สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมืองนักปั่น ฝันติดล้อ

เมืองนักปั่น ฝันติดล้อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ไม่ว่ากรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรแห่งนี้จะถูกพลิกโฉมหน้าให้เป็นเมืองแห่งจักรยานได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม
แต่ที่แน่ๆ ภาพที่เห็นวันนี้คือคนกรุงหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น โดยไม่เกี่ยงว่าเส้นทางจะร้อนหรือรถราขวักไขว่

ดูเหมือนว่ากระแสการใช้จักรยานจะเริ่มมีอิทธิพลกับคนเมืองมากขึ้น ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร แต่เมืองหลวงทั่วโลกก็กำลังอินกับกระแสนี้มากพอๆ กัน ยิ่งทุกวันนี้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือการลดโลกร้อนกันอย่างต่อเนื่อง การเอาจักรยานเก่าเก็บที่บ้านตัวเองออกมาปั่นกับเพื่อนๆ ก็เลยได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างไปโดยปริยาย

เหตุที่คนเมืองหันมาสนใจเจ้าสองล้อกันมากขึ้น อาจเป็นเพราะปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และมลภาวะทางเสียงอันเกิดจากความแออัดของรถยนต์(ทั้งคันแรกและคันต่อๆ มา) โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่ปัจจุบันพื้นที่ถนนน้อยกว่าปริมาณรถด้วยซ้ำ ทำให้การเดินทางในแต่ละวันต้องใช้เวลามากขึ้นเป็นเท่าตัว หลายคนจึงมองหาพาหนะอื่นที่สามารถเดินทางได้สะดวกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง 'จักรยาน' ก็เข้ามาตอบโจทย์นั้นได้พอดี

ถึงแม้ว่าวันนี้ผู้ใช้จักรยานในเมืองไทยอาจจะมีไม่มากเหมือนบางประเทศ อย่างเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จีน ออสเตรเลีย เยอรมัน หรือญี่ปุ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มของนักปั่นเมืองไทยเริ่มขยายใหญ่และต่อยอดเป็นกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

รวมพลังนักปั่นผ่านแฟนเพจ

หลายคนอาจเคยได้ยินว่ากรุงเทพฯ จะถูกปรับโฉมให้เป็นเมืองน่าอยู่หรือเมืองจักรยาน แต่อาจต้องรอไปก่อนเพราะยังไม่มีความพร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องปรับให้เหมาะกับการปั่นเจ้าสองล้อในเมืองหลวง ยังไม่นับรวมถึงการสำรวจเส้นทางหรือการทำจุดจอดที่เป็นเรื่องเป็นราว อย่างไรก็ตามวันนี้คนกรุงหลายต่อหลายคนกลับพร้อมใจกันออกมาปั่นจักรยานโดยที่ไม่ต้องรอความพร้อมใดๆ จากภาครัฐ

โซเชียลเน็ตเวิร์คถูกนำมาใช้รวบรวมคนที่มีใจรักจักรยานให้เข้ามาทำความรู้จักกัน หลายคนยอมรับว่าเมื่อก่อนพวกเขาก็เพียงแค่ใช้จักรยานเพื่อปั่นไปซื้อกับข้าวหรือปั่นไปทำงานคนเดียว แต่เมื่อได้เข้ามาพบปะกับนักปั่นคนอื่นๆ ผ่านทวิตเตอร์หรือเฟซบุค ก็ทำให้พวกเขารับรู้ว่ายังมีเพื่อนๆ ต่างเพศและวัยอีกหลายคนที่ชื่นชอบ 'ปั่น' เหมือนๆ กัน จนในที่สุดก็เกิดเป็นกลุ่มนักปั่นที่มีพลังขึ้นมา"สมัยก่อนผมปั่นจักรยานในธรรมศาสตร์ก็ไม่เคยเห็นคนอื่นปั่นเลย เราก็ปั่นของเราอยู่คนเดียว โอกาสที่เราจะไปเจอคนที่ปั่นจักรยานเหมือนกันมันค่อนข้างน้อย แต่พอมีโซเชียลเนตเวิร์คมันก็ทำให้เราลิงค์ถึงกันได้มากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เรารวมตัวกันก็มีบ่อยขึ้น ภายใน 2-3 ปีนี้เกิดกลุ่มจักรยานเป็นหลักหลายร้อยกลุ่มเลยนะครับ" ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ นักรณรงค์การใช้จักรยานจากมูลนิธิโลกสีเขียว เริ่มเล่าถึงปรากฏการณ์ของการรวมตัวนักปั่นเมืองไทย

หนึ่งในกลุ่มสังคมจักรยานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ กลุ่ม Bangkok Bicycle Campaign ซึ่งจุดเริ่มต้นของนักปั่นกลุ่มนี้ก็เริ่มจากการรวมตัวกันผ่านหน้าแฟนเพจของเฟซบุคเช่นกัน โดยมี แนน - นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล เป็นผู้ก่อตั้ง เธอเล่าว่าการรวมตัวของคนที่มีใจรักในสิ่งเดียวกันผ่านโซเชียลเนตเวิร์คมีพลังมาก จากที่เคยคิดว่ายืนอยู่คนเดียว แต่พอสร้างหน้าเพจนี้ขึ้นมาปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ขณะนี้มีสมาชิกในแฟนเพจกว่า 13,500 คน

"ตั้งแต่เรามีเพจในเฟซบุคก็ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น มีคุณป้าจากต่างจังหวัดเข้ามาหาเรา มาพูดคุยเรื่องการเลือกจักรยานกับเรา มีโปรแกรมเมอร์จากศิริราชติดต่อเข้ามาหาเราบอกว่าเจอกลุ่มเราในเฟซบุคเห็นแล้วอยากลองมาปั่นจักรยานบ้าง เราก็บอกว่ามาได้เลยชวนเพื่อนๆ มาด้วย นี่ก็ทำให้เห็นว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คสำหรับเรามันมีพลังมากนะในการดึงดูดคนเข้ามา"

เธอยังบอกอีกว่าโซเชียลสำหรับเธอ มันคือตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้เธอได้มีโอกาสพบเจอบุคคลที่เธอไม่เคยคิดว่าจะสามารถเข้าถึงได้ ทั้งคนในวงการบันเทิง ผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังหลายคน รวมไปถึงผู้ใหญ่ในกทม.หลายท่าน เพราะการทำงานของเธอไม่ใช่เพียงชักชวนนักปั่นหน้าใหม่ออกมาบริหารน่องเท่านั้น แต่ยังหาช่องทางเข้าไปร่วมประชุมกับผู้ใหญ่ในกทม.เพื่อเสนอประเด็นที่ช่วยให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยานได้โดยเร็ว

Bike Cafe ปั่นเก๋ๆ ที่ร้านกาแฟ

นอกจากการก่อร่างสร้างกลุ่มนักปั่นผ่านโซเชียลเนตเวิร์คแล้ว กลุ่มนักปั่นยังต่อยอดแตกกลุ่มออกไปสร้างจุดนัดรวมพลกันนอกสถานที่ มีทั้งที่สวนสาธารณะ หรือนัดกันออกทริปปั่นไปเที่ยวต่างจังหวัด รวมไปถึงจุดนัดพบสุดเก๋ที่ร้านกาแฟ Cafe Velo Dome ซึ่งตั้งอยู่บริเวณข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดนัดพบแห่งนี้นอกจากจะเสิร์ฟกาแฟหอมๆ รสกลมกล่อมแล้ว ยังได้สมญานามว่าเป็นเพิงพักนักปั่นเพราะมีจักรยานไว้ให้ยืมถึง 7 คัน มีหนังสือเกี่ยวกับจักรยานแทบทุกเรื่อง มีที่สูบลมล้อ มียาสามัญและอุปกรณ์อื่นๆ ครบถ้วน และเจ้าของเพิงพักนักปั่นแห่งนี้ก็คือ นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล คนเดียวกันกับผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Bicycle Campaign นั่นเอง เธอเล่าว่ากว่าจะมาเป็นร้านกาแฟ Cafe Velo Dome ได้ก็เล่นเอาคนไม่เคยทำร้านกาแฟอย่างเธอเหงื่อตกไปเหมือนกัน

"แนนเริ่มต้นจากว่ารักการปั่นจักรยานอย่างเดียวเลยค่ะ เราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการชงกาแฟหรือการทำขนมเลย แต่เนื่องจากเราได้มีโอกาสเข้าไปประชุมงานเรื่องจักรยานกับทางกทม.บ่อยๆ เราก็ได้รู้จักผู้ใหญ่หลายท่าน ได้รู้จักอาจารย์ปริญญาและอาจารย์ท่านอื่นๆ ในม.ธรรมศาสตร์ ท่านก็บอกว่าพอดีร้านเดิมตรงนี้เขาหมดสัญญาไปและทางอาจารย์มีแนวคิดว่าอยากให้มี Bike Cafe ขึ้นมาก็เลยชวนเรามาทำตรงนี้ ซึ่งเปิดมาได้ไม่กี่เดือนแต่เจอคนรักจักรยานเหมือนๆ กันเข้ามาทักทายเราเยอะมากๆ"

ด้วยความที่เป็นจุดนัดพบของนักปั่นทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า บรรยากาศในร้านจึงไม่ต่างอะไรกับสโมสรของคนรักจักรยานที่พอมีเวลาว่างปุ๊บก็จะมาเจอกันที่นี่ปั๊บ เธอบอกว่าบรรยากาศของการพูดคุยกับแบบนี้จะทำให้คนทั่วไปที่เข้ามาในร้านถูกดึงดูดให้มาเป็นสมาชิกนักปั่นหน้าใหม่ไปโดยปริยาย

"โต๊ะนี้อาจจะไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน แต่โต๊ะข้างๆ เป็นนักปั่นแล้วคุยกันเรื่องจักรยานอยู่ คนที่ได้ยินเขาก็จะสนใจ เริ่มมาถามว่ามีจักรยานให้ยืมไหม คือบรรยากาศที่เราสร้างไว้ มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาเองก็ปั่นได้ แค่เข็นรถจักรยานไปที่สนามหลวงก็ปั่นได้แล้ว ส่วนความพิเศษอีกอย่างของร้านเราคือ บาริสต้าทุกคนในร้านทำหน้าที่เป็น Bike Barista ด้วย ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลเรื่องจักรยานกับบาริสต้าเราได้ทุกคนเลยค่ะ"

ร่วมด้วยช่วย 'ปั่น'

ไม่เฉพาะแค่นักปั่นในโลกออนไลน์ที่รวบรวมสมาชิกเครือข่ายออกมาช่วยกันรณรงค์และชักชวนคนกรุงออกมาปั่นจักรยานให้เยอะขึ้น แต่ในระดับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพหรือด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็ให้ความสนใจและตบเท้าเข้าร่วมรณรงค์ด้วยอีกแรง พวกเขาช่วยกันสร้างโครงข่ายนักปั่นเมืองไทยให้ขยายไปในวงกว้าง อีกทั้งยังเอาจริงเอาจังกันในเรื่องของการศึกษาเส้นทางเพื่อทำเป็นแผนที่สำหรับจักรยานกันเลยทีเดียว

นักรณรงค์การใช้จักรยานจากมูลนิธิโลกสีเขียวอย่าง ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เล่าว่าทางมูลนิธิให้ความสำคัญในเรื่องนี้และวางแผนการทำงานเกี่ยวกับจักรยานไว้ถึง 5 ปี โดยจะผลักดันให้การปั่นจักรยานในเมืองเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ซึ่งแผนที่วางไว้มีสองยุทธศาสตร์คือ "เปิดใจ" และ "เปิดทาง" ข้อแรกนั้นเขาอธิบายว่าคนกรุงเทพทั่วไปที่ไม่ได้ขี่จักรยานส่วนมากจะมีมายาคติว่าการขี่จักรยานในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องอันตรายหรือประเทศเรามันร้อนเกินไปที่จะขี่จักรยาน ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาอุปสรรคเหล่านี้สามารถแก้ไขได้

ส่วนข้อที่สองการเปิดทาง ตรงนี้ทางมูลนิธิได้ชักชวนคนที่ขี่จักรยานอยู่แล้ว มาช่วยกันสำรวจเส้นทางแล้วทำออกมาเป็นแผนที่เส้นทางจักรยาน เพื่อที่จะเป็นเหมือนใบเบิกทางให้คนที่สนใจอยากจะขี่จักรยานได้รู้ว่า จริงๆ แล้วยังมีทางจักรยาน (Bike Lane) ดีๆ อยู่ซึ่งใช้เวลาสำรวจและรวบรวมเพื่อตีพิมพ์นานถึง 2 ปี

"นอกจากนี้เราก็พยายามเสนอเข้าไปถึงกทม.ด้วย คือให้จัดสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการขี่จักรยาน สร้างเมืองให้คนอยู่มากกว่าที่จะเป็นเมืองรถยนต์ เพราะปัจจุบันนี้พบว่าจำนวนรถมีมากกว่าพื้นที่ถนนประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งผมมองว่าการปั่นจักรยานจะเป็นเทรนใหม่ในฝันของคนกรุงได้ไม่ยาก เพราะพื้นที่ของเมืองเป็นที่ราบ แล้วก็พื้นถนนในกรุงเทพฯ มีความกว้างเพียงพอที่จะมาแบ่งเป็นเลนของจักรยานสัญจรได้ ก็ไม่ใช่ว่าต้องให้ทุกคนมาปั่นจักรยานนะครับ แต่เราหมายถึงว่าเมืองนี้น่าจะSupport การสัญจรทางเลือกอื่นๆ ด้วย"

แม้ว่าการปรับโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยานในฝันอาจจะขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่อย่างน้อยที่สุด ภาพของกลุ่มนักปั่นที่ออกมาทำกิจกรรมชักชวนเพื่อนร่วมทางหน้าใหม่เข้าสู่วงการก็เป็นเรื่องน่ายินดี หรือพูดแบบเก๋ๆ ได้ว่า...วันนี้การปั่นจักรยานได้กลายเป็นไลฟ์ไตล์ที่ป็อปปูลาร์ของคนกรุงไปแล้ว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เมืองนักปั่น ฝันติดล้อ

view