จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สิรินาฏ ศิริสุนทร
เป็นข่าวที่สร้างความแปลกใจได้ไม่น้อยทีเดียว เมื่อ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
(สสนก.) ออกมาระบุว่าทำจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำเพื่อดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ภายใต้ กบอ.
เหตุผลสั้นๆ ที่ ดร.รอยล ยืนยันคือไม่ได้น้อยใจ ไม่ได้ขัดแย้งแต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีประเมินการทำงาน ในช่วงระยะเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านมา เรียกง่ายๆ ว่าเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีประเมินการทำงาน หากพบว่าคณะกรรมการที่เขาทำงานอยู่ไม่ดี ก็เปิดให้คนที่มีฝีมือเข้ามาทำงานแทน
ย้ำชัดๆ หลายครั้งว่าต้องการเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ และแสดงสปิริตด้วยการลาออก
การลาออกครั้งนี้ แว่วๆ จากกรรมการท่านอื่นๆ ว่าพักหลัง เสียงที่เคยดังของ ดร.รอยล ที่มีต่อนายกรัฐมนตรีเริ่มเบาลง โดยในการประชุมหลายครั้งบทบาทการทำงานน้อยลง จนอาจทำให้ ดร.รอยล ตัดสินใจลาออกเพื่อหลีกทางให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
ต้องยอมรับว่าในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 บทบาทของ ดร.รอยล ค่อนข้างโดดเด่น และมีส่วนช่วยให้วิกฤติน้ำท่วมในช่วงนั้นผ่านไปได้ โดยเฉพาะทีมนักวิชาการรุ่นใหม่ ทั้ง ดร.รอยล และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รวมไปถึง ดร.สุทัศน์ วีรสกุล ที่ล้วนแต่เป็นนักวิชาการที่นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ
อาจจะบอกได้ด้วยซ้ำไปว่า การเข้ามาบริหารจัดการน้ำของนักวิชาการกลุ่มนี้ ค่อนข้างท้าทายวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบเดิมของกรมชลประทาน ที่ยังขาดการนำเอาศาสตร์ใหม่มาประมวลวิเคราะห์ร่วมกัน รวมไปถึงข้อมูลพยากรณ์ใหม่ที่สภาวะอากาศได้เปลี่ยนแปลงไป
การเข้ามาของนักวิชาการกลุ่มนี้ ทำให้นักชลประทานรุ่นเก่าต่างออกมากวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายกฯ เชื่อนักคณิตศาสตร์ เอามาบริหารจัดการน้ำจะรู้เรื่องน้ำดีเท่ากับนักชลประทานได้อย่างไร
ความไว้วางใจของรัฐบาลที่มีต่อ ดร.รอยล ทำให้ได้รับมอบหมายภารกิจใหญ่ๆ ในการจัดการน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลพยากรณ์ ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ภายใต้แผนการพัฒนาและจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวม 14 โครงการ วงเงิน 1,984.80 ล้านบาท
และในจำนวนดังกล่าว มีกว่า 9 โครงการ ในวงเงิน 599.80 ล้านบาท เป็นของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่ง รอยล เป็นผู้อำนวยการ
ที่ผ่านมา "ดร.รอยล" จึงเป็นเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์และถูกท้าทายกับสิ่งที่เขาพยายามจะทำโดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามทดสอบการระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ในช่วงวันที่ 5-7 ก.ย. ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบและถูกโยงเข้าไปเป็นเรื่องการเมืองของกรุงเทพมหานคร
แม้ในมุมของความพยายามที่จะหาข้อมูลการระบายนำของคลองกทม.จะเป็นเรื่องดีและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการประมวลวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการได้
แต่ก็ดูเหมือนว่า การอธิบายถึงผลที่ได้รับจะดังไม่เท่ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าได้ไม่คุ้มเสีย และการทดลองเป็นเพียงแผนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล และครั้งนั้น ทำให้ความน่าเชื่อถือของ ดร.รอยล ลดลงไปมากทีเดียว
การลาออกของ ดร.รอยล จึงอาจจะเป็นสัญญาที่บอกถึงปัญหาของการบริหารจัดการน้ำและการจัดการข้อมูลน้ำแห่งชาติ ที่ถือเป็นหัวใจหลักในการวางแผนจัดการน้ำในอนาคตที่คงจะอยู่ในวังวนต่อไป
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต