จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...บากบั่น บุญเลิศ
การ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีอีก 3 คน ของพรรคฝ่ายค้าน ในวันที่ 25-27 พ.ย.นี้ แม้จะมีเรื่องการทุจริตในโครงการจัดการน้ำ การทุจริตเรื่องสเปกของการซื้อเรือฟริเกต เรือหลวงนเรศวร ระยะที่ 2 ของกองทัพเรือ แต่ทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นเพียงน้ำจิ้ม
ถ้าเป็นมวยก็เพียงแค่มวยก่อนรายการเพื่อเรียกคนดูเท่านั้น
แต่ มวยคู่เอกที่น่าจะเป็นเป้าหมายหลัก น่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรีที่ผิดพลาด รวมถึงการบริหารโครงการรับจำนำข้าวที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางด้าน เศรษฐกิจมหาศาล จนไทยหลุดพ้นจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ไปแล้ว
เป้า หมายคือ ดึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ที่มีปัญหาในเรื่องการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงออกมาสู่เวทีการถล่มที่ถือเป็นเกมถนัดของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีขุนพลเจนจัด
แน่ นอนว่า นายกรัฐมนตรีย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการรับจำนำข้าว เพราะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะไม่รู้ ไม่เห็น และโยนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ชี้แจงข้อกล่าวหาแทนไม่ได้
นโยบาย รับจำนำข้าวจึงน่าจะเป็นหนึ่งในหมัดเด็ดของฝ่ายค้าน ที่จะชำแหละความล้มเหลวในแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเปิดรับจำนำข้าวไปจนถึงการระบายข้าวที่เป็นปัญหา จนส่งผลให้ข้าวล้นสต๊อก และข้อมูลการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ยังคลุมเครือ
ขณะ ที่ประเด็นความล้มเหลวในสารพัดประชานิยมของรัฐบาล ทั้งรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ฯลฯ ที่จะกลายเป็นภาระด้านงบประมาณและทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่อันตราย หนำซ้ำยังมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะยิ่งทำให้สถานะการเงินของประเทศมีปัญหา อย่างรุนแรงนั้น จะเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเพียงน้ำจิ้ม
ต้อง ยอมรับว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ข้าวเปลือกทั่วไปตั้งราคาจำนำตันละ 1.5 หมื่นบาท ถ้าเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ จัดให้ตันละ 2 หมื่นบาท ถือว่าโดน
แม้ ความเป็นจริง เมื่อชาวนาขนข้าวเปลือกเข้าโรงสีแล้ว จะมีการหักค่าความชื้นกันไป จึงไม่มีใครได้เท่าราคาที่กำหนด แต่ส่วนหนึ่งเกษตรกรก็พอใจกับราคาที่ได้รับ
แต่ นโยบายดังกล่าว รัฐบาลถูกต่อว่าอย่างหนักว่าทำให้ประเทศมีแต่พังกับพัง เพราะใช้เงินจำนวนมากมาละเลง ซึ่งจะเกิดผลเสียในการขาดทุนเป็นแสนล้านบาท
ขนาด “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวแทงใจดำว่า รัฐบาลชุดนี้จะพังก็คงเป็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แค่ชื่อโครงการจำนำก็ผิดแล้ว ราคาจำนำต้องต่ำกว่าราคาจริง แต่การให้ราคาจำนำสูงกว่า คงไม่มีใครมาไถ่ถอน ข้าวที่มาจำนำก็มีทั้งของจริงและสต๊อกลม ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ถ้ารัฐยังขายข้าวไม่ได้ ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก
ขณะ ที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยังยอมรับว่าอาจขาดทุนบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการขาดทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาท ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้
ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์เจาะลึกลงไปในเนื้อหาที่พรรคฝ่ายค้านจะหยิบยกมาถล่มถึงความล้มเหลวของรัฐบาลแล้ว จะจับทางได้ดังนี้
หนึ่ง รัฐบาลใช้กลไกของรัฐจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาดมาเก็บไว้ในสต๊อกแต่เพียงผู้ เดียว โดยหวังจะขายในตลาดโลกในราคาสูง 800-900 เหรียญสหรัฐ แต่หากขายในราคาตลาดขณะนี้จะขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท
และการที่รัฐเก็บไว้เช่นนี้ ทำให้ยอดการส่งออกลดลงเดือนละ 6,000 ล้านบาท หรือ 7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี (ลดลง 35% จากปีก่อน)
สอง การกักตุนข้าวของไทยไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลง เพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเรา และถ้าเก็บไว้นาน 34 เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอจะขายราคาก็จะตกทันที
สาม การที่รัฐบาลระบายข้าวออกในราคาที่ต่ำกว่าทุน เพื่อให้สามารถระบายข้าวในราคาตลาดได้ จะส่งผลต่อการขาดทุน เพราะรัฐบาลจะรับจำนำข้าวต่อในปี 2555/ 2556 ในวงเงินอีก 4.05 แสนล้านบาท รวมกับจำนวนสินค้าเกษตรปีที่ผ่านมา 5.14 แสนล้านบาท จะใช้งบประมาณจำนำสินค้าเกษตรร่วม 9.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนที่ขาดทุนควรนำไปพัฒนาในทางอื่นที่ได้ประโยชน์มากกว่า
สี่ รัฐบาลควรทบทวนนโยบายนี้ทั้งระบบ เช่น กำหนดปริมาณการรับจำนำไม่ทุกเมล็ด หรือกำหนดวงเงินการรับจำนำ โดยเน้นเกษตรกรรายเล็กหรือเกษตรกรรายได้ต่ำ ให้มีโอกาสเข้าถึงโครงการเป็นส่วนใหญ่ เพื่อลดการใช้งบประมาณและลดการขาดทุน และสามารถควบคุมหนี้สาธารณะได้
ห้า เปิดโอกาสให้ใช้กลไกตลาดภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการระบายข้าวในสต๊อกออกโดยเร็ว เพื่อป้องกันคุณภาพข้าวเสื่อม หากเก็บไว้นานจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการเพิ่มเติม จึงต้องเร่งระบายข้าวให้ขาดทุนน้อยที่สุด เพื่อจะสามารถนำเงินที่ระบายข้าวได้กลับมาหมุนเวียนการรับจำนำข้าวให้ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เพิ่มขึ้น
หก น่าจะเป็นคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า ข้าวจีทูจีหรือข้าวในสต๊อก รัฐบาลได้ “อ้างว่า” ได้ทำสัญญาขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศไปแล้วเป็นจำนวน 6 สัญญา ปริมาณ 7.328 ล้านตันนั้น ความจริงเป็นอย่างไร
การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มีอยู่มากกว่า 12 ล้านตันไปแล้วเป็นจำนวน 8.38 ล้านตันนั้น จริงหรือไม่
การ ขายข้าวแบบจีทูจีจำนวน 7.328 ล้านตัน ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันว่ามีการขายจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำ “บริษัทผู้ส่งออกข้าว” มา “สวมสิทธิ” ส่งออกข้าวแทนรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์อ้างว่าเป็นการขายแบบ X-Warehouse ภาระของ “ผู้ขาย” หมดลงที่หน้าโกดัง ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลประเทศ “ผู้ซื้อ” ที่ว่าจ้างให้ใครมาปรับปรุงคุณภาพข้าวและดำเนินการส่งออก
ข้าว ที่ขายแบบจีทูจี ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าข้าวนักวิชาการ ว่ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าจะซื้อจะขายข้าว โดยที่ยังไม่มีการตกลงในเรื่องของราคาและปริมาณ
นี่คือภาพใหญ่ของเนื้อหาที่จะมีการถล่มนายกรัฐมนตรี
แต่หากโฟกัสลงไปในภาพเล็กที่พรรคฝ่ายค้านจะตอกย้ำนั้น น่าจะลงลึกไปในเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าว
ทั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวด้วยว่า วันนี้การขายข้าวในทางลับมีมากกว่าในทางปกติและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่กี่ราย
ขณะที่ข้าวที่ขายไป บริษัทที่ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง มีคอนเนกชันทางการเมือง มีโอกาสซื้อข้าวของรัฐบาลในราคาต่ำ
สิ่ง ที่เห็นได้ชัดในการรับจำนำข้าวปี 2555 นี้คือ บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ได้เริ่มเปลี่ยนมือ จากปี 2553 ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีผู้ส่งออกรายใหญ่คือ บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ บริษัท นครหลวงค้าข้าว บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด และบริษัท ข้าวไชยพร
ทั้ง 5 บริษัทนี้ มีการส่งออกข้าวในปริมาณเกิน 50% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2553 ที่จำนวน 8.9 ล้านตัน
แต่ ในปี 2555 นี้ การค้าข้าวได้เปลี่ยนมือมาสู่ผู้ส่งออกอีกกลุ่มหนึ่ง โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกข้าว โดย 8 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยมียอดการส่งออกรวม 3.29 ล้านตัน แต่จะมีการส่งออกในเดือน ก.ย.นี้ประมาณ 5.4 แสนตัน
ผู้ส่งออกข้าวที่มีการส่งออกมากสุดเป็นอันดับ 1 คือ บริษัท สยามอินดิก้า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. สามารถส่งออกได้มากถึง 4.75 แสนตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวเกือบทั้งหมด
อันดับ 2 คือ บริษัท ข้าวไชยพร ส่งออกได้ 4 แสนตัน รองลงมา บริษัทในเครือนครหลวงค้าข้าว ส่งออกได้ 3.5 แสนตัน และบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ ส่งออกได้ 3.3 แสนตัน
จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มพ่อค้าใหม่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือบริษัท สยามอินดิก้า ซึ่งมีโครงสร้างของผู้บริหารคล้ายกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ที่ถูกฟ้องล้มละลายและเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้มีศักยภาพรองรับการส่งออกข้าว ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1
แม้ แต่การส่งข้าวไปให้ประเทศอินโดนีเซียที่ทำสัญญาซื้อข้าวไทย 3 แสนตัน ทางประเทศอินโดนีเซียระบุชื่อบริษัทส่งออกมาให้ด้วย คือ บริษัท สยามอินดิก้า
“สยามอินดิก้า” เป็นใคร มีเส้นสายทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหน สังคมไทยจะได้เห็นจากการอภิปราย
อีกหนึ่งบริษัทที่อาจโด่งดังจากการอภิปรายคือบริษัทน้องใหม่ในวงการค้าข้าวที่มาแรง บริษัท อาร์ แอนด์ ที ไรซ์ ที่กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ไปยังประเทศจีน
ไม่แน่อาจมี “คุณนาย” “คุณหญิง” โผล่ออกมาให้เห็นถึงความพยายามในการทำมาหากินกับโครงการรับจำนำข้าว
ไม่แน่อาจเห็น “นายตำรวจ” ระดับ พันตำรวจเอก ที่จบการศึกษาระดับ “ดอกเตอร์” ที่ปัจจุบันเข้ามาเป็นผู้วางแผนจัดการในการระบายข้าวออกไปจากสต๊อกที่รัฐบาลถือครองอยู่
ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะชี้แจงประเด็นเหล่านี้อย่างไรให้สาธารณะเข้าใจ
ข้อมูลครบ ชี้แจงได้ก็เสมอตัว ตะกุกตะกัก โยนภาระให้ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงมากเท่าไหร่ ก็เข้าตัวมากเท่านั้น
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต