จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อในเรื่อง “การปลูกป่า” เพราะป่าเป็นผลิตผลที่ถูกสร้างโดยธรรมชาติ
ใช้เวลาในการฟูมฟักเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับร้อยๆ ปี แล้วที่ปลูกๆ กันอยู่ทุกวันนี้
นั่นคือ การปลูกต้นไม้ ไม่ใช่ “ปลูกป่า” ซึ่งผมก็เชื่อเช่นนี้มาโดยตลอด
จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ารับฟังปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ในหัวข้อเรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ”
เราจะสามารถฟื้นฟูป่าไม้กลับมาได้หรือไม่?
ดร.สุเมธ เล่าถึงโครงการในพระราชดำริ ที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกต้นไม้อะไรมากนัก ทรงมีพระราชดำรัสอยู่เสมอว่า “ดินไม่ดีอย่างไรนั้นไม่กลัว ถ้าหากมีน้ำ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกก็ได้”
ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมห้วยฮ่องไคร้ พื้นที่ซึ่งถูกหักล้างถางพงจนใครๆ ต่างลงความเห็นว่าพื้นที่นี้ไม่สามารถจะพัฒนาอะไรขึ้นมาใหม่ได้อีกแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการฯ เล่าว่า จากการสำรวจครั้งแรกสภาพป่าหมดสิ้นไปแล้ว ดินก็เป็นดินดาน ปลูกอะไรก็ยาก
ผมได้เรียนรู้จากห้วยฮ่องไคร้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ แทนที่จะเริ่มปลูกป่าโดยนำต้นไม้ลงดินอย่างที่พวกเรานิยมทำกัน กลับให้ไปสร้าง “น้ำ” ก่อน
ได้พบเห็นฝายชะลอน้ำ หรือ ฝายแม้วเต็มพื้นที่ไปหมด ซึ่งทุกฝายสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรที่ซับซ้อน มีก้อนหิน มีไม้ไผ่ มีต้นไม้แห้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้จากบริเวณนั้น ก็สามารถนำมาประกอบกันเพื่อสร้างขึ้นเป็นฝายแม้วได้แล้ว ที่สำคัญคือ ทุกฝายต้องแข็งแรง สามารถชะลอน้ำให้อยู่ในภูเขาได้นานที่สุด ต้นไม้จะได้มีเวลาซึมซับความชุ่มชื้นที่สะสมไว้ในดิน ทั้งนี้เพราะสิ่งที่อยู่ใต้แผ่นดินนั้น มีสิ่งมีชีวิตรออยู่ และพร้อมที่จะเจริญเติบโตขึ้นมา เพียงแต่เราเอาความชื้นจากน้ำเข้าไปสร้างให้เกิดชีวิตที่สมบูรณ์ ป่าก็จะกลับฟื้นคืนขึ้นมาโดยไม่ต้องปลูก
บริเวณใจกลางป่าห้วยฮ่องไคร้ มีหอคอยสูงตระหง่านอยู่แห่งหนึ่ง ผมเดินขึ้นไปประมาณ 3-4 ชั้น แล้วมองไปรอบๆ พื้นที่ป่าด้วยความปลาบปลื้ม ความคิดที่ว่าป่าไม้ไม่สามารถสร้างสรรค์ด้วยน้ำมือมนุษย์ได้สิ้นสุดลงโดย ทันที ผมอุทานขึ้นมาว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำได้...ทรงทำได้จริงๆ ด้วย” ช่าง เป็นศาสตร์ที่มีความงดงามและมีความบริสุทธิ์ ราวกับเทพเจียระไน ป่าที่ห้วยฮ่องไคร้เป็นป่าจริงๆ ป่าที่ขึ้นอย่างสลับซับซ้อนมีความหลากหลายทางธรรมชาติเกือบจะครบถ้วน
ห้วยฮ่องไคร้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ป่าไม้ แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาในความสำเร็จของการทำงานในทุกๆ ศาสตร์ ว่าควรประกอบไปด้วยปัจจัยอะไรบ้าง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกป่าอย่างไรนั้น ท่านอาจารย์สุเมธ ได้นำเสนอภาพรูปหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณีกิจขณะที่พระองค์ทรงดำเนิน งานที่ห้วยฮ่องไคร้ ทำให้ตัวผมมองเห็นภาพรวมอย่างนี้ครับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นการปลูกป่าด้วย “น้ำ” อุปมาเสมือนกับมารดาที่นำทารกน้อยไปหาหมอเพราะร้องไม่หยุด คุณหมอส่วนใหญ่จะมุ่งตรงที่การตรวจรักษาทั่วไปที่ตัวเด็ก ในขณะที่ในหลวงทรงมองครอบคลุมไปถึงมารดาของเด็กน้อยด้วย คุณแม่มีความสมบูรณ์หรือเปล่า สารอาหารที่ได้รับเป็นอย่างไร น้ำนมมีเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์ของคุณแม่จึงส่งผลถึงตัวเด็กโดยตรง ที่ห้วยฮ่องไคร้พระองค์ท่านได้ทรงสร้างแหล่งน้ำขึ้นมา เพื่อให้น้ำทำหน้าที่เสมือนกับมารดาที่โอบอุ้มทุกสรรพชีวิตทั้งปวง
พระองค์ท่านทรงฟื้นฟูสภาพป่าไม้ต้นน้ำลำธารอย่างเป็นระบบ ทรงมองการเดินทางของน้ำตั้งแต่ยอดเขา กลางเขา ชายเขา ไปจนจรดทะเล เมื่อฝนตกลงมา ป่าไม้บนยอดเขาจะทำหน้าที่เก็บกักน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ป่าอนุรักษ์ (Conservation Forest Area) น้ำจำนวนเดียวกันนี้จะถูกเก็บอยู่ที่กลางภูเขา (Mid-mountain Reservoir) ซึ่งจะมีอ่างเก็บน้ำรองรับไว้อีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นน้ำจะทำหน้าที่สำคัญอีกอย่าง คือ หล่อเลี้ยงป่าเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง น้อยหน่า ลิ้นจี่ ลำไย และแมกคาเดเมีย หรือจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น จากนั้นมวลน้ำจะถูกนำมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบริเวณชายเขาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งผลพลอยได้ตกเป็นของสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ก่อนที่มวลน้ำจะส่งไปยังเรือกสวนไร่นาของเกษตรกร เห็นได้ชัดเจนว่าน้ำเกือบทุกหยดจะถูกกักเก็บเอาไว้ใช้ในระบบทั้งหมด
ทุกวันนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนหลายคณะ เดินทางมาดูงานในโครงการพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ แล้วนำกลับไปปฏิบัติจนเห็นผล โดยเฉพาะที่นี่เป็นต้นแบบฝายชะลอน้ำที่ดำเนินการโดยชุมชนเอง
เรื่อง ณัฐกฤต ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พระองค์ ท่านทรงฟื้นฟูสภาพป่าไม้ต้นน้ำลำธารอย่างเป็นระบบ ทรงมองการเดินทางของน้ำตั้งแต่ยอดเขา กลางเขา ชายเขา ไปจนจรดทะเล เมื่อฝนตกลงมา ป่าไม้บนยอดเขาจะทำหน้าที่เก็บกักน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร
หลักและวิธีการสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1.การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับราย ละเอียดสภาพ ภูมิประเทศเสมอ
2.การพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ต้องเหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีในแต่ละท้องถิ่นเสมอ
3.พิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้น จะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้การทำงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกแห่งจึงพระราชทานพระราช ดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับประโยชน์จะ ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยจัดการช่วยเหลือ ผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมที่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นพระบรมราโชบาย ที่มุ่งหวังให้ราษฎรมีส่วนร่วมกับรัฐบาล และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคมของตนเองและ มีความหวงแหน ที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นต่อไปด้วย
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 5 ประเภท
1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำ
2. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
4. โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม
5. โครงการบรรเทาอุทกภัย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต