชียงคาน" เติบโตได้อย่างยั่งยืน เติบโตและก้าวหน้าไปอย่างมีสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญ เพื่อหยุดยั้งปัญหาและคุมไม่ให้มีปรากฏการณ์ประกาศขายกิจการเหมือนกับที่ "ปาย" เผชิญ
"ทัศน์พงษ์ สุขศิริ" รองนายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย บอกว่า ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลเชียงคานได้ตั้งรับไว้แล้วหลายเรื่อง อาทิ ออกแบบเทศบัญญัติคุมโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน ให้อยู่ในกรอบตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่น ให้ทำอาคารได้แค่ 2 ชั้น ความสูงไม่เกิน 10 เมตร พื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร การทำโซนนิ่ง สร้างถนนคนเดินให้เป็นถนนวัฒนธรรม สร้างบรรยากาศเมืองเชียงคานให้เป็นเมืองสำหรับการพักผ่อนโดยเฉพาะ เป็นต้น
และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกหลายเรื่อง เช่น การบริหารจัดการด้านการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ออกกฎห้ามจำหน่ายสุราในพื้นที่ที่กำหนด ยุติกิจกรรมทุกอย่างไม่เกิน 4 ทุ่ม ประกาศให้เป็นเมืองที่ใช้จักรยาน 100% เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ความเป็นเมืองพักผ่อน
จึงเชื่อมั่น "เมืองเชียงคาน" ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ เป็นเมืองที่มี "อัตลักษณ์" ที่ชัดเจน และไม่เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอย "ปาย" เป็นแน่
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต