จากประชาชาติธุรกิจ
การท่องบ่นวิธีการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบ G to G ให้กับรัฐบาลจีน จำนวน 5 ล้านตัน ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ เกิดปัญหาขึ้นมาทันที เมื่อ นายก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจีนไม่เคยทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทย
พร้อมกับอธิบายวิธีการซื้อข้าวของจีนตามประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา มีสาระสำคัญว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนการซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยใน "หลักการ" เท่านั้น การซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง ๆ จะมอบหมายให้บริษัท (รัฐวิสาหกิจจีน) เข้าไปหารือกับประเทศไทยโดยตรง "เท่าที่ผมทราบว่า มีการเซ็นสัญญากับบริษัทดังกล่าวแล้ว โดยประมาณหลายแสนตัน แต่เราไม่เคยมีสัญญาซื้อขายข้าว 5 ล้านตัน ตามที่รัฐบาลไทยกล่าวอ้าง"
ส่วนคำถามที่ว่า การขายข้าวแบบ G to G ที่รัฐบาลไทยอ้างอยู่ในขณะนี้ กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือบังหน้าในการทุจริตหรือไม่นั้น นายก่วน มู่ กล่าวว่า "ไม่ทราบ แต่อยากอธิบายว่า การซื้อข้าวจากไทยเป็นประเพณีที่ทุกปีต้องซื้อ ส่วนการเปิด L/C นั้นรัฐบาลจีนจะไม่ทราบเรื่อง เพราะเป็นเรื่องของบริษัท เนื่องจากการดำเนินการของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจจะทำเอง รัฐบาลมีบทบาทเพียงแค่ชี้นำให้มีการซื้อขายเท่านั้น จากนั้นบริษัทจะไปตกลงกันเองกับประเทศไทย"
ชัดเจนว่าไม่มี G to G หรือสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ไม่มีการเปิด L/C ซื้อข้าวโดยรัฐบาลจีน และรัฐบาลจีนไม่ได้เป็นคนรับมอบข้าวครั้งนี้ ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนหรือไม่ก็ได้ กับกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล แต่กลับถูกนำมา "บิดเบือน" ว่า ทั้งหมดรัฐบาลจีนรับรู้การซื้อขายข้าวครั้งนี้
จึงเข้าใจกับวาทกรรมที่ถูกผลิตออกมาอย่างซ้ำซากตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า "กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาการซื้อขายข้าวแบบ G to G ได้ เพราะเป็นความลับและจะกระทบกระเทือนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"
ขายเอง-ตั้งเอง-สอบเอง-สรุปเอง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันข้างต้น การแก้เกมจึงเกิดขึ้นมาโดยทันที โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ เรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการ
ตรวจสอบข้อเท็จจริงการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา หยิบยกประเด็นเรื่องการทุจริตการจำหน่ายข้าวสารของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 จึงมีคำสั่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขึ้นมาชุดหนึ่ง มี นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน น.ส.เรวดี วีระวุฒิพล ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการค้าภายใน เป็นเลขานุการ พร้อมด้วย น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง ที่ปรึกษากฎหมาย, นายอดุลย์ ยุววิทยาพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายการพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และ พล.ต.ต.สุภธัช คำดี ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการทั้ง 5 คนนี้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และเงื่อนไขการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการขายข้าวเป็นการทั่วไปให้กับ
ผู้ประกอบการในประเทศและการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐว่า มีขั้นตอนการทำสัญญาอย่างไร ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และมีเอกสารหรือบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง สามารถเรียกเอกสารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริง
พร้อมกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "ทราบ" ภายใน 15 วัน หรือแปลว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เขียนรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถตัดสินลงโทษหากพบ ข้าราชการ ทุจริตในกระบวนการขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล
โดยพุ่งเป้าไปที่การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เป็น ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และ นางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า นายบุญทรงประสงค์จะรับทราบข้อเท็จจริงในการขายข้าวสต๊อกรัฐบาลจริงหรือไม่ ? หรือการตั้งคณะกรรมการชุดนี้มีขึ้นเพื่อแก้เกมทางการเมือง เข้าลักษณะ หากการขายข้าว G to G ของรัฐบาลชุดนี้ผิด รัฐบาลชุดที่แล้วก็ผิดด้วย เหมือนกับการ
กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ
แต่ที่น่าตลกก็คือ ตัวคณะกรรมการชุดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ มีตำรวจเพียงคนเดียวที่ติดเข้ามาด้วย ที่สำคัญก็คือ ประธานกรรมการสอบ นางวัชรี วิมุกตายน นั้นเป็น อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ผู้คนในวงการค้าข้าวต่างทราบกันดีว่า สนับสนุนนโยบายการรับจำนำข้าวแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเพียงใด หรือเข้าทำนองใช้ข้าราชการกรมการค้าภายในที่ดูแลเรื่องกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือก มาสอบข้าราชการกรมการค้าต่างประเทศที่ดูแลในเรื่องของการระบายขายข้าวในสต๊อก โดยมี "นาย" ที่ชื่อ
บุญทรง กำกับดูแลนโยบายคนเดียวกัน ?
อดีตผิด ปัจจุบันก็ผิดด้วย
พร้อม ๆ กันนั้นก็มีการ "ปล่อย" ข่าวผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเรื่องร้องเรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กับพวกรวม 4 คน กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้ความเห็นชอบขายข้าว สารในสต๊อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาดและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ ส่งออกข้าวบางรายโดยไม่มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป อันเป็นการกีดกันบริษัทอื่นไม่ได้มีการเสนอราคาแข่งขันอย่างเป็นธรรม
โดยกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ขอเอกสารหลักฐานมาที่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายยรรยง พวงราช) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 หรือเกือบ 1 ปีล่วงมาแล้ว โดยผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.พบเบื้องต้นมีหลายประเด็นที่ชี้มูลว่า รัฐบาลชุดก่อน (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ดำเนินการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและทำให้รัฐเสียหาย เช่น การเปิดขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลให้ผู้ส่งออกไม่ได้ใช้วิธีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่กลับให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐเพื่อส่งมอบตามสัญญาซื้อขายตามเวลาที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553
ส่วนเกณฑ์ราคาที่จะอนุมัติขายให้ผู้ส่งออกที่เสนอซื้อนั้น กำหนดราคาซื้อขายเป็นราคา ณ หน้าคลังสินค้า (X-warehouse) เช่นเดียวกันกับการขายข้าว G to G ของรัฐบาลชุดนี้ โดยใช้ราคาขนส่งข้าวในตลาดกรุงเทพฯเฉลี่ยย้อนหลังเป็นเกณฑ์ และหักค่าขนส่งตามระยะทางมาตรฐาน แต่หากเป็นข้าวเก่าให้หักค่าเสื่อมได้ตามสภาพ ทั้งนี้ภายหลังจากการเสนอซื้อและต่อรองราคาซื้อขายกับผู้ส่งออกแล้ว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติวิธีการขายให้กับผู้ส่งออก 8 ราย รวม 2.731 ล้านตัน เป็นการอนุมัติขายระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2553
อย่างไรก็ตามจากการที่ ป.ป.ช.ได้สอบปากคำผู้แทนบริษัทส่งออกข้าวดังกล่าว ประกอบการตรวจสอบสัญญาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปรียบเทียบกับสัญญาของผู้ส่งออกที่ซื้อข้าวรัฐระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553-ธันวาคม 2554 ซึ่งทุกสัญญาจะต้องจัดส่งข้าวออกนอกประเทศตามสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี"54 นั้น
กลับพบว่า มีผู้ส่งออก 4 รายที่ไม่ได้ส่งออกข้าวบางชนิดตามสัญญาซื้อขายกับลูกค้าต่างประเทศ และอีก 4 รายที่ส่งออกไม่ครบถ้วนตามสัญญา รวมข้าวสารในสต๊อกรัฐที่ขายให้แก่ผู้ส่งออกแต่ไม่ได้ส่งออกทั้งสิ้น 922,195 ตัน หรือคิดเป็น 26.66% ของปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐที่ขายไปในโครงการนี้ทั้งหมด
ทั้งนี้ผู้ส่งออกข้าวดังกล่าว ได้ขอรับหลักประกันตามสัญญาคืนจาก อคส. และ อ.ต.ก. โดยอาจแสดงหลักฐานการส่งออกไม่ครบถ้วน หรือปิดบังข้อเท็จจริงในการส่งออกข้าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐหลงเชื่อคืนหลักประกันให้ตามสัญญา และอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้องและคืนหลักประกันให้ผู้ส่งออกเหล่านั้นโดยมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
กรณีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า เป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จึงได้ตั้ง คณะอนุกรรมการสอบสวน เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิดต่อไป
แม้การสอบสวนกรณีการระบายข้าวในสมัยพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในขั้นตอนของการตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด อันมาถึงตัวนายอภิสิทธิ์ กับพวกอีก 4 คนแล้วก็ตาม
แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติรับเรื่องตั้งคณะกรรมการสอบสวนการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 กับกระบวนการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันเช่นกัน กลายเป็นทั้งรัฐบาลที่ผ่านมา กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตในเรื่องข้าวเหมือน ๆ กัน
ที่น่าสงสารก็คือไม่เพียงแต่นักการเมืองที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเท่านั้น แต่ยัง "พัวพัน" ไปถึงข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าว เจ้าของสโลแกน "ขายข้าวแบบเงียบ ๆ อย่างลับ ๆ" ที่คาบเกี่ยวการทำงานตั้งแต่สมัยของนางพรทิวา นาคาศัย จนกระทั่งถึงสมัยของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์คนปัจจุบันกลายมาเป็นการสาวไส้ทุจริตการระบายข้าวครั้งใหญ่ที่สาธารณชนจะได้เห็น เมื่อกระบวนการสอบสวนทั้ง 3 กรณีของ ป.ป.ช.สิ้นสุดลง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต