จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ลงนามเอ็มโอยูซื้อขายข้าวกับทางการจีน ตั้งแต่ปี2556-2558 เป็นเวลา3ปี จำนวนไม่เกิน5ล้านตันต่อปี ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขปริมาณการซื้อและราคา
คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบบันทึกความเข้าใจหรือเอ็ทโอยู ว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมติครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่อนุมัติเอ็มโอยู ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ตั้งแต่ปี 2556-2558 เป็นเวลา 3 ปี จำนวนไม่เกิน 5 ล้านตันต่อปี โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขปริมาณการซื้อและราคา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายการขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลอาจจะไม่ราบรื่น เหมือนที่กระทรวงพาณิชย์คาดหวังไว้เสียแล้ว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่าจะสามารถระบายข้าวได้จำนวนมากจากการขายแบบจีทูจี แม้ว่ามีคนสงสัยกันมากและต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงรายละเอียด แต่ก็มักจะอ้างว่าเป็นความลับและมีความอ่อนไหวมาก แต่หลังจากมีการเปิดเผยเอ็มโอยูกับจีนแล้ว อาจแสดงให้เห็นว่าการระบายข้าวของรัฐบาลไม่ง่ายนัก ขณะที่ตัวเลขการรับจำนำของรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกวัน จนขณะนี้หลายพื้นที่มีปัญหาสต็อก ซึ่งกรณีที่ทางการจีนขอแก้ไขปริมาณและราคาตามที่ตกลงไว้เดิม ชี้ให้เห็นว่าการขายจีนได้ราคาก็ไม่ง่ายนัก
อันที่จริง การลงนามเอ็มโอยูกับทางการจีน แทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก นักธุรกิจหรือนักวิชาการที่รู้เกี่ยวกับธุรกิจก็รู้ว่าการเซ็นเอ็มโอยูนั้นแทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติใดๆ ซึ่งหากเอ็มโอยูในครั้งนี้นำไปสู่การซื้อขายจริงก็น่ายินดีด้วยสำหรับรัฐบาล แต่หากดูจากตัวเลขการนำเข้าข้าวของจีนนั้นอาจจะไม่มากเหมือนอย่างที่หวังไว้ แม้ว่าจำนวนประชากรของจีนกว่าพันล้าน แต่จีนก็มีผลผลิตจำนวนมหาศาลเช่นกัน การนำเข้าในแต่ละปีเพียงไม่กี่ล้านตันนั้น แสดงให้เห็นว่าจีนมีผลผลิตที่พอสมควรและเกิดขาดแคลนบางจุดเท่านั้น
แต่ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในไทยก็คือรัฐบาลมีสต็อกข้าวจำนวนมหาศาล และเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกลดลงราว 40% จากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศส่งออกรายอื่น และไทยกำลังมีปัญหาการส่งออกข้าว แต่มีกรณีเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลสามารถระบายข้าวได้ คือ ต้องขายในราคาขาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลไม่ต้องการ โดยรัฐบาลยังมั่นใจว่าจะสามารถระบายข้าวได้ราคาในอนาคตอันใกล้นี้
ดังนั้น ความพยายามของรัฐบาลในการขายข้าวแบบจีทูจี จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างมากว่าจะสามารถขายข้าวได้ราคาและปริมาณมากพอ เพื่อรองรับผลผลิตภายในประเทศได้ทันหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าขณะนี้ถือเป็นปีที่สองของโครงการรับจำนำ เกษตรกรก็เร่งเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลรับจำนำหมดทุกเมล็ด หากรัฐบาลเจรจาขายแบบจีทูจี กับประเทศอื่นเช่นเดียวกันจีน จึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมากว่ารัฐบาลจะระบายข้าวได้หรือไม่ เพราะไม่มีข้อกำหนดหรือข้อผูกมัดใดๆที่ประเทศเหล่านี้จะซื้อข้าวไทย
เราขอเอาใจช่วย หากรัฐบาลสามารถระบายข้าวได้ราคา ซึ่งจะทำให้ไม่สูญเสียงบประมาณในโครงการรับจำนำจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นกรณีเดียวเท่านั้นในขณะนี้คือเกิดภัยธรรมชาติหลายพื้นที่ทั่วโลก จนเกิดปัญหาขาดแคลน ส่วนกรณีอื่นยังมองไม่เห็น เช่น สต็อกรัฐบาลจำนวนมหาศาลก็ไม่สามารถดึงราคาให้สูงได้มากนัก ซึ่งการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้อาจช่วยลดแรงกดดันระยะสั้นลงได้ในเรื่องระบายข้าว แต่ในระยะยาวยังต้องพิสูจน์ว่ารัฐบาลจะสามารถสู้พลังทางตลาดได้หรือไม่ เพราะบทเรียนในอดีตชี้ให้เห็นว่าการฝืนตลาดเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต