จาก โพสต์ทูเดย์
"ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ประเทศจีนก็ให้การสนับสนุนเช่นกัน ขณะที่ประเทศออสเตรเลียค่อนข้างจะกระตือรือร้น
โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา
และประเทศอินเดียก็ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราสร้างในท้ายที่สุดคือพื้นที่ (การค้า) แห่งใหม่”
สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวให้รายละเอียด เมื่อเอ่ยถึง “ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (อาร์ซีอีพีRegional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญของการพูดคุยหารือสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอา เซียนและเอเชียตะวันออก ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถือเป็นข้อความที่สะท้อนให้เข้าใจอย่างดีว่า กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างล้นหลามมากมายเพียงใด
ทั้งนี้ แม้จะมีสัญญาณปรากฏให้เห็นลางๆ ว่า ข้อตกลงข้างต้นซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน บวกกับอีก 6 ประเทศเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ฉบับนี้ ต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวนานกว่าจะบรรลุผลได้ตามเป้าที่คณะทำงานตั้งไว้ว่าจะ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียน เคลื่อนย้าย และแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกเสรี
แต่สำหรับเหล่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุน ทั้งหลายอีกส่วนหนึ่งกลับมองว่าประเด็นความล่าช้าในการดำเนินการเจรจาตกลง ยังไม่น่าเป็นห่วง หรือวิตกกังวลเท่ากับกรณี “ชามก๋วยเตี๋ยว” (Noodle of Bowl) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
สำหรับแวดวงเศรษฐกิจ “ชามก๋วยเตี๋ยว” ก็คือความทับซ้อนซ้ำซ้อนของข้อตกลงหุ้นส่วนตัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับของ เดิมที่ได้มีการเดินหน้าจัดทำ หรือดำเนินการกันไปแล้วก่อนหน้านี้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของไทยซึ่งมีข้อตกลงเอฟทีเอระดับทวิภาคีกับประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรืออินเดียอยู่ก่อนแล้ว และกำลังจะเพิ่มกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีตัวใหม่อย่างอาร์ซีอีพีเข้ามาใน ฐานะ 1 ใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน แต่กลุ่มประเทศที่ทำความตกลงด้วยกลับเป็นพันธมิตรหน้าเดิมแทบทั้งสิ้น โดยรวมถึงประเทศที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพียงเพิ่มจีนและเกาหลีใต้เข้าไปด้วย
กลายเป็นประเด็นคำถามที่น่ากังขาต่อไป ว่า 1) ประเทศที่ตกอยู่ในสถานะดังกล่าวควรจะใช้กรอบข้อตกลงเอฟทีเอฉบับไหนดี 2) สิทธิพิเศษทางการค้าที่ได้จากเอฟทีเอแต่ละฉบับจะหักล้างกันเองหรือไม่ เอื้อประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า 3) ความหลากหลายของกฎที่ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule Of Origin) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา เพื่อใช้กำหนดสัญชาติที่แท้จริงของสินค้าและเป็นส่วนสำคัญในกฎทางการค้า เพราะสามารถนำมาใช้เป็นนโยบายเพื่อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศผู้ส่งออก เช่น การกำหนดโควตา อัตราภาษีพิเศษ มาตรการป้องกันการทุ่มตลาดได้ จะซับซ้อนเกินไปจนเป็นภาระหรือเปล่า และ 4) หน่วยงานด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ จะมีเพียงพอสนับสนุนธุรกิจองค์กรทั้งหลายทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อไขว่ คว้าโอกาส รวมถึงประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ได้หรือไม่
ก่อนอื่น ต้องระบุกันเสียก่อนว่า ประเด็น “ชามก๋วยเตี๋ยว” ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะมีการโต้แย้งถกเถียงแต่อย่างใด เพราะมีการพูดคุยศึกษาในหมู่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์กันมาแล้วก่อน หน้านี้ 23 ปี โดยเป็นผลมาจากกระบวนการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือที่รู้จักกันดีในนามการเจรจาการค้ารอบโดฮา ที่หวังจะเปิดโฉมหน้าการค้าของโลกใหม่ให้เป็นไปอย่างเสรี เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกประเทศ มีอันต้องหยุดชะงักไปต่อไม่ได้ เหตุจากประเด็นทางการเมืองและผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ไม่ลงตัว ส่งผลให้บรรดาผู้นำของนานาประเทศหันหน้ามาพูดคุยตกลงกันเองกันมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าว ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง แม้กระทั่งในสภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาเช่นในปัจจุบันก็ตาม โดยข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุชัดว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีในภูมิภาคแห่งนี้ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 3 ฉบับ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 กลับเพิ่มขึ้นมาถึง 50 ฉบับในอีก 10 ปีให้หลังต่อมาโดยในขณะนี้ ยังมีข้อตกลงอีก 80 ฉบับ หรืออาจมากกว่านั้น กำลังรอการพิจารณาจากรัฐบาลประเทศต่างๆ อยู่
สภาพการณ์ดังกล่าว สร้างความวิตกให้กับบรรดานักวิเคราะห์ไม่น้อย เพราะแทนที่จะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ข้อตกลงหลายสิบฉบับที่มีอาจจะส่งผลให้กฎระเบียบ อัตราภาษี และค่าใช้จ่ายในการธุรกิจปรับตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยยังไม่รวมถึงการที่สารพัดเอฟทีเอยิบย่อยเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางสำคัญในกรณีที่ผู้นำประเทศต่างๆ จะขยายความร่วมมือไปสู่การเจรจาตกลงการค้าในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกต่อไปในอนาคต
อาดิตยา แมตทู นักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีมักจะมาพร้อมกับภาระ ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับที่ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีส่วนในการกำหนดค่าใช้ จ่ายและการรับรองสินค้านั้นๆ ของบริษัทต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตในปัจจุบันที่มีการส่งผ่านหลาย ประเทศก่อนจะเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ก็ยิ่งทำให้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าทวีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศมีแนวปฏิบัติในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าที่แตก ต่างกัน ก็จะยิ่งทำให้กฎการค้าซับซ้อนมากขึ้น และตามมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการค้าก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วย
สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การมีข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศนั้นๆ เสมอไป เพราะจะทำให้กฎระเบียบการค้ามีความซับซ้อนจนธุรกิจห้างร้านต่างๆ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้ อย่างเต็มที่ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้
หลักฐานยืนยันก็คือ ผลการสำรวจของเอดีบีที่เก็บข้อมูลจากผู้ส่งออกในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาติที่พึ่งพาการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบ โตทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2550-2552 ซึ่งพบว่าบริษัทส่งออกในประเทศเหล่านี้ ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าของข้อตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาลได้ เพียง 28% เท่านั้น ขณะที่อีก 53% อยู่ในระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจเพื่อหวังใช้ประโยชน์ในอนาคต
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ขนาดเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันยังไม่ครอบคลุม ร้อยเรียงหลายต่อหลายประเทศในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน นักธุรกิจนักลงทุนยังปวดหัวกับความซับซ้อนเสียขนาดนี้
แล้วกรณีปัจจุบันที่ 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังจะผลักดันข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่จะสร้าง พื้นที่เขตการค้าที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก หรือคิดเป็นมูลค่ารวมราว 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะยิ่งเป็น “ชามก๋วยเตี๋ยว” มากมายมหาศาลขนาดไหน
ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกันเองอีกฉบับหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่คณะทำงานของอาร์ซีอีพีดูจะคาดการณ์ไว้แล้วล่วงหน้า ว่าจะต้องมีเสียงท้วงติงถึงกรณีดังกล่าว เห็นได้จากการให้ข้อมูลยืนกรานหนักแน่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับทางสื่อ มวลชนที่ตามติดการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ ว่าอาร์ซีอีพีที่เกิดขึ้นจะสามารถหลีกเลี่ยง “ชามก๋วยเตี๋ยว” ได้อย่างแน่นอน แม้ว่าประเทศในกลุ่มสมาชิกจะมีเอฟทีเอระดับทวิภาคี หรือพหุภาคีอยู่แล้วก็ตาม
กระนั้น ต่อให้ยืนยันหนักแน่นแค่ไหน แต่ในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แบบไหน ซึ่งยังคงคลุมเครือ ก็ดูจะเป็นปัจจัยเพียงพอแล้วที่นักวิเคราะห์บางส่วนจะตั้งข้อสังเกตทัดทาน ขึ้นมา
นอกเหนือจากกรณีชามก๋วยเตี๋ยวที่น่ากลัว ว่าจะเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่กับการยกระดับการค้าภายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศต่างๆ แล้ว อุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน ก็คือปัจจัยทางการเมืองทั้งภายในประเทศสมาชิกและภายนอกกลุ่มประเทศสมาชิก
สำหรับปัจจัยทางการเมืองภายในของกลุ่มประเทศสมาชิก ประเด็นหลักก็คือ การที่รัฐบาลผู้นำของประเทศนั้นๆ จำเป็นต้องปกป้องภาคธุรกิจที่อ่อนไหวของตนเอง เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ก็จะส่งผลต่อคะแนนความนิยมจากประชาชน จนอาจทำให้กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่งเอาง่ายๆ เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปกป้องภาคการเกษตร ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องปกป้องอุตสาหกรรมข้าว
สำหรับปัจจัยทางการเมืองภายนอกกลุ่ม นักวิเคราะห์จากหลายสำนักล้วนชี้เป้าไปที่ชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ซึ่งพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแห่งนี้เพื่อกลับมามีบทบาทอีกครั้ง โดยหวังให้เศรษฐกิจของเอเชียฉุดเศรษฐกิจการค้าและการจ้างงานของสหรัฐให้ดี ขึ้น
ทว่า หนทางดังกล่าวไม่ได้ง่ายดาย เมื่อภูมิภาคเอเชียทุกวันนี้ มีประเทศจีนมหาอำนาจอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งอาศัยข้อตกลงทางการค้าขยับขยายอิทธิพลจนสามารถครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ เอาไว้ได้
เมื่อจีนทำแล้วได้ผล สหรัฐจึงเลือกใช้แนวทางเดียวกัน เห็นได้จากความพยายามผลักดันกรอบความตกลงพันธมิตรทรานส์แปซิฟิก (ทีพีพี) เข้ามาภายในภูมิภาค ซึ่งล่าสุด ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพิ่งจะประกาศข้อตกลงริเริ่มขยายความมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสหรัฐอาเซียน (ยูเออีอีอี) ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
เป้าหมายของข้อตกลงริเริ่มข้างต้น คือการปูทางสำหรับชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 และประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของสหรัฐ เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกในข้อตกลงทีพีพี ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่นำโดยสหรัฐและหลายประเทศในรอบแปซิฟิก โดยขณะนี้มีชาติสมาชิก 11 ประเทศ และมีชาติอาเซียน 4 ประเทศเข้าร่วมแล้ว คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ขณะที่ข้อตกลงทีพีพีที่สหรัฐผลักดันอย่างเอาเป็นเอาตายนี้ ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย ข้อตกลงอาร์ซีอีพีที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วยเช่นกัน รูปการณ์ดังกล่าวจึงทำให้นักวิเคราะห์พากันส่ายหน้า เพราะไม่ว่ามองมุมไหนก็ปฏิเสธได้ยาก ว่าผลประโยชน์จะไม่ทับซ้อนกัน อย่างน้อยก็ภายใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน อย่าง บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ลาว
กัมพูชา และพม่า ภูมิภาคที่อิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังขับเคี่ยวกันอยู่อย่างชัดเจน
และอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขตการค้าเสรีตามที่อาเซียน เอเชีย หรือทั่วโลก หวังไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหรืออาจล้มเหลวในที่สุด หากทุกประเทศที่เข้าร่วมไม่คิดหาทางรับมือร่วมกันอย่างจริงใจและจริงจัง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต