สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุ่งโนนสน สวรรค์บนดิน

ทุ่งโนนสน สวรรค์บนดิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สิ่งที่หลงเหลือจากการเดินทางทุกๆ ครั้ง นั่นก็คือ มิตรภาพที่สวยงามระหว่างเพื่อนร่วมทางที่แสนดี
จำได้ว่า การเดินทางสุดหฤโหดในการพิชิตยอดเขา "โมโกจู" ที่อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ฉันได้เพื่อนต่างเพศต่างวัยเพิ่มขึ้นมาเกือบ 20 คน บางคนเรื่องราวอาจขาดหายไปบ้างตามระยะเวลาที่ผ่านพ้น แต่ก็มีอีกหลายคนเหมือนกันที่ยังติดต่อสื่อสารกันมาจนถึงทุกวันนี้

เหมือนจะซ้ำรอยเดิม ฉันได้รับเชิญจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก ให้ร่วมเดินทางไปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่ภายใน "อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง" ที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัย ซึ่งหากเอ่ยชื่อ ทุ่งโนนสน ขึ้นมาแล้ว เชื่อแน่ว่า สาวกคนแบกเป้เดินป่า ย่อมตาลุกวาวไปตามๆ กัน และฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ขอสมัครเข้าร่วมการเดินทางทันทีที่ได้รับเชิญ

"มิตรใหม่" กำลังจะเกิดขึ้นจากการเดินทางครั้งนี้ และ "มิตรเก่า" ที่คอยช่วยเหลือกันจากการเดินทางครั้งก่อนก็ช่วยผ่อนความรู้สึกจากหนักเป็นเบาได้ และฉันก็ค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะไม่มีทางทิ้งกัน แน่นอน

1.

แดดบ่ายทำหน้าที่ของมันอย่างหาญกล้า ไม่มีสักคนที่อยากจะแหงนหน้ามองฟ้า เพราะลำพังแค่เป้หนักๆ บนหลังก็ฉุดพลังของการก้าวเดินไปมากพอแล้ว เมื่อมาเจอกับไอร้อนระอุเข้าก็เล่นเอาอยากจะหายตัวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วๆ

ก่อนเดินทาง "มิตรเก่า" อย่าง พี่บัง-ทนงศักดิ์ ตุลยธำรง ผู้ช่วย ททท. สำนักงานพิษณุโลก ที่เคยร่วมทริปโหดโมโกจูด้วยกัน เล่าให้ฟังว่า ทุ่งโนนสน ถือเป็นทุ่งดอกไม้ที่สมบูรณ์และสวยงาม ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย เพราะบนลานที่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนาขนาดกว้างราว 10 ตารางกิโลเมตรของทุ่งโนนสนนั้น มีดอกไม้ดินหลากหลายสายพันธุ์ชูช่องดงามราวกับสวนสวรรค์ที่ตั้งอยู่บนดิน

เพราะคิดว่าปลายทางคือ "สวนสวรรค์" อย่างที่พี่บังว่า เราจึงมีแรงฮึดที่จะเดินฝ่าความยากลำบากนับตั้งแต่กิโลเมตรแรกขึ้นมา ซึ่งจุดตั้งต้นของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยาน สล.12 บ้านรักไทย แต่การเดินทางก็ถูกร่นระยะให้สั้นลงด้วยรถหกล้อกลางเก่ากลางใหม่ที่รับหน้าที่พานักเดินทางที่รักการผจญภัยเกือบ 30 ชีวิต วิ่งฝ่าพื้นดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อขลุกขลักขึ้นไปราว 8 กิโลเมตร จนกระทั่งถึง "บ้านฐานแตก" นั่นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าที่แท้จริง

สังเกตรอบๆ บริเวณเป็นไร่มันสำปะหลังสลับกับไร่สัปปะรดที่กำลังเพิ่มพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ ปัญญา จันทร์มา หรือ พี่มะขามป้อม เจ้าหน้าที่นันทนาการและสื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่รับหน้าที่เป็น "ไกด์นำทาง" ของเราในครั้งนี้ สะท้อนให้ฟังว่า เดิมบริเวณบ้านฐานแตกเคยเป็นพื้นที่สีแดงที่เคยใช้เป็นที่พำนักของสหายพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน ต่อเมื่อมีการปราบปรามเจ้าหน้าที่จึงได้จัดสรรที่ดินให้ประชาชนเข้ามาทำกิน จนเกิดหมู่บ้านและการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ แต่...

"ตอนนี้เริ่มเป็นห่วงแล้ว เพราะชาวบ้านเริ่มปลูกสัปปะรด ผมเกรงว่าอาจจะซ้ำรอยกุยบุรี เพราะสัปปะรดเป็นผลไม้รสหวาน ช้างป่าเขาไม่จำเป็นต้องกินเยอะ เพราะสัปปะรดมันให้พลังงานมากอยู่แล้ว ถ้าวงจรชีวิตเขาเป็นแบบนี้เขาจะไม่กินอย่างอื่น ตรงนี้แหละที่ผมว่าน่าห่วง เพราะจริงๆ เรามีแนวกันพื้นที่หมู่บ้านกับป่าด้วยแปลงปลูกพืชอาหารช้างอย่างพวกไผ่ หญ้าเนเปียร์ที่เป็นอาหารช้าง เพื่อไม่ให้เขาออกมาจนถึงชาวบ้าน แต่ถ้าชาวบ้านปลูกสัปปะรดมากขึ้นเขาก็จะลงมากินแต่สัปปะรด"

เราเดินผ่านไร่มันสำปะหลังแปลงใหญ่เข้าไปเรื่อยๆ กระทั่งเดินผ่านดงหญ้าคาขนาดใหญ่แล้วผลุบเข้าไปในป่ารกทึบ ตรงนั้นฉันพบว่ามีขี้ช้างกองโตขวางทางอยู่หลายกอง และนั่นก็ยืนยันว่า ช้างป่าที่นี่มีอยู่จริง และแหล่งหากินของมันก็ใกล้กับหมู่บ้านเข้าไปทุกที หากปล่อยให้ชาวบ้านปลูกสัปปะรดอย่างนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่าช้างป่าอาจเข้าไปกวนชาวบ้านและเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

หยุดความห่วงหาอาทรนั้นด้วยความเหนื่อยหอบที่เพิ่มดีกรีขึ้นทุกขณะ จาก "ห้วยหินลาด" ผ่านป่าทึบบริเวณ "เนินทดลอง" มาจนถึง "เนินลองใจ" แต่ก็ยังไม่สุดพลังเท่ากับ "เนินป่าซาง" ที่กินพลังเราไปมากมายเหลือเกิน หลังพ้นจากความสูงชันเราจึงหยุดพักกันที่ "ลานดูใจ" แล้วเดินต่อไปที่ "เนินซับน้ำใส", เนินตะแบกคู่" "จุดชมวิว" ไปจนถึง "ทุ่งโนนสน" ที่ใครบางคนอยากจะตั้งชื่อให้ว่า "ลานไชโย" นั่นแหละ ความสวยงามข้างหน้าจึงทำให้เราหายเหนื่อย

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งโนนสนเป็นทุ่งหญ้าโล่งสลับกับป่าเบญจพรรณที่มีดอกไม้ล้มลุกแปลกๆ ผุดขึ้นมาให้ชมในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว คือราวเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี แต่พี่มะขามป้อมบอกว่า ปีนี้น้ำฝนน้อย ดอกไม้บางชนิดอาจมีให้เห็นแค่เพียงปลายเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น

"พันธุ์ไม้เด่นๆ ก็จะมี เอื้องนวลจันทร์ หรือเหลืองพิศมร เอื้องม้าวิ่ง ดุสิตา พวกนี้จะแยกเป็นกลุ่มๆ ของเขา อย่างเอื้องม้าวิ่งจะชอบเกาะอยู่บนก้อนหิน ถ้าตรงไหนไม่มีลานหินเขาก็จะไม่ขึ้น หรือเอื้องนวลจันทร์ก็จะอยู่บนลานหินที่มีการทับถมของดิน เขาก็จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ"

นอกจากนี้ภายในพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตรของทุ่งโนนสนยังมีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจอีกมากมาย จนเจ้าหน้าที่อุทยานนำรายชื่อพันธุ์ไม้เหล่านั้นมาร้อยเรียงกันแต่งเป็นเพลง "ทุ่งโนนสน" ขึ้นมา พี่มะขามป้อมว่า คืนนี้ขอร้องเพลงนี้ให้ฟังก่อนที่พรุ่งนี้จะนำทางพวกเราเดินทางไปสัมผัสกับความน่ารักของดอกไม้ต่างๆ ที่อยู่ในเพลง ว่าแล้วพี่มะขามป้อมก็เริ่มบรรเลงเพลงสดๆ ให้ฟังท่ามกลางค่ำคืนมืดมิดที่มีเพียงเสียงดาวเท่านั้นที่ส่องสว่าง

2.

อรุณรุ่งปลุกเราให้ตื่นด้วยไอหมอกจางๆ ที่ไหลผ่านหน้าเต็นท์ไป "นักล่าตะวัน" งัวเงียลุกขึ้นทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง พวกเขาค่อยๆ เดินผ่านลานหินซึ่งเป็นดงเอื้องนวลจันทร์ไปอย่างช้าๆ ก่อนจะปักขาตั้งกล้องลงเมื่อพบจุดที่สวยที่สุดของการบันทึกภาพ นั่นคือ ทุ่งโนนสน ที่มีต้นสนสองใบเป็นฉากหน้าให้กับพระอาทิตย์ดวงโตได้โผล่ขึ้นมา

ใครบางคนที่ตื่นสายเร่งฝีเท้าเพื่อเดินไปให้ทันแสงแรก แต่ลานหินแห่งนั้นชุ่มแฉะไปด้วยน้ำค้างที่หล่นพรม ทำให้ใครบางคนคนนั้นลื่นล้ม เดชะบุญว่าเลนส์ไม่แตก มีเพียงแค่ฟิลเตอร์เท่านั้นที่แหลกละเอียด บทเรียนจากเพื่อนคนแรกจึงทำให้ทุกๆ คนต้องคอยระวังเมื่อต้องเดินผ่านลานหินดงเอื้องนวลจันทร์ แต่ก็มีพลาดกันไปอีกหลายคน

วันนี้กิจกรรมของเราอยู่ภายในพื้นที่โดยรอบทุ่งโนนสน เส้นทางศึกษาธรรมชาติจากจุดกางเต็นท์จะเดินเป็นวงกลมระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ผ่าน น้ำตกปางหวาย ที่มีสายน้ำเล็กๆ จุดนี้อยู่ไม่ห่างแคมป์ของเราเท่าไรนัก เจ้าหน้าที่จึงเดินมากรอกน้ำสะอาดไปต้มสำหรับนักท่องเที่ยวที่เตรียมน้ำดื่มมาไม่พอ แน่นอนว่า พวกเรา 30 คน ได้ดื่มน้ำต้มกันทุกราย

บริเวณนี้มีพันธุ์ไม้พิเศษหลายชนิด นอกเหนือจาก "ดุสิตา" ดอกสีม่วง และ "เอื้องม้าวิ่ง" ดอกสีชมพูสดใสแล้ว ยังมี "สร้อยสุวรรณา" สีเหลืองเล็กจิ๋วกับ "ทิพเกสร" และ "สรัสจันทร" สยายกลีบสีม่วงอ่อนปูเป็นพรมอยู่บนพื้นดิน แต่ก็มากไม่เท่ากับ "จอกบ่วาย" และ "หยาดน้ำค้าง" ต้นไม้กินแมลงขนาดเล็กจิ๋วที่เติบโตอยู่บนพื้นดินกระจายอยู่ทั่วไป ใกล้ๆ กันมีดอกผักบุ้งดอยหรือ "หัสดัยเครือ" ที่ทอดปล้องยาวไปถึงต้น "หญ้ารากหอม" และ "จ่าห้อม" ซึ่งเป็นดอกไม้สีชมพูเข้มอีกชนิด รวมถึง "ปราบภู" ดอกสีม่วงก็สวยสดดี

ตรงนี้มีมอสขนาดใหญ่ที่สุดอย่าง "ข้าวตอกฤาษี" ด้วย พี่มะขามป้อมว่า มอสชนิดนี้จะขึ้นในพื้นที่ที่อากาศดีและมีความหนาวเย็น ที่พบเห็นมากที่สุดคือ "เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา" บนดอยอินทนนท์ แต่ที่ทุ่งโนนสนพบว่ามีข้าวตอกฤาษีขึ้นอยู่หนาแน่นริมธารน้ำ นั่นจึงเป็นดัชนีที่ชี้วัดว่า ธรรมชาติบริเวณนี้มีความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

นักท่องเที่ยว 30 ชีวิต พากันก้มๆ เงยๆ เพื่อชมดอกไม้ดินแต่ละชนิดที่มีขนาดเล็กจิ๋ว เมื่อบันทึกภาพจนสมใจแล้วพี่มะขามป้อมก็พาเราเดินผ่านทุ่ง "กระดุมเงิน-กระดุมทอง" ที่ปะปนอยู่กับ "หญ้าม้าฮ่อ" และเฟิร์นที่เรียกว่า "กูดเกี๊ยะ" ไปจนถึงป่า "เสม็ดแดง" เจ้าหน้าที่คนเดิม บอกว่า เสม็ดแดงเป็นไม้ทะเลแต่มายืนต้นอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรได้ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าที่นี่อาจเคยเป็นทะเลมาก่อน

ถัดจากดงเสม็ดแดงเริ่มเป็นป่าลึก เราเดินผ่าน กำแพงเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นหินขนาดยักษ์ 2 ก้อนที่เปิดช่องให้เดินผ่านได้เพียงครั้งละ 1 คน ตรงนี้เองที่ทำให้ทุกคนที่ตั้งใจมาทุ่งโนนสนร้องกรี๊ด นั่นก็เพราะ "สิงโต" ที่อยู่บนโขดหินเหนือกำแพงเมืองธรรมชาตินั่นเอง

อย่าเพิ่งตกใจ "สิงโต" ที่ว่านี้หมายถึง "สิงโตรวงข้าว" กล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่งที่หาชมยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับ "สิงโตกลอกตา" กล้วยไม้อีกสายพันธุ์ที่อยู่ห่างไปอีกระยะ เพราะว่าในภูมิภาคเดียวกันพบที่ทุ่งโนนสนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

บนเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาตินี้เราพบว่ามีต้นไม้ดอกไม้หลากหลายชนิดที่น่าสนใจ และบางตัวก็เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็น เอื้องหมัน, เอื้องบายศรี, เอื้องน้ำต้น, บีโกเนียป่า, เฒ่าหลังลาย, โคลงเคลง, เอนอ้า, หงอนนาค, กระดังงาป่า ที่สำคัญคือ หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลงที่พบมากที่สุด ซึ่งปกติแล้วจะขึ้นอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,400 เมตรขึ้นไป แต่ที่นี่พบ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวดอกใหญ่ และพันธุ์สีแดงดอกเล็ก

แต่สำหรับไฮไลท์ที่เราตามหากันมาตลอดทั้งวัน นั่นก็คือ "กุหลาบพันปี" หรือกุหลาบแดง ที่ผลิดอกบานสดใสอยู่ริม น้ำตกกุหลาบแดง ตรงนี้นอกจากกุหลาบพันปีแล้ว น้ำใสๆ ที่ไหลรินอยู่กลางแดดเปรี้ยงขนาดนี้เชิญชวนให้ทุกคนพร้อมใจกันลงไปแช่น้ำเย็นๆ และนี่ก็เป็นการอาบน้ำครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเราในทริป 3 วัน 2 คืน

"ธรรมชาติคือบ้านของผม" คำพูดสั้นๆ ของพี่มะขามป้อม ตอบทุกข้อสงสัยว่าทำไมเขาจึงยอมทิ้งอาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์เท่ๆ เงินเดือนสูงลิบลิ่ว แล้วมาทำหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

ไม่ผิดหวังเลย เพราะการเดินทางมาเยือน "ทุ่งโนนสน" ครั้งนี้ ทำให้ "มิตรที่ดี" ของฉันเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกหลายคน

การเดินทาง

ไปทุ่งโนนสนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจะสะดวกที่สุด แต่หากไม่มีรถก็สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทาง รถไฟ หรือเครื่องบินไปลงที่ จ.พิษณุโลก แล้วหารถเช่าเหมาต่อไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าไม้ สล.12(รักไทย) อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ก็สามารถทำได้ แต่ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเอเชียมุ่งหน้าภาคเหนือ พอถึงนครสวรรค์ให้เลือกเลี้ยวขวาไปทาง จ.พิษณุโลก วิ่งบนทางหลวงหมายเลข 117(นครสวรรค์-พิษณุโลก) ไปจนถึงสี่แยกปลวกสูง เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 115 ไปทาง อ.สามง่าม ผ่าน จ.พิจิตร แล้วตรงไป อ.สากเหล็ก โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 111 เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 11 วิ่งผ่าน อ.สากเหล็ก ไปแล้วจะมีป้ายบอกทางไป อ.เนินมะปราง ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1295 มุ่งหน้าสู่ อ.เนินมะปราง เข้าไปประมาณ 15 กม. ให้สังเกตแยกซ้ายมือมีป้าย "ทุ่งโนนสน" ให้เลี้ยวซ้ายต่อเข้าไปบริเวณแยกวัดน้ำปาด และโรงเรียนบ้านรักไทย วิ่งเข้าไปประมาณ 9 กม. ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน สล.12 (รักไทย)

ทุ่งโนนสนไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ นักท่องเที่ยวควรเตรียมเต็นท์ ถุงนอน อุปกรณ์กันหนาว อาหารและน้ำดื่มขึ้นไปเอง ส่วนอัตราค่าบริการลูกหาบคิดราคาเหมาต่อเที่ยว (3 วัน 2 คืน) ราคา 1,300 บาท (น้ำหนักไม่เกิน 20 กก.) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทร. 0 5526 8019, ททท. สำนักงานพิษณุโลก โทร. 0 5525 2742-3, 0 5525 9907, 0 5523 1063 ชมรมท่องเที่ยวทุ่งโนนสน โทร. 08 9856 4491 และ 08 6210 3315 (ผู้ใหญ่แดง-ประธานชมรม)


ทุ่งโนนสน ดงดอกไม้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กาญจน์ อายุ

หากชวนไปเที่ยว “ทุ่งโนนสน” หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า “อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” น่าจะเคยได้ยินมากกว่า อุทยานแห่งนี้อยู่ใน จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภายในอุทยานมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งนางพญา และทุ่งโนนสน

การโน้มน้าวใจให้ “คนทั่วไป” ไปเที่ยวทุ่งโนนสนคงยากเสียหน่อย เพราะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบจะเป็นคนเฉพาะกลุ่ม นั่นคือกลุ่มคนรักธรรมชาติ ชอบเดินป่า ชอบนอนเต็นท์ และรับกับความลำบากได้ดี คนทั่วไปที่ไม่นิยมความลำบากคงไม่เลือกที่จะมาเที่ยวในสถานที่เช่นนี้ แต่เดี๋ยวก่อน...อย่าเพิ่งประเมินตัวเองต่ำไป

หลายคนได้ยินคำว่า “เดินป่า” ก็ขยาดแล้วทั้งที่ยังไม่เคยเดิน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบ และถ้ายังไม่เคย มันไม่ได้หมายความว่าตัวเองทำไม่ได้ ดังนั้นแล้วลองเปิดใจพิสูจน์ตัวเองสักครั้ง คุณอาจพบชีวิตที่ซ่อนอยู่ข้างในก็ได้

 

แล้วบนทุ่งโนนสนมีอะไรตอบแทนความกล้าของคุณ

“ทุ่งดอกไม้”

ทุ่งดอกไม้คือคำตอบเดียว จุดเด่นบนทุ่งโนนสนคือความหลากหลายของดอกไม้ป่าที่ออกดอกสะพรั่งระหว่าง เดือน ต.ค.-พ.ย. ทุกเช้ายามแสงสีทองของดวงอาทิตย์สาดพ้นก้อนเมฆ “ทุ่งดอกเหลืองพิศมร” หรือเอื้องนวลจันทร์ จะกลายเป็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองทอง พวกมันจับตัวกันเป็นหย่อมๆ เต็มลานหิน ปล่อยให้แสงอาทิตย์ย้อมสีที่เหลืองอยู่แล้วให้เป็นเหลืองสดใส เหมือนเป็นคำทักทายวันใหม่ว่าโชคดีแค่ไหนที่มีวันนี้

สุดสายตาจากลานหินเป็นแนวต้นสนและป่าทึบ ปิดบังดวงอาทิตย์สีแดงกลมไว้ด้านหลัง คนมองก็รอเพียงเวลาให้ตัวการปล่อยแสงโผล่พ้นยอดไม้ ท่ามกลางป่าถูกปกคลุมด้วยหมอกสีควันบุหรี่ บางจุดต้องแสงแดดเป็นสีทองลอยละล่องตามแรงลม

เมื่อความอบอุ่นปะทะหน้าและแลดูมีอานุภาพเหนือความเย็นในตอนเช้า คนเฝ้าทุ่งเหลืองพิศมรมาตั้งแต่เช้ามืดต้องหาทิศทางใหม่ ตามหาเหล่าดอกไม้ที่ซุกซ่อนอยู่บนนี้ ทุ่งโนนสนอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตร ถือว่ายังสูงไม่พอสำหรับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลทางนิเวศน์อันใดที่ทำให้ “ทุ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิง” มาสร้างเผ่าพันธุ์บนทุ่งโนนสนได้ ซึ่งมันกลายเป็นกรณีศึกษาของนักวิจัยตามหาคำตอบว่าทุ่งโนนสนมีอะไรดีให้พืช ชนิดนี้เจริญเติบโต

 

ลักษณะบนทุ่งโนนสนมีลานหินขนาดกว้างหลายจุด ซึ่งแต่ละจุดจะมีพุ่มดอกไม้เล็กๆ ให้ชม ถ้าจุดไหนเป็นลานหินชื้นแฉะจะพบ “จอกบ่วาย” พืชกินแมลงที่ใช้น้ำหวานเหนียวๆ ล่อแมลง จะเห็นหยดน้ำเล็กๆ คล้ายน้ำค้างเกาะอยู่ “ข้าวตอกฤๅษี” มอสที่ใหญ่ที่สุดในไทยและจะเลือกขึ้นในที่สะอาดเท่านั้น พวกมันมีสีเขียวสดขึ้นหนาแน่นตามแหล่งน้ำขัง พอมันแห้งจะเป็นสีขาวเหมือนข้าวตอก

และตามลานหินยังจะได้พบ “ดุสิตา” ดอกสีม่วง พืชกินแมลงอีกชนิดหนึ่งโดยใช้ปล่องที่รากหาอาหาร “ผักปราบภู” ดอกกลมสีม่วง ตรงกลางสีเหลือง เมื่อสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่าดอกของมันเป็นขนเล็กๆ “หัสไดเครือ” หรือผักบุ้งดอย ดอกสีเหลืองอ่อน มีใบเหมือนผักบุ้ง และเป็นไม้เลื้อยเช่นกัน “เอื้องม้าวิ่ง” กล้วยไม้พบตามร่องหิน ลักษณะไม่เหมือนม้าแต่อย่างใด

ถ้าเลือกชมดอกไม้ตามลานหินจะพบสิ่งที่กล่าวมา แต่หากอยากเห็นดอกไม้ป่าที่พบในป่าต้องเลือกเข้า “ป่า” ไปหามัน โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีวางไว้แล้วเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ดอกไม้ที่จะได้พบ อาทิ “เอื้องบายศรี” กล้วยไม้หินสีเหลืองขาว “หงอนนาค” ดอกสีม่วงที่จะบานยามต้องแดด “เอนอ้าน้อย” กลีบดอกใหญ่สีม่วง “สิงโตกลอกตา” กล้วยไม้หินที่ต้นอยู่บนหิน แต่ดอกชูก้านสูง “สิงโตรวงข้าว” ดอกสีส้มเป็นพวงหาชมได้ยาก “เอื้องน้ำต้น” ดอกเป็นปล้องมีสีเหลืองและชมพู นอกจากนี้ ยังมี กงควน จุกนกยูง หญ้าหนูต้น เฒ่าหลังราย จ่าฮ่อม หญ้าแส้ม้าฮ่อ หญ้าขนตาช้าง และต้นเสม็ดแดง ต้นไม้ซึ่งปกติขึ้นตามทะเล แต่กลับมาพบบนเขา

 

ดอกไม้นานาพันธุ์มีอยู่จริงบนทุ่งโนนสน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ดูเพียงความสวยงามอาจไม่ทันได้นับว่ามันมีมากจริงๆ

ขายความสวยงามไปแล้ว ถึงคราวต้องบอกชะตากรรมที่ทุกคนต้องเผชิญ การเดินขึ้นทุ่งโนนสนปัจจุบันมีระยะทาง 9.5 กิโลเมตร โดยนักท่องเที่ยวต้องนั่งรถบรรทุกของชาวบ้านจากหน่วยพิทักษ์ป่าไม้ สล.12 (เนินมะปราง) เพื่อมายังจุดเริ่มเดิน เส้นทางนี้เป็นทางขึ้นใหม่ เปลี่ยนจากเส้นทางเดิมที่เคยเปิด ณ หน่วยพิทักษ์อุทยาน สล.8 หรือหน่วยฯ หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้ได้ปิดไม่ให้ขึ้นแล้ว

ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร มีทั้งทางราบ ลง และขึ้นตามปกติของสภาพภูเขา โดยจะผ่านลานหินลาด เนินทดลอง เนินลองใจ และเนินป่าซอง สามเนินที่ขึ้นไม่ยากเพราะมีราวไม้ไผ่ให้จับ แต่จะล้าตรงความชัน โดยเฉพาะเนินป่าซางที่ชันที่สุด เมื่อผ่านด่านประลองจิตใจมาแล้ว ยังต้องผ่านลานดูใจและจุดชมวิว รวมแล้วใช้เวลาราว 46 ชั่วโมง

 

ข้าวของเครื่องใช้จำพวกเต็นท์ ถุงนอน เครื่องมือทำอาหาร และวัตถุดิบ ยกให้ลูกหาบได้หากแบกเองไม่ไหว โดยลูกหาบจะคิดค่าบริการ 1,300 บาทต่อเที่ยวต่อน้ำหนัก 20 กิโลกรัม บนทุ่งโนนสนจะมีจุดกางเต็นท์ที่กำหนดไว้แน่นอน ซึ่งจะอยู่ใกล้กับทุ่งเหลืองพิศมร อยู่ใกล้กับลำธารที่ทุกคนต้องอาศัยอาบกิน แต่หากขยันเดินหน่อยประมาณ 45 นาที จะได้อาบน้ำที่น้ำตกกุหลาบแดง ที่เรียกเช่นนี้เพราะตรงน้ำตกมีต้นกุหลาบพันปีสีแดงออกดอกอยู่ ตรงจุดนี้จะมีน้ำมากเพราะเป็นต้นน้ำ สามารถลงไปอาบได้อย่างสะใจ ส่วนเรื่องห้องน้ำต้องเข้าทุ่งอย่างเดียว อันที่จริงทางอุทยานได้ทำห้องส้วมแบบง่ายๆ ไว้ให้ แต่หากได้มาเห็นสภาพแล้ววิธีการเข้าทุ่งน่าจะสบายใจกว่า

ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม การเดินขึ้นเขาต้องเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่ายากไหม “ไม่ยาก” ระดับความยากของการขึ้นทุ่งโนนสนนั้นไม่ยาก แต่คนขึ้นอาจบอกว่ายากถ้าใจไม่อยากเดินแล้ว ดังนั้น จะรู้ว่าใจตัวเองแข็งแกร่งแค่ไหนต้องพิสูจน์เวลาเดินขึ้นเขานี่แหละ และเมื่อตัวเองสามารถมายืนอยู่บนจุดหมายแล้วคุณจะ “ภูมิใจ” ในตัวเองมาก ที่สามารถผ่านช่วงเวลาลำบากนั้นมาได้ และที่สำคัญคุณจะเห็น “คุณค่า” ของทุกสิ่งที่อยู่บนนั้นมากกว่าเดิม สิ่งที่คุณอุตส่าห์ฝ่าฟันมาเพื่อพวกมัน

 

เมื่อคุณอยู่บนทุ่งโนนสน คุณจะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ อย่างดอกไม้หรือแม้กระทั่งดอกหญ้า คุณไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนโทรตามเพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และคุณจะมีชีวิตแบบไม่ต้องมองเข็มนาฬิกา เพราะดวงอาทิตย์จะบอกเวลาให้เอง

ทุ่งโนนสนคืออีกโลก และคุณจะเป็นอีกคนเมื่ออยู่ที่นี่

 

 

 

 

 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุ่งโนนสน สวรรค์บนดิน

view